xs
xsm
sm
md
lg

ปิยสวัสดิ์ ตอบประเด็น “มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กับการบริหาร ESCO Fund”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทสัมภาษณ์ดังต่อไปนี้เป็นไปตามข้อตกลงในการไกล่เกลี่ยของศาลอาญากรุงเทพใต้ ระหว่างนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ฝ่ายโจทก์ กับบุคคลในเครือ ASTV - ผู้จัดการ ฝ่ายจำเลย โดยที่ไม่ได้มีการสรุปว่าฝ่ายโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายถูกหรือผิดหรือไม่อย่างไร แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายโจทก์ได้ชี้แจงข้อมูลของฝ่ายตนเองในอีกด้านหนึ่งตามบทบาทของสื่อมวลชนเท่านั้น และมิได้มีความหมายว่าฝ่ายจำเลยจะเห็นด้วยตามคำชี้แจงของโจทก์หรือไม่อย่างไร และฝ่ายจำเลยไม่ได้รับผลตอบแทนหรือค่าโฆษณาจากคำสัมภาษณ์นี้ของโจทก์แต่ประการใด ("บทสัมภาษณ์ ปิยสวัสดิ์ ตอบประเด็น “มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กับการบริหาร ESCO Fund”ได้มีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 23ธันวาคม 2558)

บทสัมภาษณ์:

กรณีที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊คหลายรายได้มีการนำเสนอข่าวพาดพิงเกี่ยวกับนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมในเรื่องเกี่ยวกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและโครงการ ESCO Fund ดังนั้น ในวันนี้คุณปิยสวัสดิ์ ในฐานะประธานมูลนิธิฯ จึงได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

ถามมีการกล่าวว่ามูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะหาทางใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ตอบ มูลนิธิไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อการใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานหรือหากำไรตามที่มีการพยายามพาดพิงให้มูลนิธิเสียหายแต่อย่างใด โดยมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือ E for E เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนงานตามนโยบายภาครัฐ

ในการส่งเสริมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านพลังงาน งานสำคัญชิ้นแรกของมูลนิธิ คือ เป็นผู้บริหารโครงการกำจัดปัญหาอุปสรรคการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมในประเทศไทย(Removal of Barriers to Biomass Power Generation and Cogeneration in Thailand) ซึ่งเป็นการริเริ่มของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Fund - GEF) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่ต้องการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนโดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน โดยการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ GEF ในประเทศไทยเป็นมูลค่า 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 285 ล้านบาท และได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เป็นผู้ดำเนินโครงการโดยมีหน่วยงานเฉพาะเพื่อดูแลบริหารโครงการ คือมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น มูลนิธิยังได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการความช่วยเหลือระหว่างประเทศแห่งประเทศเดนมาร์ก (DANIDA) เพื่อร่วมดำเนินโครงการฯ ขนานไปกับโครงการของ GEF ในวงเงิน 45 ล้านบาท เพื่อช่วยให้มีการนำเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลมาใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ทั้งนี้ การสนับสนุนจาก GEF และ UNDP มีเงื่อนไขว่ารัฐบาลไทยต้องจัดงบประมาณสมทบหรือที่เรียกว่า Counterpart Fund จำนวน 22 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวล หรือ Biomass One-stop Clearing House ภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิและมีเงื่อนไขให้ศูนย์ฯ สามารถเลี้ยงตัวเองได้หลังสิ้นสุดโครงการ

การบริหารโครงการดังกล่าวได้รับผลสำเร็จเป็นที่พอใจของหน่วยงานผู้ให้ทุน คือ GEF, UNDP และ DANIDA ซึ่งได้ให้ บริษัท Mott MacDonald เป็นผู้ประเมินผลการดำเนินงานโครงการนี้ โดย Mott MacDonald ได้สรุปผลการประเมินว่า ศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวล โดยมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องว่าเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย การทำงานของศูนย์ฯ มีผลงานเป็นที่น่าพอใจ ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ในทุกด้าน และก่อให้เกิดการนำชีวมวลมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

