xs
xsm
sm
md
lg

โลกนี้วุ่นวายจริงหนอ...!

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

เหตุการณ์ประท้วงที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน
อีก 2 เดือน ปี 2562 กำลังจะสิ้นสุดลงพร้อมกับความวุ่นวายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในหลายประเทศ และจะต้องลามไปถึงปีหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ว่าจะอยู่ในขั้นวิกฤตรุนแรงมากกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด เพราะความหลากหลายของปัญหา

เป็นความท้าทายสำหรับผู้ที่ไม่อยู่ในสภาพที่แข่งขันกับใครได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีปัญหาด้านการครองชีพ แนวโน้มที่ปรากฏ ไม่ส่อให้เห็นว่าสถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น เมื่อคำนึงถึงความวุ่นวายทางการเมือง และภาวะเสื่อมถอยด้านเศรษฐกิจ ไร้โอกาสฟื้น

ช่วงนี้หลายประเทศได้มีการเดินขบวนประท้วงขับไล่รัฐบาล นอกเหนือจากฮ่องกงซึ่งรื้อรังอยู่นาน 5 เดือน และยังไม่มีแววว่าจะสิ้นสุดอย่างไร แม้แต่ผู้เกี่ยวข้องเช่นชาวฮ่องกงที่ร่วมประท้วง อยู่ฝ่ายไม่เห็นด้วย และฝ่ายนิ่งเฉย ก็ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร

รัฐบาลฮ่องกง และรัฐบาลจีน ก็ยังยอมรับสภาพการประท้วงรายวัน พร้อมความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ความถดถอยของเศรษฐกิจ ความทุกข์ยากลำบากของคนฮ่องกงทุกระดับ มากน้อยแล้วแต่ความแข็งแกร่งด้านทรัพย์สิน รอดูว่าวิกฤตจะเลวร้ายอีกแค่ไหน

สรุปได้เพียงแต่ว่าฮ่องกงจะไม่เหมือนเดิม ด้านทัศนคติ ความคิด สภาพโครงสร้างของฮ่องกง ความรู้สึกขุ่นเคืองในกลุ่มประชาชนที่หยั่งรากลึก และคนที่รู้สึกว่าจะอยู่ในฮ่องกงไม่ได้อีกต่อไป ต้องขยับขยายอพยพไปอยู่ประเทศอื่นเท่าที่เงินจะทำให้เป็นไปได้คนฮ่องกงส่วนหนึ่งตัดสินใจไม่อยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงของจีน

เราได้เห็นการเดินขบวนประท้วงขับไล่รัฐบาลจากปัญหาการเมือง ค่าครองชีพและการทุจริตคอร์รัปชันในเลบานอน ชิลี อาร์เจนตินา อิรัก สเปน โบลิเวีย และเวเนซุเอลา และหลายแห่งที่กำลังก่อหวอด ยังมีสงครามการค้า การคว่ำบาตร การเผชิญหน้า

ในเลบานอน นายกรัฐมนตรีประกาศลาออกหลังจากการประท้วงโดยประชาชนทั่วประเทศ เพราะปัญหาเศรษฐกิจ ล่าสุดเป็นเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมค่าแอปพลิเคชันสำหรับสื่อออนไลน์ ทำให้ระบบธนาคารเป็นง่อย ปิดตัวลง เสี่ยงต่อการล่มสลายทั้งระบบ

การลาออกโดยนายกฯ ทำให้ประธานาธิบดีต้องสรรหานายกฯ คนใหม่ แต่ประชาชนต้องการให้ประธานาธิบดีรับผิดชอบด้วยการลาออกด้วย เพราะปัญหาของเลบานอนซับซ้อน เกี่ยวโยงกับการเมืองในประเทศ ในตะวันออกกลาง กลุ่มอิทธิพล

เลบานอนต้องรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียกว่าล้านคน เป็นภาระหนักด้านงบประมาณ มีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่อิหร่านสนับสนุนร่วมอยู่ในรัฐบาล และถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรในฐานะเป็นกลุ่มหัวรุนแรง เมื่อทั้งอิหร่านและฮิซบอลเลาะห์ถูกคว่ำบาตร ทำให้การเงินมีปัญหา

