ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2562 ดร.ทีโดรส อัดฮานมอ กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อขอให้ทบทวนการกำหนดกัญชาและสารสกัดจากกัญชาในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 เสียใหม่ โดยได้แจ้งผลการประชุมและการพิจารณาของคณะกรรมาธิการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านยาเสพติดขององค์การอนามัยโลกครั้งที่ 41 ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 16 พฤศจิกายน 2561 ณ สำนักงานใหญ่ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สรุปประเด็นสำคัญดังนี้
ให้ลบคำว่า “กัญชา” และ “ยางกัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 4 (Schedule IV)ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961
ให้ “ดรอนาบินอล” หรือ “เดลต้าไนน์ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล” (THC สารออกฤทธิ์ทางจิตประสาททำให้เมา) อยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 1 (Schedule I) ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงให้ลบออกจากอนุสัญญาว่าด้วยสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ. 1971
และให้สารสกัดและทิงเจอร์ของกัญชาไม่ต้องอยู่ใน บัญชียาเสพติดประเภทที่ 1 (Schedule I) ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
“สารวัตถุดิบเตรียมยาที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD ไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาทและไม่เมา) ที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ไม่ต้องถูกควบคุมในระหว่างประเทศอีกต่อไป”
คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่มีต่อผู้อำนวยการใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นมีกำหนดการยกมือลงมติตามขั้นตอนเดือนมีนาคม 2562 ต่อมาปรากฏว่าคณะกรรมาธิการยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติได้ตัดสินใจเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่กรุงเวียนนาว่าจะยังไม่นำวาระดังกล่าวเพื่อลงมติที่ประชุม โดยได้แจ้งผ่านทวิตเตอร์ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562 ด้วยเหตุผลเพื่อให้เวลาแก่สมาชิกในการพิจารณา
นั่นหมายความว่าวาระดังกล่าวนี้จะถูกเลื่อนออกไปเป็นการประชุมของคณะกรรมาธิการยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ 63 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563
คำถามมีอยู่ว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงต้องมีการ “เลื่อนลงมติ” ออกไป จะเป็นการให้เวลากับสมาชิกด้วยวัตถุประสงค์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร?
เพราะนัยที่ซ่อนอยู่ของทั้งการเลื่อนวาระการประชุมนั้น อาจจะไม่ได้มีเพียงเรื่องการชั่งน้ำหนักผลดีและผลเสียของพืชกัญชาในเรื่องสรรพคุณทางยาหรือยาเสพติดเท่านั้น แต่ยังมีความหมายรวมไปถึงเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลด้วย
โดยเฉพาะการกำหนดคุณสมบัติในสิ่งที่เรียกว่า CBD ซึ่งมีอยู่ทั้งในกัญชาและกัญชงนั้น สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ CBD ด้วย ซึ่งรวมถึง ยา อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง เครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ
แต่นิยามของสาร CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2% จึงจะไม่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดระหว่างประเทศนั้น อาจถูกมองว่าเป็นใช้ “มาตรฐานสูงที่สุด” ที่มนุษย์จะทำได้เป็นมาตรฐานที่ปลอดภัยจากสาร THC น้อยที่สุด แต่ก็มิอาจจะมองข้ามไปได้ว่ามาตรฐานสูงเช่นนี้มีที่มาอย่างไร
เพราะ สาร CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2% เป็นมาตรฐานที่ใช้ในยุโรป ซึ่งนอกจากจะสร้างความได้เปรียบในเรื่องพันธุ์พืช และสารสกัด CBD ของยุโรปแล้ว ยังรวมถึงเครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จะสกัดสาร CBD บริสุทธิ์เช่นนี้ของกลุ่มทุนข้ามชาติเหล่านี้ได้ด้วย
และถ้ามติองค์การสหประชาชาติเห็นชอบในการปลดล็อก CBD โดยใช้เกณฑ์วัดความบริสุทธิ์ที่เกือบปราศจาก THC เช่นนี้ ทุกประเทศก็ย่อมต้องพัฒนาสายพันธุ์กัญชงหรือกัญชาที่สามารถให้ผลผลิตที่เป็น CBD สูงให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้คุ้มค่าในทางธุรกิจโดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการสกัดให้บริสุทธิ์ คำถามมีอยู่ว่าประเทศไทยเตรียมความพร้อมด้านนี้มากเพียงพอแล้วหรือยัง?
เพราะสายพันธุ์ทั้งกัญชาและกัญชงในประเทศไทยนั้นล้วนแล้วแต่มีสาร CBD อยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก เพราะผลิตผลกัญชงมีไฟเบอร์สูง แต่ผลิตผลของกัญชามี THC สูง ทั้งกัญชาและกัญชงในสภาพแวดล้อมไทยจึงล้วนแล้วแต่มี CBD ต่ำมาก
แต่สิ่งที่ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยอยู่ในเวลานี้ก็คือในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน จะมีโอกาสหรือไม่ที่พันธุ์กัญชงที่เคยเชื่อว่าจะมีสาร THC อยู่ในระดับต่ำ (ต่ำกว่า 1%) แต่พอถึงเวลาปลูกจริงจนออกผลจริงแล้วกลับกลายเป็นว่าสาร THC จะสูงเพิ่มขึ้นมา จนถูกนิยามใหม่ว่าเป็นกัญชาแทนกัญชงหรือไม่? และถ้าเป็นอย่างนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจะทำอย่างไร จะไปกวาดล้างทำลายผลิตผลของเกษตรกรผู้สุจริตเหล่านี้หรือไม่? และมีบุคลากรเพียงพอที่จะทำภารกิจเหล่านี้จริงหรือไม่?
ในความเป็นจริงแล้ว ด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในปัจจุบัน ไม่ว่ายางที่ได้จากกัญชาหรือกัญชงสามารถนำมาเจือจางให้ THC ต่ำกว่า 0.2% ก็ได้ ในขณะที่กัญชงที่กฎกระทรวงของประเทศไทยกำหนดว่าให้มีสาร THC ต่ำกว่า 1% นั้นของดอกแห้งนั้น ก็สามารถนำมาสกัดให้มี THC สูงกว่า 0.2% ก็ได้ หรือจะมากกว่า 1% ก็ได้ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยรังสิตก็เคยสกัดได้ THC 100% ก็ได้ นั่นหมายความว่าการคุ้มที่ต้นไม้ “เป็นหลัก” นั้น เป็นการสิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรโดยไม่จำเป็น เพราะในความเป็นจริงยางที่ได้จากกัญชาและกัญชงสามารถนำมาสกัดแล้วทำให้เจือจางลง หรือ เข้มข้นขึ้นก็ได้ทั้งนั้น
นี่คือเหตุว่าเหตุใดองค์การอนามัยโลก ไม่ได้คุมสภาพที่ต้นไม้ หรือสายพันธุ์ เพราะถ้าคุมต้นน้ำเช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันที่จะคุมปลายน้ำได้ แต่การควบคุมที่ปลายน้ำหรือผลิตภัณฑ์หรือสินค้าได้แล้วด้วยวิธีการเจือจางหรือเข้มข้นขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องควบคุมทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำ “จนเกินความจำเป็น”
ข้อเสนอองค์การอนามัยโลกจึงให้ความสนใจที่ผลิตภัณฑ์เตรียมยาของ CBD นั้นต้องมี THC ต่ำกว่า 0.2% ดังนั้น การล็อกสเปกเอาไว้กับสายพันธุ์กัญชงว่าหมายถึงสายพันธุ์ไทย (Cannabis L. Subsp. Sativa) ที่มี THC ไม่เกิน 1% เท่านั้น เท่ากับเป็นการปิดกั้นการพัฒนาสายพันธุ์ผสมที่จะมีสาร CBD ในอนาคตไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงควรกำหนดต้นไม้กัญชาหรือกัญชงตามทิศทางขององค์การอนามัยโลก เพียงแค่ทิศทางว่าจะเป็นพันธุ์กัญชาหรือกัญชงไหนก็ได้ที่มี THC ไม่เกิน 1%
แต่หากผลผลิตออกมาแล้วปรากฏว่ามี THC เกิน ก็ให้นำมาผลิตต่อให้ THC เจือจางจนต่ำกว่า 0.2% เพียงเท่านี้ ก็ไม่ต้องไปตามล่าจับกุม ทำลาย กวาดล้าง พันธุ์กัญชงของไทยเกินความจำเป็นอีกต่อไป
ส่วนเจตนาดีของร่างกฎกระทรวงกัญชงที่มีการฟังประชาพิจารณ์ไปว่าจะกำหนดบทเฉพาะกาลเป็นเวลา 5 ปีนั้นจะต้องผลิต CBD ในประเทศไทยเท่านั้น จะต้องคำนึงอยู่เสมอว่า CBD ที่จะไม่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดระหว่างประเทศนั้นกำหนดความบริสุทธิ์ที่มีที่ THC ต่ำกว่า 0.2% นั่นหมายความว่าคนที่จะผลิตได้มาตรฐานเช่นนี้จะต้องเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานสูง (และอาจจะล็อกสเปกเอาไว้ให้มีเพียงไม่กี่ราย)เท่านั้น
สิ่งที่จะต้องระมัดระวังให้ดีก็คือ การที่โรงงานสกัด CBD ได้บริสุทธิ์เช่นนี้อาจจะมีเพียงไม่กี่รายในประเทศไทย (โดยห้ามการนำเข้าจากต่างประเทศ) จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่โรงงานสกัด CBD ในประเทศไทยกดราคากัญชงหรือกัญชาของเกษตรไทย หรือนำมาขายให้อุตสาหกรรมปลายน้ำในราคาแพงกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ อันจะเป็นผลทำให้อุตสาหกรรมผลิตสินค้าปลายน้ำต้องถูกเอาเปรียบ บั่นทอนความสามารถของธุรกิจในเวทีระหว่างประเทศเอง และหากประเทศไทยพัฒนาพันธุ์พืชที่มี CBD สูงแล้ว การผลิตในประเทศย่อมมีต้นทุนถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศอยู่แล้ว และเกษตรกรจะได้รับราคายางกัญชาหรือกัญชงดีขึ้นหากมีความต้องการผลิตภัณฑ์มากขึ้นจากประเทศไทย
ในความเป็นจริงแล้วเรื่อง CBD ในพืชกัญชาและกัญชง มีลักษณะพิเศษที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ แต่กลับล่าช้ายุ่งยากเพราะเกี่ยวพันกับหลายกระทรวง ทบวง กรมมากไป ยิ่งถ้าเป็นกัญชาด้วยแล้วก็ยิ่งต้องผ่านด้วยการใช้ทุกใบอนุญาตที่ผ่านคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ดังนั้นจึงควรจัดตั้งการรวมศูนย์ในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารตราพระราชกฤษฎีการจัดตั้งเป็น “สถาบันพืชเสพติดแห่งประเทศไทย” ในรูปขององค์การมหาชน เพื่อเป็นศูนย์บริการครบวงจรด้านกัญชาและกัญชงที่มีความคล่องตัวกว่านี้ อันเป็นการสอดรับกับแนวทางตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 อีกด้วย
นอกจากนั้น ควรอาศัย มาตรา 26/5 (7) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 “เปิดให้มีการขยายเวลาและลงทะเบียนนิรโทษกรรมรอบใหม่เป็นเวลา 1 ปี” ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทำให้ระบบเพื่อให้พัฒนาการใช้ประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์ในระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง โดยในครั้งนี้อนุญาตให้กับผู้ที่มาลงทะเบียนสามารถปกปิดรายชื่อแล้วใช้เป็นรหัสแทนในการนำเสนอต่อหน่วยงานของรัฐเพื่้อให้ได้รับใบอนุญาตครอบครองโดยอาศัยการลงทะเบียนผ่านสถาบันการศึกษาที่จะรวบรวมและวิจัยสถิติการใช้ เมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้มาพัฒนาชาติได้ โดยมีหลักประกันว่าคนเหล่านี้จะไม่ถูกดำเนินคดีจับกุม หรือ กวาดล้างในภายหลัง อันจะเป็นผลทำให้ประเทศไทยมีกระบวนการเรียนรู้ลัดขั้นตอนจากตลาดใต้ดิน อันเป็นการเตรียมการของประเทศไทยก่อนที่องค์การสหประชาชาติจะมีการประกาศปลดล็อกสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2% ในกัญชงและกัญชาต่อไป
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต