xs
xsm
sm
md
lg

จับตา2แหล่งก๊าซ คปพ.ดักคอกพช.ต้องประมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"คปพ." แถลงดักคอบอร์ด กพช.ประชุมวันนี้ (30 พ.ค.) แฉมีวาระพิจารณาแนวทางบริหาร 2 แหล่งก๊าซฯใหญ่ในอ่าวไทยคือแหล่งเอราวัณของเชฟรอน และบงกชของ ปตท.สผ.ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 65-66 ด้วยวิธีเจรจา ลั่นควรเปิดประมูลแข่งขันในระบบรับจ้างผลิตหรือแบ่งปันผลผลิต “รสนา-ธีระชัย” แนะให้ตั้งองค์กรแห่งชาติหรือบรรษัทแห่งชาติเข้าบริหาร

นายปานเทพ พัวพงษ์พัน แกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ.เปิดเผยในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ว่า คปพ.ขอคัดค้านแนวทางการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 30 พ.ค.นี้หากพิจารณาแนวทางการบริหารแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 ด้วยวิธีการเปิดเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมก่อนคือเชฟรอน และบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือปตท.สผ. โดยไม่เปิดประมูลแบบเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยสมบูรณ์และหากยังยืนยันเช่นนั้นคปพ.จะมีการกำหนดมาตรการเคลื่อนไหวต่อไป

นอกจากนี้ขณะที่รัฐบาลอ้างว่าต้องการปราบปราบการทุจริต คอร์รัปชั่นและต้องการปฏิรูปประเทศแต่เมื่อวาระสำคัญที่ทรัพยากร 2 แหล่งใหญ่ของไทยกำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในอีก 5-6 ปีข้างหน้าทรัพยากรเหล่านั้นควรกลับมาเป็นของรัฐทั้ง 100% และทางเลือกที่ควรจะพิจารณาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC ) หรือระบบรับจ้างผลิตแล้วเปิดประมูลแข่งขันอย่างเสรีให้เทียบเท่ากับการเปิดสัมปทานคลื่นโทรศัพท์มือถือในระบบ 4G

"คปพ.เห็นว่าแนวทางการเปิดเจรจาไม่ก่อประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชน จึงขอให้กพช.ยุติการพิจารณาต่อรองและหันมาใช้มาตรฐานประมูลแข่งขันที่เป็นธรรมและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาติ และจากการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เมื่อ 18 เม.ย.59 ที่ระบุว่าถ้าไม่เปิดประมูลก็จะถูกมองว่าฮั้วอีกถ้าท่านพูดเช่นนั้นแล้วต่อมากลับระบุว่าจะเปิดให้เจรจาก่อนประมูลหากเป็นเช่นนั้นจะให้สังคมเคลือบแคลงและสงสัยได้หรือไม่ว่าท่านฮั้วกันหรือไม่ "นายปานเทพกล่าว

นายปานเทพกล่าวว่า รัฐไม่สามารถนำข้อกล่าวอ้างได้ว่าหากไม่มีการต่อสัมปทานให้รายเดิมอาจจะทำให้การผลิตไม่ต่อเนื่องในการผลิตก๊าซฯนักวิชาการของคปพ.ยืนยันว่าแม้จะขาดแหล่งก๊าซฯจาก 2 แหล่งไปชั่วขณะ 3 ปีไทยก็ยังมีแนวทางบริหารที่จะไม่ให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้าเช่น การนำก๊าซฯจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้ามาใช้แทน การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน เป็นต้น

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำคปพ.กล่าวว่า สัมปทานแหล่งเอราวัณซึ่งได้รับโดยเชฟรอนหมดสัมปทานปี 2556 และบงกชได้รับสัมปทานโดยบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(ปตท.สผ.) ทั้ง 2 แหล่งนั้นได้รับสัมปทานไป 30 ปีและได้ต่อตามกฎหมายแล้ว 10ปีเมื่อสิ้นสุดสัมปทานไม่สามารถต่อใหม่ได้ทรัพย์สินต้องตกเป็นของรัฐการที่รัฐเปิดเจรจาเพื่อต่อสัมปทานให้จึงเท่ากับทำไปโดยไม่มีกฏหมายรองรับและเป็นการข้ามขั้นตอนเพราะควรให้ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ…..และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ…..ผ่านก่อนแล้วจึงมาตัดสินใจดำเนินการใน 2 แหล่ง

"แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซ 1,355 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน บงกช แปลง 15-17 ผลิตได้ 870 ล้านลบ.ฟุตต่อวันรวม 2 แหล่งคิดเป็นปริมาณก๊าซฯเฉลี่ย 2,000 ล้านลบ.ฟุตต่อวันหรือคิดเป็นเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปีและคิดเป็นสัดส่วน 76% ของก๊าซฯในอ่าวไทย หลายประเทศเมื่อหมดสัญญาลักษณะเขาก็จ้างผลิตเพราะมีรายได้แน่นอนและการที่รมว.พลังงานระบุว่ารัฐไม่มีเงินลงทุนก็ไม่จริงเพราะเอกชนมาประมูลก็คือใครคิดค่าจ้างบริหารต่ำสุดก็เอาไปเงินรายได้ที่เหลือเป็นของแผ่นดิน" ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว

น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำคปพ.กล่าวว่า ไทยได้ให้สัมปทานก๊าซในอ่าวไทยไปเกือบครึ่งศตรวรรษและที่อ้างว่าต้องเป็นระบบสัมปทานเพราะเรายังไม่รู้ปริมาณมากน้อยเพียงใดแต่ขณะนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าก๊าซฯนั้นมีมากมายจึงเป็นโอกาสดีสุดที่ควรจะกลับมาเป็นของคนไทยและเห็นว่าปัญหาเรื่องการคืนท่อก๊าซในทะเลก็ยังไม่จบดังนั้นรัฐก็สามารถจัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติมาดูแลและผูกขาดเพื่อประโยชน์จะตกที่รัฐมากสุดก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง

"สังคมไทยต้องตั้งคำถามหากจะยกสัมปทานให้กับรายเดิมต่ออีกว่าเพราะอะไรและนี่คือการไม่ปฏิรูปแน่นอน เวลาที่เราจ้างผลิตนั้นเงินจะมาจากก๊าซฯที่มีอยู่แล้วและที่ผ่านมาคปพ.ก็ยืนยันมาตลอดว่าต้นทุนการผลิตก๊าซอ่าวไทยของเชฟรอนนั้นต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล" น.ส.รสนากล่าว

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลังและแกนนำคปพ.กล่าวว่า อยากเตือนรัฐบาลว่าควรระมัดระวังว่าให้แน่ใจว่าเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาติคือ 1.การคัดเลือกเอกชนถ้าไม่ใช้ระบบแข่งขันประมูลโปร่งใสจะทำให้ประชาชนมั่นใจอย่างไรว่าได้ประโยชน์การจัดการปิโตรเลียมสูงสุด 2.กติกาภาษีปิโตรเลียมล้าหลังจำเป็นต้องแก้ไขก่อนหากเดินหน้าโดยยังไม่แก้ไขกติกาคงไม่ทำให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด3.ปัญหาท่อก๊าซฯบมจ.ปตท.ที่ถกเถียงฟ้องร้องบางส่วนที่อยู่ในสาธรณะกรมธนารักษ์ไม่มีอำนาจรับโอนแล้วปิโตรเลียม2แหล่งหมดสัมปทานทรัพย์สินเหล่านี้กรมธนารักษ์ก็รับโอนไม่ได้เราจะบริหารจัดการได้อย่างไรขบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องตั้งองค์กรก๊าซฯหรือบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติมาบริหาร


***ก.พลังงานย้ำ2ทางเลือกบริหารแหล่งก๊าซฯ

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุม กพช.วันที่ 30 พ.ค.นี้ มีวาระการพิจารณาหลายเรื่องที่สำคัญได้แก่ แนวาทางการบริหารบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุ ในปี 2565-2566 ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดทำแนวทางบริหารในหลักการไว้ 2ทางเลือกคือ1.เจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมคือบริษัทเชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณและ บริษัทปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานแหล่งบงกชและ 2.การเปิดประมูลโดยมีเงื่อนไขที่รัฐจะต้องได้ผลประโยชน์มากกว่าระบบไทยแลนด์ทรี