หลังจากการสิ้นสุดโครงการของ GEF, UNDP และ DANIDA มูลนิธิก็ได้ดำเนินโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานอีกหลายโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น การศึกษาเชิงนโยบายด้านพลังงาน การพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดจิ๋วในท้องที่ห่างไกล และระบบไบโอแก๊สจากฟาร์มหมูขนาดเล็กมาก รวมทั้งการบริหาร ESCO Fund ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานด้วย ทั้งนี้การดำเนินการของมูลนิธิจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการมูลนิธิฯ และมีระเบียบปฏิบัติกำกับอย่างอย่างชัดเจน โดยมูลนิธิมีการจัดทำงบการเงินอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ การใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ก็เป็นไปตามภารกิจของมูลนิธิ

ส่วนที่กล่าวว่ามูลนิธิฯ ได้รับการเอื้อประโยชน์โดยได้เงินสนับสนุนโครงการต่างๆ จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์นั้น โดยแท้จริงแล้วมูลนิธิไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนโครงการแบบได้เปล่าจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแต่อย่างใด การได้รับงานของมูลนิธิไม่ว่าจะเป็นงานของหน่วยงานหรือแหล่งเงินงบประมาณหรือนอกงบประมาณใดๆ ก็เป็นการได้รับโดยการถูกคัดเลือกภายใต้หลักเกณฑ์และคุณสมบัติที่เหมาะสม ตลอดจนประสบการณ์และผลงานต่างๆ ที่มูลนิธิได้ดำเนินงานผ่านมาเป็นผลสำเร็จด้วยดี จนเป็นที่ประจักษ์ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ถามมีการกล่าวว่ามูลนิธิฯได้เงินจาก ESCO Fund ไปหลายล้านบาทแต่มิได้นำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อะไรเหมือนได้เงินจากกองทุนไปใช้ฟรีๆ จะชี้แจงประเด็นนี้ว่าอย่างไร

ตอบ ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่า ESCO Fund คืออะไร ชื่อเต็มคือ โครงการส่งเสริมด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน วงเงินสนับสนุนการลงทุน 500 ล้านบาท เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ช่วยส่งเสริมให้มีการใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทนที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่มีการรับประกันผลการประหยัดพลังงานโดยบริษัทจัดการพลังงานหรือที่เรียกว่า Energy Service Company : ESCO
หนึ่งในมาตรการภายใต้ ESCO Fund คือ Venture Capital ซึ่งเป็นมาตรการสากลที่ใช้กันทั่วไปเพื่อช่วยเหลือส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ขาดแคลนเงินทุนและมีโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจค่อนข้างสูง แต่ไม่มีสินทรัพย์เพียงพอจึงกู้ยืมจากสถาบันการเงินไม่ได้ โดยหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินโครงการจะเป็นตัวแทนภาครัฐนำเงินสนับสนุนจาก ESCO Fund เข้าร่วมทุนในโครงการด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในฐานะผู้ถือหุ้นแทนภาครัฐ

