“ปานเทพ” เผยประชุมร่วมภาครัฐ-คปพ. “ประจิน” แจ้งเรื่อง กมธ.สนช.-กระทรวงพลังงานเห็นพ้องเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิตในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ พร้อมตั้งกรรมการ 5 ฝ่ายหาข้อยุติการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ด้าน คปพ.เสนอตั้ง กก.3 ฝ่ายร่วมร่างกฎหมาย ตัดผู้ประกอบการ-นักวิชาการ เพราะมีสังกัดอยู่แล้ว พร้อมเสนอปรับ PDP 2015 และให้เปิดประมูลขุดเจาะปิโตรเลียมแบบ 4G ให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด “ประจิน” รับนำเสนอนายกฯ
วันนี้ (15 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.48 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ สรุปผลการประชุมระหว่างภาครัฐและเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เมื่อวันพฤหัสดีที่ 14 มกราคม 2559 ตั้งแต่เวลา 13.30-16.12 น. (รวม 2 ชั่วโมง 42 นาที) ณ ห้องประชุม 2503 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล
ที่ประชุมภาครัฐมี 12 คน ประกอบไปด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยข้าราชการจากสำนักงานรองนายกรัฐมนตรี ข้าราชการจากกระทรวงพลังงาน และข้าราชการจากกรมสรรพากรกระทรวงการคลัง
ที่ประชุมเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้รับเชิญ 5 คน ประกอบไปด้วย ดร.นพ สัตยาศัย, นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล, รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร, หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ผลสรุปการประชุมมีดังนี้
1. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี แจ้งต่อที่ประชุมว่า ภายหลังจากการพูดคุยกับผู้แทนกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีข้อสรุปว่า
1.1 กรรมาธิการฯ และกระทรวงพลังงาน มีความเห็นพ้องต้องกันที่จะเพิ่มระบบจ้างผลิตเข้าไปในร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน
1.2 กรรมธิการฯ และกระทรวงพลังงาน เห็นพ้องต้องกันที่จะตั้งคณะกรรมการ 5 ฝ่าย (ผู้แทน คปพ., ผู้แทน สนช., ผู้แทนกระทรวงพลังงาน, ผู้แทนผู้ประกอบการ, นักวิชาการ) เพื่อมาร่วมหาข้อยุติในรายละเอียดเกี่ยวกับบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) แต่คาดว่าจะต้องใช้เวลาร่างกฎหมายเกี่ยวกับบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอีก 1 ปีข้างหน้า จึงให้แยกต่างหากออกมาจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม
1.3 คณะกรรมาธิการฯ ไม่ติดใจค่าเรื่องภาคหลวง แต่ให้กระทรวงพลังงานไปปรับปรุงแก้ไขข้อห่วงใยของคณะกรรมาธิการฯ ในด้านอื่นๆ ตามที่จะกล่าวถึงในข้อต่อไปด้วย
1.4 คณะกรรมาธิการฯ ขอให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมใน 6 ประเด็น ได้แก่ ควบคุมการหักค่าใช้จ่ายจากต่างประเทศ กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องมูลค่าของค่าเช่าทรัพย์สิน กำหนดหลักเกณฑ์หนี้สูญ กำหนดไม่ให้นำรายจ่ายจากค่าเสียหาย สิ่งแวดล้อมมาหักเป็นค่าใช้จ่าย ป้องกันปัญหาการตั้งราคาโอนภายในเครือ ควบคุมการนำผลขาดทุน
1.5 คณะกรรมาธิการฯ ขอให้ยกเลิกอำนาจรัฐมนตรีในการพิจารณาส่วนลดและการคำนวณราคามาตรฐาน และกำหนดการขออนุมัติการชำระภาษีเป็นเงินตราต่างประเทศให้มีความรัดกุม
1.6 เพื่อสนับสนุนให้ฝ่ายจัดเก็บภาษีของรัฐ กรรมาธิการฯ ขอให้มีการแจ้งกิจการกับกรมสรรพากร จากเดิมที่ให้รายงานต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานเพียงฝ่ายเดียว
1.7 กรณีกรรมาธิการฯ ที่เสนอให้มีการจัดเก็บร้อยละ 20 จากปัจจุบันที่จัดเก็บในอัตราร้อยละ 50 กรรมาธิการฯได้มีเงื่อนไขว่าการลดการจัดเก็บภาษีเพื่อใ้ห้เป็นสากลได้ต้องให้ครบถ้วนและไม่รั่วไหลด้วย (หมายถึงมีการแก้ไขปัญหาเรื่องกฎหมายภาษีในทุกมิติได้แล้ว)
