xs
xsm
sm
md
lg

เจ๊งทั้งแผ่นดิน!!! ถ้าปลูกกัญชงแล้วมี THC เกิน จะถูกเผาทำลายหมดสิ้นหรือไม่?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยระบุในข้อ 4 เอาไว้ว่า :

“ข้อ ๔ กัญชง (Hemp) มีลักษณะเป็นพืชซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.) ที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดร แคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ในใบและช่อดอก ไม่เกินร้อยละ ๑.๐ ต่อน้ำหนักแห้ง โดยตรวจวิเคราะห์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกําหนด”

สิ่งที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษได้แก้ไขคำนิยามให้กัญชงของประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษฉบับลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่กำหนดนิยามกัญชงไม่ให้ในใบและช่อดอกมีสาร THC เกินร้อยละ 0.5 ต่อน้ำหนักแห้ง ให้กลับมาเหมือนกับกฎกระทรวงเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 คือในใบและช่อดอกมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง

ความพยายามในการกำหนดนิยามของกัญชงให้มีลักษณะให้แตกต่างและแยกแยะออกมาจากกัญชานั้น น่าจะมีวัตถุประสงค์หรือคาดการณ์กันว่าอาจจะนำไปสู่การผ่อนปรนการควบคุมกัญชงให้น้อยลง เพื่อทำให้กัญชงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีความคล่องตัวมากขึ้นและลดขั้นตอนให้น้อยลง โดยการควบคุมสารที่มีการออกฤทธิ์ทางจิตประสาท THC (ทำให้เมาและหลับ) เป็นเกณฑ์ในการตัดสินในการจัดการแยกแยะระหว่างกัญชากับกัญชงออกจากกัน กล่าวคือ กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ส่วนกัญชาเป็นพืชที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น

แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วเนื้อหาการแยกแยะความเป็นกัญชงออกจากกัญชามี 2 เงื่อนไข กล่าวคือ

เงื่อนไขที่ 1 มีการกำหนดสายพันธุ์ย่อยของสปีชีส์ว่าเป็น “Cannabis sativa L.subsp.sativa” (แคนนาบิส ซาติวา แอล. ซับสปีชีส์. ซาติว่า) และระบุว่าเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา คือ Cannabis sativa L. (แคนนาบิส ซาติว่า แอล.)

เงื่อนไขที่ 2 มีการกำหนดให้ใบและช่อดอกมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง

การกำหนดใน 2 เงื่อนไขนี้จึงเท่ากับมีการควบคุมถึง 2 ชั้น คือ ระดับ “สายพันธุ์ย่อยของสปีชีส์ (ซับสปีชีส์)” และ “ปริมาณสาร THC ในใบและช่อดอก” ซึ่งมีคำถามตามมาว่าการกำหนดด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนี้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ และสามารถแก้ปัญหาการแยกแยะระหว่างกัญชาและกัญชงได้จริงหรือไม่?

“Cannabis sativa L. subsp. Sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.)” เพียงข้อความนี้เพียงประการเดียวก็แสดงให้เห็นว่ากัญชาและกัญชงมีความคล้ายคลึงกันมากจนต้องแยกในระดับไม่ใช่เพียงแค่สปีชีส์เท่านั้น แต่ต้องลงรายละเอียดไปถึงระดับย่อยกว่าละเอียดกว่าสปีชีส์ด้วยซ้ำไป

ซึ่งมีคำถามสำคัญในประการต่อมาว่าเมื่อถึงเวลาจริงแล้ว หน่วยงานของรัฐจะมีความสามารถและกำลังคนเพียงพอที่จะแยกแยะได้ถึงระดับละเอียดกว่าสปีชีส์ได้จริงหรือไม่?

ทุกวันนี้มีองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐแห่งใดระบุแล้วหรือยังว่า...

กัญชาสายพันธุ์พื้นเมืองในประเทศไทยหรือที่เรียกสปีชีส์ว่า Cannabis sativa L. (แคนนาบิส ซาติว่า แอล.) นั้น มีการแยกย่อยละเอียดกว่าสปีชีส์ หรือ ซับสปีชีส์ได้กี่ชนิด และอะไรบ้าง? จึงสามารถกำหนดได้ว่าสายพันธุ์ที่แยกย่อยละเอียดกว่าสปีชีส์ หรือ ซับสปีชีส์ ที่มีชื่อว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa (แคนนาบิส ซาติว่า แอล. ซับสปีชีส์. ซาติว่า) เป็นสายพันธุ์เดียวเท่านั้นที่จะถูกแยกย่อยให้ละเอียดกว่าสปีชีส์กำหนดให้เรียกว่า “กัญชง”

