ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
จากกรณีวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ ปลัดจังหวัดสกลนคร นายอดุล ประยูรสิทธิ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 ได้เป็นประธานประชุมชี้แจงร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหลายแห่งรวมจำนวน 80 คน ณ ที่ว่าการอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เกี่ยวกับภารกิจปฏิบัติการตัดทำลายพืชกัญชาในแปลงลักลอบปลูกจำนวน 30 แปลง อันได้แก่ พื้นที่อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 2 แปลง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 2 แปลง และอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร จำนวน 26 แปลง
สำหรับอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนครนั้น เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าไป “ตัดเผาทำลายกัญชา” ในพื้นที่บ้านบัว ตำบลกุดแฮด อ.กุดบาก โดยต้องเดินเท้าเข้าไปยังป่าลึกทางทุรกันดาร โดยแปลงปลูกอยู่ในหุบเขาติดลำห้วย กระจายอยู่ในเทือกเขาภูพาน ต้นกัญชาสูงประมาณ 2.50 - 3.0 เมตร เจ้าหน้าที่จึงตัดฟันและเผาทำลาย และ ส่วนหนึ่งก็นำลงไปมอบให้พนักงานสอบสวน สภ.กุดบาก ดำเนินคดี โดยสำหรับกัญชาที่ปลูกในพื้นที่อำเภอกุดบาก 26 แปลงนั้น ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หางกระรอก และพันธุ์เสือ โดยเชื่อว่าสภาพอากาศที่เอื้อำนวย ทำให้กัญชาที่ปลูกในอำเภอกุดบากเป็นกัญชาที่ดีที่สุด
โดย นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้กล่าวต่อหลังจากนั้นถึงการตัดทำลายและเผากัญชาได้กล่าวว่าในปี 2562 พบมีการจับกุมการลักลอบปลูกกัญชา 42 คดี ของกลางรวม 10,226 ตัน โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ภาคเหนือ และได้กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า
“แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์และศึกษาวิจัย แต่ไม่ได้หมายถึงประชาชนหรือองค์กรใดก็ตามจะสามารถดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับกัญชาได้โดยไม่ขออนุญาต และหากประชาชนหรือองค์กรใดต้องการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับกัญชา และโดยเฉพาะทางการแพทย์ควรไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการจ่ายสารสกัดจากกัญชาอย่างถูกต้อง”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเจ้าหน้าที่รัฐได้ปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องทุกประการ หากแต่มีเรื่องที่น่าคิดต่อมาว่ากฎหมายที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้มีความสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริงหรือไม่ และการจับกุมตามกฎหมายลักษณะนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษต่อสังคมในทางปฏิบัติกันแน่
โดยเฉพาะมาตรการ ตัดเผา ทำลาย ในพื้นที่เพาะปลูกกัญชาที่มีคุณภาพดีนั้น เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติจริงหรือไม่ ในเมื่อกัญชาเหล่านั้นอาจนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยได้ด้วย
สิ่งที่มองข้ามกันไม่ได้ก็คือ วิธีการกวาดล้างไร่กัญชาบางกลุ่มเช่นนี้ก็คือ “กัญชาใต้ดินกลุ่มอื่นก็จะมีราคาแพงขึ้นโดยทันที” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับกุมและกวาดล้างในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงออกดอกเพื่อเก็บเกี่ยวกัญชามาทำเป็นยาได้ด้วย
เพราะในทุกวันนี้สถานพยาบาลของภาครัฐได้เป็นฝ่ายผูกขาดการใช้ประโยชน์ของกัญชาเอาไว้ทั้งหมด แม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มาจากการผลิตของภาครัฐหรือภาครัฐร่วมกับเอกชนบางรายเท่านั้น แต่กลับปรากฏว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาใต้ดินกลับไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาของโรงพยาบาลภาครัฐได้ ส่วนที่ผู้ป่วยได้รับการจ่ายกัญชาจากแพทย์ก็มีจำนวนน้อยมาก
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นโรคนอนไม่หลับ และกินยานอนหลับมานับหลายสิบปีจนเริ่มไม่ได้ผล แต่เมื่อไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐ (ซึ่งส่วนใหญ่แออัด) ว่าต้องการใช้ยากัญชา แต่กลับถูกปฏิเสธจากแพทย์ แพทย์ไม่สั่งจ่ายกัญชาให้ แต่แพทย์จ่ายยานอนหลับให้ใช้ต่อไปแทน
สาเหตุที่แพทย์แผนปัจจุบันของ “ภาครัฐ” ไม่จ่ายยากัญชา ทั้งที่มีกัญชาอยู่ในมือนั้น ก็มีหลายสาเหตุ เช่น
แพทย์แผนปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์และความมั่นใจในการใช้กัญชา
แพทย์แผนปัจจุบันอีกจำนวนไม่น้อยมีทัศนะในเชิงต่อต้านว่ากัญชาเป็นยาเสพติดเป็นหลัก (ทั้งๆที่ความจริงมอร์ฟีนก็เป็นยาเสพติด)
แพทย์แผนปัจจุบันอีกจำนวนไม่น้อยก็มีทัศนะต่อต้านกัญชา เพราะสรรพคุณของกัญชาที่ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ง่ายและครอบคลุมหลายโรคลดการพึ่งพาหมอและยาหลายชนิดลง จึงมีอคติและไม่พอใจต่อสมุนไพรตัวนี้เป็นกรณีพิเศษ
แพทย์แผนปัจจุบันบางส่วนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและเสียเวลาเกินไปในการจ่ายยากัญชา (ซึ่งยุ่งยากและมีขั้นตอนยิ่งกว่ามอร์ฟีน) ซึ่งคนร่างกฎกติกาให้ยุ่งยากยิ่งกว่าการใช้มอร์ฟีนก็คือแพทย์แผนปัจจุบันอีกเช่นเดียวกันด้วยเหตุผลที่กล่าวไปก่อนหน้านี้
โดยธรรมชาติแล้วแพทย์แผนปัจจุบันภาครัฐบางส่วนก็ใช้อย่างจำกัดเพื่อปกป้องตัวเองยิ่งกว่าแพทย์แผนปัจจุบันในภาคเอกชน ด้วยการใช้กัญชาตามข้อบ่งใช้เท่าที่มีการจดสิทธิบัตรของบริษัทยาต่างชาติแล้วเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
แพทย์แผนปัจจุบันของภาครัฐบางส่วนอาจมีผลประโยชน์หรือความสัมพันธ์กับบริษัทยาเอกชนมาอย่างยาวนาน โดยที่สรรพคุณของกัญชาอาจทับซ้อนหรืออาจมาแทนยาของเอกชนบางรายได้ ด้วยความเกรงใจบริษัทยาเอกชนที่คอยวิ่งเต้นและล็อบบี้กีดกันกัญชาอยู่ จึงทำให้แพทย์แผนปัจจุบันใช้กัญชาด้วยการจำกัดข้อบ่งใช้ หรือบีบให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาแผนปัจจุบันทุกชนิดเสียก่อนแล้วใช้กัญชาเป็นยาตัวสุดท้ายเมื่อหมดทางเลือกทุกตัวยาแล้ว หรือจ่ายยากัญชาไปให้น้อยที่สุด
หันมาที่แพทย์แผนไทยในสถานพยาบาลภาครัฐ แม้จะมีน้ำมันเดชาซึ่งเป็นสูตรน้ำมันกัญชาของหมอพื้นบ้าน ก็ไม่ได้มีการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้จริงในภาคปฏิบัติ ในขณะเดียวกันตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมและผลิตขึ้นโดยกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ของกระทรวงสาธารณสุข ก็มีการจ่ายยาให้กับคนไข้ได้น้อยเช่นเดียวกัน สาเหตุที่เกิดเช่นนั้นได้ก็เพราะว่าผู้ดูแลสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลภาครัฐส่วนใหญ่เป็นแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งครอบและกำจัดการใช้กัญชาให้กับแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาลภาครัฐอยู่ดี
