ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ความคาดหวังของประชาชนที่จะได้ปลูกกัญชา 6 ต้นนั้น มาจากพรรคภูมิใจไทยซึ่งได้ใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเมื่อต้นปี 2562 และส่งผลทำให้พรรคภูมิใจไทยได้เป็นพรรคการเมืองเก่าเพียงพรรคเดียวที่มีคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
ครั้นเมื่อพรรคภูมิใจไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้ว อย่าว่าแต่เพียงกัญชาปลูกได้บ้านละ 6 ต้นเลย แม้แต่ “เสรีกัญชาทางการแพทย์” ยังกลายเป็นเพียงแค่ “การจำกัดการใช้อยู่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ” เท่านั้น
“การจำกัดการใช้อยู่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ” กลายเป็นอุปสรรคอันสำคัญที่ทำให้ประชาชนแทบไม่สามารถเข้าถึงยากัญชาได้ ประชาชนที่เข้ารอคิวยาวเหยียดที่คลินิกกัญชาของหน่วยงานภาครัฐ เมื่อไม่สามารถเข้าถึงยากัญชาได้ คนเหล่านั้นก็กลับไปใช้กัญชาใต้ดินที่ไม่มีใครสามารถไปคุ้มครองคุณภาพและราคาของผลิตภัณฑ์กัญชาในตลาดใต้ดินได้
เรื่องดังกล่าวข้างต้นจะไปกล่าวโทษแต่เฉพาะหมอที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลภาครัฐไม่ได้ เพราะคนเหล่านั้นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนใหญ่แล้วขาดประสบการณ์ในการจ่ายยากัญชาให้กับผู้ป่วยมาก่อน เมื่อถูกคำสั่งให้ใช้กัญชาย่อมต้องปฏิบัติตามตัวอักษรและขั้นตอนการวิจัยอย่างเคร่งครัด เพราะข้อบ่งใช้กัญชาเป็นไปอย่างจำกัดและมีขั้นตอนการวิจัยทางเภสัชศาสตร์และทางการแพทย์แผนปัจจุบันในการจ่ายกัญชาเต็มไปด้วยความยุ่งยากอย่างยิ่ง
และสำหรับแพทย์แผนปัจจุบันส่วนใหญ่ขอเลือกจำหน่ายยากัญชาตามตัวอักษรและการคัดกรองที่เชื่อมั่นว่าปลอดภัย ซึ่งย่อมต้องผ่านการวิจัยในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และในมนุษย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อบ่งใช้ที่มีการวิจัยและจดสิทธิบัตรการใช้กัญชาของบริษัทยาข้ามชาติมาแล้วทั้งสิ้น
ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่า ฝิ่น กัญชา โคคา จะเป็นพืชที่ถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 โดยไม่เคยการห้ามให้นำมาใช้ในทางการแพทย์และการวิจัยเลย แต่สำหรับประเทศไทยได้มีการยกเลิกตำรับยาไทยทั้งหมดที่มีฝิ่นและกัญชาเป็นส่วนผสมอยู่ และให้หมอแผนปัจจุบันเท่านั้นที่มีสิทธิใช้มอร์ฟีนที่สกัดมาจากฝิ่นเพียงกลุ่มเดียวมาหลายสิบปี
เช่นเดียวกับ “กระท่อม” ซึ่งไม่เคยอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษตามอนุสัญญาเดี่ยวให้โทษ ค.ศ. 1961 ประเทศไทยจึงเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่กำหนดให้ “กระท่อม” เป็นยาเสพติดให้โทษ และยกเลิกตำรับยาไทยที่มีกระท่อมเป็นส่วนผสมทั้งหมด
แต่นับว่าโชคดีอยู่บ้างที่ว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เกิดการเคลื่อนตัวของประชาชนที่ผลักดันแก้ไขกฎมายทวงคืนกัญชาให้กลับมาให้แพทย์แผนไทยได้กลับมาให้มีโอกาสใช้ตามภูมิปัญญาเดิม ทำให้ไม่ติดกับดักอยู่กับข้อบ่งใช้เฉพาะตามที่มีการจดสิทธิบัตรสารสกัดสำคัญจากกัญชาของบริษัทจากต่างชาติของการแพทย์แผนปัจจุบันแต่เพียงอย่างเดียว
ตำรับยาในการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านซึ่งมีข้อบ่งใช้ในการจ่ายกัญชามากกว่ายาในแผนปัจจุบัน แต่นโยบายภาครัฐกลับจำกัดการใช้ในหน่วยงานภาครัฐต่อไป ทั้งๆที่ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961และ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กฎกติกาไม่ได้มีการให้ผูกขาดเกือบทุกกิจกรรมเอาไว้เฉพาะภาครัฐอย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้เลย
ผู้ที่มีประสบการณ์ในการเป็น “หมอยา” หรือแม้แต่เคยมีประสบการณ์จากองค์ความรู้ตามใบประกอบโรคศิลปะตามวิชาชีพก็คือ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ซึ่งคนที่มีประสบการณ์เหล่านั้นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด “อยู่ภาคเอกชน” ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
เหตุผลที่เกิดขึ้นเช่นนี้เพราะอัตราตำแหน่งแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลภาครัฐส่วนใหญ่นั้น อยู่ภายใต้การบริหารของแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยจึงมีบทบาทน้อย เจริญเติบโตได้ช้า และไม่สามารถสั่งสมประสบการณ์เป็น “หมอยา” ได้เต็มประสิทธิภาพขององค์ความรู้ในการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์
นอกจากนั้นหมอแผนไทยในภาครัฐจำนวนไม่น้อยถูกให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเพียง “หมอนวด” หรือไม่ก็กลายเป็นเจ้าหน้าที่ทางธุรการ หรือถูกใช้ในทางวิชาการ ที่ไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถตามวิชาชีพในการรักษาผู้ป่วยได้เต็มประสิทธิภาพมากนัก
หรือแม้การจ่ายยาของหมอแผนไทยในสถานพยาบาลภาครัฐหลายแห่งก็ถูกจำกัดการจ่ายยาเดี่ยวของโรคพื้นฐานตามที่ถูกหนดในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่ได้มีโอกาสที่จะรักษาด้วยตำรับยาที่มีความสลับซับซ้อนได้มากมายนัก หรือแม้จะมี “หมอยา”บางคนที่มีประสบการณ์และมีความสามารถอยู่ในโรงพยาบาลภาครัฐบางแห่ง ก็ต้องรองรับคนไข้จำนวนมาก ไม่สามารถจะเสียเวลาที่มีขั้นตอนยุ่งยากในการใช้ยากัญชาได้เช่นกัน
แต่เมื่อยากัญชาถูกจำกัดอยู่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐเท่านั้นย่อมเป็นการ “ผิดฝาผิดตัว” คนที่มีความรู้ในการใช้และพร้อมใช้กลับไม่มีกัญชาให้ใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่กัญชามีอยู่ที่หน่วยงานภาครัฐแต่กลับจ่ายกัญชาได้น้อยมาก
หากยังไม่มีการแก้ไข ยากัญชาที่ผลิตออกมาก็กำลังจะเริ่มหมดอายุลงในเดือนกรกฎาคม 2563 งบประมาณที่ลงไปก็จะเกิดประโยชน์กับการรักษาผู้ป่วยและการวิจัยได้น้อยมากจนน่าเสียดายยิ่ง
ความไม่คืบหน้าดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ประชาชนและผู้ป่วยจำนวนมากต้องเดือดร้อน เพราะนอกจากจะต้องเสี่ยงคดีความในฐานะคนที่ยังใช้หรือยังครอบครองกัญชาอยู่โดยที่เคยขึ้นทะเบียนนิรโทษกรรมกัญชาก่อนหน้านั้นและหมดช่วงเวลานิรโทษกรรมไปแล้ว ยังต้องหาซื้อกัญชาที่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบคุณภาพได้และราคาแพงขึ้นอีกด้วย
