"ปานเทพ" จี้ "ภูมิใจไทย" ถอนตัวร่วมรัฐบาลพิสูจน์จุดยืน หลัง คกก.วัตถุอันตรายพลิกมติเลิกแบน "ไกลโฟเซต" ลั่นอย่าแค่อ้างทำสุดความสามารถแล้วหรือขอย้ายไปคุมส่วนอื่น ชี้ขนาดมีอำนาจต่อรองสูงยังแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ ต่อไปใครจะเลือกให้ไปเล่นปาหี่ซ้ำสอง
วันที่ 28 พ.ย. ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ...
โศกนาฏกรรมสารพิษ พรรคภูมิใจไทยยังจะอยู่เป็นรัฐบาลต่ออีกหรือ?
มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ได้พลิกมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จากเดิมที่เห็นชอบให้ปรับวัตถุอันตราย “พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต“ ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 กลายมาเป็น “เลื่อน” การบังคับใช้มติดังกล่าวกับ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2562 โดยอ้างว่าระยะเวลาของการถือครองสารพิษของเกษตรกรและร้านค้ามีมูลค่ารวมกัน 3 หมื่นล้านบาทอาจจะระบายไม่ทัน ส่วน “ไกลโฟเซต”ได้มีการยกเลิกมติการแบนสารดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นเพราะมี 161 ทั่วโลกยังมีการใช้อยู่ ซึ่งอาจเป็นส่งผลกระทบต่อการนำเข้าจากต่างประเทศ
การกลับมติไกลโฟเซตนั้นสอดคล้องกับหนังสือของนายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีเพื่อการค้าและกิจการต่างประเทศ ซึ่งได้ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 โดยอ้างว่าสารไกลโฟเซตเป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืชทั่วโลก ประกอบกับรายงานของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (อีพีเอ) สรุปว่าสารไกลโฟเซตไม่ได้มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพร่างกายของมุนษย์เมื่อมีการนำมาใช้อย่างมีการควบคุม และยังได้อ้างถึงว่าหากมีการยกเลิกไลโฟเซตก็จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการนำเข้าผลิตผลทางการเกษตร เช่น ถั่วเหลืองและข้าวสาลี ของสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้จากประวัติของ นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ นี้ทำงานมาอย่างยาวนานถึง 19 ปี กับบริษัท ดาวอะโกรไซแอนส์ บริษัท ผู้ผลิตและเจ้าของผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลง “คลอร์ไพริฟอส” ซึ่งในสมัยที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้งนายสกอตต์ พรุตต์ เข้ามาเป็นประธานสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (อีพีเอ) เขาได้สั่งเลื่อนการแบนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริการเริ่มตรวจสอบว่าทั้ง นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ และ นายสก็อตต์ พรุตต์ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ จนในที่สุดนายสก็อตต์ พรุตต์ ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งต่อไป
หลังจากนั้นเพียง 1 วัน คือวันที่ 26 ตุลาคม 2562 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสทีอาร์ ประกาศว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ จีเอสพีแบบชั่วคราวกับสินค้าไทย 573 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 25 เมษายน 2563 โดยอ้างว่าประเทศไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากล
หลังจากนั้นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหการ ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย จากพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้แสดงท่าทีที่สอดรับกับ นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ได้ให้สัมภาษณ์ความตอนหนึ่งว่า
“การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งต่อไป ซึ่งมีผมเป็นประธานครั้งแรกนั้น อาจหยิบยกสารบางตัวที่ได้แบนไปแล้ว เช่น สารไกลโฟเซตมาหารืออีกครั้ง เนื่องจากสหรัฐฯยังใช้สารนี้อยู่ แต่ไทยมีการแบนสารนี้ไป หากยังใช้สารไกลโฟเซต แต่ให้แบนสารพาราควอต เพื่อลดผลกระทบให้เกษตรกรบางส่วน จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะสหรัฐยังมีการใช้สารไกลโฟเซตอยู่ และอาจไม่ได้มีพิษร้ายแรงเหมือนกับสารเคมีชนิดอื่น ซึ่งสหรัฐเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ ที่ต้องดูแลสุขภาพประชาชนอยู่แล้ว เรื่องนี้จะต้องหารือกัน ว่าไทยจะสามารถใช้ได้หรือไม่?
โดยในที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่มีการออกเสียงลงมติ” เนื่องจากในที่ประชุมได้สอบถามและนำมติของที่ประชุมต่อการขยายเวลาแบนสารพิษ จากเดิม 1 ธันวาคม ไปเป็น 1 มิถุนายน 2562 ขึ้นจอหน้าห้อง และสอบถามว่าบุคคลใดคัดค้านหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีบุคคลใดเสนอความเห็นคัดค้าน ข้อความดังกล่าวนี้ยังมีข้อถกเถียงต่อไปว่าการกระทำดังกล่าวยังจะถือว่าเป็นมติได้จริงตามกฎหมายหรือไม่ เพราะแม้ไม่ได้มีเสียงคัดค้าน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีคนออกเสียงเห็นชอบกี่เสียง หรือ งดออกเสียงอีกกี่เสียง
ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องจุดยืนของนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของพรรคภูมิใจไทยถึงจุดยืนในการต่อต้านสาร 3 สารพิษที่ผ่านมา แต่เมื่ออธิบดีกรมวิชาการเกษตรไม่ทำตามนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ก็ต้องมีคำถามว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยกับอธิบดีกรมวิชาการเกษตรหรือไม่ และถ้านิ่งเฉยหรือไม่ปลดอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ประชาชนควรจะตัดสินพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยแสดงจุดยืนว่าจะต้องยกเลิกทั้ง 3 สารพิษนี้อย่างไร?