หรือแม้แต่ว่าในสถานพยาบาลของรัฐบางแห่งที่มีแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันให้โอกาสในการตัดสินใจในการจ่ายกัญชาได้ ก็ไม่แน่ว่าจะมีความสามารถในการจ่ายตำรับยาที่เข้ากัญชาได้ ถ้าสถานพยาบาลของรัฐแห่งนั้นไม่เคยให้โอกาสแพทย์แผนไทยได้ใช้ความสามารถตามองค์ความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก เช่น ให้แพทย์แผนไทยมีหน้าที่อย่างจำกัดเพียงหมอนวดก็ดี ฝ่ายธุรการก็ดี แพทย์แผนไทยเหล่านั้นจึงขาดประสบการณ์ในการวินิจฉัยหรือจ่ายยาตำรับมาก่อน
สรุปก็คือภาครัฐมีกัญชาอย่างมากมายมหาศาล แต่ผู้ป่วยกลับไม่สามารถเข้าถึงยากัญชาได้ ในขณะที่แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านที่พร้อมใช้กัญชาส่วนใหญ่กลับอยู่ที่ภาคเอกชน หรือสถานพยาบาลของภาคเอกชน แต่คนเหล่านี้กลับไม่มีวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในมือ
นอกจากนั้นแพทย์ที่แอบใช้กัญชาอยู่ใต้ดินไม่ค่อยเปิดเผยตัวให้ตัวเองเสี่ยงต่อความเดือดร้อน (ยกเว้นคนที่มีเส้นสายหรือมีผลประโยชน์ถึงมือเจ้าหน้าที่รัฐให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่) จึงเป็นผลทำให้ประชาชนไม่สามารถรู้จักแพทย์ที่มีความรู้และรู้จักการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง ส่งผลทำให้ผู้ป่วยยังคงใช้กัญชาผ่านการโฆษณาชวนเชื่อของพ่อค้าในตลาดใต้ดินต่อไป ผลิตภัณฑ์กัญชาใต้ดินนั้นไม่มีใครพิสูจน์ความจริงอะไรได้ทั้งนั้น ทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย และราคาที่เหมาะสมของตัวผลิตภัณฑ์ การปล่อยให้สถานการณ์ดังกล่าวดำรงอยู่ต่อไปโดยไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง นอกจากจะไม่ได้เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ป่วยและผู้บริโภคแล้ว ยังอาจสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติเพราะทัศนะของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อกัญชาไม่เหมือนกัน หรืออาจทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ให้พ่อค้ากัญชาบางรายให้ทำมาหากินต่อไป “ในราคาที่แพงขึ้น”โดยอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเครื่องมือในการกำจัดคู่แข่งทางการค้าก็ได้
เช่นเดียวกับกัญชงหรือสารแคนนาบิไดออล (CBD) ที่หลายคนเข้าใจไปว่ากำลังจะมีปลดล็อกอยู่ในขณะนี้ กลับมีบทเฉพาะกาลมิให้มีการนำเข้าสาร CBD จากต่างประเทศเพื่อทางการค้า หรือการสกัดจะต้องเกิดขึ้นโดยนิติบุคคลไทยในประเทศไทยเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการคุ้มครองธุรกิจของคนไทย แต่การกระทำดังกล่าวอาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเพิ่มบรรยากาศการกึ่งผูกขาดให้กับกลุ่มธุรกิจโรงงานผลิตยาหรืออาหารเสริมขนาดใหญ่ที่สามารถสกัดสาร CBD เกือบบริสุทธิ์ในประเทศเพียงไม่กี่รายเท่านั้น รวมถึงมีการกำหนดให้โรงงานผลิต CBD นั้นจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนทุกครั้ง (ห้ามปลูกต่อเอง) จะเป็นการกำหนดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์กัญชงให้กับรายใดหรือไม่
สิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือ บรรยากาศกึ่งผูกขาดจะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการ “กดราคาเกษตรกรผู้ปลูกกัญชง” หรือแม้แต่ขายสาร CBD ให้กับโรงงานผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ต้องการผสม CBD ก็อาจจะมีราคาแพงเพราะมีคู่แข่งน้อยเช่นเดียวกัน
การกระทำที่สกัดบรรยากาศการแข่งขันใน “อุตสาหกรรมกลางน้ำ” ทั้งเจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ย่อมอาจทำให้ “ภาคการเกษตรต้นน้ำ” และ “อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ”ได้รับความเดือดร้อน หรือแม้แต่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศได้ด้วย