และนี่คือสาเหตุว่าทำไมประชาชนจำนวนมากเร่ิมทวงสัญญา เสรีกัญชาทางการแพทย์ บ้านละ 6 ต้นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะให้เวลากับรัฐบาลนานพอสมควรแล้ว
และต้องไม่ลืมว่า “ก่อนหน้านี้” ด้วยความมุ่งมั่นในการผลักดันนโยบาย “เสรีกัญชาทางการแพทย์” รวมถึง “การแบน 3 สารพิษทางการเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพริฟอส” ได้ทำให้ผลสำรวจประชาชนมีความพอใจในผลงานของนายอนุทิน ชาญวีรกูล แซงหน้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามาแล้ว
ดังนั้นไม่ว่าจะจัดงานเลี้ยงฉลองเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลมากเท่าไหร่ก็ตาม หากทั้งเรื่องเสรีกัญชาทางการแพทย์และการแบน 3 สารพิษล้มเหลว ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองอื่นๆทุกพรรค ที่ไม่ใช่ “พรรคภูมิใจไทย” ดังที่“นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เคยประกาศ เมื่อครั้งเป็นประธานเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “กัญชาเสรีเพื่อการแพทย์”ของพรรคภูมิใจไทย ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ความว่า
“ขอขอบคุณทุกภาคส่วนสนับสนุนและดูแลผลักดัน วันนี้ถือเป็นการบีบบังคับว่า ถ้าเราทำนโยบายนี้ไม่ได้ เราสูญพันธุ์อย่างแน่นอน”
เมื่อกัญชายังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ดูเหมือนว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังจะหาทาง ปลดล็อก “กัญชง” ในขณะที่กระทรวงยุติธรรมก็ประกาศว่าจะปลดล็อก “กระท่อม” ให้เป็นผลงานเร็วที่สุด (และอาจจะเร็วกว่าการปลดล็อกกัญชงด้วย) เพื่อบรรเทาแรงกดดันทางการเมืองจากประชาชนจำนวนมากที่ตามทวงสัญญาปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเรื่อง “กระท่อม” นั้นสมควรจะปลอดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษได้ทันที เพราะนอกจาก “กระท่อม” ไม่เคยอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 มาก่อนแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ของวุฒิสภา ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2546 ที่สรุปความตอนหนึ่งว่า
“กระท่อม มีสรรพคุณทางยาแผนโบราณ รักษาโรคบิด แก้ปวด มวนท้อง ปวดเบ่ง ท้องเสีย ท้องเฟ้อ ท้องร่วง ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท มีค่าใช้จ่ายน้อย สามารถช่วยลดการถอนยา อาการปวดเมื่อย และรักษาอาการถอนยาจากการติดฝิ่นหรือเฮโรอีนได้ อีกทั้งยังมีข้อดีกว่ามอร์ฟีนหลายประการ เช่น ไม่กดทางเดินหายใจ การติดยา การอยากยาก ความทรมานน้อยกว่ามอร์ฟีน ฯลฯ”
คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว ของวุฒิสภา ยังได้ตรวจสอบไปถึง “เบื้องหลัง” ที่ทำให้ “กระท่อมเป็นยาเสพติดครั้งแรกในประเทศไทย” ก็เพราะ “พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486” ซึ่งปรากฏบันทึกรายงานคำอภิปรายของ พลตรีพิณ อมรวิสัยสรเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง เกี่ยวกับการพิจารณาก่อนลงมติรับร่าง “พระราชบัญญัติกระท่อม พ.ศ. 2486” ความว่า:
“ฝิ่นนั้นมีภาษีมาก แต่พืชกระท่อมไม่มีภาษี เมื่อฝิ่นแพงคนก็หันไปสูบกระท่อมแทนฝิ่น ทำให้การค้าของรัฐบาลลดหย่อนลงเช่นนี้ เพื่อให้ต้องตามวัฒนธรรมอันดีแล้ว จึงเห็นว่าฝิ่นสำคัญกว่าควรจะยกเลิก (กระท่อม)”
นอกจากนั้น ยังพบหลักฐานยืนเพิ่มเติมจาก กฎหมายร่วมสมัยอีกฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2485 อันเป็นการแก้ไข พระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2477 ซึ่งเดิมมีวัตถุประสงค์ป้องกันและปราบปราบฝิ่น แต่การแก้ไขครั้งนั้นกลับเป็นการเชิญชวนให้คนสูบฝิ่นมากขึ้น โดยการขยายเวลาให้คนไปขึ้นทะเบียนเสพฝิ่นเพิ่มเติมได้ และมีเหตุผลในกฎหมายฉบับที่แก้ไขครั้งนั้นด้วยว่า
“การจดทะเบียนโดยไม่มีโอกาสขยายกำหนดเวลา และทั้งให้เป็นการทำคราวเดียวนั้น คนติดฝิ่นจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้หมดสิ้น คนเหล่านั้นก็จะมีความเดือดร้อนเพราะเขาสูบฝิ่นรัฐบาลในส่วนฝิ่นมิได้”
คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว ของวุฒิสภา ได้สรุปว่า
“แม้ฝิ่นจะเป็นสิ่งเสพติดให้โทษที่รุนแรงแต่กลับอนุญาตให้เสพได้ตามกฎหมาย เพราะรัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ จำหน่ายเพียงผู้เดียว การผูกขาดการค้าฝิ่นก่อให้เกิดรายได้ในรูปภาษีฝิ่น และใบอนุญาตในรูปแบบต่างๆ เป็นเงินจำนวนมาก แต่เนื่องจากฝิ่นมีราคาแพง คนที่ติดฝิ่นจำนวนหนึ่งไม่มีเงินไปซื้อฝิ่นมาสูบหรือต้องการยกเลิกสูบฝิ่น จึงหันไปบริโภคพืชกระท่อมที่มีฤทธิ์คล้ายฝิ่น ทำให้รายได้ของรัฐน้อยลง จึงเป็นเหตุผลที่แท้จริงของการออกพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486”
และเนื่องจากทั้ง “กัญชา” และ “กระท่อม” เป็นยาแก้ปวดที่มีสถานะเป็นคู่แข่งทางการค้าที่อาจกระทบต่อธุรกิจของ “มอร์ฟีน” ซึ่งเป็นยาที่มีผลประโยชน์อย่างมหาศาล โดยในปี 2560 พบว่าภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลในใช้โอปิออยด์ (มอร์ฟีน) มูลค่าถึง 91,731 ล้านบาท ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้อย่างมาก การปลดล็อก “กัญชาและกระท่อม” จึงย่อมเผชิญหน้ากับผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทยาอย่างแน่นอน
ประเทศไทยได้ให้ “กระท่อม”เป็นยาเสพติดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตำรับยาของการแพทย์แผนไทยที่เคยใช้โดยมี “กระท่อม” เป็นส่วนผสมก็ถูกห้ามใช้ทั้งหมดเช่นเดียวกับฝิ่นและกัญชา แต่แพทย์แผนปัจจุบันกลับเป็นกลุ่มวิชาชีพที่ผูกขาดการใช้มอร์ฟีนแต่เพียงกลุ่มเดียว และนี่คืออุปสรรคอันสำคัญที่น่าจะอยู่เบื้องหลังทำให้ “แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน” ไม่สามารถใช้ ฝิ่น กัญชา และกระท่อม เพื่อปรุงยาเฉพาะรายได้จนถึงทุกวันนี้
ดังนั้นการปลดล็อกกระท่อมและกัญชาให้สามารถนำมาใช้ได้จริงต้องอาศัยทั้งการรู้เท่าทันและความกล้าหาญเท่านั้นจึงจะทำให้มีโอกาสฝ่าฟันในเรื่องนี้ได้
และคำประกาศกลางสภาผู้แทนราษฎร ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จากพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ชัดเจนว่าจะเร่งดำเนินการปลดล็อกกระท่อมให้ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อย่างแน่นอน และอาจจะกลายเป็นผลงานที่มาก่อนกัญชาและกระท่อมของพรรคภูมิใจไทยเสียด้วยซ้ำ
ส่วนการปลดล็อก “กัญชง” ซึ่งอาจคาดการณ์กันว่าอาจจะมาช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองในการที่ประชาชนเรียกร้องการปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้นนั้น มีคำถามอยู่ว่ากัญชงที่ประชาชนจะได้มานั้นจะถูกกำหนดให้เป็นสายพันธุ์แบบไหนกันแน่ และจะเป็นพืชที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจริงมากน้อยเพียงใด
เพราะถ้าสนใจนิยามเพียงแค่ว่า “กัญชง” คือพืชที่มีสาร THC ต่ำกว่า 1% ของน้ำหนักแห้งแต่เพียงอย่างเดียว ย่อมเกิดคำถามว่าพันธุ์ที่ประเทศไทยจะเดินหน้าไปนั้นเน้นการปลูกที่มีไฟเบอร์สูงๆหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ยังมีพืชชนิดอื่นๆที่มีไฟเบอร์สูงๆเป็นคู่แข่งที่ราคาถูกกว่าอีกหลายชนิด แน่ใจหรือว่าความคาดหวังของประชาชนจะได้ดังที่คิดเอาไว้
ในขณะเดียวกันหากเป็นสายพันธุ์ที่มีน้ำมันที่จะผลิตสาร “แคนนาบิไดออล” หรือ “CBDได้น้อยๆ”ด้วยแล้ว กัญชงเหล่านั้นจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่ เพราะในปัจจุบันมีการพัฒนา “ผสมข้ามสายพันธุ์”ไปไกลมากแล้วเพื่อให้ได้ CBD สูงๆ เพื่อที่จะเป็นสารสำคัญที่สร้างมูลค่าสูงที่สุดในพืชกัญชง
แต่การกำหหนดในระดับสายพันธุ์ย่อยระเอียดกว่าสปีชีส์ว่าเป็น Cannabis sativa L. Subsp. Sativa ว่าเป็นกัญชงเท่านั้น ตามมาตรา 26/2 (2)ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 นอกจะมีข้อสงสัยในเรื่องการล็อกสเปกสายพันธุ์ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่แล้ว ยังมีข้อสงสัยในเรื่องขั้นตอนที่ยุ่งยากว่าทุกใบอนุญาตจะต้องผ่านด่าน 27 คนในคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษอยู่ดี จะติดอุปสรรคพะรุงพะรังเพียงใด
และข้อสำคัญคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษระหว่างประเทศ ในเวทีองค์การสหประชาชาติ ที่คาดการณ์กันว่าจะมีการปลดล็อกสาร CBD ในเดือนมีนาคม 2563 นั้น เป็นการปลดล็อกที่ผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนการสกัดสาร CBD ของอุตสาหกรรมกลางน้ำ และการผสม CBD เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายในอุตสาหกรรมปลายน้ำ กลับไม่เคยมีการกำหนดล็อกสเปกพันธุ์พืชที่ต้นทางอย่างที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้เลย คำถามมีอยู่ว่าประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้วจริงหรือไม่?
ถ้าประเทศไทยยังช้าต้วมเตี้ยม เต็มไปด้วยกติกาที่ยึดแน่น และมีความคลุมเครืออยู่แบบนี้ ในปี 2563 หลายชาติในภูมิภาคนี้แม้มาทีหลังแต่คงจะแซงหน้าไทยไปอย่างแน่นอน
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันที่ 6 มกราคม 2563 ฤกษ์งามยามดี นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะได้ประกาศ #ทลายทุกข้อจำกัด ในเรื่องกัญชาและกัญชงให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียที
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต