xs
xsm
sm
md
lg

“สปริงนิวส์” ขอโทษ “ปานเทพ” นำคลิปถกพลังงานฉบับเต็มขึ้นยูทิวบ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีมงานสปริงนิวส์ขอโทษ “ปานเทพ” พร้อมนำคลิปรายการอาสาคลายทุกข์หัวข้อ “ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ใครได้ใครเสีย!?” ตอนที่ 2 ฉบับเต็มขึ้นยูทิวบ์ อ้างเหตุตัดข้อความก่อนออกอากาศเพื่อควบคุมเวลา โดนสวนกลับ ควรตัดส่วนอื่นที่ไม่ใช่เนื้อหาสำคัญ ชี้ตอนออกทีวีรัฐบาลภายใต้รัฐประหารยังไม่ตัดคำพูดเลย

วันนี้ (8 ม.ค.) เมื่อเวลา 08.13 น. นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กรณีสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ได้ตัดข้อความสำคัญที่พูดในรายการอาสาคลายทุกข์ หัวข้อ “ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ใครได้ ใครเสีย !? (ตอนที่ 2)” เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา โดยนายปานเทพระบุว่า เมื่อวานนี้ ได้โทรศัพท์สอบถามทีมงานรายการอาสาคลายทุกข์ ทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ดังนี้

1. ทางสถานีจำเป็นต้องตัดเนื้อหาสาระบางตอนออกเพื่อควบคุมไม่ให้เกินเวลา

ผมโต้แย้งว่า ในฐานะคนทำสื่อผมเข้าใจเรื่องการควบคุมเวลา แต่..การเชิญคน 2 ฝ่าย ที่มีความเห็นแตกต่างกัน ต้องระมัดระวังอย่างมากในการตัด “เนื้อหาสาระ” ออกไป ซึ่งทีมงาน สปริงนิวส์ สามารถเลือกตัดเรื่องอย่างอื่นทิ้งได้ เช่น สกู๊ปตอนต้นรายการ การเกริ่นนำของผู้ดำเนินรายการ หรืออย่างน้อยต้องเลือกตัด “ในส่วนที่ไม่ใช่เนื้อหาออก”

และโดยมารยาทแล้วหากจะมีการตัดส่วนของคู่อภิปรายออกควรต้องขออนุญาตผู้อภิปรายทั้ง 2 ฝ่ายให้ความยินยอมก่อนด้วย เพราะ “การตัดตอนส่วนใดออกจากรายการ” คู่อภิปรายข้างใดข้างหนึ่งอาจมีความเสียเปรียบหรือได้เปรียบมากขึ้นจากการตัดคำพูดนั้น ไม่ว่าจะเป็น ความต่อเนื่องของเนื้อหาการพูด การพูดจริงหรือเท็จ การขยายความพฤติกรรมและคำพูดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม รวมถึงการย้ำเนื้อหา (แม้เนื้อหาอาจจะซ้ำ) เพื่อสื่อสารให้ผู้ชมไม่หลงประเด็น ฯลฯ

2. ทีมงานใช้วิจารณญาณอ้างว่าเนื้อหาที่ผมพูดพร้อมแผนภูมิเกี่ยวกับการชิงตัดหน้าเสนอกฎหมายของกระทรวงพลังงานนั้นซ้ำกับสกู๊ปข่าวตอนต้นของรายการอยู่แล้วจึงน่าจะตัดได้

ผมยืนยันไม่เห็นด้วยกับเหตุผลนี้ครับ เพราะถึงแม้เนื้อหาอาจจะคล้ายกับสกู๊ปตอนต้นของรายการ แต่

2.1 เป็นคนละวันกัน เพราะสิ่งที่ผมพูดนั้นอยู่วันที่ 2 ผู้ชมจึงย่อมไม่สามารถจำสกู๊ปเดิมก่อนหน้านั้น 1 วันได้ เนื้อหาจึงไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้

2.2 ผมต้องการเปรียบเทียบ “กระบวนการ” ร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ว่าทำไมประชาชนจึงขาดความไว้วางใจร่างของกระทรวงพลังงาน แต่สกู๊ปข่าวแม้จะกล่าวถึงการชิงตัดหน้าเสนอกฎหมาย แต่เป็นการเล่าเรื่องราวเฉยๆ ไม่ได้ร้อยเรื่องราวในบริบท “ความไม่ไว้วางใจ” อย่างทึ่ผมพูด เพราะแม้การพูดจะมีเนื้อความคล้ายกัน แต่การเรียงลำดับและจังหวะใส่เนื้อหาของการพูดนั้นย่อมให้ความหมายไม่เหมือนกัน ดังนั้น การตัดเนื้อหาดังกล่าวออกไปนั้นถือเป็นการใช้วิจารณญาณส่วนตัวตามอำเภอใจโดยไม่สอบถามถึงวัตถุประสงค์ของผู้พูดเสียก่อน ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่าไม่ถูกต้องในเวทีที่มีการโต้เถียงกัน

3. ทีมงานใช้วิจารณญาณอ้างว่าตอนท้ายที่ผมเสนอทางออกด้วยการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายนั้น ผมได้เคยพูดและเสนอมาแล้วหลายครั้ง

ผมโต้แย้งว่าความจริงในรายการนี้ผมยังไม่ได้พูดในประเด็นนี้ เพราะช่วงพักเที่ยงของตอนที่ 1 ผมและผู้อภิปรายทุกคนไม่ขัดข้องถ้าผมจะเสนอทางออกการร่วมร่างกฎหมายโดยทุกฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยให้กระทรวงพลังงานเสนอร่างฝ่ายเดียว

ผมจึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงพลังงาน ผู้แทนกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ ฯลฯ

ตอนเลิกปิดรายการไปแล้ว แม้แต่ผู้อภิปรายฝ่ายตรงข้ามผมท่านหนึ่ง ก็ยังเอ่ยปากว่าผมเห็นด้วยกับข้อสรุปปิดท้ายของผม

ผมจึงเห็นวิจารณญาณส่วนตัวของผู้ที่ตัดข้อความของผมครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคำพูดข้อสรุปดังกล่าวใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีเท่านั้น จึงไม่สมควรเป็นเหตุอ้างในการตัดคำพูดของผมได้เลย (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการเลือกตัดส่วนอื่นๆ ของพิธีกรและสกู๊ปตอนต้น)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอัพโหลดขึ้นในเว็บไซต์ยูทูปนั้น จะอ้างการตัดเนื้อหาของผู้อภิปรายทิ้งออกไปว่ามีข้อจำกัดเรื่องเวลาเหมือนทีวีไม่ได้เช่นเดียวกัน

ผมได้แจ้งต่อสปริงนิวส์ว่า ผมเคยออกรายการในลักษณะการถกเถียงหลายครั้งมาแล้วในหลายเวที ในหลายยุครัฐบาล แม้แต่ช่องไทยพีบีเอส และ เอ็นบีที (ช่อง 11) ซึ่งเป็นทีวีของรัฐในช่วงรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ก็ยังไม่เคยตัดข้อความการพูดของผมแม้แต่ครั้งเดียวเลย ย่อมแสดงให้เห็นถึงความตระหนักของสามัญสำนึกของคนในวงการโทรทัศน์โดยทั่วไปว่า การตัดคำพูด “ที่เป็นเนื้อหาสาระที่สำคัญ” ของผู้อภิปรายที่มีการโต้แย้งกัน เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่ต้องมีความระมัดระวัง และไม่มีใครเขาทำกัน
จึงถือว่าเป็นครั้งแรกที่ผมไปออกอากาศที่สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ และผมซึ่งขึ้นเวทีอภิปราย 2 ฝ่ายมาแล้วหลายครั้ง แต่กลับมาถูกตัดคำพูดในการออกอากาศที่มีการถกเถียงกันเป็นครั้งแรก โดยสถานีโทรทัศน์ที่ชื่อ สปริงนิวส์

ผมจึงเตือนไปว่าหากทำเช่นนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบต่อสปริงนิวส์ ที่จะไม่สามารถได้รับความไว้วางใจจากภาคประชาชนในการออกอากาศอีกต่อไปในอนาคตได้

ทางทีมงานสปริงนิวส์จึงขอโทษผมมา ณ โอกาสนี้ และขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการนำรายการฉบับเต็มที่ไม่มีการตัดตอนใดๆ มาเผยแพร่ลงยูทิวบ์ ตามลิงก์ด้านล่างนี้”



ส่วนที่ขาดหายไปและเติมเต็มเข้ามาส่วนแรกคือ นาทีที่ 39.36 - นาทีที่ 41.12 รวม 1 นาที 30 วินาที
ส่วนที่สองคือ นาทีที่ 57.43 - นาที 58.42 นาที รวม 59 วินาที ซึ่งส่วนที่ 2 นี้ไม่ใช่การตัดตอนท้ายประโยค แต่เป็น "การเลือกตัดระหว่างประโยคโดยเฉพาะ"

* ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเนื้อหาส่วนที่ถูกตัดออกไปก่อนหน้านี้จะ "พุ่งเป้า" หรือ "บังเอิญ" เจาะจงไปที่ "กระบวนการ" ถึง 2 ครั้ง คือส่วนแรกที่เคยถูกตัดออกไปคือ..."กระบวนการที่มีปัญหาที่ขาดความชอบธรรม"และส่วนที่สองที่เคยถูกตัดออกไปคือ..."ทางออกของกระบวนการที่ควรจะเป็นและมีความชอบธรรม"

แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมเคยเห็นการฝักใฝ่กลุ่มทุนพลังงานในบางรายการของสปริงนิวส์ชนิดออกนอกหน้าอย่างชัดเจน แต่เมื่อสปริงนิวส์ได้ขออภัยและดำเนินการแสดงความรับผิดชอบแก้ไขในกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้แล้ว

และไม่ว่าจะมีเบื้องหลังในการตัดคำพูดผมก่อนหน้านี้หรือไม่ก็ตาม ผมจะรับการขอโทษนี้ และให้อภัยทีมงาน สปริงนิวส์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ครับ

และหลังจากเหตุการณ์นี้ผู้ชมและประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินบทบาทของสปริงนิวส์ต่อไปว่าเป็นอย่างไร และไว้วางใจได้หรือไม่กับการทำหน้าที่สื่อมวลชนในด้านปิโตรเลียมและพลังงานของชาติ ก็จะขึ้นอยู่กับการกระทำของสปริงนิวส์เอง

และขอให้กำลังใจคนทำงานสื่อมวลชนทุกคนให้ทำหน้าที่ของตัวเอง ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ทรยศต่อวิชาชีพของตัวเองด้วยเพราะอิทธิพลหรือผลประโยชน์จากลุ่มทุนพลังงาน

และขอให้กำลังใจยิ่งกว่าสำหรับสื่อมวลชนทุกคนที่ยืนเคียงข้างผลประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน โดยไม่หวั่นเกรงอำนาจและผลกระทบใดๆจากกลุ่มทุนพลังงาน

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
8 มกราคม 2559

กำลังโหลดความคิดเห็น