"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"
วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ครม.มีมติให้สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นศาลปกครองวินิจฉัยกรณีการคืนท่อก๊าซของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่า
"เป็นการขอให้ศาลปกครองพิจารณา ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นว่าคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน หรือกรณีมีข้อเท็จจริงใหม่ที่สามารถยื่นคำขอไปได้ ซึ่งอัยการแนะนำมาจึงได้ยื่นคำร้องไป ส่วนศาลจะรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับศาลพิจารณา โดยให้ดูเฉพาะประเด็นนี้เท่านั้น ไม่ได้นำมาว่ากันใหม่หมด เพราะเอกชนเคยยื่นพิจารณาใหม่แล้วหลายหนแต่ศาลไม่รับ และพบว่ายังมีช่องทางบางองค์กรอาจยื่นได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพราะ ครม.ไม่ทำตามความเห็น สตง. แต่ตนได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สตง. ปตท. กระทรวงการคลัง มาหารือว่าจะตกลงกันอย่างไร แต่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม ในที่สุดเห็นว่าต้องออกมาแบบวิธีการนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องยื่นไปศาลปกครองอีกครั้ง"
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 1 ปีที่แล้ว นายวิษณุ เครืองาม ก็ได้ให้สัมภาษณ์ส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้วในวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ความว่า :
“ยอมรับเรื่องนี้มีความสำคัญ ไม่เช่นนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายกรัฐมนตรีอาจจะต้องรับผิดและอาจถูกฟ้องมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นเมื่อกระทรวงการคลังได้รับหนังสือถึงเวลาหนึ่งก็นัดที่จะเจอกัน ถึงอย่างไรเรื่องนี้ต้องยุติ แต่อาจจะไม่ยุติในทันที และถ้าเห็นไม่ตรงกันต้องไปศาล”
ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น ก็สืบเนื่องมาจากการทวงคืนท่อก๊าซมาอย่างยาวนานของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย นางสาวรสนา โตสิตระกูล นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กับพวกรวม 1,455 คน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า มีการส่งมอบท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องให้ส่งมอบให้ครบถ้วน”
การยื่นฟ้องครั้งนั้น ส่งผลทำให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 800/2557 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ระบุข้อความการวินิจฉัยสำคัญว่า
“เรื่องการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่หน่วยราชการต้องไปว่ากล่าวกันเอง โดยคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานทั้งหลาย”
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 มีความชัดเจนว่าการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐต้องไปจัดการว่ากล่าวกันเอง เพราะต่างมีสถานภาพที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาลปกครองสูงสุดอีกแล้ว
และเมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการว่ากล่าวหน่วยงานผู้ใต้บังคับบัญชาใดๆ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย นางสาวรสนา โตสิตระกูล, นางสาวบุญยืน ศิริธรรม, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา กับพวก ได้ไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้คณะรัฐมนตรีดำเนินตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557
เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับคำร้องแล้ว จึงได้มีคำสั่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบ และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ว่ามีมติ ดังนี้
"1. ท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพราะได้มาจากการประกอบกิจการและใช้เพื่อกิจการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2513 ก่อนมีการแปรรูปและส่งมอบให้กับ บริษัท ปตท.
2. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับพวกฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีและมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขาดไปคิดเป็นเงิน 32,000 ล้านบาทเศษ ทำให้รัฐขาดประโยชน์จากค่าเช่าที่พึงได้รับ
นอกจากนี้ยังยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดว่ามีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติครบถ้วนแล้ว โดยไม่รอผลการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 และ พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 24 เสียก่อน
3. ให้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินคดีอาญากับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับพวก เนื่องจากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยและความรับผิดชอบทางละเมิดด้วย
4. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44, 46, และ 15 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ขอให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับผู้เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติที่ขาดไปคิดเป็นเงิน 32,000 ล้านบาทเศษแก่กระทรวงการคลัง และให้คณะรัฐมนตรียื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนต่อไปภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มิฉะนั้นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จะดำเนินการตามมาตรา 17, 63, และ 64 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ต่อไป"
วันที่ 20 กันยายน 2559 นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำหนังสือเรียนผู้ว่าตรวจเงินแผ่นดินและคณะรัฐมนตรี ยอมรับว่า :
“ศาลปกครองสูงสุดมิได้แยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกเป็นส่วนๆ หรือคำนึงว่าท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ของใคร ทั้งอาจเป็นเพราะว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งระบบไม่สามารถแยกออกเป็นท่อนๆได้” และ
“คณะรัฐมนตรีได้รับทราบและมีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 “ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษา ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ” แต่ก็ไม่ปรากฏว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้เรียก สตง. มาสอบถามถึงการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องแต่อย่างใด และโดยที่เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของแผ่นดินที่กระทรวงการคลังมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ให้ถูกต้องครบถ้วน กระทรวงการคลัง และสตง. จึงสมควรร่วมกันเสนอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเพื่อหาข้อยุติต่อไป”
ความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งนั้นถือว่ามีน้ำหนักอย่างยิ่งเพราะเป็นองค์กรที่คณะรัฐมนตรีได้เคยได้มีมติเอาไว้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ว่า:
“หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษา ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ”
ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ต่อกรณีที่ ปตท.คืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วนนั้น สอดคล้องกับมติผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับพวกเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 ปัจจุบันศาลปกครอง ประทับรับฟ้องในส่วนขององค์กรของรัฐเอาไว้แล้ว
คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เห็นว่าการคืนทรัพย์สินครั้งนี้ไม่ครบถ้วนก็ให้ความเห็นสอดคล้องไปกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งได้ยื่นต่อหน่วยงานของรัฐเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 อีกด้วย
สรุปได้ว่า 2 องค์กรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 คือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าปตท.ยังคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษา
แต่ในบรรดาองค์กรทั้งหมดดังที่กล่าวมาข้างต้น คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการกฤษฎีกา และอัยการสูงสุดนั้น องค์กรที่ให้ความเห็นเสมือนที่ปรึกษากฎหมายของคณะรัฐบาลคือ คณะกรรมการกฤษฎีกา ในขณะที่อัยการสูงสุดนั้นก็เป็นองค์กรที่เหมือนทนายแผ่นดิน แต่องค์กรที่มีกฎหมายรองรับและมีสภาพบังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม มีเพียงองค์กรเดียวคือ "คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)"
ก็เพราะมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมีอำนาจและสภาพบังคับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 คอยผลักดันคณะรัฐมนตรีเอาไว้อยู่ด้วยจนยากที่จะหลบเลี่ยงต่อไปได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24สิงหาคม 2559 ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตามมติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้ง โดยอาศัยพระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 44 วรรคแรก และมาตรา 46 วรรคแรกซึ่งกำหนดเอาไว้ว่า :
มาตรา 44 วรรคแรก ในกรณีที่คณะกรรมการ (คตง.) พิจารณาผลการตรวจสอบแล้วปรากฏว่ามีข้อบกพร่องเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรี ให้คณะกรรมการ (คตง.) มีหนังสือแจ้งให้หน่วยรับตรวจชี้แจงหรือแก้ไขข้อบกพร่องหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือให้ดำเนินการตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนที่ราชการหรือหน่วยรับตรวจกำหนดไว้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยรับตรวจซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตามสมควรแก่กรณี และให้หน่วยรับตรวจแจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการ (คตง.)ทราบภายใน 60 วัน เว้นแต่คณะกรรมการ (คตง.)จะกำหนดเป็นอย่างอื่น
ส่วนคณะรัฐมนตรีหากนิ่งเฉยและไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามมาตรา 44 และ 46 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 หรือไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นอกจากจะต้องถูกดำเนินคดีความฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แล้ว พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ยังกำหนดเอาไว้ในมาตรา 63 ด้วยว่าให้ถือว่ากระทำผิดวินัย และมีระวางโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 อีกด้วย
คำถามคือทางออกเรื่องนี้เป็นอย่างไร เพราะถ้าดูผิวเผินดูเหมือนทั้งอัยการ คณะกรรมการกฤษฎีกา และมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอช่องทางไปศาลปกครองคล้ายๆกัน แต่ความจริงแล้ว ข้อเสนอเหล่านั้น "ไม่เหมือนกัน"
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า อัยการแนะนำให้ไปศาลปกครองสูงสุดโดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 75 โดยอ้างว่า "เพราะคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน หรือกรณีมีข้อเท็จจริงใหม่"
ในขณะที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ข้อเสนอแนะว่า "โดยที่เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของแผ่นดินที่กระทรวงการคลังมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ให้ถูกต้องครบถ้วน กระทรวงการคลัง และสตง. จึงสมควรร่วมกันเสนอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเพื่อหาข้อยุติต่อไป”
