xs
xsm
sm
md
lg

สมควรหรือยังที่จะเปิดให้มีการ “นิรโทษกรรมกัญชา” รอบใหม่/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

แม้นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะมีภารกิจและสัญญาที่มีให้กับประชาชนตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการหาเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยพรรคภูมิใจไทย แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ยังไม่เป็นที่พอใจสำหรับประชาชนอยู่ในปัจจุบัน โดยปัญหาหลักสำคัญมีดังต่อไปนี้

ประการแรก การที่หน่วยงานภาครัฐมีทัศนะเรื่องกัญชาเลวร้ายกว่าเหล้าและบุหรี่ ทั้งๆที่กัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ โดยเหล้าและบุหรี่สามารถขายได้ตามร้านสะดวกซื้อและใช้มาตรการรณรงค์ทางสังคม ในขณะที่กัญชาซึ่งมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคด้วย ผู้ที่นำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคกลับมีบทโทษรุนแรงถึงขั้นจำคุก

ประการที่สอง การที่หน่วยงานภาครัฐมีทัศนะเรื่องกัญชาที่ต้องมีมาตรการการผลิต การควบคุม การขนส่ง และการใช้ “เข้มงวดยิ่งกว่ามอร์ฟีน” ทั้งๆ ที่มอร์ฟีนซึ่งผลิตมาจากฝิ่นนั้นสามารถเสพติดและอันตรายยิ่งกว่ากัญชา

ปัญหาใน 2 ประการข้างต้น สะท้อนให้เห็นปัญหาว่าความเป็นห่วงเรื่องยาเสพติดนั้นแท้ที่จริงเป็นเรื่องบังหน้าเท่านั้น

ประการที่สาม การที่บุคลากรทางการแพทย์หน่วยงานภาครัฐ ถูกผูกขาดให้เป็นผู้ใช้กัญชาแต่เพียงกลุ่มเดียว ทำให้นโยบาย “กัญชาเสรีทางการแพทย์” กลายเป็นนโยบาย “กัญชาใช้ในทางการแพทย์เฉพาะหน่วยงานของรัฐอย่างจำกัด” เกิดเหตุการณ์ “ผิดฝา ผิดตัว” หน่วยงานภาครัฐมีกัญชาอย่างล้นหลามแต่มีการใช้ได้เพียงน้อยนิด ในขณะที่สถานพยาบาลภาคเอกชนพร้อมใช้กัญชาทางการแพทย์กลับไม่มีกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ใช้

ประการที่สี่ แพทย์ที่เป็นข้าราชการและอยู่ในสถานพยาบาลภาครัฐโดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มาก่อน เพราะต้องถูกกำกับโดยกฎระเบียบทางราชการอย่างเข้มงวดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จึงเลือกความปลอดภัยในฐานะข้าราชการในการใช้กัญชา จึงเลือกข้อบ่งใช้กัญชาอย่างจำกัดตาม “สารสำคัญ” ที่ถูกวิจัยในมนุษย์ซึ่งถูกจดสิทธิบัตรโดยต่างชาติไปหมดแล้ว ประกอบกับความยุ่งยากทางเอกสารในการใช้กัญชา ตลอดจนการขัดกันแห่งผลประโยชน์กับบริษัทยาที่จำหน่ายยาให้กับหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ผู้ป่วยที่จะเข้าถึงกัญชาได้ยากมาก และเลือกที่จะใช้กัญชาใต้ดินต่อไป

ประการที่ห้า แพทย์แผนไทยมีองค์ความรู้และสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยตามกฎหมาย ซึ่งสามารถใช้กัญชาทุกส่วนตามองค์ความรู้ของธาตุของรสยา และธาตุของผู้ป่วย ซึ่งมีลักษณะไปในทางการปรุงยาเป็นตำรับเฉพาะราย และส่วนใหญ่มีลักษณะการปรุงสด โดยมีช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวและปรุงยา แต่การจำกัดขอบเขตการใช้ด้วยกรอบความคิดของการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การให้ปรุงยาได้เฉพาะ 16 ตำรับก็ดี หรือการที่ต้องใช้กัญชาแห้งจากภาครัฐเท่านั้นก็ดี หรือการผลิตยากัญชาต้องเป็นโรงงานมาตรฐานของโรงงานขนาดใหญ่เท่านั้น นอกจากจะมีลักษณะก้าวล่วงวิชาชีพในองค์ความรู้ของการแพทย์แผนไทยแล้ว ยังมีลักษณะกีดกันไม่ให้แพทย์แผนไทยได้ใช้ตามลักษณะภูมิปัญญาไทยด้วย

ประการที่หก แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ ตลอดจนหมอพื้นบ้าน ผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้กัญชาจริงส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน แต่ไม่กล้าเปิดตัว เพราะไม่ต้องการเสี่ยงกับคดีความและความยุ่งยากทั้งหลาย ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยไม่สามารถรู้จักคนที่มีประสบการณ์ในการใช้กัญชาทางการแพทย์เหล่านี้ ผู้ป่วยจึงต้องซื้อหาจากตลาดใต้ดินต่อไป