ทำให้รัฐบาลเลบานอนอยู่ในสภาพทุลักทุเล การทุจริตเรื้อรัง และปัญหาเศรษฐกิจทำให้การขยายตัวที่เคยสูงถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ช่วงก่อนทรุดหนักเหลือเพียง 0.0 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ระบบการค้า การเงินเป็นอัมพาตเพราะธนาคารต้องปิดตัวนานกว่า 10 วัน

ในอิรัก ประชาชนประท้วงนานกว่า 1 เดือนเพราะปัญหาค่าครองชีพ การว่างงาน การทุจริต และการขาดบริหารขั้นพื้นฐานจากภาครัฐหลังจากระบบสาธารณูปโภคต่างถูกทำลายในช่วงสงครามที่อิรักถูกบุก 2 รอบโดยสหรัฐฯ และพันธมิตร และสงครามกลางเมือง

ล่าสุดกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่ยังไม่สำเร็จ สภาวะยืดเยื้อซ้ำเติมความเสียหายในระบบเศรษฐกิจให้เลวร้ายกว่าเดิมเพราะความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะหลายสิบราย ไม่มีวี่แววว่าความไม่สงบจะหาทางออกได้อย่างไร

ในชิลี ประชาชนเดินขบวนประท้วงเพราะรัฐบาลขึ้นค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชน และลามไปถึงการขับไล่รัฐบาล แม้รัฐบาลจะยอมตามคำเรียกร้อง ประชาชนยังเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก แม้จะยอมปรับคณะรัฐมนตรีแล้วก็ตาม มีความรุนแรงต่อเนื่อง

การประท้วงมีการจุดไฟเผายานพาหนะบนท้องถนน ร้านค้า ทั้งขายเสื้อผ้า ร้านแมคโดนัลด์ ศูนย์แพทย์ในเมืองหลวง ทำให้ทหารต้องออกมารักษาความสงบ ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง รถฉีดน้ำ การปะทะทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 20 ราย

ชิลีเป็นประเทศมั่งคั่งในละตินอเมริกา แต่การประท้วงขับไล่รัฐบาลทำให้เศรษฐกิจของประเทศเป็นอัมพาต มีเสียงเรียกร้องให้คืนสู่ความสงบเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่น่าจะเป็นไปได้ยาก ตราบใดที่ประธานาธิบดีเซบาสเตียน พิเนรา ยืนยันจะอยู่ต่อไป

แม้จะมั่งคั่ง ชิลียังเป็นประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้อยู่อันดับต้นๆ ของโลก! มีทั้งปัญหาค่าครองชีพ การทุจริต คอร์รัปชัน การเพิ่มขึ้นของหนี้สิน

เพื่อนบ้านคืออาร์เจนตินา ได้ผู้นำคนใหม่ ประธานาธิบดีอัลแบร์โต เฟอร์นันเดซ ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ยังต้องเผชิญปัญหาค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และรับภาระหนี้สินซึ่งได้กู้จากไอเอ็มเอฟครั้งล่าสุด 5 หมื่นล้านดอลลาร์

อาร์เจนตินามีปัญหาหนี้เรื้อรังอันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายผิดพลาด มีโครงการประชานิยม สร้างความเสียหายด้านวินัยการเงินการคลัง ทำให้ต้องขายทรัพย์สินของรัฐใช้หนี้ ฟื้นตัวมาก่อนหน้านี้ และมาซ้ำเติมรอบใหม่ด้วยประชานิยม

รัฐบาลก่อนได้ประกาศมาตรการรัดเข็มขัด เช่นยกเลิกเงินอุดหนุนราคาพลังงาน ขึ้นภาษีเพื่อหารายได้ ทำให้ประชาชนไม่พอใจ เลือกเฟอร์นันเดซ แต่รัฐบาลยังควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ลดการแลกได้ 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 200 ดอลลาร์ต่อครั้ง

และเบิกเงินสดได้เพียง 100 ดอลลาร์เท่านั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของธนาคารกลาง ทำให้คนอาร์เจนตินาต้องอยู่ในสภาพลำบาก จากที่เคยอยู่ในสภาวะมั่งคั่งในอดีต

ในโบลิเวีย ประชาชนเดินขบวนประท้วงรัฐบาล อ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งโดยประธานาธิบดีอีโว โมราเลส เพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป ฝ่ายค้านจุดไฟเผาหน่วยเลือกตั้ง ความไม่สงบในละติน อเมริกาทำให้เกิดความกังวลว่าจะลามต่อไปในประเทศอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น