ทั้งนี้ พพ. จะคัดเลือกหน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่มีศักยภาพและมีความสามารถในการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) เพื่อเป็นตัวแทนในการดำเนินการส่งเสริมการลงทุนหรือร่วมลงทุนในโครงการตามหลักเกณฑ์ที่ พพ. กำหนด ซึ่งมีหน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้จัดการ ESCO Fund 2 ราย คือ มูลนิธิอนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย (มอพท.) และมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้บริหารเงินลงทุนของ ESCO Fund ระยะที่ 1 รายละ 250 ล้านบาท และให้เบิกค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการได้ 12.5 ล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่าโครงการต่างๆ ต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการการลงทุน (Investment Committee) ภายใต้การกำกับดูแลของ พพ. การเบิกค่าบริหารโครงการให้เบิกได้ตามสัดส่วนจำนวนเงินสนับสนุนการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติเท่านั้น และมูลนิธิต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่งให้ พพ. ทุกเดือน และเมื่อสิ้นสุดโครงการเงินคงเหลือทุกบาทก็ต้องส่งคืนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน Venture Capital Fund มีแนวทางในการถอนการลงทุน 3 แนวทาง คือ การให้ผู้ประกอบการซื้อหุ้นคืน หรือการหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ รวมถึงการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ ESCO Fund ได้รับประโยชน์จากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ คือเมื่อครบกำหนดการเข้าลงทุนตามสัญญาที่ทำกับสถานประกอบการที่ได้รับการสนับสนุน ไม่ว่า ESCO Fund จะถอนการลงทุนด้วยวิธีใด มูลนิธิจะต้องนำเงินลงทุนเริ่มแรกพร้อมผลตอบแทน หลังหักค่าใช้จ่ายตามจริงไม่เกินครึ่งหนึ่งของผลตอบแทน ส่งคืนกองทุนฯ ทั้งหมด โดยมูลนิธิไม่ได้มีส่วนแบ่งเป็นรายได้หรือผลกำไรจากผลตอบแทนในส่วนนี้ เพียงแค่สามารถนำค่าใช้จ่ายในการกำกับและติดตามโครงการฯ มาเบิกได้ตามจริงเท่านั้น

โครงการ ESCO Fund ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน และภายใต้รัฐบาลปัจจุบันก็ได้อนุมัติให้ดำเนินงานโครงการระยะที่ 4 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โครงการนี้มีประโยชน์ โดยสามารถส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาทดแทนได้อย่างเป็นรูปธรรม และมูลนิธิก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้บริหาร ESCO Fund มาโดยตลอด โดยนับตั้งแต่มูลนิธิได้เข้าบริหารจัดการกองทุนตั้งแต่ปี 2551 จนถึงตุลาคม 2558 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมลงทุนรวม 85 โครงการ วงเงินสนับสนุนการลงทุนรวม 550 ล้านบาท และก่อให้เกิดการลงทุนเป็นมูลค่าถึง 4,162 ล้านบาท ทำให้เกิดผลการประหยัดพลังงานคิดเป็นมูลค่า 528 ล้านบาท ก่อให้เกิดการผลิตไฟฟ้า 38 MW โดยปัจจุบันมูลนิธิได้นำส่งคืนเงินลงทุนพร้อมผลตอบแทนโครงการ ESCO Fund ระยะที่ 1 ในส่วนของโครงการที่สิ้นสุดสัญญาการสนับสนุนการลงทุนแล้ว จำนวน 9 โครงการ เป็นจำนวนเงินรวม 162 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 121 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุน 39 ล้านบาท และดอกเบี้ย 1.94 ล้านบาท ซึ่งเมื่อสิ้นสุดโครงการมูลนิธิก็ต้องนำเงินลงทุน พร้อมทั้งผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่าย ส่งคืนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานทั้งหมด จึงนับได้ว่าผลการดำเนินงานของมูลนิธิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานของประเทศเป็นอย่างสูง ไม่ใช่เป็นการใช้เงินจากกองทุนฟรีตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด โดยสามารถเข้าไปดูผลงานการดำเนินโครงการ ESCO Fund ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของมูลนิธิ www.efe.or.th

ถามมีผู้กล่าวว่าในช่วงที่คุณปิยสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในปี 2550 ได้ใช้อำนาจในฐานะรัฐมนตรีแต่งตั้งตนเองเป็นประธานอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อเข้าไปมีอำนาจจัดการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแล้วทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยอนุมัติเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานไปจัดตั้งโครงการ ESCO Fund จำนวน 500 ล้าน ความจริงเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการเป็นอย่างไร

