ปตท.สผ.ยืนยันพร้อมประมูลแหล่งบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2566 ส่วนแหล่งเอราวัณนั้นคงต้องรอว่าเชฟรอนจะยื่นประมูลหรือไม่ หากถอนตัวก็พร้อมประมูลเสียบแทนเพื่อสร้างความต่อเนื่องและมั่นคงด้านพลังงาน
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)เห็นชอบแนวทางการบริหารปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 โดยจะใช้ระบบการประมูลแบบทั่วไป หากไม่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูล ก็จะพิจารณาเจรจากับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมรายเดิมว่า บริษัทฯ พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลในแหล่งบงกช ที่ ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีสัดส่วนการถือหุ้น 44.44% เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน โดยห็นว่าถ้าเป็นรายเดิมจะสร้างความต่อเนื่องการผลิตได้ดีกว่า
ส่วนจะเข้าร่วมประมูลในแหล่งเอราวัณที่ปัจจุบันบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาหลายปัจจัย ซึ่ง ปตท.สผ.เห็นว่าการดำเนินการเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องควรเป็นผู้ดำเนินการเดิม อย่างไรก็ตาม หากทางเชฟรอนฯส่งสัญญาณว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าว ทาง ปตท.สผ.จะพิจารณาว่าจะยื่นประมูลในแหล่งเอราวัณ เพื่อให้เกิดมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ โดยก่อนหน้านี้ทางเชฟรอนมีแผนที่จะขายหุ้นที่ถืออยู่ในแหล่งอาทิตย์ และยาดานา
ขณะนี้บริษัทฯ ได้มีการเจรจากับพันธมิตรรายเดิมเพื่อเข้าร่วมในการประมูลแหล่งบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2566 ส่วนเงื่อนไขในการประมูลคงต้องรอรายละเอียดจากภาครัฐ โดยบริษัทก็มีความพร้อมทั้งรูปแบบสัมปทาน หรือแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพียงแต่ชอบรูปแบบสัมปทานมากกว่า เพราะมีความคุ้นเคย ทำให้มีความต่อเนื่องได้ดีและมีระบบบริหารจัดการอยู่แล้ว แต่หากเป็นแบบ PSC ทาง ปตท.สผ.ก็พร้อม เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานทั้งภาครัฐและเอกชน
ปัจจุบันแหล่งบงกชมีกำลังการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ 850 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ใกล้เคียงกับสัญญาซื้อขายก๊าซฯที่ทำไว้กับ ปตท.ในฐานะผู้รับซื้อ ซึ่งงบลงทุนในแต่ละปีส่วนหนึ่งจะใช้ในการเจาะสำรวจแหล่งบงกชเพิ่มเพื่อรักษาปริมาณการผลิตก๊าซฯให้ได้ตามสัญญาซื้อขาย โดยจะเห็นอัตราการผลิตก๊าซฯ ลดลงอย่างชัดเจนใน 2 ปีก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2566 หากไม่มีการสำรวจและผลิตเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการลดผลกระทบจากปริมาณการผลิตก๊าซฯที่ลดลงหลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 เห็นว่าวิธีลดผลกระทบง่ายสุด คือการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ปัจจุบันราคาตลาดจร LNG อยู่ที่ 5-6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ต่ำกว่าราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่ 6-7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู
จากภาวะราคาน้ำมันดิบต่ำ ทำให้บริษัทน้ำมันรายใหญ่ต่างปรับพอร์ตธุรกิจใหม่ มีการประกาศขายแหล่งปิโตรเลียมในไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งบริษัทฯสนใจที่จะเข้าไปซื้อกิจการในแหล่งปิโตรเลียมในภูมิภาคนี้ เพราะมีคุ้นเคยและสร้างรายได้ทันที เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีการผลิตอยู่แล้ว โดยแหล่งอาทิตย์ก็เป็นหนึ่งในอีกหลายแหล่งปิโตรเลียมที่จะมีการขายออกมา โดยยืนยันว่าไม่ได้ถูกรัฐบีบบังคับให้ซื้อหุ้นแทนบริษัทต่างชาติที่ถอนการลงทุนออกไป มั่นใจว่าปีนี้จะเห็นดีลการซื้อกิจการอย่างแน่นอน
ปัจจุบันบริษัทฯ มีกระแสเงินสดแข็งแกร่งประมาณ 3.5 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.22 แสนล้านบาท เพียงพอที่จะลงทุนซื้อกิจการ ขณะเดียวกัน บริษัทเองก็พร้อมที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วหากมีผู้สนใจเสนอเงื่อนไขที่ดี