ซึ่งข้อเสนอแนะของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมเป็นไปเช่นนั้น จนกระทั่งเมื่ออ่านหนังสือฉบับวันที่ 20 กันยายน 2559 ที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีไปถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงพบว่าเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้สรุปมติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยไม่ระบุให้ชัดแจ้งว่าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีมติ ให้คณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงการคลัง แล้วจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นการสรุปเพื่อให้สอดรับกับข้อเสนอที่จะยื่นขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาไม่ตรงกับคำขอของมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือไม่
เพราะมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งเป็นองค์กรเดียวที่มีอำนาจและหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 รองรับเอาไว้ มีมติชัดเจนในเรื่องการส่งมอบท่อก๊าซว่าให้ทำ 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 ขอให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับผู้เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติที่ขาดไปคิดเป็นเงิน 32,000 ล้านบาทเศษแก่กระทรวงการคลัง
ขั้นตอนที่ 2 ให้คณะรัฐมนตรียื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนต่อไป
จะเห็นได้ว่าการยื่นศาลปกครองโดยมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)นั้น คือการให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการส่งคืนมอบท่อก๊าซธรรมชาติให้กับกระทรวงการคลังแล้วจึงยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อ "บังคับคดี" ไม่ใช่ "วินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่" แม้จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเหมือนกัน แต่เป็นวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
คณะรัฐมนตรีจะยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดโดยอาศัย มาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง แล้วรัฐบาลจะทำตัวเป็น "คนกลาง" ระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เด็ดขาด
เพราะเรื่องนี้คณะรัฐมนตรีจะต้องรับทราบอยู่แล้วว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีจริงหรือไม่ และมีการรายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดจริงหรือไม่ หากทราบว่าเป็นข้อเท็จจริงคณะรัฐมนตรีย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรง ไม่ใช่ หลีกเลี่ยงไปเป็น "คนกลาง" โดยทำราวกับว่าคณะรัฐมนตรีไม่รู้ว่าตัวเองนั้นเป็นผู้เสียหายโดยตรงหรือไม่ แล้วกลับยื่นให้ศาลปกครองตัดสินวินิจฉัยนอกกรอบประเด็นของปัญหาตาม มาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครองแทน ทั้งๆที่ศาลปกครองสูงสุดระบุในคำสั่งศาลปกครองที่ 800/2557 อยู่แล้วว่า
“เรื่องการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่หน่วยราชการต้องไปว่ากล่าวกันเอง โดยคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานทั้งหลาย”
ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจะยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนโดยอาศัย มาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง จึงน่าจะเป็นการจงใจทำให้หลงประเด็นหรือไม่? เพราะคำสั่งศาลปกครองที่ 800/2557 มีความชัดเจนว่าเรื่องการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีไม่ต้องส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องใหม่ เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะบังคับบัญชาได้เอง
เพราะความไม่ถูกต้องในการบังคับคดีแก้ไขได้โดยใช้หลักการบังคับบัญชา ไม่ใช่ต้องให้ศาลปกครองไปตัดสินใหม่ การส่งไปที่ศาลปครองสูงสุดซ้ำโดยอาศัย มาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครองนั้น สมควรหรือไม่ที่จะต้องตั้งคำถามถึงความเคลือบแคลงสงสัยและดักคอเอาไว้ก่อนว่าเป็นการจงใจส่งไปเพื่อให้ศาลปกครองไม่รับ จะได้ปิดคดีโดยอ้างว่าศาลปกครองสั่งไว้เดิมถูกต้องแล้ว ใช่หรือไม่?
คณะรัฐมนตรีจึงมีหน้าที่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ที่ต้องไปจัดการว่ากล่าวกันเอง โดยการทำตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อดำเนินการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติให้กับกระทรวงการคลังให้ครบถ้วน หากจะส่งศาลปกครองก็ต้องเป็นไปเพื่อบังคับคดี แจ้งต่อศาลปกครองในผลการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติเมื่อครบถ้วนแล้วเท่านั้น หากดำเนินการในหนทางอื่น หรือส่งให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยในเรื่องอื่น ก็ย่อมขัดต่อมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) แน่นอน
และหากคณะรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในการยื่นศาลปกครองเพื่อบังคับคดีให้ถูกต้อง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ก็ย่อมต้องมีหน้าที่ดำเนินคดีความกับคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน จริงหรือไม่?
รวมทั้งการไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งเป็นการไม่นำพาต่อข้อบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินนั้น คณะรัฐมนตรีก็จะเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักนิติธรรมอีกด้วย ซึ่งย่อมจะมีผู้ร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
และเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยและต้องตั้งคำถามว่า เป็นประเด็นนี้ใช่หรือไม่ ที่เป็นสาเหตุทำให้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เร่งเดินหน้าสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดใหม่โดยไม่ต้องรอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบอิสระเพียงองค์กรเดียวในประเทศไทยที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ !!!?