"ประสงค์ สุ่นศิริ " นำทีมคณะบุคคลร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ เบรก ครม.เคาะร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ฉบับกระทรวงพลังงานวันนี้ ระบุเป็น พ.ร.บ.ขายชาติ ย้ำให้ยึดร่างแก้ไขของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาฯ สนช. ท้ารัฐเปิดเวทีให้ 2 ฝ่ายเสนอให้คนไทยตัดสิน เตือนอย่าดูถูกและอย่าประมาทประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อบ่ายวานนี้ ( 7 ธ.ค.) ที่ รร.เอเชีย คณะบุคคลนำโดย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีต รมว.กระทรวงต่างประเทศ นาย อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.กระทรวงการคลัง น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระและสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ เพื่อคัดค้านกรณีที่จะนำร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (8 ธ.ค.) และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งยุติการพิจารณาร่างกฎหมายนี้
น.ต.ประสงค์ เปิดเผยในการนำคณะบุคคลแถลงข่าวว่า ขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ. .... ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ.2514สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากร่างของกระทรวงพลังงานไม่ได้แก้ไขปัญหาข้อกฎหมายต่างๆ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯสนช.ได้จัดทำร่วมกับภาคประชาชนที่เสนอให้แก้ไขถึง 57 มาตรา หากปล่อยให้ผ่านการยื่นขอสิทธิสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 จะสร้างความเสียหายกับประเทศชาติอย่างมาก
ทั้งนี้ หากนายกรัฐมนตรีต้องการความปรองดองให้เกิดขึ้น เนื่องจากปัญหากฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับเป็นความขัดแย้งระหว่างภาคประชาชนกับกลุ่มคนบางพวก จึงเสนอให้เปิดเวทีสาธารณะเช่น หอประชุมกองทัพบกเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายคือภาคประชาชนและกระทรวงพลังงานมาพบกันและเปิดให้ประชาชนรับฟังเพื่อตัดสินใจหากนายกฯชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ส่วนรวมได้ ท่านก็จะเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่เริ่มต้นจากการเป็นผู้รู้จักฟังแต่หากยื่นจดหมายไปแล้วยังคงเดินหน้าอย่างเดียวก็ขอบอกว่า อย่าดูถูกประชาชนและอย่าประมาทกับใจของคน
" ใกล้สิ้นปียังริบหรี่ และลบหลู่ ยังหดหู่ ยังดูๆยังใจหาย หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างจะวอดวาย ถ้าหากไม่คิดให้ถูก ผูกให้เป็น " น.ต.ประสงค์กล่าว
นายธีระชัยกล่าวว่า คณะบุคคลได้ลงนามเพื่อที่จะยื่นนายกฯเพราะทราบว่า ครม.วันที่ 8 ธ.ค.จะมีการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับกระทรวงพลังงานซึ่งหากเป็นจริงก็เท่ากับขัดหลักการของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใส เพราะร่างที่กระทรวงพลังงานเสนอยังไม่มีการตกผลึกความเห็นจากทุกฝ่าย และยังเป็นการรอนสิทธิ์รัฐบาลในอนาคตเพราะกติกาที่เสนอให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ไม่ได้ระบุการจัดตั้งบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติทำหน้าที่บริหารปิโตรเลียมจึงเท่ากับยกให้เอกชนทันที
น.ส.รสนากล่าวว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กระทรวงพลังงานเป็นการเน้นผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาดพลังงานเป็นหลัก เพราะร่างแก้ไขฯกำหนดให้ได้รับสิทธิ์สำรวจและสัมปทานเมื่อสำรวจพบรวมระยะเวลา 39 ปีรวดเดียว หากมีข้อพิพาทจะใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ ฯลฯ ดังนั้นส่วนตัวต้องการให้ทำประชามติว่าประชาชนจะรับร่างแก้ไขกฏหมายฉบับใดระหว่างของกรรมาธิการวิสามัญศึกษา สนช.หรือของกระทรวงพลังงานซึ่งมีสาระหลักคือการยกปิโตรเลียมให้ประเทศเป็นเจ้าของหรือให้เอกชน
ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับกระทรวงพลังงานแม้จะเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC)เข้ามาแต่ไม่ใช่ระบบที่ใช้ทั่วโลกจริงเพราะการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯสนช.ได้เสนอให้มีการเพิ่มระบบบริหารจัดการทั้ง PSC และระบบรับจ้างผลิต โดย PSC จะต้องมีองค์กรที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนมารองรับ ขณะที่การให้คณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณาไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งในเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการฯสนช.ได้ลงความเห็นแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน
นายกมล กมลตระกูล อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ขอให้รัฐยกเลิก พ.ร.บ.2ฉบับของกระทรวงพลังงานเพราะเป็นพ.ร.บ.ขายชาติ เนื่องจากขาดระบบถ่วงดุลความคิดเห็น เป็นการยึดระบบเดิมโดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระหลัก.