คปพ.เตรียมร่อนหนังสือถึง “บิ๊กตู่” เร็วๆ นี้จี้คุม TOR ประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช หลังส่อเค้าประมูลรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ไม่จริง เอื้อให้กลุ่มทุนรายเดิม เปิดช่องทุจริต จี้ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ “รสนา” เล็งยื่น ป.ป.ช.ทวงคืนท่อก๊าซฯ
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ คปพ.จะยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อเรียกร้องให้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้พิจารณากำหนดร่างเงื่อนไขและกฏเกณฑ์ (TOR) การเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ และบงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ เพราะหาก TOR ออกมาในลักษณะที่เป็นข่าวในปัจจุบันถือเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งเป็นการเอื้อให้กลุ่มทุนเดิมหลายด้านและก่อให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎ์บังหลวงได้
ทั้งนี้ เนื่องจากล่าสุดกระทรวงพลังงานระบุให้มีการเปิดประมูลในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) แต่กลับไม่พบว่าจะมีการกำหนดให้เอกชนแข่งขันเสนอตัวเลขสัดส่วนแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Ratio) ให้แก่รัฐแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 (ฉบับแก้ไขล่าสุดปี พ.ศ. 2560) อย่างไรก็ตาม เห็นว่าแหล่งบงกช และเอราวัณ ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดหากใช้รูปแบบสัญญาจ้างผลิตบริการ (SC) เพราะรัฐจะมีภาระจ่ายเฉพาะค่าจ้างบริการเท่านั้น ปิโตรเลียมทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐโดยไม่จำเป็นต้องแบ่งปันผลผลิตให้เอกชนผู้ดำเนินการซึ่งถือเป็นประโยชน์สูงสุดแต่ปรากฏว่าประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 60 มีการกำหนดเงื่อนไขที่เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นการปิดกั้นรูปแบบสัญญาจ้างผลิตบริการในแหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช
นอกจากนี้ คปพ.ยังเห็นว่า TOR ดังกล่าวเป็นการล็อกสเปกเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเดิมหลายประการอาทิ รวบเป็นสัญญาขนาดใหญ่เพื่อเอื้อรายเดิมมีการเปลี่ยนเงื่อนไขปริมาณการผลิตก๊าซฯ ขั้นต่ำ จากที่ปรากฏข่าวว่า ข้าราชการกระทรวงพลังงานเสนอให้เริ่มต้น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่กลับเปลี่ยนให้เป็น 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตั้งแต่ปีแรก ทั้งที่ก๊าซธรรมชาติในโลกขณะนี้มีเหลือเฟือที่จะนำเข้าเพื่อแก้ปัญหาได้ ฯลฯ
“วิธีบริหารจัดการปิโตรเลียมที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดนั้น รัฐจะต้องจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อบริหารการซื้อและการขายปิโตรเลียม ไม่มีการแบ่งแยกระบบท่อส่งก๊าซเพื่อให้บุคคลที่ 3 มีสิทธิร่วมใช้” นายปานเทพกล่าว
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แกนนำ คปพ. กล่าวว่า เราคงจะเร่งส่งหนังสือก่อนที่นายกฯจะประชุม กพช. 7 มี.ค. ว่าการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 2 แหล่ง คือ เอราวัณ และบงกช สามารถสร้างเงินให้กับประเทศได้ปีละ 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าสูง 4 ล้านล้านบาท ในระยะ 20 ปี แต่ประมูลครั้งนี้จะให้สิทธิถึง 39 ปี ดังนั้นการจะให้สิทธิในการสำรวจรอบใหม่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ
น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำ คปพ. กล่าวว่า การเปิดประมูลเอราวัณและบงกชจะถือเป็นตัวอย่างในการดำเนินงานกับสัมปทานปิโตรเลียมอื่นๆ ที่จะหมดอายุ จึงจำเป็นจะต้องดำเนินงานให้ถูกต้อง ที่ผ่านมามีหลายอย่างที่บิดเบือน เช่น การไม่กำหนดให้ชัดเจนว่าผู้ที่จะประมูลได้รายใหม่จะต้องเข้าพื้นที่เพื่อให้เกิดการผลิตต่อเนื่องได้ ไม่ใช่รอให้หมดอายุสัมปทาน การได้สัญญาแล้วนำไปขายต่อ เช่น แหล่งนงเยาว์ ฯลฯ ถือว่าเหล่านี้ต้องแก้ไข
“เราดูแล้วนี่ไม่ใช่ปฏิรูป แต่เป็นปฏิรวบพลังงาน ส่วนของท่อก๊าซจะต้องแยกออกมาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบุคคลที่ 3 ในการเกิดการแข่งขัน ที่ผ่านมาเราก็เรียกร้องไปแล้วหลายรอบ ดังนั้นประเด็นนี้จะมีการร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้แยกท่อก๊าซออกมาอีกครั้ง” น.ส.รสนากล่าว
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำ คปพ.กล่าวว่า ในการเปิดให้ประมูลแบบพีเอสซีนั้นตามหลักการจะต้องมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมารองรับด้วย ขณะนี้ยังไม่มีการกล่าวถึงแนวทางดังกล่าว ดังนั้นจึงอยากให้มีการพิจารณาการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