"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
อุดมการณ์อนาธิปไตยมี ๒ รูปลักษณ์ คือ อนาธิปไตยแบบรวมหมู่นิยม (collectivist anarchism) และอนาธิปไตยแบบปัจเจกนิยม (individualism) สำหรับบทความในตอนนี้จะอรรถาธิบายรูปลักษณ์แรก ซึ่งมีรูปแบบหลัก ๓ รูปแบบในการบริหารสังคมคือ เกื้อกูลนิยม (mutualism) สหการอนาธิปไตย (anarcho-syndicalism) และ ชุมชนอนาธิปไตย (anarcho-communism)
รากฐานทางปรัชญาของอนาธิปไตยแบบรวมหมู่นิยม หรืออนาธิปไตยสังคม (social anarchism) มีความใกล้ชิดกับอุดมการณ์สังคมนิยมมากกว่าเสรีนิยม หลักคิดแบบรวมหมู่นิยมเชื่อว่า มนุษย์คือสัตว์สังคม การทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมีความเหมาะสมมากกว่าการทำงานแบบปัจเจกที่มุ่งเฉพาะผลประโยชน์ส่วนตน ยิ่งกว่านั้นชาวอนาธิปไตยสังคมยังเน้นเรื่องสมรรถภาพของมนุษย์ต่อการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม หรือการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในสังคม แต่พึ่งระวังว่าชาวอนาธิปไตยสังคมมิใช่คิดอย่างไร้เดียงสาว่า “มนุษย์มีความดีโดยธรรมชาติ” หากแต่พวกเขาคิดว่า มนุษย์มีศักยภาพในการสร้างความดี
ชาวอนาธิปไตยสังคมมองว่า มนุษย์มีความสามารถทางสังคม ชอบการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และนิยมร่วมมือกันทำงาน ในแง่นี้ความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติและเหมาะสมระหว่างมนุษย์ก็คือ ความเห็นอกเห็นกันใจซึ่งกันและกัน การมีมิตรภาพต่อกัน และความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้นเมื่อมนุษย์ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันโดยการตระหนักถึงความเป็นมนุษยชาติ พวกเขาจึงไม่มีความจำเป็นต้องถูกควบคุมและกำกับโดยรัฐบาลอีกต่อไป ชาวอนาธิปไตยสังคมอย่าง บูคานิน จึงได้ประกาศว่า “ความสมานฉันท์ทางสังคม” คือ “ปฐมกฎ” หรือ เป็นกฎแรกของมนุษย์ ขณะที่ “เสรีภาพ” เป็น “ทุติยกฎ” หรือ กฎข้อที่สองของมนุษย์
มีความซ้อนทับทางปรัชญาและอุดมการณ์บางส่วนระหว่างอนาธิปไตยสังคมกับสังคมนิยม อันได้แก่ อุดมการณ์ทั้งสองปฏิเสธทุนนิยม โดยเฉพาะระบบการขูดรีดทางชนชั้นและความไม่ยุติธรรมในสังคม ถัดมาคือสนับสนุนแนวทางการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยการปฏิวัติ ทั้งยังส่งเสริมระบบกรรมสิทธิร่วมของความมั่งคั่งและองค์กรชุมชนในชีวิตทางสังคม รวมทั้งมีความเชื่อว่า สังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์คือสังคมอนาธิปไตย และเห็นร่วมกันด้วยว่า มนุษย์มีศักยภาพสูงสุดในการจัดระเบียบกิจกรรมของพวกเขาเองโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองมากำหนดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม อนาธิปไตยสังคมกับสังคมนิยมก็มีความแตกต่างกันในหลายแง่มุม ประการแรกอนาธิปไตยไม่เห็นด้วยกับสังคมนิยมแบบรัฐสภา เพราะมองว่าระบบนี้ไร้ความเป็นไปได้อย่างสิ้นเชิงต่อการปฏิรูปทุนนิยมหรือทำให้ทุนนิยมมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น อันที่จริงชาวอนาคิสต์เชื่อว่า ระบบแบบรัฐสภาและรัฐบาลนั้นเป็นระบบที่ฉ้อฉล ซึ่งทำหน้าที่รับใช้และขยายการกดขี่และขูดรีดให้แก่ระบบทุนนิยม ในนามของความเท่าเทียมและความยุติธรรมของสังคมเท่านั้น