ตอบ การเป็นประธานอนุกรรมการกองทุนฯ นั้น เป็นโดยตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตามคำสั่งคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ 1/2548 สมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ประธานกรรมการกองทุนฯเป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง ก่อนที่ผมจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในปี 2549 ทั้งนี้ในช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรีฯ แม้ว่าจะไม่ได้มีข้อกำหนดหรือข้อห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการในองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แต่ตามหลักธรรมภิบาลที่ดี ผมจึงได้ลาออกจากการเป็นกรรมการมูลนิธิและไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของมูลนิธิตลอดในช่วงระยะเวลาที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นอกจากนั้น ผมขอเรียนว่าคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ไม่มีอำนาจในการอนุมัติเงินงบประมาณกองทุนฯ โดยมีหน้าที่หลักในการเสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ส่วนการอนุมัติงบประมาณและโครงการของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นอำนาจของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยในช่วงที่มีการอนุมัติกรอบงบประมาณและโครงการของกองทุนฯ รวมถึงโครงการ ESCO Fund นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่ได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฯ เนื่องจากยังไม่ได้มีการแก้กฎหมาย

ถามสาเหตุที่มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้จัดการกองทุนโครงการ ESCO Fund เพราะคุณปิยสวัสดิ์ฯ ได้ใช้อำนาจในฐานะรัฐมนตรีพลังงาน รวมทั้งในที่ประชุมของคณะอนุกรรมการกองทุนฯ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2551 มีการกำหนดกรอบการพิจารณาคัดเลือกผู้จัดการกองทุนเอื้อประโยชน์ให้แก่มูลนิธิฯ จึงไม่อาจทำให้หน่วยงานอื่นเข้าเป็นผู้จัดการกองทุนได้ จะชี้แจงในประเด็นการกล่าวหานี้ว่าอย่างไร

ตอบ การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2551 ตามที่ได้มีการหยิบยกมาพูดกันนั้น เป็นการพิจารณาแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นำเสนอเท่านั้น ซึ่ง
ที่ประชุมในวันนั้นไม่ได้มีการกำหนดกรอบการพิจารณาคัดเลือกใดเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่มูลนิธิโดยในรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ครั้งนั้นก็ได้มีการเขียนมติไว้อย่างชัดเจนว่าคณะกรรมการการลงทุน (Investment Committee) เป็นผู้มีอำนาจในการพิจาณาให้ความเห็นชอบการคัดเลือกผู้จัดการกองทุน

ผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการคัดเลือกผู้จัดการ ESCO Fund เพราะเป็นการดำเนินการภายหลังจากที่ผมพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว คือในช่วงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีพลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดังนั้น ผมจึงไม่มีอำนาจและไม่สามารถให้คุณหรือโทษต่อการพิจารณาคัดเลือกผู้จัดการ ESCO Fund ได้ นอกจากนี้ มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 มีการกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติขององค์กรเอกชนที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนไว้แล้ว ดังนั้น การกำหนดกรอบการพิจารณาคัดเลือกผู้จัดการกองทุนเพื่อเอื้อประโยชน์กับมูลนิธิจึงไม่อาจจะกระทำได้

การที่มูลนิธิฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้จัดการกองทุนนั้น มูลนิธิฯก็ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อบริหารโครงการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้เหมือนกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่นๆ แต่เหตุที่ พพ.เลือกมูลนิธิฯ ให้เป็นผู้บริหารโครงการ ก็เนื่องมาจากมูลนิธิเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ตลอดจนมีแนวคิดและวิธีการดำเนินงานที่เหมาะสม มีบุคลากรที่มีความสามารถและประสบการณ์ รวมถึงผลงานที่ผ่านมาของมูลนิธิฯประสบผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับ

ถามการที่สัญญาสนับสนุนโครงการ ESCO Fund ระหว่างมูลนิธิกับ พพ. มีการกำหนดว่าให้มูลนิธิได้รับ “เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบริหารในการจัดการจำนวน 12,500,000 บาท” เป็นการหลีกเลี่ยงว่าการดำเนินการเป็นผู้จัดการกองทุนของมูลนิธิในโครงการ ESCO Fund เป็นการมุ่งหากำไรเพราะหลายฝ่ายเห็นว่าเงินจำนวน 12,500,000 บาทที่มูลนิธิได้รับดังกล่าวตามความจริงคือ “เงินค่าบริหารจัดการโครงการ” ซึ่งมูลนิธิฯ มีการบันทึกในบัญชีของมูลนิธิด้วยว่าเป็นรายได้ ความจริงแล้วเงินดังกล่าวเป็นเงินอะไร และมูลนิธิมีสิทธิในเงินดังกล่าวอย่างไร

ตอบ สัญญาโครงการ ESCO Fund ระหว่างมูลนิธิกับ พพ. ดังกล่าว เป็นสัญญาที่ พพ.เป็นผู้จัดทำขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์กฎระเบียบของทางราชการ ส่วนการที่เนื้อหาของสัญญามีการระบุว่า “เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร” เป็นไปตามระเบียบ และมูลนิธิไม่ได้เป็นผู้จัดเตรียมสัญญาฯ จึงไม่ควรจะได้รับ

คำกล่าวหาว่ามีเจตนาในการหลีกเลี่ยงหรือมีวัตถุประสงค์ในการหากำไรตามที่มีบุคคลพาดพิงให้เสียหาย

แต่อย่างใด ส่วนจำนวนเงิน 12.5 ล้านบาท เป็นวงเงินค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการฯ ที่มูลนิธิมีสิทธิตามสัญญาฯ ที่จะนำค่าใช้จ่ายตามจริงมาเบิกจ่ายได้ เช่นเงินเดือนของบุคคลากร และค่าเดินทางเป็นต้น แต่ทั้งนี้ พพ. ได้กำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายเงินในส่วนนี้ จะคิดจากจำนวนเงินสนับสนุนลงทุนที่ได้รับอนุมัติและดำเนินการจริงเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินจำนวนนี้จาก พพ. ได้ เนื่องจากมูลนิธิจะต้องมีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย ค่าบริหารจัดการโครงการ ESCO Fund รายงานต่อ พพ. เป็นประจำทุกเดือน สำหรับการที่มูลนิธิมีการบันทึกว่าเงินค่าใช้จ่ายในการบริหารเป็นรายได้ของมูลนิธิ ก็เพื่อแสดงความถูกต้องในการเสียภาษีต่อกรมสรรพากร

ถามการที่นำเอาเงินไปให้เอกชนเพื่อซื้อหุ้นสามัญในลักษณะของมาตรการ Venture Capital เพื่อร่วมลงทุนและร่วมเป็นเจ้าของกิจการเอกชน มาตรการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 ที่กำหนดว่าเงินของกองทุนที่ให้แก่เอกชนต้องเป็น “เงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนแก่เอกชนสำหรับการลงทุนและการดำเนินงาน
ในการอนุรักษ์พลังงาน” จึงไม่สามารถจ่ายเงินให้เอกชนเพื่อซื้อหุ้นได้ ความจริงแล้วเป็นเช่นไร

ตอบมาตรการ Venture Capital ภายใต้ ESCO Fund ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด โดยเป็นการดำเนินตามมาตรา 25 (3) ของพ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานซึ่งมีการระบุไว้อย่างชัดเจนในรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนฯ วันที่ 17 มกราคม 2551 กำหนดให้เงินกองทุนใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาหรือองค์กรเอกชนในโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน ดังนั้น การดำเนินโครงการ ESCO Fund เป็นการให้เงินอุดหนุนแก่มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและมูลนิธิอนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนตามมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติฯ ในการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการดำเนินการในรูปของเงินอุดหนุนให้เปล่าแก่เอกชนในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน ผ่านสถาบันการศึกษา แต่เงินของโครงการ ESCO Fund นี้ให้ประโยชน์แก่กองทุนฯมากกว่าเพราะจะต้องนำส่งเงินต้นและผลตอบแทนคืนให้แก่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเมื่อสิ้นสุดโครงการ

ถามธุรกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน คุ้มค่าและมีกำไรพอเพียงอยู่แล้วจากส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) ที่ได้รับ การที่มูลนิธินำเงินจากกองทุน ESCO Fund ไปลงทุนโดยการซื้อหุ้นในลักษณะ Venture Capital เป็นการอุดหนุนซ้ำซ้อน และหากมีการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และราคาหุ้นสูงขึ้น มูลนิธิหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้ประโยชน์จากส่วนต่างของราคาหุ้น และเงินปันผลที่ได้รับจากการถือหุ้น เป็นความจริงหรือไม่ อย่างไร

ตอบ แม้โครงการด้านพลังงานหมุนเวียนบางโครงการจะได้รับ Adder แต่บางโครงการยังไม่สามารถพัฒนาได้ เนื่องจากไม่สามารถได้สินเชื่อจากธนาคาร เพราะธนาคารไม่เชื่อถือเทคโนโลยีใหม่ หรือผู้ประกอบการมีเงินทุนไม่พอ ซึ่งการที่มูลนิธิเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อช่วยให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีข้อจำกัดสามารถพัฒนาได้ยกตัวอย่างการดำเนินงานโครงการที่ประสบผลสำเร็จ เช่น

- การเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาได้จริงในเชิงพาณิชย์ในช่วงเริ่มต้นโครงการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในโครงการร่วมลงทุนโรงไฟฟ้า Solar Farm ขนาด 7 MW ของ บจก.โซล่า เพาเวอร์ (โคราช1) โดยเป็นโครงการ Solar Farm ขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่ง ESCO Fund ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเทคโนโลยีให้กับสถาบันการเงิน เกิดความมั่นใจและอนุมัติให้สินเชื่อ ทั้งนี้ สถาบันการเงินมีเงื่อนไขว่าต้องมี ESCO Fund เข้าร่วมลงทุนด้วย ทำให้เกิดการลงทุนโครงการอื่นๆ ตามมา

- การช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กที่มีความพร้อมด้านเทคนิคแต่ยังขาดเงินทุน ได้มีโอกาสพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานทดแทนเป็นของตนเอง เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล บจก.ทรูเอ็นเนอร์จี เพาเวอร์ ลพบุรี 7.5 MW ซึ่งเจ้าของโครงการเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่ไม่มีเงินทุนมากพอในการสร้างโรงไฟฟ้าและไม่สามารถหาแหล่งสินเชื่อได้

สำหรับประเด็นผลประโยชน์ที่ได้จากราคาหุ้นที่สูงขึ้นกรณีบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น สัญญาระหว่าง พพ.กับมูลนิธิฯ มีข้อกำหนดว่ามูลนิธิฯ สามารถนำผลตอบแทนการลงทุนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้โดยให้ใช้ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของผลตอบแทนที่เกิดขึ้น การคำนวณผลตอบแทนให้คิดเป็นผลตอบแทนในแต่ละปี โดยรวมผลกำไรและขาดทุนที่เกิดจากผลประกอบการของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดของปีนั้นๆ และเมื่อสิ้นสุดโครงการ มูลนิธิจะต้องส่งคืนสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากการร่วมลงทุน หรือการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดให้แก่ผู้ให้การสนับสนุนภายใน 30 วันนับจากวันสิ้นสุดโครงการ ดังนั้น มูลนิธิจึงไม่ได้รับประโยชน์หรือส่วนแบ่งผลกำไรจากราคาหุ้นหรือเงินปันผลใดๆ จากมาตรการนี้

ถาม นอกเหนือจากโครงการ ESCO Fund แล้ว มูลนิธิมีงานหรือภารกิจด้านอื่นด้วยหรือไม่ อย่างไร

ตอบ ตามที่ผมได้กล่าวข้างต้นแล้วว่ามูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมตั้งขึ้นมาโดยมีภารกิจแรกคือการบริหารศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำชีวมวลมาใช้เป็นพลังงานในประเทศให้มากขึ้น ทำการสาธิตระบบผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล รวมทั้งการศึกษาและเสนอแนะนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวลที่เหมาะสมและประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงานชีวมวล

หลังจากนั้นมูลนิธิได้มีผลงานด้านพลังงานอีกหลายเรื่อง เช่น การเป็นที่ปรึกษาทำการศึกษา วิจัย เสนอแนะนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องด้านพลังงาน ตัวอย่างเช่น โครงการศึกษาการขยายระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก โครงการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในอนาคตให้กับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน โครงการศึกษาแนวทางการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4) และ 97(5) ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานหมุนเวียนของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทไบโอเอทานอลให้กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

งานที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของมูลนิธิ คือ โครงการกลไกพลังงานสีเขียวหรือ Green Energy Mechanism : GEM ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ให้การสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลจากระบบสายส่งไฟฟ้าและพื้นที่ทุรกันดาร ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเฉพาะที่สำคัญ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าวิสาหกิจชุมชนพลังน้ำบ้านแม่โจ้ขนาด 27 กิโลวัตต์ที่เชียงใหม่ และพื้นที่อื่นๆ เช่น จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอนและตาก โดยร่วมกับ UNDP คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและภาคเอกชนที่ทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) งานที่ทำได้แก่ การติดตั้งระบบโซล่าโฮมและโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมากของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนระบบก๊าซชีวภาพขนาดเล็กจากมูลสัตว์เพื่อใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มสำหรับโรงเรียนและครัวเรือน ซึ่งช่วยลดปัญหากลิ่นเหม็นจากมูลสัตว์และปัญหาสุขอนามัย การปรับปรุงประสิทธิภาพเตานึ่งเมี่ยงเพื่อลดการใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงซึ่งช่วยลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น โครงการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ทำให้ชาวบ้านได้เข้าถึงไฟฟ้า ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ในขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้มีไฟฟ้าใช้และสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ใช้ไฟฟ้าได้ เช่น โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กในพื้นที่นั้น

โครงการหนึ่งที่มูลนิธิกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน คือ การส่งเสริมพลังงานทางเลือกเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน กระทรวงพลังงานและ UNDP ซึ่งเป็นการขยายผลจากโครงการเดิมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานทางเลือกในจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้อย่างเพียงพอ มีการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนและพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังขาดแคลนไฟฟ้าและสาธารณูปโภคที่จำเป็น หากท่านใดมีความประสงค์ที่จะร่วมช่วยเหลือสังคม ก็สามารถมีส่วนร่วมในการนำพลังงานสีเขียว คือ พลังงานหมุนเวียนไปสู่ผู้ที่ขาดแคลนในชนบทร่วมกับมูลนิธิฯ ได้

สรุปได้ว่า มูลนิธิมีผลงานหลายเรื่องไม่ใช่ ESCO Fund เพียงอย่างเดียวตามที่กล่าวหากัน จุดมุ่งหมายของมูลนิธิ ก็คือ การส่งเสริมให้เกิดการผลิตพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาด บางประเภทก็สามารถผลิตได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่มากมาย โดยพลังงานหมุนเวียนสามารถนำมาเสริมหรือทดแทนพลังงานหลักจากปิโตรเลียมและถ่านหินได้ โดยที่ภาครัฐจำเป็นจะต้องวางรากฐานไว้ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงในการจัดหาพลังงานของประเทศ นี่คือ ความมุ่งมั่นของผมอีกเรื่องหนึ่งในด้านพลังงานของประเทศ และอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญ คือ การเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการนำเสนอความคิดและข้อคิดเห็นด้านนโยบายพลังงานของประเทศที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เนื่องจากเรามีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์หลายด้าน ทั้งในด้านพลังงาน ด้านเศรษฐศาสตร์และอื่นๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการของมูลนิธิ ทำให้มีแหล่งข้อมูลและความรู้ที่จะสามารถให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น