รัฐบาลถอย “กพช.” เคาะเปิดประมูลทั่วไปในแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม “เอราวัณ-บงกช” ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 ย้ำเพื่อความสบายใจที่ต้องการให้โปร่งใส ขีดเส้นจบ 1 ปี ชี้หากเกิดความเสี่ยงใดๆ ขึ้นประชาชนก็คงจะต้องร่วมรับภาระ
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 30 พ.ค.ว่า ที่ประชุม กพช.มีมติให้ดำเนินการประมูลเป็นการทั่วไปเพื่อบริหารแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 หากไม่มีใครยื่นประมูลจึงจะใช้แนวทางการเจรจากับรายเดิมที่ได้รับสัมปทาน คือ บ.เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต แหล่งเอราวัณ และ บมจ.ปตท.สผ.ในแหล่งบงกชแทน ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายและให้เกิดความโปร่งใสซึ่ง กพช.กำหนดให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้เสนอแนวทางและข้อดีข้อเสีย คือ 1. การเจรจาให้รายเดิมด้วยการต่ออายุสัมปทาน ข้อดีคือจะทำให้การผลิตของแหล่งก๊าซฯ มีความต่อเนื่องไปในช่วงก่อนจะหมดสัมปทานเพราะถ้าไม่ชัดเจนเขาก็จะชะลอการเจาะหลุมผลิตก๊าซฯ เพิ่ม ข้อเสียคือ อาจถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้รายเก่า หากเป็นรัฐบาลชุดนี้ยืนยันว่าจะทำอย่างโปร่งใส 2. เปิดประมูลให้มีการแข่งขันเสรี ข้อดีคือจะถูกมองว่าดำเนินการโปร่งใสแต่ข้อเสียคือความไม่ต่อเนื่องของก๊าซฯที่จะหายไปในช่วงก่อนที่จะหมดอายุสัมปทาน
“ขณะนี้ 2 แหล่งผลิตก๊าซฯ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วงแรกเลยถ้าเขาไม่เจาะหลุมผลิตก๊าซฯ เพิ่มเพราะไม่รู้ว่าจะชนะประมูลหรือไม่ และกว่ารายใหม่จะเข้ามาก็ต้องรอให้สิ้นสุดอายุสัมปทานจะมีช่องว่างนี้อยู่คือ ก๊าซฯ จะทยอยหายไปทั้งหมด 2,200 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันในปี 2565 และหากไม่ดำเนินการใดๆ เลยจะทำให้ก๊าซฯ หายไปรวม 3 ล้านล้าน ลบ.ฟุต แต่หากเป็นรายเดิมชนะเข้ามาปัญหานี้ก็จะไม่เกิด กระทรวงพลังงานก็พยายามจะเลือกแนวทางที่ดีสุด ทั้งนี้ ช่วงที่ก๊าซฯ หายและหากได้รายใหม่ความเสี่ยงเรื่องก๊าซฯ ซึ่งรัฐจะต้องจัดหาเพิ่มขึ้นด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) หากแอลเอ็นจีราคาแพงค่าไฟก็จะแพงขึ้น ถึงตรงนั้นประชาชนก็จะต้องรับความเสี่ยงไป” รมว.พลังงานกล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวทางดำเนินการจะต้องรอให้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ประกาศเป็นกฎหมายก่อนซึ่งขั้นตอนขณะนี้รอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นจะเสนอไปยังสภานิบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งรัฐกำลังจะเร่งให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 เดือน ส่วนจะมีการประกาศเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่หรือไม่คงจะต้องดูสถานการณ์ก่อนซึ่งภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีรูปแบบดำเนินการ คือ ระบบสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต (PSC) และรับจ้างผลิต ซึ่งการเปิดประมูลในแหล่งเอราวัณและบงกชนั้นจะไม่ใช้แนวทางรับจ้างผลิตเพราะค่อนข้างยุ่งยาก
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า หลังจากนี้คงจะต้องไปหารือเพื่อร่างเงื่อนไขการเปิดประมูล (TOR) ซึงมีหลายประเด็นที่ต้องให้ชัดเจนเช่นภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ฯลฯ ขณะเดียวกัน แหล่งก๊าซฯ ทั้ง 2 แหล่งมีกำลังผลิตรวมกัน 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นับจากรัฐบาลให้เปิดประมูลทางผู้ผลิตคงจะไม่ลงทุน เพื่อรักษากำลังการผลิต ทางกระทรวงฯ ประเมินว่าปริมาณก๊าซฯ จะค่อยทยอยลดลงบางช่วงอาจหายไป 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือบางช่วงอาจหายไปทั้งหมด โดยในช่วง 8 ปี นับแต่ปี 2561-2568 ก๊าซจะหายไปรวม 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาทดแทนประมาณ 40 ล้านตัน กระทบค่าไฟฟ้าเอฟที 85 สตางค์/หน่วย ต้องนำเข้าอีเทนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีมาทดแทน รวมมูลค่านับแสนล้านบาท ขณะเดียวกันรายได้รัฐจากปิโตรเลียมจะหายไป 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 245,000 ล้านบาท