กรรมาธิการฯ ได้ขอให้กระทรวงพลังงานไปตกลงกับกรมสรรพากรตามที่กล่าวมาข้างต้น แล้วแจ้งให้กรรมาธิการฯ ทราบ เมื่อดำเนินการแล้วกรรมาธิการฯก็จะให้ความเห็นชอบในการดำเนินการตามขั้นตอนในกฎหมาย และพิจารณกลั่นกรองในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นนิมิตหมายที่ดีและสร้างสรรค์ ที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้โอกาสกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ในการพูดคุยกัน อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กระทรวงพลังงานจะยอมปรับแก้ไขกฎหมายมีความคืบหน้ามากขึ้นจากข้อเสนอของกรรมาธิการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอแจ้งว่าเพิ่งได้รับทราบเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับข้อสรุปการเจรจาระหว่าง กรรมาธิการฯ กับกระทรวงพลังงานตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงจะขอนำไปรวบรวมเพื่อพิจารณาที่จะแจ้งให้ทราบต่อไปว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีความคิดเห็นเป็นอย่างไร แต่ก็ยังคงมีความห่วงใยในร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับอยู่
นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่า การบริหารจัดการปิโตรเลียมที่ถูกต้องจะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ สามารถเป็นประเด็นที่ครองหัวใจประชาชนได้หากยึดเอาประโยชน์แห่งชาติเป็นตัวตั้ง และสามารถทำให้ประเทศไทยมีอิสรภาพทางด้านปิโตรเลียมได้จริง
โดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เสนอให้ยึดเอาประโยชน์สูงสุดของชาติเป็นตัวตั้ง บนพื้นฐานของความจริงที่ปฏิบัติได้ นามรายละเอียดดังนี้
2.1 ทำให้เกิดกระบวนการปฏิรูปทางกฎหมายให้เกิดความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์และทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ด้วยการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ในการร่างกฎหมายปิโตรเลียมร่วมกันได้แก่ 1. ผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน 2. ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ 3. ผู้แทนจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ด้วยเหตุว่าเป็น 3 หน่วยงานที่มีร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่เสนอเข้ามาอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการสนทนาที่มีปฏิสัมพันธ์ในการชี้แจงแสดงเหตุผลซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การได้ข้อยุติในเชิงนโยบาย โครงสร้าง ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ในการหาทางออกให้กับประเทศไทยต่อไป
2.2 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ไม่เห็นด้วยกับการมีผู้ประกอบการในการร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม เพราะจะถูกครหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน และไม่เห็นด้วยที่จะมีนักวิชาการ เพราะแต่ละฝ่ายก็มีนักวิชาการอยู่แล้ว และนักวิชาการต่างก็มีสังกัดทั้งนั้นว่าจะยืนอยู่ข้างทุนพลังงานหรือภาคประชาชน
2.3 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เรียกร้องที่จะทำให้เกิดการประมูลการแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดได้จริงในทางปฏิบัติ ให้คล้ายคลึงกับการประมูลคลื่นความถี่ 4G ในแปลงปิโตรเลียมที่มีศักยภาพ เช่น พื้นที่ 5 แปลงที่มีศักยภาพในอ่าวไทย พื้นที่ซึ่งมีศักยภาพบนบก และดำเนินการประมูลในระบบจ้างผลิตในแหล่งเอราวัณ และบงกชที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงในอีก 6-7 ปีข้างหน้า
แปลงปิโตรเลียมเหล่านี้ ควรพิจารณาแบบบูรณาการเชื่อมโยงกัน เพื่อเป็นเงื่อนไขในการสร้างอำนาจต่อรองแก่รัฐในการทำให้ช่วยการโอนถ่ายการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุนั้นไม่ประสบปัญหาการขาดความต่อเนื่องจนเกิดวิกฤติการขาดแคลนไฟฟ้า ซึ่งหากรัฐเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริง ก็สามารถดำเนินการในแปลงเหล่านี้ได้ทันมีในการให้ทุกภาคส่วน (กระทรวงพลังงาน, กรรมาธิการฯ, คปพ.) ร่วมกันร่างพระราชกำหนด หรือการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 ได้
