xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : ใครได้ ใครเสีย จากบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



คลิปรายการ “ลึกทันใจ” ตอน ใครได้ใครเสีย บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1




คำถามที่ว่า หาก”บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” เกิดขึ้นมาได้จริง ๆ แล้วใครจะได้รับผลกระทบบ้าง คำตอบง่ายๆก็คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)และกลุ่มบริษัทพลังงานต่าง ๆ นี่แหละ ที่ต้องจะต้องถูกเปลี่ยนสถานะจากผู้กุมธุรกิจผูกขาดด้านพลังงานมากลายเป็นบริษัทเอกชนที่ต้องเป็นผู้แข่งขันในตลาดแทน เพราะหากพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ได้รับมอบหมายจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฏหมายปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และกฏหมายภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จะเห็นชัดว่า บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคลของหน่วยงานรัฐที่จะเป็นผู้มีสิทธิเพียงรายเดียวในฐานะผู้ถือสิทธิในทรัพยากรปิโตรเลียมแทนรัฐ ในการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียม ควบคุมดูแลระบบการสำรวจและแสวงหาประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหลาย และมีหน้าที่ในการบริหารสัญญาสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาการจ้าง รวมถึงสัมปทานที่หมดอายุ เช่น แหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณ ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในเร็ว ๆ นี้ โดยรายละเอียดในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้นจะต้องตราเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ

และหากถึงจุดนั้นแล้ว ปตท.ก็จะต้องส่งคืนสิทธิในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่เป็นของแผ่นดิน เช่น สิทธิในปิโตรเลียมในพื้นที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน สิทธิในการซื้อก๊าซและน้ำมันปากหลุม สิทธิในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ท่อก๊าซและแท่นผลิตปิโตรเลียมด้วย หม่อมหลวง กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 บอกว่า ในสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีสิทธิซื้อปิโตรเลียมปากหลุม โดยมอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาครัฐ ทำหน้าที่ซื้อน้ำมัน แต่ต่อมาการปิโตรเลียมฯ แปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายเพื่อแสวงกำไรในการทำธุรกิจเช่นเดียวกับบริษัทเอกชนอื่น ๆ แต่ ปตท.ไม่ได้คืนสิทธิตรงนี้ให้รัฐ อีกทั้งยังไม่คืนสิทธิในท่อก๊าซบางส่วน ทำให้ ปตท.มีรายได้มหาศาลจากสิทธิตรงนี้ และยังใช้สิทธิดังกล่าวในการผูกขาดธุรกิจพลังงานอีกด้วย แต่หากมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ รายได้ต่าง ๆ จะกลับมาเป็นของรัฐแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

สำหรับสิทธิและสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ ปตท.ต้องส่งคืนแผ่นดิน หลังจากที่มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแล้ว นับว่ามีมูลค่ารวมหลายแสนล้านบาท ประกอบด้วย สิทธิในการซื้อก๊าซและน้ำมันปากหลุม ซึ่งทำให้ ปตท.สามารถผูกขาดการซื้อปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้ภายในประเทศ สิทธิในปิโตรเลียมทั้งหมดของ ปตท.ที่หมดอายุสัญญาสัมปทาน เฉพาะแหล่งเอราวัณและบงกชที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2565-2566 ก็มีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท/ปี คำนวณคร่าว ๆ เมื่อรวมกับแหล่งปิโตรเลียมอื่น ๆ มูลค่ารวมจึงไม่น่าจะต่ำกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี รวมทั้ง อุปกรณ์ต่างๆ เช่น แท่นผลิตปิโตรเลียม มูลค่าหลายแสนล้าน, ท่อก๊าซ มูลค่าทางบัญชี อยู่ที่ 32,000 ล้านบาท และยังมีรายได้จากการเก็บค่าเช่าผ่านท่ออีกปีละ 24,877 ล้านบาท ดังนั้นหากมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ก็จะเข้ามาดำเนินการแหล่งปิโตรเลียมที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน อย่างเช่น แหล่งเอราวัณและบงกชที่จะมีการเปิดประมูลในเดือน ก.ค. 2560 นี้ โดยจะประมูลภายใต้เงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต เอกชนทุกราย รวมถึง ปตท.ก็จะมีสถานะเป็นเอกชนรายหนึ่งที่จะต้องเสนอราคาแข่งกัน ซึ่งรัฐจะได้รายได้และผลประโยชน์เพิ่มขึ้นแน่นอน

ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการบางคนให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน บริษัท ปตท. ทำหน้าที่เป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาอีกนั้น นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ 1 ในเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ.อธิบายว่า เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะแม้ว่า ปตท.จะมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 51% แต่เมื่อถูกแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ภารกิจและเป้าหมายของ ปตท.ก็เปลี่ยนไป เพราะต้องมุ่งทำธุรกิจเพื่อผลกำไรของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ไม่ใช่องค์กรพลังงานที่พัฒนาและผลิตพลังงานเพื่อผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ก๊าซและน้ำมันในราคาถูกเหมือนเมื่อครั้งที่มีสถานะเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

ดังนั้นจึงควรมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้ามาดูแลและบริหารจัดการพลังงานปิโตรเลียมซึ่งเป็นสมบัติของคนทั้งชาติ มิใช่สมบัติของคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น

ทีมข่าวลึกทันใจ รายงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น