“ม.ล.กรกสิวัฒน์” เผยศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้องคดีที่ผู้บริหาร ปตท.ฟ้องฐานหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน ศาลฯ ระบุจำเลยกล่าวตามรายงานวุฒิสภา เพื่อการรับรู้แก่ผู้บริโภค ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหาย จบมหากาพย์การต่อสู้ 5 ปี พร้อมเผยเบื้องหลังชัยชนะ
วันนี้(30 พ.ย.) ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต และนักเคลื่อนไหวปฏิรูปพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก คุยกับหม่อมกร ว่า 5 ปี ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กับมหากาพย์การต่อสู้คดี ปตท.อันยาวนาน กรณีตัวอย่างของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องของผู้ใช้พลังงาน
เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2562 ที่ศาลแพ่งรัชดา ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษายืน “ยกฟ้อง” ในคดีหมายเลขดำ ที่ 2163/2557 ที่มี บมจ. ปตท. เป็นโจทก์ (นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในขณะนั้น) ยื่นฟ้อง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2557 ในข้อหาละเมิดต่อโจทก์ โดยท้ายฟ้อง (หน้า 30) ระบุว่า “...ได้รับความเสียหายจากการกล่าวถ้อยคำหรือไขข่าวอันเป็นเท็จโดยการเผยแพร่ข่าวสารของจำเลยหลายครั้ง จนทำให้โจทก์ขาดความน่าเชื่อถือจากรัฐบาลและประชาชนทั่วไปตลอดจนนานาประเทศ ทั้งกระทบทางทำมาหาได้และความเจริญของโจทก์ และทำให้เสียหายต่อชื่อเสียงในทางการค้า อันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยดังกล่าวข้างต้นหลายครั้งหลายคราวโจทก์จึงขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 50,000,000 บาท (ห้าสิบล้านบาทถ้วน) และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์”
คดีนี้ต่อสู้กันถึง 3 ศาลยาวนานถึง 5 ปี โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน(ยกฟ้อง) ต่อมาโจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน(ยกฟ้อง)
ซึ่งผมก็ยังไม่เคยเปิดเผยถึงเบื้องหลังของความสำเร็จว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว จึงนำคำพิพากษามาเปิดเผยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ มูลเหตุของคดีเกิดจากในช่วงปี 2556 รัฐบาลมีนโยบายการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของภาคครัวเรือนในวันที่ 1 กันยายน 2556 ซึ่งผมเห็นว่า ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรก๊าซ จึงให้สัมภาษณ์ทางสื่อโทรทัศน์เอเอสทีวี และสื่อวิทยุ 101 เพื่อต้องการสื่อสารข้อมูลไปยังผู้บริโภคและรัฐบาลเพื่อให้ทบทวนนโยบาย
จากบทเรียนของผมที่พ่ายแพ้คดีกระทรวงพลังงานในศาลล่างมาก่อนหน้า (นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นรัฐมนตรีและนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ เป็นทนายโจทก์) (แต่ภายหลังศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง) ผมจึงประชุมกับทีมทนายความ ได้ข้อสรุปว่าเนื่องจากผมจะมีความรู้ลึกในข้อมูลฝ่ายโจทก์และข้อมูลพลังงาน และจดจำเอกสารได้ทั้งหมด จึงควรให้ผมซึ่งเป็นจำเลยเป็นผู้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยตนเอง จะทำให้คดีกระจ่างต่อศาลได้โดยง่าย ก่อนขึ้นทำหน้าที่ผมยอมรับว่า แม้ว่ามั่นใจในข้อมูล แต่ก็กังวลใจว่าจะทำได้ดีเหมือนทนายหรือไม่ แต่ด้วยความช่วยเหลือของสำนักงานทนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายอติชาต แสงขาว และพี่ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทำให้ผมมั่นใจมากขึ้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยคำฟ้องของโจทก์ โดยแยกเป็นหลายประเด็นปรากฏตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ ประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์เป็นต้นเหตุที่ทำให้ก๊าซแอลพีจีขาดแคลนจนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ (หน้า 37), ประเด็นจำเลยกล่าวว่า โจทก์นำก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้เข้าโรงแยกก๊าซ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือถูกนำเข้าไปเผาที่โรงไฟฟ้า (ท้ายหน้า 37), ประเด็นผูกขาดท่อก๊าซ และโรงแยกก๊าซ (ท้ายหน้า 38), ประเด็นจำเลยกล่าวถึงโจทก์ว่า ไม่สร้างโรงแยกก๊าซให้เพียงพอ โจทก์จะสร้างก็ต่อเมื่อมีการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี (หน้า 41), ประเด็นกองทุนน้ำมันฯ (หน้า 42), ประเด็น การกล่าวถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการระดับสูง (หน้า 43) ประเด็น การใช้ก๊าซจำนวนมาก แต่จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันน้อยกว่าภาคส่วนอื่น และซื้อในราคาที่ต่ำกว่าภาคส่วนอื่นและตลาดโลก (หน้า 46) และประเด็น กลุ่มฉ้อฉลพลังงาน (หน้า 50)
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดาวโหลดที่ http://www.thaienergyreform.com/Download/ptt-korn-1.pdf
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน (ยกฟ้อง)
อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดาวโหลดที่ http://www.thaienergyreform.com/Download/ptt-korn-2.pdf
ศาลฎีกาพิพากษายืน (ยกฟ้อง) ปรากฏคำวินิจฉัยท้ายคำพิพากษา (หน้า 19 - 22) ดังนี้
“…การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำหรือไขข่าวที่แพร่หลายแล้วตามรายงานเอกสารทางวิชาการ โดยมีข้อมูลหรือเอกสารที่มา กับมีพยานที่ทำเอกสารทางวิชาการมาเบิกความสนับสนุน ซึ่งเป็นการกล่าวโดยสุจริต เป็นการสื่อสารเพื่อการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค และในฐานะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกวุฒิสภา โดยการกล่าวของจำเลยเป็นไปตามข้อมูลจากรายงานการพิจารณาศึกษาของวุฒิสภา ซึ่งได้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแล้ว และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย โดยนำข้อมูลดังกล่าวมากล่าวเพื่อสื่อสารข้อมูลในการต้องนำเข้าสินค้าก๊าซหุงต้มที่ถูกต้องไปยังผู้บริโภคและประชาชน ทั้งข้อความไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อความจริง ส่วนการใช้ถ้อยคำสำนวนโวหาร การใช้เสียงหนักเบาเป็นส่วนประกอบหรือเป็นลักษณะของการนำเสนอในรายการที่จำเลยกล่าวเท่านั้น ซึ่งได้มีการแยกข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องที่จำเลยกล่าวว่ามีความเป็นมาอย่างไร มาจากเอกสารหรือแหล่งข้อมูลใด ทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบ ซึ่งล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยมิได้กล่าวเกินไปกว่าข้อเท็จจริง ทั้งตามเอกสารและข้อมูลในส่วนของการไม่สร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ กรณีกองทุนน้ำมัน การได้สิทธิประโยชน์ของโจทก์ การผูกขาด การกล่าวถึงบริษัทปิโตรเคมีเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ กรณีผลประโยชน์ทับซ้อนและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ การกล่าวถ้อยคำของจำเลยมิได้มุ่งหมายให้ร้ายโจทก์เกินความเป็นจริง ข้อที่โจทก์อ้างว่า การไม่สร้างโรงแยกก๊าซ ธรรมชาติต้องพิจารณาถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติที่หาได้ ต้องมีปริมาณเพียงพอเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้ในระยะยาว และความต้องการในการใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นการคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม แต่โดยเจตนาของจำเลยแล้ว มีความไม่เห็นด้วยในเรื่องการกำหนดนโยบายของรัฐบาลว่ามีความเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่ โดยจำเลยต้องการให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของภาคครัวเรือนที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 กันยายน 2556 อันไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรก๊าซธรรมชาติแต่ต้องใช้ก๊าซหุงต้มในราคาที่สูงขึ้น จึงต้องกล่าวถึงสาเหตุดังกล่าวทั้งระบบ ซึ่งโจทก์ก็มิได้นำสืบว่ารายงานการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่เป็นการกล่าวที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยตรง พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้หมิ่นประมาทและกระทำละเมิดต่อโจทก์ อันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของโจทก์ จำเลยเพียงแต่นำรายงานการพิจารณาของวุฒิสภามาเผยแพร่ต่อประชาชน จึงไม่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความที่ฝ่าฝืนต่อความจริงที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ”
อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ดาวโหลดที่ http://www.thaienergyreform.com/Download/ptt-korn-3.pdf
ผมเผยแพร่คำพิพากษาทั้ง 3 ศาล เพื่อเป็นความรู้และประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนผู้บริโภคพลังงาน
ผมใคร่ขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ญาติมิตร และผู้ใหญ่ที่เคารพทุกท่าน ที่ให้กำลังใจ และเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ผมทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะไม่ว่าเหตุการณ์จะหนักหนาสักเพียงใด แต่เมื่อหันมามองรอบตัวก็พบว่า ยังมีคนจำนวนมากมายยืนเคียงข้างผมเสมอ
สำหรับผู้ใหญ่ที่ผมขอกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ ม.จ. จุลเจิม ยุคล ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ คุณปีย์ มาลากุล และคุณกิตติศักดิ์ ที่ให้กำลังใจและเชื่อมั่นในตัวผมเสมอมา ขอขอบคุณ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล สถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี(นิวส์วัน) ที่ให้ผมได้นำเสนอความจริงในปัญหาพลังงานไทย ผมขอขอบคุณพยานทุกท่านในคดีนี้ ได้แก่ คุณรสนา โตสิตระกูล คุณธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจารย์เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อาจารย์นพนันท์ วรรณเทพสกุล อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พันเอกอัชฌา บุญกระพือ คุณรุ่งชัย จันทสิงห์ และคุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา และท้ายที่สุดบุคคลสำคัญที่ต้องขอขอบคุณ คือ ทนาย สุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายอัจฉรา แสงขาว และทนาย อติชาต แสงขาว ที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในชัยชนะในครั้งนี้ โดยอานิสงของท่านทั้งหลายนี้ ทำให้ผมมีกำลังใจต่อสู้เพื่อความถูกต้องและความเป็นธรรมในเรื่องพลังงานให้พี่น้องคนไทยและประเทศไทยต่อไป
และสุดท้ายที่ต้องกล่าวถึง คือกลุ่มทุนพลังงานที่เป็นบันไดก้าวสำคัญทำให้พวกเรานักสู้เพื่อความเป็นธรรมในพลังงานไทยได้แข็งแกร่งขึ้น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่ว่ายากสักเพียงใดก็ตามเพื่อพิสูจน์ความจริง
ผมขอกราบขอบพระคุณทุกท่านอย่างสูงครับ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี