“ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” แนะรัฐบาลไทยต้องมีความชัดเจน 10 ข้อ เพื่อรับมือคน 8 แสนคน จากประเทศกลุ่มเสียงที่เดินทางเข้าไทยไม่เฉพาะ “ผีน้อย” เนื่องจากไทยไม่ปิดประเทศ ชี้ จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยอาจสูงกว่าที่ตรวจพบ รัฐบาลควรเด็ดขาดในการควบคุมการระบาด มากกว่าไปทำเรื่องแจกเงิน หรือรับบริจาคเงิน พร้อมออกข้อแนะนำการปฏิบัติให้ประชาชนอย่างถูกต้อง
วันที่ 8 มี.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในหัวข้อ สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องมีความชัดเจนเรื่อง 8 แสนคนจากประเทศกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 มีรายละเอียดดังนี้
รัฐบาลมีการออกมาตรการในเรื่องการรับมือการระบาดโคโรนาไวรัส 2019 ที่ผ่านมา แต่ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้จะต้องเกิดขึ้นจากความ “เข้าใจ” ในเรื่องปัญหาให้ถ่องแท้ และจัดลำดับความสำคัญว่าเราควรทำสิ่งใดก่อน สิ่งใดหลัง และอะไรคือสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ
ประการแรก รัฐบาลยังมีความสับสนและเลือกปฏิบัติระหว่างนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศกลุ่มเสี่ยง กับผีน้อย และยังเป็นผลทำให้ความเสี่ยงในการระบาดยังคงมีสูงอยู่ เพราะทุกคนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะมาจากประเทศใด มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้เท่ากันหากไม่มีมาตรการกักตัวจนครบ 14 วัน หรือการติดตามผลอย่างมีประสิทธิภาพมากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจากประเทศกลุ่มเสี่ยงในเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นมีนาคม 2563 มีมากกว่า 800,000 คน เทียบไม่ได้เลยกับการเลือกปฏิบัติกับเฉพาะกลุ่มผีน้อยจากเกาหลีใต้กว่า 5,000 คน (ซึ่งเป็นคนไทย) เท่านั้น
ประการที่สอง รัฐบาลตัดสินใจไม่ปิดประเทศ และยังคงรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอยู่ หากไม่กักตัว รัฐบาลมีมาตรการติดตามผลอย่างไร วิธีไหน มีสถานที่ และบุคลากรมากพอที่จะรับมือได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่เฉพาะผีน้อย 5,000 คน แต่ต้องหมายรวมถึงชาวต่างประเทศกว่า 800,000 คนขึ้นไปจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ถ้าทำไม่ได้จริง รัฐควรจะเลือกการไม่รับนักท่องเที่ยวกลุ่มเสี่ยงในช่วงเวลานี้หรือไม่ และถ้าเลือกที่จะไม่ปิดประเทศแล้วรัฐบาลจะมีมาตรการที่มีความชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ให้กลับคืนมาได้อย่างไร
ประการที่สาม การตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในระดับต่ำนั้น ความจริงแล้วเป็นเพราะค่าใช้จ่ายในการตรวจค่อนข้างสูง คนทั่วไปไม่สามารถเข้าตรวจได้ แต่เลือกตรวจเลือดเฉพาะผู้ที่มีไข้หรือผู้ต้องสงสัยในโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้นการตรวจพบอาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริงทั้งหมด และหมายความว่าอาจจะมีผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่าที่ตรวจได้ เพราะเมื่อไม่ได้ตรวจ ก็ย่อมไม่สามารถได้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น หมายความว่า ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงการตรวจแพร่กระจายอยู่ในประเทศไทยในเวลานี้เช่นกัน การที่ไม่ทราบตัวเลขที่สะท้อนความเป็นจริง ย่อมเท่ากับไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ เรื่องดังกล่าวนี้รัฐบาลจำเป็นต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้อง จึงจะสามารถรับมือได้อย่างถูกต้องด้วย
ประการที่สี่ รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนในทิศทางว่าต้องการรักษาเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด หรือการหยุดยั้งการแพร่ระบาดเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดกันแน่ เพราะในขณะที่รัฐบาลเลือกที่จะรับนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ประเทศไทยก็กลายเป็นประเทศที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงจากอีกหลายประเทศเช่นกัน หรือบางประเทศกลุ่มเสี่ยงได้ปิดประเทศตัวเองไม่ให้คนในประเทศเดินทางไปในประเทศอื่น ดังนั้น การท่องเที่ยวก็ยังทรุดลงหนักอยู่ดี ในขณะที่อีกหลายประเทศเลือกมาตรการเข้มข้นเพื่อหยุดยั้งปัญหาให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับมาให้เร็วที่สุด ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยที่จะต้องพิจารณาในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนได้แล้ว
ประการที่ห้า รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนว่าในภาวะการระบาดที่แพร่กระจายอยู่ในขณะนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด หรือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่สำคัญกว่า เพราะสองอย่างนี้อาจจะไปด้วยกันไม่ได้ในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรับเปิดนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงโดยไม่ได้มีการกักตัวเอาไว้ 14 วันก็ดี หรือแทนที่จะย้ำให้ประชาชนพยายามอยู่กับบ้านเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายโรค กลับออกนโยบายแจกเงินให้ประชาชนออกมานอกบ้านเพื่อจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ดี เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังมีความสับสนในเรื่องดังกล่าวนี้ และการที่ขาดความชัดเจนในทิศทางที่เป็นเอกภาพ และอาจทำให้ปัญหาทั้งเศรษฐกิจและการระบาดของโรคยังคงทอดเวลาออกไปยาวขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
ประการที่หก ปัญหาหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนและราคาสูง หรือแอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดที่ราคาแพงนั้น เป็นปัญหาไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาทั่วโลก การที่ภาครัฐบาลได้ตัดสินใจควบคุมราคาขาย หรือการบังคับปันส่วนจากเอกชนให้รัฐมาขายในราคาที่ถูกนั้น คำถามสำคัญที่จะต้องตอบ ก็คือ รัฐบาลมีสินค้า “ที่ได้มาตรฐาน” เพียงพอให้กับความต้องการของประชาชนจริงหรือไม่ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการแจกของภาครัฐได้ ส่งผลทำให้ประชาชนต้องไปซื้อสินค้าที่ไม่ได้มีมาตรฐานและราคาแพงในตลาดทั้งใต้ดินและบนดินเกลื่อนเมือง และทำให้ไม่เกิดการนำเข้าสินค้ามาตรฐานให้ได้อย่างเพียงพอ เพราะในขณะนี้หลายประเทศต่างแย่งชิงหน้ากากอนามัยให้ได้มากและเร็วที่สุดเพื่อหยุดปัญหาโควิด-19 ของประเทศตัวเอง
ดังนั้น ลำดับความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องลำดับความสำคัญระหว่าง “สินค้าที่ได้มาตรฐานที่มีปริมาณอย่างเพียงพอและทั่วถึง” กับ “ราคาที่ต้องควบคุม” ซึ่งเมื่อทั้งสองอย่างนี้สวนทางกับตลาดโลก หากรัฐบาลจะเลือกหนทางนี้เอกชนย่อมไม่เกิดแรงจูงในการนำเข้าจากต่างประเทศ และหากรัฐบาลยังจะเลือกหนทางนี้ต่อไปก็ควรต้องเลือกใช้งบประมาณจัดซื้อจากต่างประเทศ “ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน” ในราคาที่เหมาะสมกับประชาชนในประเทศด้วย และใช้วิธีการแจกไปตามไปรษณีย์ถึงบ้านแทนการไปรอคิวยาวตามสถานที่ราชการ คำถามคือหากรัฐบาลมีงบประมาณไม่เพียงพอ ควรจะใช้มาตรการที่ดำเนินการเช่นนี้ต่อไปหรือไม่ หรือควรจะปล่อยให้เอกชนดำเนินการมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้
ประการที่เจ็ด รัฐบาลควรส่งสัญญาณในระดับชาติในเรื่องข้อควรปฏิบัติของประชาชนอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะว่าควรสวมหน้ากากแบบไหน อย่างไร และการล้างมือทำความสะอาดเป็นประจำ หรือการส่งเสริมให้ทำงานอยู่กับบ้าน ฯลฯ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการถกเถียงกันไปมาสร้างความสับสนให้กับประชาชน และควรดำเนินการเชิงรุกร่วมกับเอกชนทุกภาคส่วน ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อสถานที่มีความเสี่ยงเป็นประจำ อันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับเชื้อไวรัสชนิดนี้
ประการที่แปด เนื่องจากโควิด-19 นี้ คนส่วนใหญ่หายป่วยได้ และอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลควรดำเนินการให้คำแนะนำ หรือทางเลือกในการพึ่งพาตัวเองในเรื่องการบริหารระบบภูมิคุ้มกันของประชาชนเพื่อลดภาระของรัฐบาล ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การใช้สมุนไพร ตำรับยาไทย และควรเน้นกลุ่มเสี่ยงอันตรายที่จะเสียชีวิตในผู้สูงวัยออกมาต่างหาก
ประการที่เก้า ในภาวะวิกฤติครั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝ่าฟันและสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็วที่สุด รัฐบาลจึงไม่ควรใช้การรับบริจาคเงิน หรือการแจกเงิน เพราะปัญหาเรื่องดังกล่าวนี้วิธีการบริหารจัดการมีความสำคัญมากกว่าตัวเงิน การแจกเงินและการรับบริจาคเงินในยามที่ประชาชนเดือดร้อนอาจเป็นการส่งสัญญาณที่หลงประเด็น เพราะนาทีนี้่ประชาชนไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการความเด็ดขาดในการจัดการ ทั้งการทำความสะอาดบิ๊กคลีนนิ่ง การบังคับใช้กฎหมายจัดการกับผู้กระทำความผิดทางกฎหมาย การจัดการให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน ฯลฯ เพื่อหยุดยั้งปัญหาดังกล่าวด้วยปัญญาโดยเร็วที่สุด
ประการที่สิบ ปรากฏการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ ไม่เพียงต้องอาศัยสามัญสำนึกของภาวะความเป็นผู้นำ การเสียสละ และความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ต้องมีความกล้าหาญ และความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจด้วยจึงจะสามารถฝ่าวิกฤติทั้งจากตัวโรคและความตื่นตระหนกของประชาชนได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ ทั้งผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ว่าเมืองฮอกไกโด นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ฯลฯ ผู้นำจากประเทศเหล่านี้ล้วนมีคุณสมบัติข้างต้น และต่างได้รับคำชื่นชมจากประชาชนในประเทศและต่างประเทศ แม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่ยากลำบากในการตัดสินใจเช่นเดียวกัน