xs
xsm
sm
md
lg

มี ‘เพื่อน’ แบบนี้ดีหรือไม่...?

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์


เรื่องรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกสิทธิพิเศษด้านศุลกากร หรือ GSP สำหรับสินค้าประมงของไทย ส่งไปขายในตลาดสหรัฐฯ รวมมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี กำลังเป็นมิติเล็กๆ ในด้านความสัมพันธ์การค้า ซึ่งอาจมีผลกระทบด้านอื่นๆ ด้วย

สหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่าเรายังมีปัญหาด้านการปฏิบัติคุ้มครองสิทธิสำหรับแรงงาน แม้ก่อนหน้านี้ไทยได้ปรับปรุงภาคการประมงอย่างมากจนได้รับการฟื้นสถานภาพให้อยู่ในระดับ 2 ซึ่งจะไม่สุ่มเสี่ยงต่อมาตรการกีดกันอื่นๆ

เราก็โดนมาตรการเล่นงานในกรณีการค้ามนุษย์ แต่ก็แก้ไขได้สำเร็จ!

นี่เป็นประกาศออกมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำให้สงสัยว่ามีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ ขณะเดียวกันก็คืนสิทธิให้ยูเครน ซึ่งทรัมป์พยายามเอาใจ และมีข้อเสนอ “ยื่นหมูยื่นแมว” กับผู้นำประเทศ จนทำให้ตัวเองลำบาก ถูกเข้าสู่กระบวนการถอดถอนขณะนี้

จะเป็นเพราะไทยจะประกาศห้ามใช้สารพิษเคมีเกษตร 3 ตัวในวันที่ 1 ธันวาคม หรือไปทำอะไรให้ขัดใจสหรัฐฯ หรือไม่ คนภาครัฐก็บอกว่าไม่เกี่ยวกัน แถมยังมีข่าวว่าลุงกระท้อนได้รับรู้มาเดือนกว่าแล้ว รัฐมนตรีพาณิชย์ก็รู้เรื่องแล้วด้วย

แล้วภาคเอกชนได้รับการเตือนเรื่องนี้หรือเปล่า? นี่ก็ต้องไปว่ากันต่อไป ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจะหาทางออกอย่างไรไม่ให้เสียหายมากกว่านี้ เพราะตัวเลขประเมินเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าจะเป็นประมาณ 32 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ถือว่ายังพอรับได้

การยกเลิกสิทธิพิเศษด้านศุลกากรไม่ได้หมายความว่าเราส่งออกสินค้าประมงแช่แข็งตามรายการต่างๆ ที่ระบุไว้ โดยมีระยะผ่อนให้อีก 6 เดือนข้างหน้า เพื่อให้ปรับตัวหรือการเจรจาร่วมกัน หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ ผู้ส่งออกต้องรีบปรับตัวเดี๋ยวนี้

สิทธิพิเศษภายใต้ GSP ทำให้เราไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียเพียงเล็กน้อย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา มีเงื่อนไขอื่นๆ อีกเยอะ เช่นมูลค่าการส่งออกจะไม่ต้องไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ ถ้าเกินแล้วจะเข้าสู่เงื่อนไขใหม่ หรืออยู่ในสภาพที่ต้องพึ่ง GSP อีก

ระดับนั้นเรียกกันโดยทั่วไปว่า Graduation คือได้ “บรรลุ” แล้ว สามารถแข่งขันกับผู้ส่งออกจากประเทศอื่นๆ ได้ ที่ผ่านมาสินค้าหลายประเภทก็สิ้นสภาพของ GSP ทั้งการส่งออกไปยุโรป สหรัฐฯ ถือว่าหมดเวลาที่ต้องรับการอุ้มกระเตงแล้ว

เหมือนทารกต้องดื่มนม จนถึงวันที่ตั้งไข่ หย่านม และเดินได้ด้วยตัวเอง!

โต แข็งแรงแล้ว ไม่จำเป็นต้องอาศัยสิทธิพิเศษอีกต่อไป ไม่อย่างนั้นก็ต้องพึ่ง GSP ตลอดไป เหมือนคนไทยส่วนหนึ่งยุคนี้ที่ต้องพึ่งพามาตรการฟรีๆ ในนโยบายประชานิยมจมไม่ลง ถมไม่เต็ม ภายใต้รัฐบาล แลกกับการกู้เงินเพิ่มหนี้สินมหาศาล

เมื่อไม่มี GSP ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ถือว่ายังมีเวลาที่ผู้ส่งออกและภาครัฐต้องปรับตัวในช่องทางที่ทำได้ เช่น พยายามลดต้นทุนสินค้าในขั้นตอนต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยปัญหาที่เป็นอยู่คือ “ค่าเงินบาทแข็งมาก”