ประการที่เจ็ด ท่ามกลางความเข้มงวดในการใช้กัญชาในสถานพยาบาลของภาครัฐ แต่ในความเป็นจริงมีการใช้กัญชาใต้ดินอยู่เป็นจำนวนมาก ถึงขนาดที่มีการพูดว่าใครๆก็มีกัญชาได้ถ้าต้องการจะหาจริงๆ การที่รัฐเข้มงวดในการใช้จนไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วย แต่ไม่ยอมรับความจริงของการใช้กัญชาในตลาดใต้ดิน จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาตามสภาพความเป็นจริงได้

ประการที่แปด เนื่องจากกัญชาไม่มีหน่วยงานใดที่จะบอกคุณสมบัติและคุณภาพของกัญชาเหล่านั้นได้ เพราะไม่มีหน่วยงานใดที่จะเสี่ยงทำการตรวจรับรองสิ่งที่รัฐอ้างว่าผิดกฎหมาย จึงกลายเป็นช่องทางในการโฆษณาชวนเชื่อและทำมาหากินของพวกผู้ค้ากัญชาใต้ดิน ดังนั้นการไม่ยอมรับความจริงในกัญชาตลาดใต้ดินจึงทำให้ไม่มีการตรวจคุณภาพตลาดกัญชาใต้ดินเช่นเดียวกัน จึงไม่สามารถทำให้คุ้มครองผู้ป่วยที่แอบใช้กัญชาใต้ดินเป็นส่วนใหญ่ได้

ประการที่เก้า ในตลาดใต้ดินนั้นนอกจากจะมีผลิตภัณฑ์กัญชา น้ำมันกัญชา และองค์ความรู้ในการใช้กัญชาแล้ว ยังมีการพัฒนาสายพันธุ์กัญชามาเป็นเวลานานแล้ว ในขณะที่ภาครัฐนั้นมีกฎ กติกา และองค์ความรู้ตามหลังภาคเอกชน การไม่ยอมรับและรู้จักใช้ประโยชน์จากกัญชาใต้ดิน จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยและคนในครอบครัวได้ และยังเป็นการสูญเสียโอกาสในการพัฒนากัญชาของประเทศไทยในทุกมิติ เพราะต่างชาติมีการวิจัยและพัฒนามานานกว่าประเทศไทยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

ประการที่สิบ การเปิดให้มีการนิรโทษกรรมโดยอาศัย พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 นั้น ได้สิ้นสุดช่วงเวลานิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2562 ในขณะที่ภาครัฐยังไม่สามารถดำเนินการในการใช้กัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และมีผู้ที่แอบใช้กัญชาทั้งที่ลงทะเบียนนิรโทษกรรมและไม่ได้ลงทะเบียนนิรโทษกรรมได้รับความเดือดร้อน เพราะมีเอกชนผู้ที่มีเส้นสายได้รับประโยชน์จากการผูกขาดของภาครัฐในการผลิต นำเข้า และส่งออกคอยวิ่งเต้นให้มีการผูกขาดเฉพาะภาครัฐต่อไป นอกจากนั้นยังมีประชาชนและผู้ป่วยที่อยู่ตลาดกัญชาใต้ดินต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ทำลาย กวาดล้าง โดยในหลายกรณีอาจมีการเลือกปฏิบัติหรือทำลายคู่แข่งทางการค้าทั้งจากเอกชนที่อยู่เบื้องหลังการผูกขาดของหน่วยงานของรัฐ และจากกลุ่มมาเฟียกัญชาใต้ดินที่มีเส้นสายและผลประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ปัญหาทั้ง 10 ประการข้างต้นนี้ หากมีการปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการใช้กัญชาในทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่เดือดร้อนจากสุขภาพแล้วยังอาจเดือดร้อนเพราะคดีความไปด้วย องค์ความรู้ทั้งการปลูก เมล็ดพันธุ์ รวมถึงภูมิปัญญาในการใช้กัญชาของผู้ที่มีความรู้ทั้งหลายกลับถูกปฏิบัติให้เป็นเยี่ยงโจร ประชาชนถูกห้ามไม่ให้พึ่งพาตัวเองเรื่องทางเลือกสุขภาพได้

ทางออกในเรื่องนี้จึงควรเริ่มต้นจากการยอมรับความจริงของปัญหาทั้ง 10 ประการข้างต้น เพราะเมื่อเข้าใจปัญหาและยอมรับในปัญหา จึงจะสามารถใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาเรื่องข้อติดขัดเรื่องกัญชาทั้งปวงได้ โดยหากกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลมีความจริงใจต่อนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดกัญชาเสรีทางการแพทย์เกิดขึ้นได้จริงนั้น ก็ควรจะต้องปฏิบัติในระหว่างการรอแก้ไขในระดับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษดังต่อไปนี้

1.ให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และ หมอพื้นบ้าน “สามารถปลูกกัญชาและกระท่อม” เพื่อปรุงยาให้กับคนไข้เฉพาะรายได้ โดยปรุงยาตามภูมิปัญญาความรู้ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ 16 ตำรับยาไทย อาศัยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ โดยอาศัย มาตรา 26/5 (7) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 พร้อมกับถอนกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และให้เปิดโอกาสให้สำนักแพทย์ทางเลือกดำเนินการสำรวจและนำเสนอและรับรองหมอพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้กัญชามาใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์ให้มากขึ้น

