(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
China accuses West of ‘hypocrisy’ in HK protests
By Jing Xuan Teng
23/10/2019
จากการประท้วงรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกาใต้ รวมทั้งวิธีรับมือของทางการ ทำให้สื่อรัฐจีนระบุว่า พวกรัฐบาลโลกตะวันตกนั้นเป็นพวกมือถือสาก ปากถือศีล เพราะขณะที่พวกเขาหนุนหลังการเดินขบวนในฮ่องกง แต่กลับประณามความรุนแรงทำนองเดียวกันเมื่อเกิดขึ้นในบ้านของพวกเขาเอง
จีนกำลังหยิบยกเอาเรื่องที่เกิดการประท้วงรุนแรงในยุโรปและอเมริกาใต้ มาสนับสนุนการที่ตนเองประณามการเดินขบวน “เรียกร้องประชาธิปไตย” ในฮ่องกง รวมทั้งใช้มาเพิ่มพูนน้ำหนักให้แก่วิธีการของฝ่ายตนในการจัดการกับความไม่สงบในเขตบริหารพิเศษของแดนมังกร
การปะทะระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ทั้งในชิลี และที่แคว้นกาตาลุญญา ของสเปน กลายเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้แก่ข้อกล่าวอ้างของจีนที่ว่า พวกรัฐบาลตะวันตกและสื่อมวลชนตะวันตกทำตัวเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล ด้วยการสนับสนุนการประท้วงในฮ่องกง แต่เวลาเดียวกันกลับประณามความรุนแรงเมื่อมันเกิดขึ้นในบ้านของพวกเขาเอง
ทั้งสื่อรัฐจีนและพวกเจ้าหน้าที่จีนต่างพากันออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องความไม่สงบซึ่งเกิดขึ้นในต่างแดนในช่วงกี่วันที่ผ่านมา
“เราสามารถมองเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเวลานี้ในฮ่องกง กำลังถูกผลิตซ้ำขึ้นมาในที่อื่นๆ” มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีที่กรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ (21 ต.ค.) พร้อมกับยกตัวอย่างการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจทั้งในกาตาลุญญา และชิลี ตลอดจนการประท้วงในกรุงลอนดอน
“ในกาตาลุญญา พวกเขาประกาศอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนกันด้วยซ้ำว่า กำลังจะสร้างฮ่องกงแห่งที่สองขึ้นในกาตาลุญญา และบอกชัดๆ ว่าพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เกิดขึ้น (ในฮ่องกง) ผมคิดว่าใครหลายคนจะต้องคิดให้ดีเกี่ยวกับพฤติกรรมเช่นนี้ของพวกเขา” หวัง กล่าว
จีนนั้นประณามอย่างรุนแรงต่อพฤติการณ์ “แบบผู้ก่อการร้าย” ของพวกคนกลุ่มน้อยที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งปรากฎอยู่ในหมู่ผู้ประท้วงที่ฮ่องกง รวมทั้งกล่าวหาพวกรัฐบาลต่างประเทศว่ากำลังบ่มเพาะยุยงให้เกิดความไม่สงบขึ้นในนครกึ่งปกครองตนเองทางตอนใต้ของจีนแห่งนี้
กำลังตำรวจฮ่องกง ได้ถูกกล่าวหาจากพวกผู้ประท้วงและสื่อมวลชนตะวันตกตลอดจนรัฐบาลหลายประเทศของฝ่ายตะวันตก ว่ามีการกระทำล่วงละเมิดสิทธิและใช้อำนาจอย่างมิชอบต่างๆ ระหว่างระยะเวลาเกือบ 5 เดือนของการประท้วงซึ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในฮับทางการเงินแห่งสำคัญของโลกแห่งนี้
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ซึ่งแรกเริ่มทีเดียวโฟกัสที่การคัดค้านร่างแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่พวกผู้ประท้วงกล่าวหาโจมตีว่าจะเปิดทางให้ชาวฮ่องกงเผชิญการถูกไต่สวนพิจารณาคดีในแผ่นดินใหญ่ซึ่งปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ เวลานี้ได้ขยายตัวบานปลายครอบคลุมข้อเรียกร้องอื่นๆ อย่างกว้างขวางขึ้นอีกมาก ทั้งเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยและการสอบสวนตำรวจที่ใช้ความรุนแรง
