xs
xsm
sm
md
lg

ในร้านอาหารสำหรับ 'พวกโปรปักกิ่ง' ที่ 'ฮ่องกง'

เผยแพร่:   โดย: แคเธอรีน ไหล


<i>เคต ลี เจ้าของร้านอาหาร (ภาพถ่ายเมื่อ 26 ต.ค. 2019) </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Hong Kong’s eateries as divided as the citizens
By Catherine Lai
07/11/2019

ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายในฮ่องกง ร้านอาหารหลายแห่งก็เกิดการแบ่งขั้วประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายโปรประชาธิปไตยตะวันตก และฝ่ายโปรปักกิ่ง

ร้านอาหารแบบพื้นบ้านของ เคต ลี ซึ่งเสิร์ฟ ชานมรสหวาน และขนมปังเฟรนช์โทสต์พร้อมเต้าหู้หมัก เวลานี้กลายเป็นแหล่งพักพิงสำหรับชาวฮ่องกงผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีคนหนุ่มสาวเป็นแกนนำและกำลังแผ่ลามไปทั่วทั้งนครซึ่งเป็นเขตบริหารพิเศษของจีนแห่งนี้

ณ ตอนเช้าวันเสาร์วันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ร้านอาหารของเธอเต็มแน่นไปด้วยพวกลูกค้าผู้หิวโหย โดยที่มีเหล่าอาสาสมัครมาช่วยเหลือคอยให้บริการทั้งเรื่องการรับออร์เดอร์ และการเก็บถ้วยจานการเช็ดโต๊ะ ทั้งนี้หลังจากที่ ลี พูดจาประกาศตัวสนับสนุนกองกำลังตำรวจของฮ่องกง

“ฉันคิดว่า พวกเขา (ปักกิ่ง) ให้เสรีภาพแก่เรามากมายแล้วในการปกครองพวกเรา และใช้นโยบายที่ดีๆ จำนวนมากกับพวกเรา ซึ่งเปิดทางให้พวกเรามั่งคั่งร่ำรวย” นี่เป็นคำพูดของลี ซึ่งได้กลายเป็นเซเลบลิตี้ในบางแง่มุมไปเรียกร้อยแล้วในสายตาของฝ่ายโปรตำรวจของฮ่องกง รวมทั้งได้รับการยกย่องต้อนรับจากพวกสื่อมวลชนภาครัฐของจีน

พวกผู้สนับสนุนรัฐบาลของฮ่องกงนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “พวกริบบิ้นสีฟ้า” เนื่องจากเป็นสีที่เกี่ยวข้องโยงใยกับสีเสื้อของตำรวจ ส่วนพวกผู้สนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกเรียกว่า “พวกริบบิ้นสีเหลือง”

หลังจากระยะเวลาหลายเดือนของการประท้วงขนาดมหึมาที่ช่วงแรกๆ มีผู้คนเรือนล้านเข้าร่วมลงสู่ท้องถนน และบ่อยครั้งทีเดียวจบลงด้วยความรุนแรง ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นว่า แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ซึ่งโปรปักกิ่งและไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง ได้รับเรตติ้งการยอมรับในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกัน ผลโพลของสำนักหนึ่งซึ่งออกมาในเดือนตุลาคมก็ชี้ว่า ชาวฮ่องกงสองในสามไม่พอใจรัฐบาลชุดนี้ (หมายเหตุผู้แปล – อันที่จริงแล้ว ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงไม่มีคนไหนผ่านการเลือกตั้งเลย ไม่ว่าในช่วงที่กลับมาอยู่ใต้การปกครองของจีน หรือในช่วงที่อยู่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ)

แต่ (สิ่งที่ทำให้ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีรายนี้ รู้สึกประหลาดใจมากก็คือ) พวกที่จงรักภักดีต่อปักกิ่งและรัฐบาลฮ่องกงนั้น ยังคงมีอยู่จริงๆ – ตั้งแต่พวกนักชาตินิยมดึงดันเหนียวแน่นซึ่งคอยพูดซ้ำลอกเลียนคำประณามอันเผ็ดร้อนของปักกิ่ง ไปจนถึงผู้คนประเภทที่เป็นสายกลางมากขึ้นซึ่งเรียกร้องต้องการเห็นเสถียรภาพ มากกว่าความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองในช่วง 5 เดือนหลังที่ผ่านมา

ลี ซึ่งปัจจุบันอายุ 51 ปี บอกว่าเธอไม่ใช่คนที่คอยเฝ้าติดตามเรื่องการเมืองอย่างใกล้ชิดหรอก แต่เธอไม่เห็นด้วยกับวิธีการอันรุนแรงต่างๆ ซึ่งพวกผู้ประท้วงสายฮาร์ดคอร์ พากันนำมาใช้