ซึ่งการจะทำให้เกิดการแข่งขันได้จริง จะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยอันได้แก่ ปัจจัยราคาปิโตรเลียม ปัจจัยการกำหนดจำนวนแปลงให้น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าแข่งขัน การขจัดความเหลื่อมล้ำจากกฎหมายที่ให้นำค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงใหม่ของผู้รับสัมปทานรายเดิมมาหักภาษีได้ ฯลฯ
ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ให้ความเห็นว่าการเปิดจำนวนแปลงสัมปทานครั้งละมากแปลงจะไม่สามารถทำให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันได้จริง
2.4 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ให้ความเห็นว่าภายใต้เงื่อนไขที่ราคาปิโตรเลียมลดลงทั่วโลก จึงไม่เอื้ออำนวยต่อการเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียม เพราะเอกชนไม่มีแรงจูงใจที่จะ “ผลิตปิโตรเลียม” เพิ่มมากขึ้น จึงเห็นว่ารัฐควรใช้โอกาสที่ราคาเครื่องมือสำรวจปิโตรเลียมที่ลดลงนี้ ดำเนินการ “สำรวจปิโตรเลียม” ในพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะมีศักยภาพ เพื่อรอจังหวะเวลาที่ราคาปิโตรเลียมที่ดีกว่านี้ เพื่อนำไปสู่การแข่งขันในระบบแบ่งปันผลผลิตหรือจ้างผลิตต่อไป
2.5 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ระบบสัมปทานในปัจจุบันรัฐร่วมรับความเสี่ยงด้วย เพราะหากเอกชนที่มีสัมปทานเดิมเข้าสำรวจแหล่งปิโตรเลียมแปลงใหม่แล้วไม่พบปิโตรเลียมสามารถนำค่าใช้จ่ายในการสำรวจดังกล่าวมาหักภาษีได้ด้วย ในขณะเดียวกัน หากราคาปิโตรเลียมลดต่ำลง ผู้รับสัมปทานก็สามารถลดกำลังการผลิตปิโตรเลียมได้ด้วย ระบบดังกล่าวนี้นอกจากจะไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องรัฐปราศจากความเสี่ยงในการให้สัมปทานแล้ว รัฐยังไม่สามารถตอบโจทย์ด้านความมั่นคงทางพลังงานในปริมาณปิโตรเลียมได้อย่างแท้จริงอีกด้วย
2.6 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่าระบบแบ่งปันผลผลิตในร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานนั้น มาจากการลอกรูปแบบและปรับปรุงจากพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยมาเลเซีย (JDA) ซึ่งเป็นรูปแบบระหว่างรัฐไทยกับรัฐมาเลเซีย ไม่ใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตระหว่างรัฐกับเอกชนตามมาตรฐานของประเทศเพื่อบ้าน ที่รัฐเป็นเจ้าของปิโตรเลียมทั้งหมดแล้วเป็นผู้แบ่งปิโตรเลียมให้กับเอกชน ซึ่งควรจะต้องปรับปรุงเสียใหม่
2.7 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยืนยันว่าเป้าหมายของบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ คือ “ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมและบริหารปิโตรเลียมที่ได้มาแทนรัฐ” ซึ่งจะสามารถนำทรัพย์สินที่เป็นปริมาณปิโตรเลียมใต้ดินมาลงบัญชีในงบการเงินบรรษัทเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างเครดิตให้กับประเทศได้
2.8 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) นั้นมีไฟฟ้าสำรองมากเกินความจำเป็นไปอย่างมากมายมหาศาล แม้หากไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือแม้แต่สมมุติว่ามีการขาดความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียม 3 ปีในแหล่งเอราวัณและบงกชในช่วงรอยต่อที่นำ 2 แหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญให้กลับมาเป็นของรัฐ 100% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังสามารถบริหารจัดการวิธีอื่นได้โดยไม่ขาดแคลนไฟฟ้าตลอดระยะเวลา 20 ปีได้อยู่ดี ดังตัวอย่าง 3 มาตรการในแผนบริหารจัดการของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ดังนั้นเราจึงมีเวลาพอที่จะทำการปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมให้สมบูรณ์เสียก่อนโดยไม่เกิดวิกฤติแต่ประการใด
ภายใต้ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นย่อมสามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ว่าประเทศไทยจะสามารถนำแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงที่สุดของประเทศกลับมาคืนเป็นของรัฐได้ 100% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยได้อย่างแน่นอน และจะสามารถทำให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นอย่างแท้จริง