โดยเฉพาะคำสัมภาษณ์ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ว่าต้องการยกเลิก “ทันที” เพื่อไม่ให้ถูกข้อครหาว่า “มีผลประโยชน์”
“ยืนยันได้เลยว่าไม่สนับสนุนการใช้สารพิษในการทำเกษตร ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ ได้คุยกันมาตลอด มีความเห็นตรงกันกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรองนายกฯ รมว.พาณิชย์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้หน่วยงานเป็นที่เป็นคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมใจแบนสาร 3 ตัวนี้ทันที ดังนั้นขอเรียกร้องให้ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย และกรรมการ มีการประชุมเรื่องการแบนสารพิษโดยเร็วที่สุด พร้อมกับให้ลงมติโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน จะได้รู้ว่าใครเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มิเช่นนั้นไม่ว่ามติจะออกมาอย่างไรก็จะมาโทษคนของกระทรวงเกษตรฯ เป็นแพะรับบาปทุกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ตนจะไม่ยอมเป็นแพะ อย่างมีการไปกล่าวหาลือกันว่ามีผลประโยชน์”
ที่น่าเศร้าสำหรับคนไทยที่สุดก็คือ องค์กรที่มีชื่อว่า สำนักงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง International Agency for Research on Cancer หรือ IARC ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติ ได้ระบุในบัญชีสารก่อมะเร็งอย่างชัดเจนว่าสาร “ไกลโฟเซต” เป็นหนึ่งในสารที่น่าจะก่อมะเร็ง คำถามมีอยูว่ามติดังกล่าวกลับเห็นแก่ธุรกิจต่างชาติ หรือกลุ่มผู้ค้าสารพิษที่เก็บสต๊อกเก็งกำไรเอาไว้ล่วงหน้ามากกว่าชีวิตคนไทยหรืออย่างไร?
อย่างไรก็ตามแม้พรรคภูมิใจไทยจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่มีคำถามว่าท่าทีดังกล่าวเพียงพอกับเดิมพันสุขภาพและชีวิตคนไทยดังที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามรณรงค์มาโดยตลอดหรือไม่?
เพราะ“อำนาจต่อรอง” ที่แท้จริงของ “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งมีตั้งแต่การก่อตั้งรัฐบาล ก็คือ “อำนาจการร่วมรัฐบาล” หรือไม่?
ดังนั้นหากเรื่องนี้พรรคภูมิใจไทยเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับประชาชนจริง ก็ควรถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ ไม่ใช่อ้างว่าเราได้ทำสุดความสามารถแล้ว หรือการอ้างเพียงแค่ว่าจะไม่ขอดูแลกรมวิชาการเกษตรแล้ว มันเพียงพอต่อความคาดหวังของประชาชน หรือแก้ไขปัญาให้กับประชาชน ได้หรือไม่?
เพราะถ้าใช้ตรรกะนี้ก็จะลามไปต่อเรื่องนโยบายกัญชาทางการแพทย์ที่จะอ้างเหตุผลว่า พรรคภูมิใจไทยเป็นเสียงข้างน้อยทำได้เพียงแค่นี้อีกหรือไม่?
แต่ถ้าพรรคภูมิใจไทยลาออกมาด้วยเหตุผลที่ประชาชนสนับสนุนในประเด็นเพื่อประโยชน์ของประชาชน ก็เชื่อได้ว่าประชาชนจะพิสูจน์ให้เห็นว่าจะสนับสนุนจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย หรือ รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์กันแน่?
แต่ถ้าพรรคภูมิใจไทยเพียงแค่บอกว่าไม่เห็นด้วยแต่ก็ยังร่วมรัฐบาลเช่นนี้ต่อไป รัฐบาลที่ถูกประชาชนตั้งคำถามว่าเห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจมากกว่าชีวิตและความเจ็บป่วยของประชาชนหรืออย่างไร แล้วจะมาหาเสียงในภายหลังว่าขอให้เลือกพรรคภูมิใจไทยอีกครั้งให้มากขึ้นกว่าเดิม ประชาชนก็จะถามกลับอีกว่าขนาดมีอำนาจต่อรองที่ส่งผลทำให้รัฐบาลล้มหรือไม่ล้มยังแก้ไขปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ แล้วประชาชนจะเลือกเพื่อไปเล่นปาหี่ซ้ำสองไปทำไมกัน?