จะมี GSP หรือไม่ก็ตาม สินค้าส่งออกของไทยทุกวันนี้ขายยาก เพราะแพงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันจากประเทศอื่นๆ ผู้ส่งออกอยู่ในสภาวะลำบากมานาน โดยภาครัฐยังไม่มีแนวทางผ่อนปรนภาระด้านนี้ เพราะเมื่อมีผู้เสีย ก็มีผู้ได้เช่นกัน

การส่งออกได้เงินบาทน้อย แต่การนำเข้าพ่อค้าซื้อสินค้าได้ถูกลง รวมทั้งน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ การใช้คืนหนี้ต่างประเทศก็ใช้เงินไทยน้อยลง การเดินทางไปต่างประเทศก็ถูกลง แม้การลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศก็ใช้เงินน้อยลง

เอาแค่เงินบาทแข็งค่ายืดเยื้อก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว และยังไม่มีวี่แววว่าจะมีมาตรการแก้ไขอย่างไร เพราะนักลงทุนด้านการเงินมองว่าสกุลเงินบาทมั่นคง

ดังนั้น พ่อค้าผู้ส่งออกและหน่วยงานของรัฐต้องเตรียมพร้อม และต้องระวังว่าการจะปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของแรงงานนั้นมีเงื่อนไขอย่างไร ถึงจะถูกใจสหรัฐฯ ถ้าทำแล้วยังไม่ถูกใจ สหรัฐฯ ยังจะเล่นงานด้วยมาตรการภาษี หรือด้านอื่นๆ อีกหรือไม่

อย่างที่หลายประเทศโดนสหรัฐฯ เล่นงานมาแล้ว เอาเรื่องการเมืองไปโยงกับการค้า ดังเช่นเกาหลีเหนือ จีน รัสเซีย อิหร่าน ยุโรป เวเนซุเอลา ล่าสุดก็คิวบา ถ้าทำอะไรไม่ถูกใจผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาเล่นวิธีหมาป่ากับลูกแกะตามอารมณ์แปรปรวน

เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการธุรกิจในภาคอื่นๆ ก็ไม่ได้ย่ำแย่กว่ากัน ทุกวันนี้กลุ่มที่ยังสร้างกำไร มีรายได้ดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้จากการค้าขายกับภาครัฐ เช่นงานจัดซื้อจัดจ้าง โครงการต่างๆ หรือกลุ่มที่อิงผลประโยชน์กับผู้มีอำนาจเอื้ออวยให้ได้

เราจะต้องไม่เจรจาอยู่บนพื้นฐานของความอ่อนแอ เป็นเด็กขี้อ้อน หรือต้องยอมเป็นเด็กดี เด็กในคาถา ว่านอนสอนง่ายสำหรับสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาในยุคของทรัมป์ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นมิตร พันธมิตร หรือความสัมพันธ์พิเศษอย่างใด

ถ้าเรายอมแล้ว ต้องยอมเป็นลูกไล่ตลอดไป แม้แต่ประเทศที่อยู่ในสภาพแข็งแกร่งมีอำนาจต่อรองมากกว่า ก็ยังโดนสหรัฐฯ ออกมาตรการกดดันหลายอย่าง ทั้งคว่ำบาตร ตั้งกำแพงภาษี โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป พันธมิตรนาโต รู้ซึ้งกว่าใครทั้งนั้น

ทรัมป์ก็ประกาศแล้ว “อเมริกาต้องมาก่อน” ชาติอื่นๆ มาทีหลัง ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อยู่เหนือสิ่งอื่นใด ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้ในยุคหลังจะมีเสียงค่อนแคะว่า “ทรัมป์ต้องมาก่อนอเมริกา” จนถูกกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

การออดอ้อนขอความเห็นใจจนเกินงาม จึงไม่ใช่สิ่งที่เราควรกระทำ ถ้าจะมีการต่อรองด้วยเงื่อนไขเข้มข้น ต้องดูว่ามีเหตุผล อยู่ในภาวะที่เราจะยอมรับได้หรือไม่ ดูไม่ยากว่าเป็นการต่อรองตามปกติ หรือมีการแฝงเร้นว่าเป็นการจ้องหาเรื่อง

ก่อนหน้าก็มีข่าวแว่วว่าสหรัฐฯ เขม่นเรานานแล้วว่าใกล้ชิดจีนเกินไป!
กำลังโหลดความคิดเห็น