“ฉันต้องการถามพวกเขาว่า ตอนนี้พวกคุณไม่มีเสรีภาพอะไรเลยในฮ่องกงจริงๆ หรือ? พวกคุณไม่สามารถพูดคำว่า “กอบกู้ฟื้นฟูฐานะของวันที่ 4 มิถุนายน” ในฮ่องกงจริงๆ หรือ? แล้วคำพูดอย่างนั้นเป็นสิ่งที่พวกคุณสามารถตะโกนออกมาดังๆ ในจัตุรัสเทียนอินเหมินของแผ่นดินใหญ่ได้หรือเปล่า?” เธอกล่าว ทั้งนี้คำขวัญ “กอบกู้พื้นฟูฐานะของวันที่ 4 มิถุนายน” หมายถึงการเรียกร้องให้กอบกู้ฟื้นฟูความบริสุทธิ์ไร้ความผิดของบรรดาผู้ที่ถูกปราบปรามอย่างนองเลือดในเหตุการณ์เทียนอันเหมินของกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989

<i>ผู้ที่เข้ารับประทานอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร (ภาพถ่ายเมื่อ 26 ต.ค. 2019) </i>
“มือที่สาม”คอยชักใย

ปักกิ่งวาดภาพการประท้วงในฮ่องกงว่าเป็นขบวนการหนึ่งของพวกแบ่งแยกดินแดนที่หนุนหลังชักโยโดยพวก “มือที่สาม” ต่างชาติ โดยที่ตัวการหลักๆ ซึ่งฝ่ายจีนโกรธเกรี้ยวก็คือสหรัฐฯกับอังกฤษ

ในทัศนะของผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายนี้ ฝ่ายจีนแทบไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยันข้อกล่าวหานี้เลย นอกเหนือจากการอ้างอิงคำพูดคำแถลงแสดงความสนับสนุนการประท้วงในฮ่องกงจากนักการเมืองตะวันตกบางรายเท่านั้น กระนั้นก็ตาม ไอเดียที่ว่าการประท้วงในฮ่องกงได้รับเงินทุนสนับสนุนจากต่างชาติและไม่ได้เป็นการก่อกบฎของประชาชน ก็แพร่หลายกระจายไปอย่างกว้างขวางภายในค่ายริบบิ้นสีฟ้า

“ไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องเรียกร้องสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นการทั่วไป (universal suffrage)” เอริกา ครูสอนศิลปะวัย 20 ปลายๆ ผู้หนึ่ง บอก เธอเป็นอาสาสมัครคนหนึ่งซึ่งกำลังช่วยเสิร์ฟอาหารที่ร้านนี้

“ก่อนอื่นเลย เราควรต้องตั้งคำถามว่า ทำไมพวกเขาจึงต้องการที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ทุกๆ คนต่างรู้ดีว่ามันเป็นสิ่งที่พวกอเมริกันกำลังบอกให้พวกเขาทำเช่นนี้”

คนอื่นๆ ซึ่งผู้สื่อข่าวเอเอฟพีได้พูดคุยด้วย กล่าวว่าพวกเขาสนับสนุนให้ฮ่องกงมีประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นกว่านี้มากๆ แต่พวกเขารู้สึกว่าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องทำกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้พวกเขากลัวว่าจะเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับในทางลบจากพวกผู้เผด็จการจีน ถ้าหากฝ่ายผู้ประท้วงผลักดันเรียกร้องอย่างหนักหน่วงรุนแรงจนเกินไป

ฟง ฟง หญิงสูงอายุวัย 60 ปี เล่าว่า ได้เคยบอกกับลูกชายของเธอหลังจากเขาเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลว่า เธอจะเอาตัวเขาไปส่งเจ้าหน้าที่ถ้าเธอจับได้ว่าเขาเข้าร่วมก่อการจลาจล เธอเล่าว่าคำพูดนี้ของเธอทำให้ลูกชายอายุ 28 ปีของเธอถึงกับรีบเอาศีรษะโขกกำแพงด้วยความหงุดหงิดไม่พอใจ

“ฉันบอกเขาว่า ถ้าแกกลายเป็นพวกก่อจลาจล แล้วแกถูกตำรวจตี นั่นก็เป็นเรื่องสมควรแล้วที่แกจะต้องเจอ”

เธอกล่าวว่าเธอให้คุณค่าความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เหนือกว่าพวกอุดมคติที่ฟังดูสูงส่ง และบอกด้วยว่าความไม่สงบที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งซึ่งละเมิดสิทธิของพวกที่ต้องการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาไปตามปกติโดยไม่ถูกรบกวนขัดขวาง

