ครม.ไฟเขียวแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียม “ไทย-มาเลเซีย” แปลง B-17-01 ปัดเอื้อประโยชน์ให้ “ปตท.สผ.-PC JDAL (มาเลเซีย) ยันถ้าไม่จ่ายวันนี้ก็ต้องจ่ายในปีสุดท้ายอยู่ดี ระบุถ้าได้ทุนคืนเร็วจะมีเงินทุนพอสำรวจแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติม
วันนี้ (16 พ.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยเห็นชอบในร่างสัญญาแบ่งปันผลผลิตเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) แปลง B-17-01 ในพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย ระหว่างองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย กับบริษัทผู้ได้รับสัญญา คือ บริษัท PC JDA Limited. (PC JDAL) และบริษัท PTTEP International Limited ในกลุ่ม บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)
พร้อมกันนี้ยังเห็นชอบให้องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ลงนามในร่างสัญญาแบ่งปันผลผลิตเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) แปลง B-17-01 กับบริษัทผู้ได้รับสัญญา เมื่อร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในสัญญาของการสำรวจผลิตในพื้นที่ดังกล่าว จะใช้หลักแบ่งปันผลผลิต กล่าวคือ น้ำมันที่ขุดเจาะได้จะถูกหักไปเป็นต้นทุนในการสำรวจที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกิน 50% ซึ่งปรากฎว่าตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา มีการสำรวจเพิ่มเติมในพื้นที่ของแผนพัฒนาระยะที่ 4 ซึ่งเป็นแหล่งย่อยอยู่ในแปลง B-17-01 ดังนั้นเมื่อมีการลงทุนสำรวจเพิ่มเติม จึงได้มีการพิจารณาสัญญาที่เคยมีไว้ต่อกันระหว่างทั้ง 2 บริษัท ของไทย-มาเลเซียว่า ถ้าหากต้นทุนไม่เกิน 50% และอายุสัญญาสิ้นสุดในปี 72 บางทีอาจทำให้หักต้นทุนที่ลงไปในการสำรวจไม่ครบ และจากสัญญาที่เขียนไว้เดิมนั้น เงินทุนสำหรับการสำรวจจะต้องขอคืนทั้งหมด เพราะเป็นกฎกติกาของการแบ่งปันผลผลิต
ทั้งนี้ 2 บริษัทเห็นว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาในปี 72 ถ้าให้หักต้นทุนได้ไม่เกินปีละ 50% เมื่อถึงสิ้นปี 72 อาจจะหักทุนคืนได้ไม่ครบ ซึ่งถึงอย่างไรก็แล้วแต่ ในปี 72 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ก็ต้องคืนทุนจนครบ ไม่จ่ายตอนนี้ก็ต้องจ่ายปีสุดท้าย ดังนั้นเมื่อเทียบเคียงกันแล้ว การทยอยจ่ายตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา จะดีกว่าไปจ่ายทุนคืนให้ครั้งเดียวในปี 72 เพราะทั้ง 2 บริษัท คือ PC JDA และ ปตท.สผ. ถ้าได้ทุนคืนเร็วจะมีเงินทุนพอสำรวจแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งพอสำรวจได้มากขึ้น จะมีรายได้กลับมายังองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
“วันนี้จึงมาขอทุนคืนให้มากกว่าข้อตกลงเดิมที่กำหนดไว้ จากเดิมไม่เกิน 50% มาเป็นไม่เกิน 60% ต่อปี สิ่งที่ ครม.มีมติวันนี้ ไม่ได้ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ 2 บริษัท เพราะถ้าเราไม่จ่ายวันนี้ เราก็ต้องจ่ายในปีสุดท้ายอยู่ดี แต่การทยอยจ่ายวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทั้งไทย และมาเลเซียมากกว่าที่จะจ่ายทุนคืนในปีสุดท้ายปีเดียว ซึ่งมติ ครม.เห็นชอบ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ
มีรายงานว่า เมื่อปี 2547 บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ ปตท.สผ.อ. และ บริษัท PC JDA Limited ได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) กับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malay sia-Thailand Joint Authority : MTJA) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อรับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลง B-17-01 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Area : MTJDA) บริเวณตอนใต้ของอ่าวไทย
ปตท.สผ.อ.ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และบริษัท PC JDA Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PETRONAS ประเทศมาเลเซีย ได้ดำเนินการเจรจาเพื่อขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลง B-17-01 และได้รับอนุมัติจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย รวมทั้งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2547 และได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลมาเลเซียเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2547 แล้ว
สาระสำคัญของสัญญาแบ่งปันผลผลิตครั้งนี้ กำหนดให้บริษัททั้งสองได้รับสิทธิในการดำเนินการสำรวจและผลิตในแปลง B-17-01 ฝ่ายละ 50% โดยมีข้อผูกพันตามแผนการดำเนินงานในช่วง 5 ปีแรก เป็นเงิน 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการศึกษาทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ การสำรวจคลื่นไหวสะเทือน และการเจาะหลุมสำรวจอย่างน้อย 2 หลุม
แปลง B-17-01 เป็นแปลงสำรวจซึ่งกำหนดขึ้นใหม่ในบริเวณพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย โดยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียได้รวมพื้นที่ส่งคืน (Relinquished area) ของแปลง A-18, B-17 และ C-19 ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิตปี 2537 มีพื้นที่ประมาณ 3,475 ตารางกิโลเมตร
ขณะที่ องค์กรร่วมไทย-มาเลเซียได้เสนอให้ ปตท.สผ.อ. และบริษัท PC JDA Limited ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของทั้งสองประเทศได้รับสิทธิเป็นผู้เข้าเจรจาสัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นลำดับแรก โดยการเจรจาประสบความสำเร็จ และได้มีการลงนามสัญญาดังกล่าว