เพราะในความเป็นจริงแล้ววงการกัญชาในโลกนี้ก็แบ่งสายพันธุ์พืชตระกูลกัญชาได้ทั้งพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของแต่ละประเทศ และการผสมข้ามสายพันธุ์ข้ามสปีชีส์ เช่น สายพันธุ์ Cannabis Sativa (แคนนาบิส ซาติว่า), Cannabis Indica ( แคนนาบิส อินดิก้า), Cannabis Ruderalis (แคนนาบิส รูเดอราลิส) เป็นต้น ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะกำหนดสายพันธุ์ที่ถูกเรียกว่ากัญชงว่าเป็น สายพันธุ์ที่แยกย่อยละเอียดกว่าสปีชีส์ หรือ ซับสปีชีส์ ที่มีชื่อว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa (แคนนาบิส ซาติว่า แอล. ซับสปีชีส์. ซาติว่า) เท่านั้นจึงจะเรียกว่า “กัญชง” เพื่อจะนำไปสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจ จะต้องตอบคำถามดังต่อไปนี้ให้มีความชัดเจนด้วยว่า :

ประการที่ 1 การแยกย่อยละเอียกว่าสปีชีส์ หรือ ซับสปีชีส์ ที่มีชื่อว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa (แคนนาบิส ซาติว่า แอล. ซับสปีชีส์. ซาติว่า) ความพยายามคลายล็อกว่าหมายถึงกัญชงพื้นเมืองของประเทศไทยนั้น คือสายพันธุ์ที่มีหลักประกันความปลอดภัยว่ามีสาร THC ต่ำกว่า ร้อยละ 1.0 ของใบและช่อดอกแห้ง จริงหรือไม่? และเสมอไปหรือไม่?

ประการที่ 2 พืชตระกูลกัญชาในโลกใบนี้มีการพัฒนาข้ามสายพันธุ์ไปอย่างมาก ถ้ามีพืชตระกูลกัญชาที่ไม่ใช่ Cannabis sativa L. subsp. sativa (แคนนาบิส ซาติว่า แอล. ซับสปีชีส์. ซาติว่า) แต่มีสาร THC ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของใบและช่อดอกแห้ง จะได้รับการคุ้มครองเรียกว่า “กัญชง” เช่นเดียวกับสายพันธุ์ Cannabis sativa L. subsp. sativa (แคนนาบิส ซาติว่า แอล. ซับสปีชีส์. ซาติว่า) หรือไม่?

ประการที่ 3 ถ้าเกษตรกรซึ่งปลูกสายพันธุ์ Cannabis sativa L. subsp. sativa (แคนนาบิส ซาติว่า แอล. ซับสปีชีส์. ซาติว่า) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่มีการขึ้นทะเบียนรับรองจากหน่วยงานของรัฐหรือไม่ก็ตาม แต่ปรากฏต่อมาว่า เนื่องจากสายพันธุ์กัญชาไทยและกัญชงไทยคือสปีชีส์เดียวกัน เป็นผลทำให้การปลูกกัญชงในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันส่งผลทำให้กัญชงที่ “คาดว่า“ จะมีสาร THC ต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ของใบและช่อดอกแห้ง แล้วปรากฏว่า สายพันธุ์ Cannabis sativa L. subsp. sativa (แคนนาบิส ซาติว่า แอล. ซับสปีชีส์. ซาติว่า) ให้ยางของดอกกัญชงที่มีสาร THC “เกินกว่าร้อยละ 1.0” จะเป็นความผิดของใคร และรัฐจำเป็นจะต้องยกฐานะกัญชงนั้นให้กลายเป็นกัญชา เผาทำลายกวาดล้าง หรือ มีบทลงโทษรุนแรงเพราะเป็นยาเสพติดให้โทษหรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรับยาไทยกว่า 300 ปี ไม่มีตำรับยาใดมีคำว่ากัญชงมาก่อน เพราะในความเป็นจริงแล้วตำรับยาไทยเรียกกัญชาและกัญชงว่า “กัญชา” ทั้งหมด จึงมีโอกาสเป็นไปได้มากว่าทั้งกัญชาไทยและกัญชงไทยเป็นพืชที่เป็นสปีชีส์เดียวกัน และมีโอกาสหรือไม่ที่ THC อาจจะมีสัดส่วนที่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมของการปลูก ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศ รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา

ประการที่ 4 เมื่อกฎหมายกำหนดให้กัญชงต้อง มีสาร THC ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของใบและช่อดอกแห้ง หมายความว่าหากยางดอกมีสาร THC เกินร้อยละ 1.0 จะสามารถนำ “ใบกัญชง” ซึ่งมีสัดส่วน THC น้อยกว่าดอก มาเพิ่มสัดส่วนจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ของต้นกัญชง เพื่อให้น้ำหนักแห้งของใบรวมดอกมีสาร THC ต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ได้หรือไม่? และถ้าทำได้จะมีประโยชน์อันใดในความพยายามที่จะกำหนดตัวสายพันธุ์กัญชาหรือกัญชงตั้งแต่ต้นน้ำ?