2.อาศัย มาตรา 26/5 (7) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 “เปิดให้มีการขยายเวลาและลงทะเบียนนิรโทษกรรมรอบใหม่เป็นเวลา 1 ปี” ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทำให้ระบบเพื่อให้พัฒนาการใช้ประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์ในระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง โดยในครั้งนี้อนุญาตให้กับผู้ที่มาลงทะเบียนสามารถปกปิดรายชื่อแล้วใช้เป็นรหัสแทนในการนำเสนอต่อหน่วยงานของรัฐเพื่้อให้ได้รับใบอนุญาตครอบครองโดยอาศัยการลงทะเบียนผ่านสถาบันการศึกษาที่จะรวบรวมและวิจัยสถิติการใช้ เมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก เพื่อนำ องค์ความรู้เหล่านี้มาพัฒนาชาติได้ โดยมีหลักประกันว่าคนเหล่านี้จะไม่ถูกดำเนินคดีจับกุม หรือ กวาดล้างในภายหลัง อันจะเป็นผลทำให้ประเทศไทยมีกระบวนการเรียนรู้ลัดขั้นตอนจากตลาดใต้ดิน อันเป็นการเตรียมการของประเทศไทยก่อนที่องค์การสหประชาชนจะมีการประกาศปลดล็อกสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2% ในกัญชงและกัญชา ให้ออกจากบัญชียาเสพติดระหว่างประเทศในต้นปี พ.ศ. 2563 และอนุญาตให้ผู้ที่มีใบรับรองแพทย์ว่าต้องใช้กัญชาในการรักษาเพื่อพึ่งพาตัวเอง สามารถขึ้นทะเบียนปลูกกัญชาได้ครัวเรือนละไม่เกิน 6 ต้น โดยไม่มีความผิดหรือทำลายแม้ว่าจะหมดเวลานิรโทษกรรมรอบใหม่แล้วก็ตาม

3.ให้สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีความพร้อมในเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์สามารถให้บริการห้องปฏิบัติการตรวจสารปนเปื้อน สารประกอบในผลิตภัณฑ์กัญชาใต้ดินได้ โดยถูกกฎหมายและไม่ต้องรายงานการครอบครองตลอดเวลา อันจะทำให้ประชาชนซึ่งมีการใช้กัญชาใต้ดินอยู่เป็นจำนวนมากมีโอกาสตรวจสารสำคัญและการปนเปื้อน อันเป็นการคุ้มครองผู้ป่วยและผู้บริโภคที่ใช้กัญชาใต้ดินในขณะที่ภาครัฐยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกได้ และสถาบันการศึกษาจะต้องมีเสรีในการวิจัย โดยสถาบันวิจัยใดที่ไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐก็ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการจริยธรรมของกระทรวงสาธารณสุขเพียงกลุ่มเดียว และสามารถผ่านคณะกรรมการจริยธรรมของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นได้

4.ลดอำนาจการตัดสินใจที่ทุกใบอนุญาตต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษที่มีขนาดใหญ่และเทอะทะเกินไป โดยอาศัยการตรากฎหมายเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารจัดตั้งสถาบันพืชเสพติดแห่งประเทศไทยให้เป็นองค์การมหาชน เพื่อรวมศูนย์ให้บริการอย่างคล่องตัวในการให้ใบอนุญาตการนำเข้า ส่งออก และ กำหนดพื้นที่การเพาะปลูก การซื้อ การขาย พืชเสพติดที่เกี่ยวกับกัญชา โคคา และฝิ่น อันเป็นไปตามการจัดตั้งองค์กรรวมศูนย์ที่ถูกกำหนดเอาไว้ในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 แทนการตราเป็นพระราชบัญญัติที่เป็นไปอย่างล่าช้า และไม่ชัดเจนว่าจะสำเร็จหรือไม่ และสำเร็จเมื่อไหร่

5.มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนซึ่งแจ้งความประสงค์ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อทำการสำรวจ การวิจัยและพัฒนาในช่วงนิรโทษกรรมเปิดเผยรายงานผลดีและผลเสีย ข้อควรระวังในการใช้กัญชาใต้ดิน ตลอดจนการปนเปื้อนและคุณภาพของกัญชาใต้ดินเป็นระยะๆ ให้ประชาชนทราบเพื่อคัดกรองแก้ไขหรือหยุดอวิชาออกจากวิชาความรู้ในการใช้กัญชาอย่างถูกต้องต่อไป

ถ้าทำได้ตามข้อเสนอข้างต้นนี้ เสรีกัญชาทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ของประชาชนจะถูกดำเนินการไปอย่างเป็นรูปธรรมโดยเน้นการใช้กฎหมายและอำนาจฝ่ายบริหารเพื่อควบคู่กับอำนาจต่อรองในการร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทยเพื่อ #ทลายทุกข้อจำกัด ตามที่ได้หาเสียงเอาไว้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น