กระทรวงพลังงานเตรียมชง “กพช.” 30 พ.ค.นี้เคาะแนวทางบริหารแหล่งก๊าซฯ ที่จะหมดอายุสัมปทานปี 65-66 โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณและบงกช ด้วยการเปิดทางเจรจาก่อนหากเสนอผลประโยชน์รัฐไม่ดีพอเตรียมใช้แนวทางประมูล (บิดดิ้ง) ปิดทางรัฐทำเองเหตุไม่มีงบเพียงพอ
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 30 พ.ค.จะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแนวทางการบริหารแหล่งปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณของเชฟรอน และบงกช ของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) โดยเบื้องต้นได้ข้อยุติการดำเนินงานด้วยการเปิดให้รายเก่าเจรจาก่อนจากนั้นหากไม่ได้ข้อยุติจึงจะเปิดประมูล (บิดดิ้ง)
“แนวทางการให้รัฐทำเองนั้นคงไม่มีเพราะรัฐไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินงานทั้งบุคลากรและเงินลงทุน ดังนั้น หลักการจึงจะเปิดให้รายเก่าเจรจาก่อนโดยผลประโยชน์ตอบแทนที่จะให้รัฐต้องไม่น้อยกว่าระบบสัมปทานไทยแลนด์ 3 ที่กำหนดให้เอกชนเสนอผลประโยชน์ตอบแทนที่ไม่น้อยกว่า 70% ของกำไรเบื้องต้นโดยมองว่าควรจะเสนอให้รัฐระดับ 80% ขึ้นไปก็จะเหมาะสมซึ่งหากเจรจาแล้วเห็นว่าไม่เป็นที่พอใจรัฐก็จะเปิดประมูลให้รายใหม่มาเสนอแข่งขันแทน” รมว.พลังงานกล่าว
อย่างไรก็ตาม การเจรจาจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการปิโตรเลียม โดยการดำเนินงานดังกล่าวจะพยายามสรุปให้เร็วสุดเพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมมีความต่อเนื่องเพราะหากไม่ต่อเนื่องจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เข้ามาแทนการเจรจาจึงต้องดูในหลายมิติทั้งผลประโยชน์ให้รัฐ ความเป็นไปได้ในการผลิตต่อเนื่อง
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ขณะนี้รอกฤษฎีกาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าสู่การพิจารณาซึ่งคาดว่าจะเข้าได้เร็วๆ นี้ จากนั้นจึงจะนำไปสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อเสร็จสิ้นก็จะสามารถประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามายื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ได้โดยทั้งหมดนี้ยังเป็นไปตามแผนงานคือภายในสิ้นปีนี้
“ยอมรับว่าผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลียมเริ่มมีการลดพนักงานหลังจากที่น้ำมันราคาตกต่ำ รัฐคงเข้าไปดูแลส่วนนี้ไม่ได้ถ้าเป็นเรื่องของบริษัทแม่ แต่ขอเพียงให้ช่วยดูแลพนักงานที่เป็นคนไทยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย” รมว.พลังงานกล่าว