ชาวอนาธิปไตยยังเห็นต่างอย่างสิ้นเชิงกับชาวมาร์กซิสต์ในประเด็นรูปแบบการจัดการสังคมระยะเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมไปสู่คอมมิวนิสต์ ขณะที่ชาวมาร์กซิสต์ประสงค์รูปแบบ “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ” ทว่า ชาวอนาธิปไตยมองว่า รัฐชนชั้นกรรมาชีพจะไม่มีวันสลายไป แม้ว่าทุนนิยมจะหายไปก็ตาม ชาวอนาคิสต์ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า อำนาจรัฐไม่ว่าแบบใด เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ทั้งสิ้น เพราะเป็นรูปลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นระบบชนชั้น และเป็นเครื่องมือของการกดขี่ทางชนชั้นเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นใดที่นอกเหนือจากนี้เลย
ชาวอนาคิสต์เชื่ออย่างหนักแน่นว่า รัฐมีแก่นแท้แห่งความชั่วร้ายที่เป็นธรรมชาติแฝงฝังอยู่ภายใน เป็นองค์อินทรีย์ที่ฉ้อฉลและทุจริตซึ่งต้องขจัดทิ้งไปให้หมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐของชนชั้นนายทุนหรือรัฐของชนชั้นกรรมาชีพก็ตาม การปฏิวัติที่แท้จริงในกรอบคิดของชาวอนาคิสต์ จึงมิใช่เพียงแต่การขจัดระบบทุนนิยมเท่านั้น หากแต่ยังต้องกวาดล้างบรรดาอำนาจรัฐทั้งหลายทั้งปวงให้หมดสิ้นไปจากสังคมมนุษย์ด้วย
อนาธิปไตยแบบรวมหมู่นิยมมีหลายรูปแบบ สำหรับรูปแบบหลัก ๓ รูปแบบที่ได้รับการอ้างถึงกันมากคือ เกื้อกูลนิยม (mutualism) สหการอนาธิปไตย (anarcho-syndicalism) และ ชุมชนอนาธิปไตย (anarcho-communism)
อนาธิปไตยแบบเกื้อกูลนิยมเป็นระบบที่มีการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือกลุ่มดำเนินต่อรองซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องการค้าขายและการให้บริการ โดยไม่มุ่งเอากำไร เอาเปรียบหรือขูดรีดเป็นที่ตั้ง แนวคิดนี้ริเริ่มโดยนักอนาคิสต์ชื่อ ปิแอร์ โจเซฟ ปรูดอง (1840) ซึ่งเห็นว่าแนวคิดเกื้อกูลนิยมช่วยสร้างระบบการเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วม ซึ่งสามารถหลักเลี่ยงการขูดรีด และส่งเสริมความสมานฉันท์ในสังคมขึ้นมาได้ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมภายในระบบนี้เป็นไปโดยความสมัครใจ แต่ละฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ร่วมกันและมีความกลมเกลียวกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้ระเบียบหรือการแทรกแซงจากรัฐบาล
รูปแบบถัดมาคือสหการอนาธิปไตย ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดตั้งสหภาพแรงงานเชิงการปฏิวัติ รูปแบบนี้ได้รับอิทธิพลจากทฤษฏีสหการนิยม ซึ่งมองว่าทั้งชาวนาและกรรมกรเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่และขูดรีด ขณะที่นักอุตสาหกรรม เจ้าของที่ดิน นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และตำรวจ เป็นชนชั้นที่กดขี่ ในระยะแรกชนชั้นคนงานดำเนินการจัดตั้งสหภาพแรงงานและปฏิบัติการณ์ทางการเมืองตามแนวทางกระแสหลัก เช่น การเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง การลดชั่วโมงทำงาน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการทำงาน ในระยะต่อมาสหภาพจะยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างระบบทุนนิยมและปฏิบัติการณ์ยึดอำนาจมาเป็นของคนงาน โดยอาศัยกลยุทธ์ “การประท้วงทั่วไป” (a general strike) หรือ “การปฏิวัติด้วยมือเปล่า”
แนวคิดสหการนิยมได้รับความสนใจจากชาวอนาคิสต์ ที่ปรารถนาจะเผยแพร่ความคิดไปสู่มวลชน ชาวอนาคิสต์เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวของสหการนิยม และพัฒนาแนวคิดสหการอนาธิปไตยขึ้นมา ประเด็นที่สหการนิยมกระตุ้นความสนใจของชาวอนาคิสต์คือ การปฏิเสธการเมืองกระแสหลัก โดยมองว่าเป็นการเมืองที่ฉ้อฉลและไร้ความหมาย พวกเขาเชื่อว่าอำนาจของคนงานสามารถแสดงออกได้โดยการปฏิบัติการณ์ทางการเมืองทางตรง ด้วยการคว่ำบาตร การก่อกวน และการประท้วง และท้ายที่สุดคือ การประท้วงทั่วไป และชาวอนาคิสต์ยังมองสหการนิยมในฐานะตัวแบบของการกระจายอำนาจ หรือ การสร้างสังคมที่ปราศจากลำดับชั้นในอนาคตด้วย
แม้ว่าสหการอนาธิปไตยได้รับการสนับสนุนจากมวลชนเป็นเวลายาวนานจนถึงช่วงสงครามกลางเมืองในประเทศสเปน แต่ก็ล้มเหลวในการปฏิวัติยึดอำนาจ ด้วยเหตุผลที่มาจากความไม่ชัดเจนของแนวทางการประท้วงทั่วไป และชาวสหการอนาธิปไตยก็ไม่สามารถพัฒนายุทธศาสตร์การเมืองหรือทฤษฎีการปฏิวัติที่ทรงพลังขึ้นมาได้ หากแต่พึ่งพากับความหวังในการลุกขึ้นสู้อย่างเป็นไปเองของกลุ่มที่ถูกกดขี่และขูดรีด ด้วยเหตุนี้ชาวอนาคิสต์อื่น ๆ จึงได้วิจารณ์สหการนิยมว่า มีแนวทางที่คับแคบที่เน้นแต่เป้าหมายระยะสั้นของสหภาพแรงงานเป็นหลัก หมกมุ่นกับแนวทางการปฏิรูป และละทิ้งแนวทางการปฏิวัติสังคมในภาพรวม
สำหรับรูปแบบที่สามคือ ชุมชนอนาธิปไตย ซึ่งมีฐานคิดเชิงบวกเกี่ยวกับสมรรถภาพของมนุษย์ในการร่วมมือซึ่งกันและกัน ชาวชุมชนอนาธิปไตยเน้นหลักคิดการสร้างชุมชนขนาดเล็กที่จัดการตนเอง (self-managing community) และมองว่าสังคมอนาธิปไตยประกอบด้วยองค์รวมของชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้ และทรัพย์สินและความมั่งคั่งทั้งมวลของชุมชนเป็นกรรมสิทธิร่วมของผู้คนภายในชุมชนแต่ละแห่ง
หลักคิด “ชุมชนในฐานะองค์กรทางสังคมและเศรษฐกิจ” มีจุดแข็งสามประการ อย่างแรกคือ ชุมชนตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานของการมุ่งมั่นทำงานร่วมกันและแบ่งปันกัน ผู้คนในชุมชนต่างร่วมจิตร่วมใจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พันธะแห่งความเห็นอกเห็นใจและความเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อผู้คนมีความเห็นอกเห็นใจและแบ่งปันทรัพยากรต่างๆให้แก่กันอย่างเป็นธรรม ทุกคนก็จะได้ในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอตามความต้องการ ปราศจากความขาดแคลน ดังนั้นความโลภและความเห็นแก่ตัวก็จะลดลงตามไปด้วย
ประการที่สอง การตัดสินใจใด ๆ ในชุมชนกระทำโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปแบบหรือใช้ประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ซึ่งเป็นหลักประกันของการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชนและความเท่าเทียมทางการเมือง ในแง่นี้ชุมชนจึงเป็น “รัฐบาลที่จัดการตนเองของประชาชน” ซึ่งเป็นเพียงรูปแบบอำนาจเดียวเท่านั้นที่เหมาะสมต่อสังคมมนุษย์ ในความคิดของชาวอนาคิสต์
ประการที่สาม ชุมชนต้องเป็นชุมชนที่มีขนาดเล็กและเหมาะกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ชุมชนขนาดเล็กทำให้ผู้คนสามารถจัดการกิจกรรมของพวกเขาโดยการมีปฏิสัมพันธ์แบบซึ่งหน้า มีการพูดคุย ปรึกษาหารือ และตัดสินใจร่วมกัน อันเป็นการตอกย้ำอัตลักษณ์ของความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์นั่นเอง (ยังมีต่อ)