เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย นำขบวนร้องนายกฯ เบรกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เข้า ครม. ทั้งที่ยังไม่ได้แก้ปัญหาตามที่ กมธ.วิฯ สนช.ชง เชื่อหากผ่านแล้วให้เอกชนสำรวจรอบที่ 21 ทำชาติเสียหายแน่
วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเวลา 11.00 น. กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, พญ.กมลพรรณ ชีวะพันธ์ศรี, พล.อ.กิติศักดิ์ รัฐประเสริฐ แกนนำเครือข่าย และนายนพ สัตยาศัย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สาขาพลังงาน พร้อมมวลชนกว่า 200 คน รวมตัวเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกผ่านนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องขอให้ยุติการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน ที่เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (8 ธ.ค.) และขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ตามการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
โดยนายปานเทพได้อ่านจดหมายเปิดผนึกว่า ด้วยคณะบุคคลและประชาชนทั่วไปต่างมีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองในการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะนำร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... เข้าที่ประชุม ครม.วันนี้ โดยร่างฯ ดังกล่าวไม่ได้แก้ไขปัญหาข้อกฎหมายต่างๆตามที่กรรมาธิการวิสามัญฯ ของ สนช.ได้เสนอให้ปรับแก้กว่า 50 มาตรา หาก ครม.อนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวของกระทรวงพลังงาน และหากผ่านกระบวนการทางกฎหมายแล้วนำไปบังคับใช้ ให้เอกชนเข้ายื่นขอสิทธิเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากร่างฯ ที่กระทรวงพลังงานเสนอมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน ขาดเนื้อหาสำคัญที่แตกต่างจากการรายงานผลการศึกษาปัญหาของ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สนช.
นายปานเทพกล่าวอีกว่า สาระสำคัญในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานได้เพิ่มคำว่า “แบ่งปันผลผลิต” เข้ามา แต่ไม่ใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกจริง และร่างฯ ของกระทรวงพลังงานไม่ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในรายงานการศึกษาของ สนช. จึงนำไปสู่ปัญหาในภาคปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ไม่ส่งเสริมการแข่งขันที่แท้จริง ขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้ปรับปรุงจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อชุมชน และไม่ได้แก้ไขช่องโหว่ของกฎหมายเรื่องจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ดังนั้นหากนำไปใช้ย่อมเกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“จึงกราบเรียนมาเพื่อขอให้นายกรัฐมนตรียุติการพิจารณาร่างแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน และขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของ สนช.” นายปานเทพระบุตามจดหมายเปิดผนึก