ในความเป็นจริงแล้วเรื่อง CBD ในพืชกัญชาและกัญชง มีลักษณะพิเศษที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ แต่กลับล่าช้ายุ่งยากเพราะเกี่ยวพันกับหลายกระทรวง ทบวง กรมมากไป ยิ่งถ้าเป็นกัญชาด้วยแล้วก็ยิ่งต้องผ่านด้วยการใช้ทุกใบอนุญาตที่ผ่านคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษด้วยความยุ่งยากยิ่งกว่ามอร์ฟีน
ดังนั้นจึงควรจัดตั้งการรวมศูนย์ในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารตราพระราชกฤษฎีการจัดตั้งเป็น “สถาบันพืชเสพติดแห่งประเทศไทย” ในรูปขององค์การมหาชน เพื่อเป็นศูนย์บริการครบวงจรด้านกัญชาและกัญชงที่มีความคล่องตัวกว่านี้ อันเป็นการสอดรับกับแนวทางตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 อีกด้วย
นอกจากนั้น ควรอาศัย มาตรา 26/5 (7) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 “เปิดให้มีการขยายเวลาและลงทะเบียนนิรโทษกรรมรอบใหม่เป็นเวลา 1 ปี” ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทำให้ระบบเพื่อให้พัฒนาการใช้ประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์ในระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง โดยในครั้งนี้ควรอนุญาตให้กับผู้ที่มาลงทะเบียนสามารถปกปิดรายชื่อแล้วใช้เป็นรหัสแทนในการนำเสนอต่อหน่วยงานของรัฐเพื่้อให้ได้รับใบอนุญาตครอบครองโดยอาศัยการลงทะเบียนผ่านสถาบันการศึกษาที่จะรวบรวมและวิจัยสถิติการใช้ เมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้มาพัฒนาชาติได้ โดยมีหลักประกันว่าคนเหล่านี้จะไม่ถูกดำเนินคดีจับกุม หรือ กวาดล้างในภายหลัง อันจะเป็นผลทำให้ประเทศไทยมีกระบวนการเรียนรู้ลัดขั้นตอนจากตลาดใต้ดิน อันเป็นการเตรียมการของประเทศไทยก่อนที่องค์การสหประชาชนจะมีการประกาศปลดล็อกสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2% ในกัญชงและกัญชาต่อไป
อย่างไรก็ตามมีบางคนอาจจะเถียงว่า พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 นั้น ไม่ได้อนุญาตให้มีการนิรโทษกรรมรอบใหม่ได้ แต่ความจริงแล้วมาตรา 26/5 (7) สามารถทำให้เข้าสู่กระบวนโครงการวิจัยของรัฐร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อสำรวจและติดตามในการใช้กัญชาใต้ดินได้ แม้จะคล้ายกับการนิรโทษกรรม แต่จะมีความแตกต่างตรงที่ว่าการนิรโทษกรรมนั้นหวังผลให้ผู้กระทำความผิดมาขึ้นทะเบียนเพื่อที่จะเลิกใช้หลังจากรัฐเริ่มใช้ แต่การอาศัยมาตรา 26/5 (7) คือการให้ผู้แอบใช้และแอบผลิตใต้ดินเข้าสู่กระบวนการวิจัยและเก็บข้อมูลโดยให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป
ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่ามาตรา 26/5(7) ของ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 นั้นเปิดช่องให้อำนาจอย่างกว้างขวาง “ผู้ขออนุญาตอื่น” (ใครก็ได้) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษโดยการตราเป็นกฎกระทรวงสาธารณสุขความว่า :
“มาตรา ๒๖/๕ ผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ได้เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาตเป็น...
(๗) ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดในกฎกระทรวง“
อยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายมีความพร้อมและความจริงใจในเรื่องเสรีกัญชาทางการแพทย์เพียงใด
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต