xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ยื่น กก.ข้อมูลข่าวสารฯ จี้เปิดชื่อผู้ถือหุ้นอุปการคุณ ปตท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” เป็นตัวแทน คปพ.ยื่นกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ สั่งตรวจสอบและเปิดเผยรายชื่อผู้ได้โควตาซื้อหุ้น “ผู้มีอุปการคุณ ปตท.” ช่วงการแปรรูปปี 44 เพื่อความโปร่งใส หลังเคยยื่นถึงประธานบอร์ดและซีอีโอ ปตท.แต่ไม่ยอมเปิดเผย อ้างเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ชี้ ปตท.เดิมเป็นของรัฐต้องเปิดเผยได้



วันนี้ (29 พ.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน ถึงประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอให้มีมติเพื่อให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยรายชื่อและจำนวนหุ้นของผู้ได้รับสิทธิซื้อหุ้นในโควตา “ผู้มีอุปการคุณ” ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2544 รายละเอียดหนังสือระบุว่า

“ข้าพเจ้านายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) อยู่เลขที่ ๒๖๖ ซอยเพชรเกษม ๖๓/๒แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ ๑๐๑๖๐ โทรศัพท์มือถือ พร้อมด้วยรายชื่อประชาชนแนบท้ายหนังสือฉบับนี้ ขอยื่นคำร้องต่อประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ว่าหน่วยงานของรัฐคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กระทำการเป็นการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้

ข้อ ๑. ข้าพเจ้านายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เคยมีหนังสือถึงประธานกรรมการ กรรมการ และและประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรื่อง ขอให้ตรวจสอบธรรมาภิบาลในการให้โควตา “ผู้มีอุปการคุณ” จองซื้อหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเลขที่ คปพ. ๐๗๕/๐๙-๒๕๖๐ ถึง ๘๕/๒๐-๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ (เลขที่รับของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนญ. ๗๔๘ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๔๘ น.) ทั้งนี้เพราะได้ปรากฏในหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่ามีการจัดสรรให้ผู้มีอุปการคุณ จำนวน ๒๕ ล้านหุ้น โดย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ขอให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นองค์กรที่ได้ใช้ดุลพินิจในการจัดสรรสิทธิในการจองซื้อหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณ เปิดเผยรายชื่อผู้ที่ได้ซื้อหุ้นในโควตา “ผู้มีอุปการคุณ” ทั้งหมด และรายงานว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหรือกระบวนการแปรรูปอันเป็นการดำเนินการโดยมิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องหรือไม่ ซึ่งหากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ทำการเปิดเผยรายชื่อเหล่านี้ให้ประชาชนซึ่งก็คือ เจ้าของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่แท้จริง (ที่กระทรวงการคลังได้ถือหุ้นแทนไว้) ได้รับทราบ ก็จะทำให้คลายข้อสงสัยของประชาชนในเรื่องการกระจายหุ้นว่า มีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง

ข้อ ๒. นายปรีชา ส่งสัมพันธ์ จากสำนักงานกฎหมาย คนึง แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือตอบกลับมายังข้าพเจ้าและเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เลขที่ คพ./๖๐/๐๑๓๖ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยความตอนหนึ่งในหนังสือฉบับดังกล่าวว่า

“รายชื่อผู้ที่ได้ซื้อหุ้นในโควตาผู้มีอุปการคุณที่ท่านต้องการให้เปิดเผยเป็นข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้

ข้อ ๓. การปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายชื่อและจำนวนหุ้นผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ และเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๑ (๑) และ มาตรา ๕๙ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๓.๑ เนื่องจากหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้น มาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเดิมในนาม การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งรัฐถือหุ้นอยู่ทั้งหมดร้อยละ ๑๐๐ ดังนั้น หุ้นของบริษัท ปตท. จึงย่อมเป็นทรัพย์สินของรัฐทั้งหมดแต่เดิม ประกอบกับสำเนาส่วนที่ ๓ ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ ในหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แผ่นที่ ๗ หน้าที่ ๑๔ ยังปรากฏวิธีการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณโดยระบุว่า

“การจัดสรรสิทธิในการจองซื้อหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณ ให้อยู่ในดุลพินิจของ บมจ. ปตท.

ทั้งนี้โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังไม่ได้กระจายหุ้นให้เอกชนย่อมถือเป็นองค์กรของรัฐและหน่วยงานของรัฐ จึงย่อมต้องมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้มีอุปการคุณที่ได้รับโควตาซื้อหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อันเป็นทรัพย์สินของรัฐที่ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้
ตามหลักการบริหารธรรมาภิบาลที่ดี ประกอบกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ข้อมูลของผู้ถือหุ้นจึงย่อมมิใช่ความลับตามกฎหมาย ทั้งนี้ยังได้มีการเปิดเผยผู้ถือหุ้นรายใหญ่จำนวน ๑๓ อันดับแรกมาแล้วด้วย ตัวอย่างปรากฏเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ก็ยังมีการเผยแพร่รายชื่อและจำนวนผู้ถือหุ้นที่ได้มาจากโควตาจองซื้อหุ้นรายย่อยมาแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่เพียงพอหรือเป็นการไม่สมควรแก่เหตุที่จะปกปิดรายการผู้มีอุปการคุณเป็นกรณีพิเศษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือครองสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันได้แก่ ท่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ตลอดจนสิทธิในอำนาจมหาชนในการซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปิโตรเลียม และบริษัทในเครือก็ยังได้สิทธิโดยอ้างการเป็นตัวแทนรัฐที่ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมทางทะเลเขตพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ฯลฯ อีกทั้งยังถือครองหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทลูก คือ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมรายสำคัญของประเทศไทย การเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นผู้มีอุปการคุณจึงเป็นข้อมูลทรัพย์สินอันสำคัญของผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินจากสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสิทธิที่ได้มาจากอำนาจมหาชน ตลอดจนสัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทย


๓.๒ ตามสำเนาหนังสือส่วนที่ ๓ ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ ในหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แผ่นที่ ๖ หน้าที่ ๑๒ ได้ระบุความหมายของผู้มีอุปการคุณว่าหมายถึง

“ผู้มีอุปการคุณของ บมจ.ปตท. ซึ่งจะจองหุ้นผ่านผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย”

คำนิยามดังกล่าว เป็นการให้ความหมายเชิงบวก ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายและไม่เป็นผลร้ายต่อบุคคลนั้นๆ ถ้าปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีอุปการคุณตัวจริง และเป็นผู้ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งในส่วนของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญ และฝ่ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องกับการแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

๓.๓ ประชาชนเกือบทั้งประเทศต่างก็อยู่ในฐานะลูกค้าในการใช้ก๊าซและน้ำมันทั้งสิ้น ก็สามารถเป็นผู้มีอุปการคุณของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นการสมควรแก่เหตุที่จะต้องเปิดเผยว่า การจัดสรรโควตาการซื้อหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ให้คนกลุ่มหนึ่งได้รับสิทธิพิเศษเป็นผู้มีอุปการคุณในการซื้อหุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และได้ผลประโยชน์เหนือกว่าประชาชนทั้งประเทศผู้ใช้ก๊าซและน้ำมันนั้นมีความถูกต้องจริงหรือไม่ เป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ และมีความเป็นธรรมและมีเหตุผลสมควรแก่เหตุหรือไม่ และเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในขณะนั้นที่ให้ประชาชนมีความเสมอภาค เท่าเทียมกันจริงหรือไม่ ดังนั้นหากไม่มีการเปิดเผยดังกล่าวประชาชนทั่วไปย่อมไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องและเป็นธรรม และอาจจะเป็นอันตรายต่อการทำหน้าที่ของประชาชนในรักษาผลประโยชน์ของชาติ

๓.๔ ถ้าหากพบว่าผู้ได้สิทธิโควตาซื้อหุ้นในนามผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความเกี่ยวพันทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบุคคลในฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับการแปรรูปทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจในการใช้อำนาจฝ่ายบริหารไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการใช้อำนาจรัฐนั้นทำให้ผู้ได้รับสิทธิโควตาผู้ถือหุ้นอุปการคุณบางคนได้ประโยชน์โดยที่ประชาชนส่วนรวมเสียประโยชน์ ย่อมทำให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนั้นหากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวประชาชนย่อมไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงอาจจะเป็นอันตรายต่อการทำหน้าที่ของประชาชนในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

๓.๕ ถ้าหากพบว่าผู้ได้สิทธิโควตาซื้อหุ้นในนามผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความเกี่ยวพันทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบุคคลในฝ่ายนิติบัญญัติทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็อาจจะทำให้การตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถดำเนินไปด้วยความเที่ยงตรง เป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฝ่ายนิติบัญญัติไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อหวังผลทำให้ผู้ได้รับสิทธิโควตาผู้ถือหุ้นอุปการคุณได้ประโยชน์โดยที่ประชาชนส่วนรวมเสียประโยชน์ ก็ย่อมทำให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนั้นหากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวประชาชนย่อมไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติในอดีตจนถึงปัจจุบันได้ จึงอาจจะเป็นอันตรายต่อการทำหน้าที่ของประชาชนในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