ประการที่ 5 สารแคนนาบิไดออล หรือ ซีบีดี (CBD) ซึ่งเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท เป็นสารสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก ซึ่งมีอยู่ในยางของดอกกัญชาและดอกกัญชง โดยที่มีการคาดการณ์กันว่าในเดือนมีนาคม 2563 องค์การสหประชาชาติเตรียมที่จะลงมติถอดสารสกัด CBD ที่มีสาร THC ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 ไม่ต้องถูกควบคุมในฐานะยาเสพติดให้โทษระหว่างประเทศอีกต่อไป สายพันธุ์กัญชงไทยที่ถูกระบุจนถึงขั้นละเอียดแยกย่อยกว่าสปีชีส์ หรือ ซับสปีชีส์ คือ Cannabis sativa L. subsp. sativa (แคนนาบิส ซาติว่า แอล. ซับสปีชีส์. ซาติว่า) นั้น ให้ผลผลิต CBD สูงพอในทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่? หรือแท้ที่จริงแล้วเป็นสายพันธุ์ที่เน้นในเรื่องใยไฟเบอร์เป็นหลัก ใช่หรือไม่? และหากส่งเสริมให้ปลูกเพื่อให้ได้ใยไฟเบอร์เป็นหลักนั้นจะขายให้ใคร คุ้มค่าทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่ รัฐบาลแน่ใจได้หรือไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ในฐานะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่ได้เน้นสาร CBD ตามที่องค์การสหประชาชาติกำลังจะลงมติปลดล็อก CBD เสรีตามข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก

ประการที่ 6 มีการคาดการณ์กันว่าในเดือนมีนาคม 2563 องค์การสหประชาชาติเตรียมที่จะลงมติถอดสารสกัด CBD ที่มีสาร THC ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 ไม่ต้องถูกควบคุมในฐานะยาเสพติดให้โทษระหว่างประเทศอีกต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นว่าองค์การสหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญในเรื่อง “การสกัด” ที่ปลดล็อกสาร CBD ที่เกือบบริสุทธิ์โดยมีสาร THC ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 โดยไม่ได้กำหนดว่าสาร CBD จะต้องมีสัดส่วนมากเท่าไหร่ ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นการควบคุมของสาร THC เป็นสำคัญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรงงานสกัดสามารถนำสารสกัดที่มี THC เกินร้อยละ 0.2 มาเจือจางได้

ดังนั้นพืชตระกูลกัญชาทั้งหมดที่มีการเจือจางจน THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 ย่อมสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่จำกัดในฐานะเป็นยาเสพติดที่มาใช้ในทางการแพทย์อย่างเดียวอีกต่อไป ดังนั้นจึงย่อมไม่มีความเกี่ยวพันกับสายพันธุ์กัญชาหรือกัญชงอีกต่อไป เพราะในที่สุดแล้วจะต้องมีการควบคุมที่ผลิตภัณฑ์สุดท้ายอยู่ดี ดังนั้นรัฐจึงไม่ควรทุ่มสรรพทรัพยากรและบุคลากรทั้งหมดไปกับความพยายามล็อกสเปกทุกอย่างที่ต้นน้ำ แต่ควรใช้การบริหารผ่านผลิตภัณฑ์สุดท้ายหรือไม่?

ส่วนร่างกฎกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดบทเฉพาะกาลมิให้มีการนำเข้าสาร CBD จากต่างประเทศเพื่อทางการค้า หรือการสกัดจะต้องเกิดขึ้นโดยนิติบุคคลไทยในประเทศไทยเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการคุ้มครองธุรกิจของคนไทย แม้จะมีเจตนาที่ดี แต่การกระทำดังกล่าวอาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเพิ่มบรรยากาศการกึ่งผูกขาดให้กับกลุ่มธุรกิจโรงงานผลิตยาหรืออาหารเสริมขนาดใหญ่ที่สามารถสกัดสาร CBD เกือบบริสุทธิ์ในประเทศเพียงไม่กี่รายเท่านั้น รวมถึงมีการกำหนดให้โรงงานผลิต CBD นั้นจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนทุกครั้ง (ห้ามปลูกต่อเอง) จะเป็นการกำหนดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์กัญชงให้กับรายใดหรือไม่

สิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือ บรรยากาศกึ่งผูกขาดจะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการ “กดราคาเกษตรกรผู้ปลูกกัญชง” หรือแม้แต่ขายสาร CBD ให้กับโรงงานผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ต้องการผสม CBD ก็อาจจะมีราคาแพงเพราะมีคู่แข่งน้อยเช่นเดียวกัน

การกระทำที่สกัดบรรยากาศการแข่งขันใน “อุตสาหกรรมกลางน้ำ” ทั้งเจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ย่อมอาจทำให้ “ภาคการเกษตรต้นน้ำ” และ “อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ”ได้รับความเดือดร้อน หรือแม้แต่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศได้ด้วย

ในความเป็นจริงแล้วเรื่อง CBD ในพืชกัญชาและกัญชง มีลักษณะพิเศษที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ แต่กลับล่าช้ายุ่งยากเพราะเกี่ยวพันกับหลายกระทรวง ทบวง กรมมากไป ยิ่งถ้าเป็นกัญชาด้วยแล้วก็ยิ่งต้องผ่านด้วยการใช้ทุกใบอนุญาตที่ผ่านคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษด้วยความยุ่งยากยิ่งกว่ามอร์ฟีน

ดังนั้นจึงควรจัดตั้งการรวมศูนย์ในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารตราพระราชกฤษฎีการจัดตั้งเป็น “สถาบันพืชเสพติดแห่งประเทศไทย” ในรูปขององค์การมหาชน เพื่อเป็นศูนย์บริการครบวงจรด้านกัญชาและกัญชงที่มีความคล่องตัวกว่านี้ อันเป็นการสอดรับกับแนวทางตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 อีกด้วย

นอกจากนั้น ควรอาศัย มาตรา 26/5 (7) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 “เปิดให้มีการขยายเวลาและลงทะเบียนนิรโทษกรรมรอบใหม่เป็นเวลา 1 ปี” ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทำให้ระบบเพื่อให้พัฒนาการใช้ประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์ในระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง โดยในครั้งนี้ควรอนุญาตให้กับผู้ที่มาลงทะเบียนสามารถปกปิดรายชื่อแล้วใช้เป็นรหัสแทนในการนำเสนอต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตครอบครองโดยอาศัยการลงทะเบียนผ่านสถาบันการศึกษาที่จะรวบรวมและวิจัยสถิติการใช้ เมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้มาพัฒนาชาติได้ โดยมีหลักประกันว่าคนเหล่านี้จะไม่ถูกดำเนินคดีจับกุม หรือ กวาดล้างในภายหลัง อันจะเป็นผลทำให้ประเทศไทยมีกระบวนการเรียนรู้ลัดขั้นตอนจากตลาดใต้ดิน อันเป็นการเตรียมการของประเทศไทยก่อนที่องค์การสหประชาชนจะมีการประกาศปลดล็อกสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2% ในกัญชงและกัญชาต่อไป

ทั้งนี้ มาตรา 26/5 (7 ) แห่ง พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 256 2 สามารถทำให้เข้าสู่กระบวนโครงการวิจัยของรัฐร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อสำรวจและติดตามในการใช้กัญชาใต้ดินได้ แม้จะคล้ายกับการนิรโทษกรรม แต่จะมีความแตกต่างตรงที่ว่าการนิรโทษกรรมนั้นหวังผลให้ผู้กระทำความผิดมาขึ้นทะเบียนเพื่อที่จะเลิกใช้หลังจากรัฐเริ่มใช้ แต่การอาศัยมาตรา 26/5 (7) คือการให้ผู้แอบใช้และแอบผลิตใต้ดินเข้าสู่การะบวนการวิจัยและเก็บข้อมูลโดยให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป

ทั้งนี้ ก็เพราะเหตุว่ามาตรา 26/5(7) ของ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 นั้นเปิดช่องให้อำนาจอย่างกว้างขวาง “ผู้ขออนุญาตอื่น” (ใครก็ได้) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษโดยการตราเป็นกฎกระทรวงสาธารณสุขความว่า :

“มาตรา ๒๖/๕ ผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ได้เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาตเป็น...

(๗) ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดในกฎกระทรวง”

อยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายมีความพร้อมและความจริงใจในเรื่องเสรีกัญชาทางการแพทย์เพียงใด

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น