xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเบื้องหลังชัยชนะสู้คดีราคาก๊าซของ "ม.ล.กรกสิวัฒน์" ต่อ ปตท.กรณีตัวอย่างของ ปชช.สู้เพื่อความถูกต้อง ** 60 ส.ส.อีสาน"เพื่อไทย"บินพบ"ทักษิณ"ให้ปลด"เจ๊หน่อย"จะสำเร็จหรือไม่ต้องติดตาม!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี - ไพรินทร์ ชูโชติถาวร -ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ - คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ข่าวปนคน คนปนข่าว

**เปิดเบื้องหลังชัยชนะสู้คดีทวงถามความเป็นธรรม นโยบายขึ้นราคาค่าก๊าซของ "ม.ล.กรกสิวัฒน์" ต่อ ปตท. กรณีตัวอย่างของประชาชน ที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องของผู้ใช้พลังงาน และ ธรรมาภิบาลของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่คิดแต่ผลประโยชน์ส่วนตน

ปตท.ทุนพลังงานรายใหญ่ของประเทศ ในยุคของ"ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" นั่งเป็น CEO ฟ้องดำเนินคดีกับภาคประชาชน "ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี" เมื่อวันที่ 30 พ.ค.57 ในข้อหาละเมิดต่อโจทก์ โดยท้ายฟ้อง ระบุว่า “...ได้รับความเสียหายจากการกล่าวถ้อยคำหรือไขข่าวอันเป็นเท็จ โดยการเผยแพร่ข่าวสารของจำเลยหลายครั้ง จนทำให้โจทก์ขาดความน่าเชื่อถือจากรัฐบาล และประชาชนทั่วไปตลอดจนนานาประเทศ ทั้งกระทบทางทำมาหาได้และความเจริญของโจทก์ และทำให้เสียหายต่อชื่อเสียงในทางการค้า อันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยดังกล่าวข้างต้น หลายครั้งหลายคราว"

ปตท.โดย"ไพรินทร์" จึงขอเรียกค่าเสียหายจาก "ม.ล.กรกสิวัฒน์" จนถึงวันฟ้อง เป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท และ ดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์

เรียกว่า "ฟ้องโหด เรียกโหด" เต็มที่ คดีจากปี 2557 ต่อสู้กันมา 3 ศาล โดยศาลชั้นต้น "ยกฟ้อง" ศาลอุทธรณ์ยืน"ยกฟ้อง" จนมาถึงชั้นของศาลฎีกา เป็นเวลาที่ยาวนานกว่า 5 ปี ถือเป็น "มหากาพย์" การต่อสู้คดีของประชาชนกับองค์กรที่มีพร้อมทุกอย่าง ทั้งสำนักงานกฎหมาย ทนายความ จากบริษัทกฎหมายที่ปตท.ว่าจ้างในระดับที่บุคคลธรรมดาไม่สามารถจ่ายได้ ซึ่งที่สุด เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 62 ที่ศาลแพ่งรัชดา ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษายืน"ยกฟ้อง" ม.ล.กรกสิวัฒน์

กว่า 5 ปีของการต่อสู้ "ม.ล.กรกสิวัฒน์" ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต และนักเคลื่อนไหวปฏิรูปพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก "คุยกับหม่อมกร" ว่านี่เป็น "กรณีตัวอย่างของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องของผู้ใช้พลังงาน"

เรื่องนี้ "ม.ล.กรกสิวัฒน์" บอกว่า ยังไม่เคยเปิดเผยถึง "เบื้องหลังของความสำเร็จ" ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้นเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว จึงนำคำพิพากษามาเปิดเผยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ...

มูลเหตุของคดีเกิดจากในช่วงปี 2556 รัฐบาลมีนโยบายการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของภาคครัวเรือน ในวันที่ 1 ก.ย.56 ซึ่งผมเห็นว่า ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรก๊าซ จึงให้สัมภาษณ์ทางสื่อโทรทัศน์ เอเอสทีวี และ สื่อวิทยุ 101 เพื่อต้องการสื่อสารข้อมูลไปยังผู้บริโภคและรัฐบาล เพื่อให้ทบทวนนโยบาย

...จากบทเรียนของผมที่พ่ายแพ้คดีกระทรวงพลังงานในศาลล่างมาก่อนหน้า (นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นรัฐมนตรี และนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ เป็นทนายโจทก์) (แต่ภายหลังศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง) ผมจึงประชุมกับทีมทนายความได้ข้อสรุปว่า เนื่องจากผมจะมีความรู้ลึกในข้อมูลฝ่ายโจทก์และข้อมูลพลังงาน ทั้งยังจดจำเอกสารได้ทั้งหมด จึงควรให้ผมซึ่งเป็นจำเลยเป็นผู้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยตนเอง จะทำให้คดีกระจ่างต่อศาลได้โดยง่าย ... ก่อนขึ้นทำหน้าที่ ผมยอมรับว่าแม้ว่ามั่นใจในข้อมูล แต่ก็กังวลใจว่าจะทำได้ดีเหมือนทนาย หรือไม่ แต่ด้วยความช่วยเหลือของสำนักงานทนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายอติชาต แสงขาว และพี่ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทำให้ผมมั่นใจมากขึ้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยคำฟ้องของโจทก์ โดยแยกเป็นหลายประเด็น ปรากฏตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้...
ประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์เป็นต้นเหตุที่ทำให้ก๊าซแอลพีจีขาดแคลนจนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ , ประเด็นจำเลยกล่าวว่า โจทก์นำก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ เข้าโรงแยกก๊าซ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือถูกนำเข้าไปเผาที่โรงไฟฟ้า , ประเด็นผูกขาดท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซ , ประเด็นจำเลยกล่าวถึงโจทก์ ว่า ไม่สร้างโรงแยกก๊าซให้เพียงพอ โจทก์จะสร้างก็ต่อเมื่อมีการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี , ประเด็นกองทุนน้ำมันฯ , ประเด็น การกล่าวถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการระดับสูง ประเด็นการใช้ก๊าซจำนวนมาก แต่จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันน้อยกว่าภาคส่วนอื่น และซื้อในราคาที่ต่ำกว่าภาคส่วนอื่นและตลาดโลก และประเด็น กลุ่มฉ้อฉลพลังงาน...
สำหรับ คำวินิจฉัยท้ายคำพิพากษาศาลฎีกา มีดังนี้

“…การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำหรือไขข่าวที่แพร่หลายแล้ว ตามรายงานเอกสารทางวิชาการ โดยมีข้อมูลหรือเอกสารที่มา กับมีพยานที่ทำเอกสารทางวิชาการมาเบิกความสนับสนุน ซึ่งเป็นการกล่าวโดยสุจริต เป็นการสื่อสารเพื่อการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค และในฐานะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกวุฒิสภา โดยการกล่าวของจำเลย เป็นไปตามข้อมูลจากรายงานการพิจารณาศึกษาของวุฒิสภา ซึ่งได้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแล้ว และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย โดยนำข้อมูลดังกล่าวมากล่าว เพื่อสื่อสารข้อมูลในการต้องนำเข้าสินค้าก๊าซหุงต้มที่ถูกต้องไปยังผู้บริโภคและประชาชน ทั้งข้อความไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อความจริง
ส่วนการใช้ถ้อยคำ สำนวนโวหาร การใช้เสียงหนักเบาเป็นส่วนประกอบ หรือเป็นลักษณะของการนำเสนอในรายการที่จำเลยกล่าวเท่านั้น ซึ่งได้มีการแยกข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องที่จำเลยกล่าวว่า มีความเป็นมาอย่างไร มาจากเอกสารหรือแหล่งข้อมูลใด ทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์ และจำเลยนำสืบ ซึ่งล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยมิได้กล่าวเกินไปกว่าข้อเท็จจริง...

ทั้งตามเอกสารและข้อมูลในส่วนของการไม่สร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ กรณีกองทุนน้ำมัน การได้สิทธิประโยชน์ของโจทก์ การผูกขาด การกล่าวถึงบริษัทปิโตรเคมี เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ กรณีผลประโยชน์ทับซ้อน และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ การกล่าวถ้อยคำของจำเลยมิได้มุ่งหมายให้ร้ายโจทก์เกินความเป็นจริง ข้อที่โจทก์อ้างว่า การไม่สร้างโรงแยกก๊าซ ธรรมชาติต้องพิจารณาถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติที่หาได้ ต้องมีปริมาณเพียงพอเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้ในระยะยาว และความต้องการในการใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นการคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม

แต่โดยเจตนาของจำเลยแล้ว มีความไม่เห็นด้วยในเรื่องการกำหนดนโยบายของรัฐบาลว่ามีความเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่ โดยจำเลยต้องการให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของภาคครัวเรือน ที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 กันยายน 2556 อันไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรก๊าซธรรมชาติ แต่ต้องใช้ก๊าซหุงต้มในราคาที่สูงขึ้น จึงต้องกล่าวถึงสาเหตุดังกล่าวทั้งระบบ ซึ่งโจทก์ก็มิได้นำสืบว่ารายงานการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่เป็นการกล่าวที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยตรง

พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้หมิ่นประมาท และกระทำละเมิดต่อโจทก์ อันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง หรือเกียรติคุณ และทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของโจทก์ จำเลยเพียงแต่นำรายงานการพิจารณาของวุฒิสภา มาเผยแพร่ต่อประชาชน จึงไม่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความที่ฝ่าฝืนต่อความจริง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน"

งานนี้ นอกจากเป็นชัยชนะของประชาชนคนหนึ่ง อีกทางกลับกัน ก็ต้องบอกว่า กรณีนี้ ปตท.ในสมัย"ไพรินทร์" ตัดสินใจฟ้องประชาชนนั้น สมควรถูกตั้งคำถาม "ธรรมาภิบาล" ว่า คิดแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ส่วนของปตท. ถ่ายเดียวหรือไม่ ? อคติจนละเลยที่จะให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงทำความเข้าใจกับผู้ใช้พลังงาน

มิใช่ผู้ถือหุ้น ผู้บริหารปตท.เท่านั้น ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรก๊าชธรรมชาติ ประชาชนก็มีสิทธิ์ในทรัพยากรของชาติเช่นกัน

ที่สำคัญประชาชนผู้บริโภค ต้องใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม!!

** 60ส.ส.อีสาน"เพื่อไทย" บินไปพบ "ทักษิณ" เจ้าของพรรคตัวจริง ขอให้ปลด"เจ๊หน่อย" พ้นประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งของพรรค ด้วยข้อหาเล่นพรรคเล่นพวก ก้าวก่ายการบริหารงานภายในพรรค จะสำเร็จหรือไม่ ต้องติดตาม !!

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลกำลังเล่นเกมเชือดเฉือนกันทางการเมืองจน"สภาฯล่ม" มา 2 นัดซ้อน จนทำให้การตั้ง "กมธ.เช็กบิลการใช้ม.44 ของคสช." ยังค้างเติ่งคาสภาฯ

ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีกว่ากันนัก เพราะ "พรรคอนาคตใหม่" ก็ตกอยู่ในสภาพ "ลูกผี ลูกคน" เมื่อ"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคต้องสิ้นสภาพ ส.ส. จากกรณีถือหุ้นสื่อ "วี-ลัค มีเดีย" และกำลังจะเจอดาบสอง ดาบสาม จากกกต. ที่ส่อว่าจะมีโทษถึงยุบพรรค

ส่วน "พรรคเพื่อไทย" ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า มีหลายก๊วน หลายก๊ก ที่ผ่านมาก็อยู่กันในลักษณะ ต่างคนต่างอยู่ จับกลุ่มกันตาม "ภาคนิยม" มีภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกทม. เป็นหลัก... โดยในช่วงที่ผ่านมาบทบาทการนำภายในพรรค ตกอยู่กับ "ภาคกทม." ที่มี "เจ๊หน่อย" คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรค เป็นผู้กุมอำนาจ โดยมี "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" ในฐานะเลขาธิการพรรค และ ส.ส.กทม. ส่วนนหนึ่งเป็นแนวร่วม

ถึงวันนี้ก็มีรอยร้าว รอวันแตกให้เห็นแล้ว เมื่อ "ส.ส.อีสาน" ประมาณ 60 คน ภายใต้การนำของ "หัวเขียง" ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ประธานพรรคเพื่อไทยภาคอีสาน ได้เริ่มทยอยบินไปดูไบ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อพบกับ"ทักษิณ ชินวัตร" เจ้าของพรรคตัวจริง ...เพื่อยื่นคำขาดให้โละตำแหน่ง "ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรค" เพราะบทบาทไปทับซ้อนกับหัวหน้าพรรค ... หรือถ้าไม่ยกเลิก ก็ขอให้สั่งปลด "เจ๊หน่อย" ออกจากตำแหน่งนี้ แล้วตั้ง "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" ขึ้นมานั่งแทน

พร้อมกับสาธยายถึงความไม่พอใจในตัว "เจ๊หน่อย" ที่เล่นพรรคเล่นพวก อย่างการตั้งประธานกรรมาธิการคณะต่างๆ ก็เลือกเอาแต่คนใกล้ชิดของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงระบบอาวุโสทางการเมือง ...โดยเฉพาะการวางตัวบุคคลเข้าไปเป็น กมธ.พิจารณางบฯ ปี 63 ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นตำแหน่งสำคัญ ใครๆก็อยากเข้าไปเป็นกมธ.ชุดนี้ ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยได้โควตามา 13 คน ซึ่งภาคอีสานมี ส.ส. 84 คน ควรจะได้โควตา 8 คน แต่กลับได้เพียง 5 คน เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังยกถึงเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ "เครือข่ายของเจ๊หน่อย" ชิงออกมาให้ข่าวว่าล็อกเป้าไปที่ "พี่น้อง3 ป." และ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม โดยยังไม่มีมติพรรค และมติพรรคร่วมรัฐบาล ... ถือเป็นการไม่ให้เกียรติ "สมพงษ์ อมรวิวัฒน์"ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และหัวหน้าพรรค รวมทั้งบรรดาพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่างแสดงความไม่พอใจที่ "เจ๊หน่อย"ทำตัวเสมือนเป็นผู้นำฝ่ายค้านเสียเอง ... ถึงวันนี้จึงยังกำหนดวันยื่นญัตติอภิปรายฯไม่ได้...

ข้างฝ่าย "เจ๊หน่อย" พอได้ข่าว ส.ส.ภาคอีสาน บินไปดูไบ เพื่อยื่นคำขาดกับ "ทักษิณ" ให้ปลดตนเองพ้นตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ฯ ก็บินตามไปบ้าง หวังอธิบายความ เบรกเกมกลุ่ม ส.ส.อีสาน... แต่รายงานข่าวไม่ได้บอกว่า"เจ๊หน่อย"ได้ไปร้องห่ม ร้องไห้ ขอให้ "ทักษิณ" อย่าได้ฟังความข้างเดียว จนต้องปลดตนเองจากตำแหน่งหรือไม่

ระดับ "เจ้าแม่นครบาล" จะกล่อม "ทักษิณ" สำเร็จหรือไม่ เรื่องนี้ต้องติดตาม !!


กำลังโหลดความคิดเห็น