“ฉันคิดว่าเราควรที่จะต้องมีประชาธิปไตย แต่คุณจะต้องก้าวไปถึงเรื่องสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นการทั่วไป โดยก้าวไปทีละขั้น คุณไม่สามารถไปให้ถึงสวรรค์ได้ด้วยการก้าวเพียงแค่ก้าวเดียวหรอก” เธอกล่าวต่อ

ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายนี้ระบุว่า พวกผู้ประท้วงวัยหนุ่มสาวจำนวนมากตอบโต้ความคิดทัศนะทำนองนี้ว่า เป็นเพราะความบกพร่องล้มเหลวของพวกคนรุ่นเก่าที่ไม่ตอบโต้ผลักดันปักกิ่งกลับไป เพื่อไม่ให้บั่นทอนกัดกร่อนเสรีภาพต่างๆ ของฮ่องกงนั่นแหละ คือสิ่งที่ส่งผลทำให้เกิดการต่อสู้ประท้วงในฤดูร้อนปีนี้ขึ้นมา

ผลลัพธ์ของความแตกต่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าในฮ่องกงก็คือ นครที่กำลังเกิดการแตกแยกแตกขั้วกันอย่างสิ้นหวัง

<i>อาสาสมัครที่มาช่วยงานในร้านอาหาร (ภาพถ่ายเมื่อ 26 ต.ค. 2019) </i>
“อย่าก้าวข้ามเส้น”

พวกผู้สนับสนุนปักกิ่งได้โจมตีเล่นงานฝ่ายปรปักษ์กันตลอดทั้งฤดูร้อนนี้ บ่อยครั้งทีเดียวพุ่งเป้าทำร้ายนักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคนดัง ตลอดจนพวกนักการเมืองฝ่ายค้าน

ขณะเดียวกัน ฝูงชนประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยก็ไล่ทุบตีฝ่ายปรปักษ์ทางอุดมการณ์ของพวกเขาอยู่เป็นประจำเช่นเดียวกัน โดยมักเป็นความรุนแรงของม็อบซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันระหว่างการชุมนุม

เวลานี้ธุรกิจต่างๆ ในฮ่องกงก็ถูกประทับตราอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นพวกสีฟ้าหรือพวกสีเหลือง

ข้าราชการพลเรือนปลดเกษียณวัย 61 ปีผู้หนึ่งซึ่งขอไม่ให้ระบุชื่อของเขา กล่าวว่า เขารู้สึกว่าพวกผู้ประท้วงกำลังพยายามที่จะต่อสู้อยู่ในสงครามซึ่งไม่มีทางชนะโดยมุ่งเล่นงานโจมตีศัตรูที่ไม่มีทางทำร้ายได้

“ในท้ายที่สุดคุณก็ต้องยอมรับว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน นี่คืออะไรบางอย่างซึ่งคุณไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้” เขาบอก

“คุณไม่สามารถที่จะต่อต้านเรื่องนี้ ... ดังนั้นสิ่งที่คุณสามารถทำได้ก็เพียงแค่ต้องยอมรับกฎเกณฑ์ของพวกเขาเท่านั้น”

เขากล่าวต่อไปว่าเขาไม่ได้วิตกกังวลอะไรเกี่ยวกับเรื่องที่ฮ่องกงกำลังจะต้องสูญเสียเสรีภาพของตัวเองไปในปี 2047 เมื่อระยะเวลา 50 ปีของการรับประกันสิทธิปกครองตนเองของฮ่องกงจะหมดอายุลง ตามข้อตกลงที่ปักกิ่งทำเอาไว้กับอังกฤษก่อนการส่งมอบอำนาจในปี 1997

“พวกคนบนแผ่นดินใหญ่ต่างปรับตัวได้กับสภาพแวดล้อมนี้” เขากล่าว โดยหมายถึงผู้คนในประเทศจีน ผู้ซึ่งเขารู้สึกว่าได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ประเทศมีเสถียรภาพ

“คุณจะต้องปรับตัวให้เข้ากับพวกเขา ใช่แล้ว คุณต้องระมัดระวังตัวว่า คุณจะต้องไม่พูดอะไรที่กลายเป็นการก้าวข้ามเส้น”

“นี่มันมากันเป็นแบบแพกเกจ ถ้าคุณต้องการที่จะยอมรับสิ่งนี้ คุณก็ต้องยอมรับสิ่งอื่นๆ ด้วย”

(จากรายงานข่าวที่ใช้ชื่อว่า In a Hong Kong tea house Beijing loyalists decry protests ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น