2.9 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) นั้นมีไฟฟ้าสำรองเกินจริงไปอย่างมากมายมหาศาล ซึ่งจะมีความสัมพันธ์ต่อการกำหนดความเร่งรีบในการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความเป็นจริง และเร่งสัมปทานโดยไม่แก้กฎหมายให้ครอบคลุมรอบด้าน รวมถึงตัวเลขพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้่าสูงสุด 2 ปีที่ผ่านมานั้นก็สูงเกินความจริงไปอย่างมากด้วย จึงเสนอให้มีการทบทวนใหม่ให้มีความใกล้เคียงความเป็นจริงกว่าปัจจุบัน
2.10 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ขอให้พิจารณาทบทวนยกเลิกการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพราะระบบอนุญาโตตุลาการจะเหมาะสำหรับการใช้ระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือเอกชนต่อเอกชน ที่มีสถานภาพทัดเทียมกัน แต่ไม่เหมาะสำหรับรัฐซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรที่ต้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะจะไปใช้ระบบอนุญาโตตุลาการกับเอกชน ซึ่งฝ่ายรัฐย่อมอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบกว่าในการล็อบบี้ และในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายปจระเทศก็ไม่ได้ใช้ระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมจึงควรใช้ศาลยุติธรรมไทยแทนการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ
2.11 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่าควรใช้โอกาสนี้ใส่เรื่องการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกฎหมายปิโตรเลียมด้วย และกระทรวงพลังงานไม่ควรพิจารณาแต่ต้นทุนวัตถุดิบแหล่งพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรศึกษาการประเมินมูลค่าผลกระทบในเชิงลบที่ได้ผลักภาระให้กับสังคม (Externalities) ด้วย
2.12 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยืนยันว่าไม่ได้เป็นปรปักษ์กับข้าราชการกระทรวงพลังงาน แต่ “กระบวนการ” ที่ผ่านมาที่กระทรวงพลังงานนำเสนอกฎหมายชิงตัดหน้าผลการศึกษาของ กรรมาธิการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีหลายฝ่ายเข้าร่วม และมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงทำให้ขาดความไว้วางใจ และวิธีการที่จะแก้ไขคือต้องแก้ไขที่ “กระบวนการ” ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่างกฎหมายปิโตรเลียมร่วมกันตามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)
3. พล.อ.อ.ประจินแจ้งว่า มีความประหลาดใจเพราะข้อเสนอของกรรมาธิการฯ และของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีความแตกต่างกัน กล่าวโดยสรุปคือ ทางกรรมาธิการฯ ยืนยันให้แก้ไขบางประเด็นโดยยังไม่ต้องใส่เรื่องบรรษัทฯ ไปในกฎหมายปิโตรเลียม และจะทำให้กระทรวงพลังงานเดินหน้าแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมต่อไปได้ แต่ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) กลับให้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายให้มาร่วมร่างกฎหมายปิโตรเลียมร่วมกันใหม่
ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ได้มอบอำนาจอย่างจำกัดให้ พล.อ.อ.ประจินมาชี้แจงและทำความเข้าใจกับกรรมาธิการฯ และ สนช.เท่านั้น จึงไม่ได้มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบในการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย แต่จะอาสาดำเนินการให้ด้วยการนำข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ไปเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะเห็นชอบในการมาร่วมร่างกันใหม่ด้วยหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าผลเป็นอย่างไรจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และจะแจ้งให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ทราบอีกครั้ง หากนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ การดำเนินการของกระทรวงพลังงานก็ต้องชะลอไปแล้วดำเนินการต่อไปตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
