xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ค้านร่างกฏกระทรวง ดักทางประมูลเอื้อรายเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360 - คปพ.ตบเท้ายื่นหนังสือถึง ก.พลังงานคัดค้านร่างกฏกระทรวง 3 ฉบับเผยขัดต่อรัฐธรรมนูญใหม่หลายข้อ เอื้อให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม ด้าน “กรมเชื้อเพลิง” แจงเปิดรับฟังความเห็นกฎกระทรวง ทั้งที่ กม.ไม่บังคับ และทำก่อนพ.ร.บ.ปิโตรเลียมประกาศใช้ทำตามมติ ครม.เพื่อให้คู่ขนาน มั่นใจช้าสุด ส.ค.นี้เปิดประมูลเอราวัณ-บงกชได้

วานนี้ (25 พ.ค.) ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กระทรวงพลังงาน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และน.ส.บุญยืน ศิริธรรม ได้เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชนที่ลงชื่อร่วมคัดค้านร่างกฏกระทรวง 3 ฉบับของกระทรวงพลังงานที่เปิดรับฟังความเห็นของประชาชนผ่านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งนายธีระศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดพลังงานเป็นตัวแทนรมว.พลังงานมารับหนังสือ

นายปานเทพ กล่าวว่า การมายื่นหนังสือคัดค้านครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิตามขั้นตอนภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งคปพ.เห็นว่ามีความไม่ชอบหลายเรื่องโดยเฉพาะการออกกฏหมายลูกของกรมเชื้อเพลิงรองรับการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกชภายใต้ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ.....และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ....แต่ร่างกฏหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการถือเป็นการเร่งรีบและขัดหลักการหรือไม่

นอกจากนี้กฏกระทรวง 3 ฉบับที่เปิดให้ประชาชนรับฟังความเห็นกฏกระทรวงผ่านเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ www.dmf.go.th ตั้งแต่ 11 พ.ค.และสิ้นสุดวันที่ 26 พ.ค.นี้อาจจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติหลายข้อภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ เพราะอาจเป็นการปิดกั้น ลิดรอน และละเมิดสิทธิของประชาชนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือไม่รู้วิธีการหรือไม่สะดวกในการเข้าไปในเว็บไซต์ และยังเปิดช่องทางให้รับฟังความเห็นผ่านhttp://hearing.dmf.go.th/?cat=4 เท่านั้น

ขณะเดียวกันร่างกฏกระทรวง 3 ฉบับที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ..มีเนื้อหาทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) เหมือนกับระบบสัมปทานเดิม โดยอำนาจในการบริหารและขายปิโตรเลียมตกเป็นของเอกชนคู่สัญญา ตลอดจนยังมิได้แก้ไขปัญหาหรือช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการรั่วไหลหรืออาจทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงตามรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ลงมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 ซึ่งสิ่งที่น่าห่วงคือการอ้างการเปิดประมูลเอราวัณ-บงกชเมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565- 66

“สิ่งที่เราห่วงที่สุดก็คือจะเอื้อให้กับผู้ผลิตแหล่งเอราวัณและบงกชรายเดิมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานซึ่งไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีกซึ่งต้องมาประมูลใหม่แล้วมาใช้ระบบ PSC ที่มีเนื้อหาเหมือนระบบสัมปทานเดิมเราเล็งเห็นอาจเป็นการเข้าข่ายการกระทำที่มิชอบและเรื่องนี้หากไม่ได้รับการแก้ไขตามที่ท้วงติงก็อาจนำไปสู่การดำเนินความตามคดีอาญาได้” นายปานเทพกล่าว

** กรมเชื้อเพลิงฯลั่นเปิดประมูล ส.ค.นี้แน่

อีกด้าน นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมฯยืนยันว่าสิ่งที่ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนทางกฏหมายเนื่องจากการออกกฏหมายลูกเพื่อรองรับร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ 5 ฉบับนั้นไม่จำเป็นจะต้องเปิดรับฟังความเห็นเพราะเป็นกฏกระทรวง แต่กรมฯเลือกที่จะดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ขณะเดียวกันขั้นตอนการออกกฏหมายลูกมารองรับที่จะมีทั้งระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) มีระบบสัมปทานและระบบสัญญาจ้างบริการ(SC) เป็นการดำเนินงานคู่ขนานเพื่อรอให้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับก่อน

“เราทำตามมติครม.ที่ให้สมารถดำเนินการออกกฏหมายลูกควบคู่ไปได้จนกว่าจะมีการประกาศใช้ 2 พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯซึ่งขณะเปิดรับฟังความเห็นเสร็จก็ต้องรอเข้าครม.อนุมัติแต่การจะเสนอครม.ก็ต้องรอให้พ.ร.บ. ปิโตรเลียมประกาศใช้ก่อน โดยขณะนี้ในส่วนของPSC จะปิดรับฟังความเห็นวันที่ 26 พ.ค.ส่วนกฏหมายลูกด้านสัญญาจ้างบริการ(SC)จะมีการเปิดรับฟังต่อจากนี้ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาสรุปอีก 2 เดือนและรวบรวมทั้งหมดเสร็จ แต่ก็ขอย้ำว่าเราจะเสนอครม.ได้ก็ต่อเมื่อพ.ร.บ.ปิโตรเลียมประกาศใช้อย่างเป็นทางการเพื่อให้เสร็จพร้อมกัน"นายวีระศักดิ์กล่าว

ส่วนกรณีที่ทางคปพ.ระบุว่าร่างกฏกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ของระบบ PSC เป็นการเขียนที่คล้ายกับการลอกระบบสัมปทานปิโตรเลียมของเดิมมานั้นก็ชี้ให้เห็นว่าระบบสัมปทานที่ผ่านมาของไทยก็มีลักษณะที่ไม่ต่างจากระบบ PSC ที่ทางคปพ.เรียกร้องให้ดำเนินการ ขณะที่กรณีที่คปพ.เรียกร้องให้จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ(NOC)เพื่องรองรับPSC แต่ที่ผ่านมาได้ขอให้มีการเสนอรูปแบบดำเนินงานว่าจะเป็นแบบไหนนั้นทางคปพ.ก็ไม่เคยเสนอแต่ระบุให้รัฐไปพิจารณาเท่านั้น โดยเร็วๆ นี้จะมีการเสนอตั้งคณะกรรมการศึกษาตั้ง NOC โดยจะดึงหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นกลางมาร่วมเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นักวิชาการ ฯลฯ

"ภาพรวมทั้งหมดยังชื่อว่าจะเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชได้ช้าสุดต้นเดือน ส.ค.และคาดว่าจะคัดเลือกผู้ที่ชนะประมูลได้ภายในไม่เกิน ก.พ. 61 "นายวีระศักดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น