xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.เผย 7 ข้อพิรุธ ประมูลเอราวัณ-บงกช ทวงสัญญาลูกผู้ชายตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คปพ. แถลงพบ 7 ข้อพิรุธการประมูลปิโตรเลียมเอราวัณ - บงกช ไม่โปร่งใส เอื้อบริษัทบางราย อาจเสียประโยชน์ชาติ ทวงถามสัญญาลูกผู้ชายของ สนช. 1 ปีผลการศึกษาตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่เงียบหาย



วันนี้ (11 พ.ค. 2561) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ประกอบไปด้วย น.ส.รสนา โตสิตระกูล, ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ได้ร่วมกันแถลงข่าว ณ อาคารทีเอสที ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเห็นว่า การที่รัฐบาลกำลังดำเนินการประมูลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ยังไม่มีความโปร่งใส และยังไม่เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงดังต่อไปนี้

1. สัญญาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเปลี่ยนจากที่รัฐได้เคยมีการสัมภาษณ์มาโดยตลอดจาก 10 ปี ไปเป็น 36 ปี
โดยสำรวจได้ 3 ปี ต่ออายุได้ 3 ปี สามารถผลิตในระหว่างสำรวจ และระยะเวลาผลิตเวลา 20 ปี ต่ออายุได้อีก 10 ปี รวมเวลาผลิตปิโตรเลียมได้ 36 ปี ซึ่งหากคำนวณมูลค่าปิโตรเลียมตามปริมาณการผลิตขั้นต่ำที่รัฐกำหนดจะสูงถึง 6 ล้านล้านบาท แต่กลับปรากฏเป็นข่าวคาดการณ์ว่ารัฐจะมีรายได้เพียง 2 ล้านล้านบาท จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การให้สัญญาปิโตรเลียมที่ยาวนานเช่นนี้ หากการประมูลยังไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม อาจทำให้ชาติเสียประโยชน์อย่างมหาศาล


2. ทรัพย์สินของผู้รับสัมปทานเดิมมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท ที่ตกเป็นของรัฐ แต่กลับให้เอกชนไปใช้อย่างไม่โปร่งใสและไม่คุ้มค่า
โดยให้เอกชนผู้ที่ชนะประมูลจ่ายเป็นโบนัสค่าใช้อุปกรณ์ในแหล่งเอราวัณเพียง 350 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา (เฉลี่ยปีละ 9.7 ล้านบาท) ในขณะที่แหล่งบงกช เอกชนผู้ชนะประมูลจะจ่ายเป็นโบนัสค่าใช้อุปกรณ์เพียง 175 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 4.8 ล้านบาท) ทั้งๆ ที่หลักการที่ถูกต้องแล้วจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาทำการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของทรัพย์สิน แล้วจึงคำนวณมาเป็นค่าเช่าให้กับเอกชน และจะต้องผ่านการเห็นชอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้มีการรับรองทรัพย์สินโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแต่ประการใด

3. ทวงสัญญาการศึกษาจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ไม่คืบหน้า และระบบท่อก๊าซธรรมชาติยังไม่มอบคืนแก่กระทรวงการคลัง
จากกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการตัด มาตรา 10/1 ในร่าง พรบ.ปิโตรเลียม คือ การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ออกไป เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 โดยได้ไปใส่ในข้อสังเกต และให้คำมั่นเป็นสัญญาประชาคมและสมาชิก สนช. ได้ให้สัญญาลูกผู้ชายว่า จะมีการศึกษาโดยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งผลปรากฏว่ายังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด

ซึ่งมีแหล่งข่าวจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนหนึ่งแจ้งว่า เป็นเพราะในเวลานั้นได้มีกลุ่มทุนพลังงานกดดันนายกรัฐมนตรี เป็นผลทำให้ไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่จะมาบริหารทรัพย์สินที่หมดอายุสัมปทาน และบริหารผลผลิตปิโตรเลียมที่รัฐพึงได้ ทำให้การจ้างผลิตและการแบ่งปันผลผลิตไม่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานสากล รัฐจึงต้องจำยอมฝากให้เอกชนบริหารและขายปิโตรเลียมแทนรัฐเหมือนกับระบบสัมปทาน รูปแบบดังกล่าวจึงย่อมต้องถูกตั้งคำถามว่าการดำเนินการที่ผ่านมาว่า เป็นเล่ห์เพทุบายเพื่อแก้ไขข้อจำกัดที่ไม่สามารถต่ออายุสัญญาสัมปทานในแหล่งเอราวัณ - บงกชได้แล้ว จึงใช้การแก้ไขกฎหมายเพิ่มให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตและจ้างผลิต แต่เนื้อหาที่แท้จริงกลับเป็นรูปแบบของสัมปทานจำแลง หรือ ไม่

ในขณะเดียวกัน การส่งมอบคืนท่อก๊าซทางทะเลที่เชื่อมต่อแหล่งเอราวัณและบงกช ของ ปตท. ให้แก่รัฐตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังไม่คืบหน้า ส่งผลทำให้ไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมาถือกรรมสิทธิ์ท่อก๊าซแทน ปตท.ดังนั้น ปตท.จึงเป็นบริษัทเดียวมีท่อก๊าซรับซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ - บงกช

4. รัฐให้เอกชนผู้ชนะประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ เจรจากับเอกชนรายอื่นนอกแปลงดังกล่าว ในการเข้ามาใช้ทรัพย์สินราชการและกำหนดค่าตอบแทน
ปรากฏตามเอกสารเชิญชวนกลับมอบอำนาจให้แก่ผู้รับสัญญา ที่จะเจรจากับผู้รับสัมปทานหรือผู้รับสัญญาของแปลงสำรวจอื่นๆ ที่ดำเนินงานและร่วมใช้ประโยชน์จากสิ่งติดตั้งนั้น โดยให้อำนาจในการทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในสิ่งติดตั้งร่วมกับผู้รับสัมปทานหรือผู้รับสัญญาอื่น จึงเข้าข่ายเป็นการให้เอกชนเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการเจรจาและทำสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของทางราชการ และเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนในการใช้ทรัพย์สินเหล่านี้ที่เอกชนรายอื่นจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับสัญญา การมอบอำนาจมหาชนของรัฐไปให้แก่เอกชนผู้รับสัญญาเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของทางราชการแทนรัฐ จึงน่าจะเป็นการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย

5. การกำหนดเงื่อนไขการประมูลให้เอกชนผู้ชนะการประมูลเป็นผู้จ่ายค่ารื้อถอนแท่นผลิตและอุปกรณ์จากสัมปทานรายเดิม
จึงเท่ากับเป็นการเอื้อผู้รับสัมปทานรายเดิมให้มีค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนลดลง เพราะผู้รับสัมปทานรายเดิมนั้นจะต้องเป็นผู้จ่ายค่ารื้อถอนทั้งหมดตามกฎหมายปิโตรเลียม แต่เมื่อให้ผู้ชนะประมูลมาร่วมรับผิดชอบด้วย จึงย่อมเกิดคำถามว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ลดค่าใช้จ่ายให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม ทำให้ผู้ประมูลรายใหม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก่อนการประมูลจึงให้ผลประโยชน์ต่อรัฐน้อยลง ทำให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้เปรียบในการประมูลมากกว่าเอกชนรายอื่นๆ ใช่หรือไม่


6. วิธีการคัดเลือกการประมูลด้วยวิธีการให้คะแนน
ในการประมูลครั้งนี้ จึงต่างจากระบบแบ่งปันผลผลิตในสากลซึ่งประมูลสัดส่วนที่เอกชนจะแบ่งปิโตรเลียมให้แก่รัฐเป็นเกณฑ์ในการตัดสินชี้ขาด แต่การประมูลครั้งนี้กลับใช้ “การให้คะแนน” เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน โดยจาก 100 คะแนน แบ่งเป็น 65 คะแนน คิดจากการเอาก๊าซธรรมชาติทั้งส่วนของรัฐและเอกชนไปขายให้กับผู้ซื้อก๊าซในราคาต่ำที่สุด ซึ่งรัฐได้เคยชี้แจงต่อสื่อสาธารณะว่า “จะกำหนดให้ ปตท. เป็นผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติหลักจากทั้ง 2 แหล่ง” ซึ่งผู้ถือหุ้น ปตท. ย่อมได้ประโยชน์ไปโดยปริยาย วิธีการเช่นนี้จึงไม่สามารถเป็นหลักประกันว่า ผู้รับซื้อก๊าซจะนำมาขายต่อให้กับประชาชนในราคาต่ำลงประการใด ในขณะที่ 25 คะแนน ให้น้ำหนักเรื่องส่วนแบ่งปิโตรเลียมของรัฐ และ 10 คะแนน เป็นเรื่องเงินพิเศษ เช่น ค่าฝึกอบรมข้าราชการ เป็นต้น วิธีการดังกล่าวนอกจากจะไม่โปร่งใสแล้ว ยังไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะเกิดผลประโยชน์แก่รัฐสูงสุดชาติและประชาชนแต่ประการใด

7. กฎกระทรวงกำหนดให้เอกชนนำปิโตรเลียมของรัฐไปขาย ก่อนการแบ่งผลผลิตปิโตรเลียม อันเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์การแบ่งปันผลผลิต และขัดแย้งกับ พ.ร.บ. ปิโตรเลียมเองในหลายมาตรา ซึ่งหากรัฐมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติก็จะสามารถดำเนินการแทนรัฐได้อย่างเหมาะสม

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการประมูลที่ไม่โปร่งใสครั้งนี้ และดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน และขอทวงสัญญาประชาคมและสัญญาลูกผู้ชายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในผลการศึกษาการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้แล้วเสร็จก่อนการประมูลครั้งนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น