เมื่อเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) สอบถามขอความชัดเจนในระหว่างนี้ถึงการดำเนินการของกฎหมายปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.อ.อ.ประจินแจ้งว่า เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวยังคงเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และยังไม่ได้มีมติเป็นอย่างอื่น กระทรวงพลังงานจึงยังต้องมีหน้าที่ในการชี้แจงและแจ้งประเด็นแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงได้ร้องขอให้ พล.อ.อ.ประจิน โน้มน้าวนายกรัฐมนตรีให้เห็นชอบในเรื่องดังกล่าวด้วย และสามารถดำเนินการได้เพราะแม้แต่ความขัดแย้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังมีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายโดยนายกรัฐมนตรีได้ พล.อ.อ.ประจินแจ้งว่าจะแจ้งตามข้อเท็จจริงทั้งหมดให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ แล้วแต่นายกรัฐมนตรีว่าจะเห็นชอบหรือไม่ แต่เรื่อง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีความแตกต่างจากความขัดแย้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินตรงที่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับได้ผ่านขั้นตอนในมติคณะรัฐมนตรีแล้ว หากจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นก็ต้องเป็นมติคณะรัฐมนตรีเช่นกัน
4. พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงในหลายประเด็น เช่น แจ้งว่าการเสนอกฎหมายปิโตรเลียมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 นั้นไม่ใช่การลักไก่หรือการลักหลับ แต่เป็นการดำเนินการเพื่อแจ้งความคืบหน้าผลการหารือโดยไม่ได้ดำเนินการเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแต่ประการใด ที่ผ่านมาความขัดแย้งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังไม่ได้พูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นต่าง เพราะเห็นว่าการประชุมมีระดับรายละเอียดก่อนที่จะมาพิจารณาในระดับนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมารัฐมนตรีแก้ไขกฎหมายเองไม่ได้เพราะได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมาแล้ว
ด้วยเหตุผลนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้นำความเห็นของกรรมาธิการฯ และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มาเริ่มต้นทบทวนกฎหมายกันใหม่ โดย พล.อ.อนันตพรยืนยันว่าพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี
สำหรับเรื่องอื่นๆ นั้น พล.อ.อนันตพรแจ้งว่า เห็นด้วยว่าการแก้ไขกฎหมายจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติและต้องปฏิบัติได้ด้วย และแจ้งว่าคำว่าอิสรภาพนั้นปัจจุบันตลาดน้ำมันเป็นตลาดเสรี โดย ปตท.เป็นเครื่องมือในการถ่วงดุลอำนาจกับเอกชนรายอื่น
พล.อ.อนันตพรแจ้งว่า ไม่ค่อยมีความเข้าใจเหตุผลของการให้มีการหักภาษีข้ามแปลงปิโตรเลียม จึงขอให้กรมสรรพากรดำเนินการแก้ไขต่อไป ซึ่งผู้แทนกรมสรรพากรยอมรับว่ามีการนำค่าใช้จ่ายหรือการขาดทุนจากการสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งใหม่มาหักภาษีข้ามแปลงได้จริง แต่น่าจะเป็นไปเพราะมีเหตุผลว่าต้องการให้ผู้สัมปทานรายเดิมมีแรงจูงใจในการหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ และอาจจะเป็นเพราะในสมัยก่อนมีผู้สัมปทานน้อยรายจึงอนุญาตให้มีการอนุญาตให้หักภาษีข้ามแปลงได้ ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่มีผู้ที่จะสามารถสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้มากขึ้น
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงได้ชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวนั้นในต่างประเทศการพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายของการสำรวจในแหล่งปิโตรเลียมแห่งใหม่นั้นเขาไม่อนุญาตให้นำมาหักลดภาษีข้ามแปลงได้ และกรมสรรพากรอาจจะต้องพิจารณาอีกด้านว่า การอนุญาตให้มีการหักภาษีข้ามแปลงได้เป็นเพราะมีผู้สนใจสัมปทานน้อยราย หรือการอนุญาตให้มีการหักภาษีข้ามแปลงได้นั้นอาจเป็นผลทำให้เกิดการกีดกันการแข่งขันจนมีผู้ที่สนใจจะมาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีน้อยรายกันแน่
พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า เรื่องการสัมปทานปิโตรเลียมนั้น แม้ผู้รับสัมปทานจะสามารถลดกำลังการผลิตได้จริงเมื่อราคาปิโตรเลียมลดต่ำลง แต่ก็มีการกำหนดการผลิตขั้นต่ำในสัญญาเอาไว้ด้วย แต่โดยรวมไม่มีปัญหาในหลักการตามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำเสนอ
พล.อ.อนันตพรแจ้งว่า เรื่องแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ที่มีการผลิตไฟฟ้าเกินสำรองไปนั้น ไม่ได้วางใจและมีการทบทวนตลอดเวลา เหตุที่เกิดขึ้นเพราะ GDP ลดลง แต่สิ่งที่สร้างโรงไฟฟ้าไปแล้วมันหยุดไม่ได้ โดยเฉพาะพลังงานทดแทนที่มีกระแสแรงมากก็จะพยายามบริหารให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ภายใต้หลักการนี้ กระทรวงพลังงานจะเลือกพลังงานที่มีราคาถูกก่อน ปกติแผน PDP อาจจะมีการปรับปรุงทุก 3 ปี แต่ถ้าจำเป็นอาจจะมีการปรับปรุงในปี 2016 ก็ได้ และที่ผ่านมาก็พยายามชะลอโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีความจำเป็น ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังอยู่แค่ระดับการศึกษาเท่านั้น แต่เวียดนามและกัมพูชาจะสร้าง แต่ตระหนักว่าประชาชนมีกลัวในเรื่องนิวเคลียร์
พล.อ.อนันตพรยกตัวอย่างว่า แม้ราคาปิโตรเลียมลดลง แต่ซาอุดีอาระเบียกลับไม่ลดกำลังการผลิต เพราะกลัวว่าราคาปิโตรเลียมจะไม่เป็นที่ต้องการทั่วโลก จึงเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่จะเร่งผลิตปิโตรเลียมในวันนี้ก่อนที่จะไม่มีค่ายิ่งกว่านี้ และถ้าไม่ผลิตปิโตรเลียมเราก็ไม่ได้รายได้อะไรเลย นี่คือแนวคิดระหว่างการไม่ใช้เลยกับการเร่งใช้เพราะได้บ้าง อะไรจะดีกว่ากัน
พล.อ.อนันตพรชี้แจงว่า เรื่องการเทียบเคียงกับการประมูล 4G นั้น ก็มีความแตกต่างกันเพราะปิโตรเลียมยังไม่ชัดว่าจะพบหรือไม่ ส่วนข้อเสนอให้อาศัยช่วงเวลาที่ปิโตรเลียมราคาลงนั้นรัฐควรสำรวจปิโตรเลียมเองเลยนั้นสามารถทำได้ แล้วหลังจากนั้นทำการประมูลแบบ 4G ได้เลย แต่การสำรวจต้องสำรวจหลายหลุม ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะยอมเสี่ยงไหม ซึ่งมีการประเมินการสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 จะมีค่าใช้จ่ายในการสำรวจไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งต้องประเมินว่าจะพบปิโตรเลียมมาคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องมีงบประมาณสักก้อนและกำลังพิจารณาอยู่
พล.อ.อนันตพร ชี้แจงว่าสำหรับสัมปทานที่กำลังหมดอายุนั้น จะดำเนินการจ้างที่ปรึกษาและนักวิชาการด้านธรณีวิทยาเพื่อดูว่ามีปริมาณและศักยภาพที่แท้จริงเหลืออยู่เท่าไหร่ เพื่อจะตัดสินใจว่าควรจะดำเนินการประมูลในรูปแบบใด และหากหมดอายุสัมปทานลงเจ้าเก่าจะต้องมาประมูลแข่งกับเจ้าใหม่เท่านั้น ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการความคิดที่มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ
ส่วนกรณี ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นใหญ่อยู่ เป็นรายได้นำเข้ารัฐ แต่จะพยายามลดบทบาทของ ปตท.ให้ Third party เข้ามาตรวจเพื่อศึกษา โดยปีนี้จะมีการเริ่มทดลองในระบบผ่านท่อต่างๆ ไม่อยากให้มอง ปตท.ไม่ดี แต่จะทำอย่างไรให้ ปตท.ปรับตัวให้แข่งกับตลาดได้
อยากให้มองข้าราชการกระทรวงพลังงานเป็นคนทำงานจริงๆ ถ้าจะมีความเสียหายที่ผ่านมาก็ต้องขอให้เข้าใจข้าราชการประจำที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของนักการเมืองก็อาจทำให้ผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ยืนยันว่าเมื่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยุคนี้ขอยืนยันว่าไม่มีเรื่องดังกล่าว ขอให้เห็นใจข้าราชการ และหวังว่าจะมีการคลี่คลายพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในอนาคต เพื่อทำให้บรรยากาศดีขึ้นได้