“ในช่วงไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ เราได้เห็นทั้งปักกิ่งและสื่อรัฐจีนกำลังออกมาแสดงท่าทีคัดค้านอย่างแข็งกร้าวมากต่อพวกผู้ประท้วง โดยป้ายสีพวกเขาว่าเป็นผู้ร้ายในละครที่กำลังพัฒนาคลี่คลายให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ” แอดัม นี นักวิจัยเรื่องจีน ณ มหาวิทยาลัยแมคควอรี ในออสเตรเลีย ให้ความเห็น
ปักกิ่งกำลังใช้สถานการณ์ในกาตาลุญญาเป็นหลักฐานที่แสดงว่า “ต้องมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง, การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งเท่านั้น, เราจึงจะสามารถลอยตัวอยู่เหนือทะลแห่งความปั่นป่วนวุ่นวายนี้ได้” นี กล่าวต่อ
“โดยพื้นฐานแล้วมันก็คือการพูดว่า ดูเถอะ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นไม่ได้แตกต่างกับสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นในต่างแดนเลย รวมทั้งในพวกประเทศที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมด้วย” นี บอกพร้อมกับพูดติงว่า แต่แน่นอนว่า การเปรียบเทียบเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก “บริบทมีความแตกต่างกันมาก”
“มือถือสากปากถือศีล”ของฝ่ายตะวันตก
ผู้คนจำนวนมากในแคว้นกาตาลุญญา ซึ่งมีบาร์เซโลนาเป็นเมืองเอก ได้ออกมาประท้วงตามท้องถนนภายหลังจากศาลสเปนตัดสินลงโทษพวกผู้นำที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนกาตาลุญญาออกจากสเปน ด้วยการจำคุกระยะยาว สืบเนื่องจากความผิดที่พยายามก่อการเรียกร้องเอกราชเมื่อปี 2017 ผู้ประท้วงเหล่านี้ด้หยิบยกเอาการเดินขบวนประท้วงในฮ่องกง มาเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของพวกเขา
ยุทธวิธีต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันในฮ่องกง เป็นต้นว่า การใช้หมวกแข็งสีเหลือง และการใช้ใบผ่านเพื่อขึ้นเครื่องบิน (boarding pass) เพื่อหลบหลีกการตรวจเช็กความปลอดภัยที่สนามบิน ปรากฏว่าเมื่อนำมาใช้ในบาร์เซโลนา ก็เผชิญกับแก๊สน้ำตาและกระสุนยางที่ยิงจากพวกตำรวจสเปน
สำหรับในชิลี มีคนสิบกว่าคนทีเดียวเสียชีวิตในการประท้วงอันรุนแรงและการปล้นชิงข้าวของ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเนื่องจากการขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดิน แต่แล้วก็เปลี่ยนไปเป็นความโกรธกริ้วฝ่ายทหารและตัวประธานาธิบดีเซบัสเตียน ปิญเญรา
ส่วนการที่ตำรวจลอนดอนเข้าจับกุมพวกผู้ประท้วงจากกลุ่มเรียกร้องเพื่อสิ่งแวดล้อม “เอ็กซ์ทิงชั่น รีเบลเลียน” (Extinction Rebellion กลุ่มกบฎต่อต้านการสูญพันธุ์) ก็ถูกสื่อรัฐจีนหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเช่นกัน ว่านี่แสดงให้เห็นความเป็น “สองมาตรฐาน” ของฝ่ายตะวันตก
“การเปิดโปงให้เห็นถึง “สภาพมือถือสาก ปากถือศีล” ของฝ่ายตะวันตก ถือเป็นยุทธวิธีธรรมดาอย่างหนึ่งในการรายงานข่าวของสื่อรัฐจีนมาอย่างยาวนานระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยและสิทธิมนุษยชน” มาเรีย เรปนิโควา อาจารย์ของมหาวิทยาลัยจอร์เจียสเตท ในสหรัฐฯ บอกกับเอเอฟพี
จากการใช้ยุทธวิธีนี้ สื่อรัฐจีนยัง “กำลังสร้างความชอบธรรมโดยทางอ้อมให้แก่การใช้วิธีรุนแรงดุดันมากขึ้นในฮ่องกงอีกด้วย” เรปนิโควา ซึ่งทำวิจัยเรื่องการสื่อสารทางการเมือง ตั้งข้อสังเกต
ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง หวา ชุนอิง โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงในวันจันทร์ (21 ต.ค.) ว่า จากปฏิกิริยาตอบสนองของพวกรัฐบาลตะวันตกต่อพวกผู้เดินขบวนในกาตาลุญญาและในลอนดอน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า “สิ่งซึ่งเรียกว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้ฟังดูมีศีลธรรมสูงส่ง สำหรับที่ฝ่ายตะวันตกจะเข้ามาก้าวก่ายสอดแทรกในกิจการของฮ่องกงเท่านั้น”
“การส่งออกการปฏิวัติ”
ความคิดเห็นเช่นนี้ของกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้รับการขานรับจากบทวิจารณ์และรายงานข่าวต่างๆ ในสื่อรัฐจีน โดยมีการนำเอาเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในฮ่องกงและในที่อื่นๆ มาเปรียบเทียบคู่เคียงกัน
โกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์แทบลอยด์แนวชาตินิยม ซึ่งอยู่ในเครือของ เหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์ เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวในบทบรรณาธิการเมื่อวันจันทร์ (20 ต.ค.) ว่า “พวกผู้ประท้วงในฮ่องกงกำลังส่งออกการปฏิวัติไปสู่โลก ในหนทางที่ไม่ได้มีการคาดคิดกันมาก่อน”
“โลกตะวันตกกำลังต้องประสบความสูญเสียจากการสนับสนุนการจลาจลในฮ่องกง ซึ่งได้ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในส่วนอื่นๆ ของโลกขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วย รวมทั้งป็นลางบอกเหตุถึงความเสี่ยงทางการเมืองต่างๆ ซึ่งโลกตะวันตกไม่สามารถที่จะบริหารจัดการได้” โกลบอลไทมส์ระบุเอาไว้เช่นนี้
ทางด้าน ไชน่าเดลี่ หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษของรัฐจีน บอกว่า “พวกสื่อตะวันตกและนักการเมืองตะวันตกกลายเป็นพวกซึ่งใช้สองมาตรฐาน เมื่อมาถึงความรุนแรงอย่างเดียวกันที่กระทำโดยพวกผู้ประท้วงในประเทศซึ่งแตกต่างกัน”
“ความรุนแรงที่กระทำโดยพวกผู้ประท้วงในประเทศตะวันตกทั้งหลาย ถูก (สื่อและรัฐบาลตะวันตก) เรียกขานว่าเป็นการก่อความไม่สงบ หรือการก่อจลาจล แต่มันกลายเป็น (แค่) การเดินขบวนหรือการประท้วง กระทั่งเป็น “การต่อสู้เพื่อเสรีภาพอย่างมีเกียรติ” ด้วยซ้ำ เมื่อมันเกิดขึ้นมาในฮ่องกง” หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เขียนเอาไว้เช่นนี้ในบทบรรณาธิการเมื่อวันพุธ (23 ต.ค.)
“การใช้สองมาตรฐานเช่นนี้ กลายเป็นการแพร่งพรายให้เห็นสภาพมือถือสาก ปากถือศีล ของพวกนักการเมืองตะวันตก และสื่อตะวันตก”
(หมายเหตุผู้แปล: ข้อเขียนนี้ที่เผยแพร่ทางเอเชียไทมส์ มาจากสำนักข่าวเอเอฟพี สำหรับที่เก็บความมาเสนอในที่นี้ ก็เป็นของเอเอฟพีเช่นเดียวกัน แต่เป็นเวอร์ชั่นที่อัปเดตกว่า ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.channelnewsasia.com/news/asia/catalonia-protests-china-hong-kong-chile-unrest-hypocrisy-12025908)