xs
xsm
sm
md
lg

“คปพ.” ฮึ่มปิดทางรัฐเจรจาต่อสัมปทาน 2 แหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คปพ.” แถลงดักคอการประชุม “กพช.” วันพรุ่งนี้ (30 พ.ค.) ซึ่งคาดว่าจะมีวาระพิจารณาแนวทางบริหาร 2 แหล่งก๊าซฯ ใหญ่ในอ่าวไทย คือแหล่งเอราวัณของเชฟรอน และบงกชของ ปตท.สผ. ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 65-66 คปพ.ย้ำมติ กพช.ต้องไม่ใช้วิธีเจรจา โดยควรเปิดประมูลแข่งขันในระบบรับจ้างผลิตหรือแบ่งปันผลผลิต (PSC) เท่านั้น ชี้แหล่งก๊าซฯ นี้มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี




นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ. เปิดเผยในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ว่า คปพ.ขอคัดค้านแนวทางการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 30 พ.ค.นี้ หากพิจารณาแนวทางการบริหารแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 ด้วยวิธีการเปิดเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมก่อน คือ เชฟรอน และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. โดยไม่เปิดประมูลแบบเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยสมบูรณ์ และหากยังยืนยันเช่นนั้น คปพ.จะมีการกำหนดมาตรการเคลื่อนไหวต่อไป

นอกจากนี้ ขณะที่รัฐบาลอ้างว่าต้องการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน และต้องการปฏิรูปประเทศ แต่เมื่อวาระสำคัญที่ทรัพยากร 2 แหล่งใหญ่ของไทยกำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในอีก 5-6 ปีข้างหน้าทรัพยากรเหล่านั้นควรกลับมาเป็นของรัฐทั้ง 100% และทางเลือกที่ควรจะพิจารณาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือระบบรับจ้างผลิตแล้วเปิดประมูลแข่งขันอย่างเสรีให้เทียบเท่ากับการเปิดสัมปทานคลื่นโทรศัพท์มือถือในระบบ 4G

“คปพ.เห็นว่าแนวทางการเปิดเจรจาไม่ก่อประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศชาติและประชาชน จึงขอให้ กพช.ยุติการพิจารณาต่อรองและหันมาใช้มาตรฐานประมูลแข่งขันที่เป็นธรรมและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาติ และจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 59 ที่ระบุว่าถ้าไม่เปิดประมูลก็จะถูกมองว่าฮั้วอีก ถ้าท่านพูดเช่นนั้นแล้วต่อมากลับระบุว่าจะเปิดให้เจรจาก่อนประมูลหากเป็นเช่นนั้นจะให้สังคมเคลือบแคลงและสงสัยได้หรือไม่ว่าท่านฮั้วกันหรือไม่” นายปานเทพกล่าว

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำ คปพ.กล่าวว่า การที่รัฐเปิดเจรจาเพื่อต่อสัมปทานให้จึงเท่ากับทำไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับและเป็นการข้ามขั้นตอน เพราะควรให้ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ…..และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ…..ผ่านก่อนแล้วจึงมาตัดสินใจดำเนินการใน 2 แหล่ง โดยพบว่า 2 แหล่งนี้มีมูลค่าก๊าซฯ คิดเป็น 2 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นหลายประเทศเมื่อหมดสัญญาลักษณะนี้เขาก็จ้างผลิตเพราะมีรายได้แน่นอน

น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำ คปพ. กล่าวว่า ไทยได้ให้สัมปทานก๊าซในอ่าวไทยไปเกือบครึ่งศตวรรษ และที่อ้างว่าต้องเป็นระบบสัมปทานเพราะเรายังไม่รู้ปริมาณมากน้อยเพียงใด แต่ขณะนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าก๊าซฯ นั้นมีมากมายจึงเป็นโอกาสดีสุดที่ควรจะกลับมาเป็นของคนไทย และเห็นว่าปัญหาเรื่องการคืนท่อก๊าซในทะเลก็ยังไม่จบ ดังนั้นรัฐก็สามารถจัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติมาดูแลและผูกขาดเพื่อประโยชน์จะตกที่รัฐมากสุด ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลังและแกนนำ คปพ.กล่าวว่า อยากเตือนรัฐบาลว่าควรระมัดระวังว่าให้แน่ใจว่าเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาติ คือ 1. การคัดเลือกเอกชน ถ้าไม่ใช้ระบบแข่งขันประมูลโปร่งใสจะทำให้ประชาชนมั่นใจอย่างไรว่าได้ประโยชน์การจัดการปิโตรเลียมสูงสุด 2. กติกาภาษีปิโตรเลียมล้าหลังจำเป็นต้องแก้ไขก่อน หากเดินหน้าโดยยังไม่แก้ไขกติกาคงไม่ทำให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด 3. ปัญหาท่อก๊าซฯ บมจ.ปตท.ที่ถกเถียงฟ้องร้องบางส่วนที่อยู่ในสาธารณะกรมธนารักษ์ไม่มีอำนาจรับโอน แล้วปิโตรเลียม 2 แหล่งหมดสัมปทานทรัพย์สินเหล่านี้กรมธนารักษ์ก็รับโอนไม่ได้เราจะบริหารจัดการได้อย่างไร กระบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องตั้งองค์กรก๊าซฯ หรือบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติมาบริหาร











กำลังโหลดความคิดเห็น