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ชี้แจงเรื่องเงินค่าสำรวจปิโตรเลียมนั้น ระบบเดิมเอกชนสำรวจแล้วนำค่าสำรวจมาหักภาษีสิ้นปี ดังนั้นไม่ว่ารัฐจะลงทุนสำรวจเองหรือให้เอกชนไปสำรวจในระบบสัมปทาน รัฐย่อมมีความเสี่ยงในรูปตัวเงินคล้ายคลึงกัน รัฐจึงควรสำรวจเพื่อนำไปสู่การประมูลที่แท้จริงได้เลย
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้อ้างอิงงานวิจัยของออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พบว่า กรณีการนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีข้ามแปลง จะทำให้บริษัทเล็กเสียเปรียบบริษัทใหญ่ที่มีจำนวนแปลงปิโตรเลียมมากกว่า และจะเป็นผลทำให้รายใหญ่ไม่เร่งสำรวจให้พบปิโตรเลียมอีกด้วย การยกเลิกการหักภาษีข้ามแปลงจึงจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาแข่งขันได้ และยังกระตุ้นทำให้เกิดการเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วย
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ชี้แจงเพิ่มเติมเรื่องอิสรภาพทางพลังงานนั้น คือ มิติการ “ถือครองกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียม” โดยเฉพาะแหล่งบงกชและเอราวัณ เพื่อบริหารทรัพยากรปิโตรเลียม นำไปสร้างความมั่นคงทางพลังงานทั้งในการสำรองปริมาณปิโตรเลียม มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการราคาและการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียม รวมถึงการเพิ่มการจัดเก็บรายได้หรือการใช้ปิโตรเลียมมากระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในความผันผวนของสงครามปิโตรเลียมระหว่างประเทศ จึงเป็นประเด็นทางยุทธศาสตร์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและครองใจประชาชนอย่างแท้จริงได้
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ให้ข้อสังเกตการเลือกแหล่งวัตถุดิบราคาถูกมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือเหตุผลที่ใช้อ้างในการเร่งผลิตปโตรเลียมเพราะเกรงว่าราคาจะลดลงไปกว่านี้เป็นการมองมิติทางเศรษฐกิจที่ไม่ครบด้าน เพราะประชาชนจะต้องแบกรับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมา ที่เรียกว่า “Externalities” ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่อาจมีราคาแพงกว่าเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้นเหมือนกับงานวิจัยที่ปรากฏแล้วในหลายประเทศ
5. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีแจ้งว่าเรื่องกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ซึ่งปัจจุบันได้ส่งเรื่องไปให้ “คณะกรรมการกฤษฎีกาองค์คณะที่ 1” จะไปพิจารณาทบทวนต่อไป ส่วนหลักความคิดที่แตกต่างกันยังไม่จำเป็นต้องสรุปในวันนี้ เพราะในสาระสำคัญจะอยู่ที่ว่านายกรัฐมนตรีจะเห็นชอบในการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายหรือไม่ แล้วถ้ามีการจัดตั้งจริงแล้วจึงค่อยไปพูดคุยกันในรายละเอียดอีกครั้งเวทีดังกล่าวต่อไป แต่ถ้านายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบก็จะมาแจ้งผลเพื่อหารือทางออกต่อไปภายใน 2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ขอความเห็นว่าควรจะมีสัดส่วนอย่างไร และสามารถมีนักวิชาการภายนอกได้หรือไม่
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ชี้แจงว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีนักวิชาการ เพราะนักวิชาการมีสังกัดอยู่แล้ว จึงควรเริ่มต้นจากผู้ที่มีความรับผิดชอบในการร่างกฎหมายมาแล้ว 3 ฉบับที่มีความเห็นแตกต่างกัน โดยเสนอให้มีผู้แทนภาครัฐ 7 คน, ผู้แทนกรรมาธิการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 7 คน และผู้แทนจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) 7 คน ที่จะมาร่วมร่างกฎหมายด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน
ปิดประชุมในเวลา 16.12 น.
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ผู้บันทึกสรุปผลการประชุม
บันทึกและเผยแพร่วันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2559