๓.๖ ถ้าหากพบว่าผู้ได้สิทธิโควตาซื้อหุ้นในนามผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความเกี่ยวพันทั้งทางตรงและทางอ้อมกับฝ่ายองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงฝ่ายตุลาการทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็อาจจะทำให้การตรวจสอบบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขององค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเที่ยงตรงและเป็นธรรม และอาจทำให้ฝ่ายตุลาการผู้เคยได้รับการจัดสรรหุ้นผู้มีอุปการคุณผู้ซึ่งมาเกี่ยวข้องกับการตัดสินในคดีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อาจจะตัดสินด้วยความไม่เที่ยงตรง ไม่เป็นธรรมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดกรณีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำให้ผู้ได้รับสิทธิโควตาผู้ถือหุ้นอุปการคุณได้ประโยชน์ แต่ประชาชนโดยรวมกลับเสียประโยชน์ย่อมทำให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนั้นหากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวประชาชนย่อมไม่สามารถตรวจสอบได้ และอาจจะเป็นอันตรายต่อการทำหน้าที่ของประชาชนในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

๓.๗ ถ้าหากพบว่าผู้ได้สิทธิโควตาซื้อหุ้นในนามผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความเกี่ยวพันทั้งทางตรงและทางอ้อมกับสื่อมวลชน ย่อมอาจทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างเที่ยงตรงและเป็นธรรมได้ ดังนั้นหากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวประชาชนย่อมไม่สามารถตรวจสอบได้ และอาจจะเป็นอันตรายต่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

๓.๘ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นกฎหมายรับรองสิทธิของประชาชนที่จะรับรู้ข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลราชการภายใต้หลักคิดที่ว่า “รัฐรู้อย่างไร ประชาชนรู้อย่างนั้น” และข้อมูลของทางราชการนั้น “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” อันเป็นกฎหมายที่มีเจตนารับรอง “สิทธิที่จะรู้” ของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลของทางราชการ อีกทั้งข้อมูลรายชื่อผู้ได้สิทธิซื้อหุ้นของรัฐวิสาหกิจในฐานะ “ผู้มีอุปการคุณ” ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้นไม่ได้เข้าข่ายที่ไม่ต้องเปิดเผย ตามหมวด ๒ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่ประการใด

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อกำหนดบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย การปฏิบัติงานในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. ๒๕๔๔ ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ โดย นายวิเศษ จูภิบาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้กำหนดในข้อ ๔ ที่ให้ทุกหน่วยงานของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ดังนั้นเมื่อ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลรายชื่อและจำนวนหุ้นผู้มีอุปการคุณแล้ว คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการย่อมมีอำนาจในการพิจารณาให้เปิดเผยเรื่องดังกล่าวได้

๓.๙ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้กำหนดสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะโดยครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และบัญญัติหน้าที่ของรัฐในการเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะเอาไว้แล้วดังนี้

มาตรา ๔๑ (๑) บัญญัติไว้ว่า:
บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะโดยครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๕๙ บัญญัติไว้ว่า :
รัฐต้องเปิดเผยข้อมูล หรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก

การปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อและจำนวนหุ้นในโควตาผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว อาจเป็นผลทำให้ประชาชนไม่สามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทำให้ไม่สามารถปกป้องประโยชน์ส่วนสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ในสัมปทานของรัฐในส่วนที่มีความเกี่ยวพันกับผู้ถือหุ้นในโควตาผู้มีอุปการคุณ ตามบทบัญญัติมาตรา ๕๐ (๒) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้


อาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๑ (๑) และ มาตรา ๕๙ ข้าพเจ้าในฐานะผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พร้อมด้วยประชาชนตามรายชื่อแนบท้ายคำร้องนี้ จึงขอให้ท่านประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ ได้โปรดพิจารณาใช้อำนาจเข้าดำเนินการตรวจสอบและมีมติให้เปิดเผยรายชื่อ ราคาหุ้น และจำนวนหุ้นผู้ได้สิทธิโควตาในการซื้อหุ้นผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต่อไปโดยเร็ว


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการให้ตามความประสงค์ของข้าพเจ้าต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น