"ภายในปี2560 ภาครัฐจะต้องมีความชัดเจนกับแนวทางกการบริหารแหล่งก๊าซฯที่จะหมดอายุ เพราะปัจจุบันแหล่งก๊าซฯทั้ง2แห่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซฯหลักของประเทศคิดเป็น 76% ของปริมาณก๊าซที่ผลิตได้ในอ่าวไทยและคาดว่าจะสามารถผลิตขึ้นมาใช้ได้อีก10 ปี หากมีการลงทุนต่อเนื่องแต่ถ้าไม่ดำเนินการใดๆเลยปริมาณก๊าซฯจะทยอยหมดและในอีก 7 ปีข้างหน้าก๊าซฯจะหายไปประมาณ3 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และนต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)มาทดแทนซึ่งมีราคาแพงและมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)85 สต.ต่อหน่วย" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ การพิจารณาเลือกแนวทางการบริหารแหล่งก๊าซฯจะต้องมีความรอบคอบและมีเหตุผลประกอบที่ชัดเจนโดยแนวทางที่จะทำให้การผลิตก๊าซฯมีความต่อเนื่องคือการต่อสัญญาให้กับผู้รับสัมปทานรรายเดิมเพราะเป็นผู้ดำเนินการผลิตมาตั้งแต่ต้นและทราบศักยภาพของแหล่งก๊าซฯเป็นอย่างดี แต่จะต้องเจรจาเรื่องผลตอบแทนที่รัฐจะได้กลับคืนมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องไม่น้อยกว่าเดิมไม่เช่นนั้น จะมีคำถามจากภาคสังคมและอาจถูกมองว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นได้ซึ่งเป็นเรื่องรัฐบาลมีความระมัดระวังมากที่สุด

ก่อนหน้านี้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า วันที่30พ.ค.นี้ ที่กระทรวงพลังงานจะเสนอเรื่องการต่ออายุสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติ เอราวัณ และบงกช ที่จะหมดอายุในปี 2565 และ 2566 โดยจะเจรจากับเจ้าของสัมปทานเดิมก่อน หากไม่สำเร็จจึงเปิดประมูลรายใหม่ ต่อที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งตนเห็นว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากควรรอให้การแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เสร็จสิ้นก่อน เพราะร่างกฎหมายก็ผ่านสำนักงานกฤษฎีกามาแล้ว เหลือแค่เข้าสภา สนช. ซึ่งหากไม่มีการดึงเกม คาดว่าประมาณ 1 เดือนน่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยให้ไม่ต้องวนกลับมาทะเลาะกับภาคประชาชนในเรื่องนี้อีก
"ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่แก้กันอยู่ จะช่วยเพิ่มทางเลือกว่า จะทำสัมปทานระบบรับเป็นเงินค่าภาคหลวงแบบเดิม หรือ ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างผลิตก็ได้ และยังแก้ปัญหานำค่าใช้จ่ายหลุมเก่ามาหักภาษีหลุมใหม่ด้วย หากไม่รอแก้กฎหมาย เกณฑ์ใหม่จะไปใช้ตอนไหน เพราะหากต่ออายุให้เจ้าเดิมคือ เชฟรอน กับ ปตท.สผ. ในแหล่ง บงกช กับ เอราวัณ ไปแล้ว ก่อนรอกฎหมายออกก็เท่ากับว่า สัมปทานรอบ 21 ก็คงเสร็จเจ้าเดิมเช่นกัน เพราะพื้นที่สัมปทาน 21 กับ 2 แหล่งดังกล่าว มันใกล้กัน ผมคิดว่าการต่ออายุสัมปทานแหล่งเอราวัณ-บงกช สำคัญกว่าสัมปทานรอบที่ 21 มาก เพราะทั้ง 2 แหล่งนี้มีก๊าซแน่ๆ โดยสามารถผลิตก๊าซได้ 70% ของการผลิตก๊าซทั้งอ่าวไทย คิดเป็น 50% ของความต้องการของประเทศ" นายอรรถวิชช์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น