xs
xsm
sm
md
lg

“ปลดล็อกแน่” เตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ ตำรับยา“กระท่อม” /ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

กระท่อม จัดอยู่ในตระกูล รูบีเอซีอี (Rubiaceae) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มิตราไจนา สเปซิโอชา คอร์ท (Mitragyna Speciosa Korth) เป็นพืชพื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา โดยมีหลักฐานปรากฏในการบันทึกเสภาขุนช้างขุนแผนถึงเรื่องที่ว่าการกินน้ำกระท่อมทำให้มีแรง สู้งานออกศึกได้ โดยประเทศไทยมี ๓ สายพันธุ์ด้วยกันคือ พันธุ์แตกกวา (ก้านเขียว), พันธุ์ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และ พันธุ์ก้านแดง (พันธุ์สีแดง)

สำหรับในภาคใต้ของไทยพบว่าชาวสวนยาง ชาวไร่นิยมเคี้ยวใบกระท่อมเป็นยาชูกำลัง ทนแดด ทนร้อนได้ และยังมีการใช้ใบมาต้มดื่มเพื่อการฟื้นตัว

สำหรับวิธีรับประทานกระท่อมนั้น ชาวบ้านจะเลือกใบกระท่อมมาลอกเอาก้านและเส้นในใบออก หลังจากนั้นเคี้ยวให้ละเอียด หรือรับประทานน้ำชาอุ่นๆกลืนลงไป ครั้งละ ๒-๔ ใบ ก็ทำให้มีความเบิกบานไปได้ ๔-๕ ชั่วโมง เมื่อใช้ไปเวลานานๆก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ และมีจำนวนไม่น้อยบริโภคมากถึง ๒๐-๓๐ ใบต่อวัน

ทั้งนี้ใบกระท่อมเมื่อ “เอาก้านออก” แล้วก็จะไม่ทำให้ลำไส้อุดตัน แต่กลับทำให้อารมณ์เบิกบาน อยู่กับตัวเองได้คุยกับตัวเองได้โดยไม่เหงา ดังคำพังเพยปักษ์ใต้ว่า

“ก้านแดงแหลงคนเดียว ก้านเขียวคนเดียวก็แหลง”

ส่วนคนที่บริโภคกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบก่อน อาจจะทำให้เกิดอาการ “ถุงท่อม” ในลำไส้ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะก้านใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงเกิดการตกตะกอนในลำไส้ ขับถ่ายออกไม่ได้ เกิดพังผืดหุ้มรัดโดยรอบกระท่อมนั้น

ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือการเอาใบกระท่อมไปตากให้แห้งกรอบแล้วบดเป็นผง รับประทานกับน้ำชาครั้งละ ๑ ช้อนชาพูน เมื่อรับประทานแล้วทำให้ประสาทมึนชา ลดอาการปวดตามอวัยวะต่างๆ ทำให้มีความสุข ทำงานอดทน ทนแดด ไม่หิวและกลับเกิดอาการกลัวหนาวสั่นเวลาฝนตก

สำหรับคนที่ใช้กระท่อมนอกจากจะทนแสงแดดแล้ว ยังจะมีผิวหนังแดงเพราะเลือดไปเลี้ยงที่ผิวมากขึ้น และเมื่อใช้กระท่อมไปเป็นเวลานานๆ เม็ดสีผิวจะเปลี่ยนทำให้มีสีผิวคล้ำและเข้มขึ้น คล้ายผิวหนังเกรียมของคนที่ถูกแสงแดดจัด

สำหรับ “รสยา” ของใบกระท่อมนั้น มีรสฝาดเผื่อน เมาเบื่อขม มีสารสำคัญประกอบด้วยแอลคะลอยด์ ซึ่งมีบางอาการคล้ายเสพฝิ่น มีสารแทนนินอยู่มาก จึงนิยมนำมาใช้เป็นกลุ่มยาสมานแผล แก้บิด แก้ปวดมวน แก้ปวดเบ่ง แก้ปวดท้อง แก้ท้องร่วง แก้ปวดเมื่อยร่างกาย ซึ่งหากมีการบริโภคเกินก็เกิดโทษได้ ทั้งอาการมึนเมา และท้องผูก และอุจจาระเป็นเม็ดกลมๆ คล้ายมูลแพะสีเขียว

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ทำให้การประมวลสรรพคุณของกระท่อมในตำราสรรพคุณต่างๆมีความคล้ายคลึงกันคือ

“เป็นยาสมาน คุมธาตุ แก้ท้องร่วง ลงแดง แก้ปวดเบ่ง แก้บิดมูกเลือด และใบกระท่อมรสขม เฝื่อนเมา แก้บิดปวดมวน ทำให้มึนชา รับประทานมากทำให้เมา อาเจียน คอแห้ง”

ในโอกาสที่รัฐบาล ทั้งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายส่งท้ายปลายปีว่าจะมีการปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดเป็นครั้งแรก ภายหลังพบความจริงว่าและรัฐบาลรัฐสภาไทยได้ผูกโซ่ตรวนให้กระท่อมกลายเป็นยาเสพติดเพียงชาติเดียวและชาติแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2486 เพียงเพราะว่าในเวลานั้นรัฐบาลเก็บภาษีฝิ่นได้น้อยลง คนติดฝิ่นน้อยลงเพราะประชาชนหันไปใช้กระท่อมมากขึ้น

รายงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ประเภท ๕ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ของวุฒิสภา ฉบับวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖ ที่สรุปความตอนหนึ่งว่า

“ประเมินจากข้อมูลที่รวบรวมได้จนถึงปัจจุบัน พอสรุปได้ว่า แอลคะลอยด์ mitragynine ในใบกระท่อมมีฤทธิ์ระงับอาการปวดได้เช่นเดียวกับมอร์ฟีน โดยมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ ๑๐ เท่า ในขณะที่สารมิตราไจนีนซูโดอินโดซิล (mitragynine pseudoindoxyl) ซึ่งเป็นเมตตาโบไลท์ของสาร mitragynine จะมีฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีน ๑๐๐ เท่า เมื่อใช้เป็นเวลานานจะเกิดการดื้อยา ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณที่ใช้ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ผลที่ต้องการจนเกิดการติดยาได้ในที่สุด ใบกระท่อมหรือ mitragynine มีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลายประการดังนี้

๑.กระท่อมไม่กดระบบทางเดินหายใจ

๒.ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน

๓.พัฒนาการในการติดยาเกิดช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี

๔.ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากได้ยา (craving) จึงไม่มีกรณีผู้ติดกระท่อมก่อเหตุร้ายหรือพัวพันกับอาชญากรรมใดเลย

๕.อาการขาดยาไม่ทรมานเท่ามอร์ฟีน และสามารถบำบัดได้ง่ายด้วยยากล่อมประสาทระยะ ๒-๓ สัปดาห์ ขณะที่ผู้ที่ติดมอร์ฟีนอาจต้องพึ่ง methadone ซึ่งเป็นสารเสพติดเช่นเดียวกัน เป็นเวลานาน ๓ เดือนขึ้นไป

๖.การควบคุมทางกฎหมายไม่มีสนธิสัญญาที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศห้ามปลูกเหมือนฝิ่น

๗.ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้

แม้ว่ากระท่อมจะมีผลดีหลายประการ และเป็นพืชชูกำลังให้กับชาวไร่ชาวนา อย่างไรก็ตามด้วยที่กระท่อมมีผลเสียกับคนบางกลุ่ม ในการแพทย์แผนไทยจึงต้องปรุงเป็นตำรับเพื่อลดผลเสียของกระท่อมเอาไว้ด้วย

ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการรวบรวมตำรับยาที่มีกระท่อมเป็นส่วนผสม โดยกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข มีอยู่ทั้งสิ้น ๑๘ ตำรับ แต่เนื่องด้วยมีการตัดตำรับยาออกไปเพราะด้วยมีตัวยาต้องห้าม หรือตำรับยาซ้ำกัน จึงอาจจะมีการประกาศใช้เพียงแค่ ๗ ตำรับเท่านั้น กล่าวคือ ตำรับยาแก้ปิตตชิณ, แก้กุจฉิยาวาตอติสาร, แก้ป่วงหิว, ยากล่อมอารมณ์, ยาหณุมานจองถนนปิดมหาสมุท,ยากลุ่มแก้บิดลงเลือดคัมภีร์อติสาร, และยาเหลืองใหญ่

สำหรับตำรับยาที่ปรากฏในศิลาจารึกในวันพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๓๗๕ ฉบับสมบูรณ์ ๒๕๐๕ มีจำนวนทั้งสิ้น ๔ ตำรับคือ

๑. ตำรับยาไม่ระบุชื่อ แก้ปิตตอชิณ อันบังเกิดแต่สำแลง ความว่า

“สิทธิการิยะ จะกล่าวลักษณะอชิณธาตุโรคอติสาร ว่าด้วยประเภทลงเป็นเพื่อสำแลง คือปิตตอชิณนั้นเป็นคำรบ ๒ บังเกิดเพื่อบริโภคยาก็ดี บริโภคของกินก็ดี อันไปบ่มิได้ควรแก่ธาตุโรคนั้น มักกระทำให้ลงเพลากลางวัน มีอาการให้ร้อนในอก และให้สวิงสวายให้หิวหาแรงมิได้ ให้ตัวร้อนให้จับดุจไข้รากสาด สันติบาต ให้อุจจาระแดง และให้ร้อนตามลำทรวงทวารขึ้นไปตลอดถึงทรวงอก มีกลิ่นดังปลาเน่าให้ปากแห้งคอแห้ง มักให้อาเจียน บริโภคอาหารมิได้ไม่รู้รส ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด ๗ ราตรี ก็จะเข้ารัตตธาตุอติสาร จัดเป็นทุติยอติสารชวร ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในปิตตอชิณนั้น ตามอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้...

ขนาน ๑ เอา เปลือกฝิ่นต้น, เปลือกทองต้น, เปลือกแคแดง, เปลือกขนุน, ใบกระท่อม, ผลกระวาน, ผลเร่ว, การบูร, ผลคนทีสอ, ผลผักชีทั้ง ๒, หอมแดง, กระเทียม, สิ่งละส่วน ว่านน้ำ ๒ ส่วน ทำเป็นจุณบดทำแท่งไว้ละลายน้ำรากยอต้มแทรกพิมเสนให้กิน แก้ปิตตอชิณ อันบังเกิดแต่สำแลงหายดีนักฯ”

๒. ตำรับยาไม่ระบุชื่อ แก้กุจฉิยาวาตอติสาร ความว่า:

“สิทธิการิยะ จะกล่าวลักษณะลมกุจฉิยาวาตอติสาร อันเป็นปัจจุบันกรรมนั้นเป็นคำรบ ๕ ลมกองนี้เกิดอยู่นอกไส้ พัดแต่เพียงคอลงไปทวารหนักเบา เมื่อจะให้โทษนั้นประมวลกันเข้าเป็นก้อนในท้องแต่ว่าอยู่นอกไส้ กระทำให้ลงท้องเหม็นคาว แต่มิได้ปวดมวน อยู่ๆก็ไหลออกมาเอง เหตุว่าลมกองนี้เป็นเจ้าของทวาร มิได้หยัดทวารมิได้ สมมติว่าทวารเปิดอยู่ดุจกล่าวมานี้...

อนึ่ง เอากฤษณา, กระลำพัก, ขอนดอก, เนื้อไม้, จันทน์ทั้ง ๒, โกฐทั้ง ๕, เทียนทั้ง ๕, สิ่งละส่วน ลูกจันทน์, กระวาน, กานพลู, ใบกระท่อม, ปลือกกระทุ่มมูลหมู, ฝาง, ลูกปราย, ครั่ง, เปลือกมะขามขบ, ใบกระพังโหม สิ่งละ ๒ ส่วน ทำเป็นจุณ บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำดีปลีต้ม กินแก้กุจฉิยาวาตอติสารหายดีนักฯ”

๓. ตำรับยาไม่ระบุชื่อ แก้ป่วงหิว ความว่า:

“สิทธิการิยะ จะกล่าวลักษณะป่วงหิว อันบังเกิดแต่กองปัศวาตอติสาร อันเป็นคำรบ ๔ นั้นโดยวิเศษและลักษณะป่วงหิวนั้น กระทำให้ลงให้ราก ให้ตัวเย็นเป็นเหน็บ ให้เหงื่อตก เช็ดมิได้ขาด ให้สวิงสวายในอกเป็นกำลัง...

อนึ่งเอา ลูกเบญจกานี, ลูกกล้วยตีบอ่อน, ลูกทับทิมอ่อน, ใบทับทิม, ใบสะแก, ดินกิน, กรดทั้ง ๕, ใบสะเดา, ใบทองหลางใบมน, ใบมะตูม, ใบกัญชา, ใบกะเม็ง, สิ่งละส่วน ใบกระท่อม ๒ ส่วน ขมิ้นอ้อย ๓ ส่วน ไพล ๔ ส่วน เทียนดำ ๔ ส่วน ทำเป็นจุณบดทำแท่งไว้กินแก้ป่วงหิวหายดีนักฯ”

๔. ตำรับยาไม่ระบุชื่อ แก้ป่วงน้ำ (กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขอาจไม่เสนอให้มีการใช้ยาตำรับนี้เพราะมีส่วนผสมของสัตว์) ความว่า

“สิทธิการิยะ จะกล่าวลักษณะป่วงน้ำ อันเกิดแต่ปัศวาตอติสารเป็นคำรบ ๕ โดยวิเศษและลักษณะป่วงน้ำนั้น ลงไปจะนับเพลามิได้ ให้รากเขียว รากเหลือง รากแดง ให้ผิวเนื้อเหี่ยวจะบริโภคอันมิได้อยู่ท้องให้หิวเป็นกำลังและลักษณะป่วงทั้ง ๕ ประการ เป็นอติสาทยโรค รักษายากนักฯ...

อนึ่งเอาเปลือกสนุ่น, เปลือกมะม่วงพรวน, เปลือกกระทุ่มขี้หมู, เปลือกกระท่อม, ใบชา, เทียนดำ, โกฐสอ, โกฐเขมา, โกฐพุงปลา, โกฐจุฬาลัมพา, โกฐหัวบัว, กระดองเต่าเหลืองเผา, กระดองปูนาเผา, รากนางแย้ม, รากมะนาว รากมะปราง ต้มด้วยน้ำปูนใสแทรกพิมเสน ดีงู กินแก้ป่วงน้ำ ถ้าหิวนัก เอาน้ำตาลกรวด น้ำตาลทราย น้ำตาลหม้อ แทรกลงกินหายฯ”

หนึ่งในตำรับยาที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมมากที่สุด ปรากฏอยู่ใน ตำราเวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑, ๒, ๓, พระยาพิษณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร ร.ศ. ๑๒๗ คือมีใบกระท่อมมากถึงครึ่งหนึ่งของยาทั้งหลายชื่อ “ยาประสะกระท่อม” แต่ก็เป็นยาที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในยุคนี้เพราะมีเขากวางเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย กล่าวคือ

“ยาประสะกระท่อม เอาเทียนทั้ง ๕ ,ฝางเสน ๑, สน ๑, ครั่ง ๑, งาช้าง ๑, สักขี ๑, จันทร์ทั้งสอง ๑, ข่า ๑, ใบเทียน ๑, ใบทับทิม ๑, ใบชิงช้าชาลี ๑, เขากวาง ๑, ใบมะลิซ้อน ๑, ใบมะลิลา ๑, ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ สลึง, กำลังวัวเถลิง ๑, ขิงแห้ง ๑, ขมิ้นชัน ๑, การะบูน ๑, ยาทั้งสิ้นเอาสิ่งละเฟื้อง, น้ำอ้อย ๑ สลึงเฟื้อง, กระทือ ๒ สลึง, ไพลหมกไฟ ๑ บาท ใบกระท่อม เท่ายาทั้งหลาย ตำผงละลายน้ำสุรา แก้ปวนมวน น้ำกานพลูต้มฯ”

อย่างไรก็ตามทั้งกัญชาและกระท่อมอาจจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดยาเสพติด หากกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกไปศึกษาตำรับยาที่จะช่วยการติดฝิ่น มอร์ฟีน ยาบ้า หรือเฮโรอีน ที่แม้จะมีส่วนผสมของขี้ยาฝิ่นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ควรตัดทิ้งเพียงเพราะว่ามีขี้ยาฝิ่นเป็นส่วนผสม ทั้งๆที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยลดการลงแดงในการถอนยา หรือการอดยาเสพติดได้ ซึ่งหากไม่มีการตัดทิ้งก็อาจจะนำมาช่วยบำบัดยาเสพติดในประเทศไทยได้ดังนี้

ยาที่ปรากฏใน คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ (ฉบับใบลาน) ของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ประทาน พ.ศ. ๒๔๕๙

ยาทิพากาศ ให้เอายาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร ๔ ส่วน ฝิ่น ๘ ส่วน ใบกันชา ๑๖ ส่วน สุราเป็นกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายให้ชอบโรคร้อนและเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันระส่ำระสาย กินเข้ามิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแล

ตำราเวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑, ๒, ๓, พระยาพิษณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร ร.ศ. ๑๒๗ มี ๑ ตำรับคือ

ยาประสะกาฬแดง แก้พิษลงแดง แก้บิด เอารากช้าพลู ๑, สะค้าน ๑, เจตมูลเพลิง ๑, ขิง ๑, ดีปลี ๑ แห้งหมู ๑, ลูกมะตูมอ่อน ๑, ลูกจันทน์ ๑, ยาทั้งนี้สิ่งละ ๑ บาท ลูกกระวาน ๑ สลึง, กานพลู ๑, พริกไทย ๑, โกฐทั้งห้า ๑, เทียนทั้งห้า ๑, ยาทั้งนี้ สิ่งละ ๑ บาท, ลูกเบญกานี ๑, สีเสียดทั้งสอง ๑, ครั่ง ๑, หมากขี้ไก่ ๑, เปลือกแมงคุด ๑, เม็ดถะบูน ๑, เปลือกขี้อ้าย ๑ ยาทั้งนี้สิ่งละตำลึง เปลือกทับทิม ๑ บาท, แก้ลง นำเปลือกแค เปลือกสะเดา เปลือกขี้อ้าย เทียนดำ แก้บิดปวดมวน ฝรั่งทั้ง ๕, เปลือกไข่เน่า, ใบกระท่อม บอระเพ็ด ขมิ้นอ้อย, เทียนดำ, ใบเสนียด หนักสิ่งละบาท ขี้ยาฝิ่น ๒ สลึง ต้มเป็นกระสาย เวลาจะบดแทรกเนื้อไม้พิมเสนฯ

ทั้งนี้ ยังปรากฏตำรับยาขนานหนึ่งของ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) ปรากฏอยู่ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณ เล่ม ๓ ชื่อ “ยาอดฝิ่น” ความว่า

“ยาทำให้อดฝิ่น เอาขี้ยา (หมายถึงขี้ยาฝิ่น) ๒ สลึง เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กัญชาครึ่งกำ ใบกระท่อม เอาให้มากกว่ายาอย่างอื่น ต้มกิน ให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินไป ๑ ถ้วย ให้เติมน้ำ ๑ ถ้วย ให้ทำดังนี้จนกว่ายาจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้วยังไม่หาย ให้ต้มกินหม้อใหม่ต่อไป”

ในขณะที่วารสารเกี่ยวกับกัญชาและสารสกัดกัญชาที่ชื่อว่า Cannabis and Cannabinoid Research, ฉบับออนไลน์เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๐ ได้ออกรายงานวิจัยรวบรวมผลของการทดลองทางพรีคลินิก (การทดลองก่อนการทดลองในมนุษย์) โดยสรุปว่ามีหลักฐานที่แสดงเห็นถึงศักยภาพของกัญชาที่จะช่วยในการถอนอาการต่างๆในการใช้ฝิ่น ลดการใช้ฝิ่น ลดความอยากฝิ่น ลงแดง การป้องกันการกลับมาใช้ฝิ่น ช่วยบำบัดอาการผิดปกติการใช้ฝิ่นหรือสารสกัดจากฝิ่นเป็นเวลานาน ลดการเสียชีวิตในการใช้ฝิ่น

เช่นเดียวกับกระท่อมซึ่งมีรายงานตีพิมพ์ในวารสาร Innovations in Clinical Neuroscience เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ โดยมีรายงานกรณีศึกษาของผู้ป่วย ๓ รายที่ใช้กระท่อมแก้ไขปัญหาการเกิดวิกฤตของผู้ป่วยที่ใช้ฝิ่นได้

ประเด็นกระท่อมและกัญชาใช้เป็นยาลดปวด ลดยานำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดการติดฝิ่นและมอร์ฟีนนั้น จึงควรเป็นทิศทางที่จะต้องเร่งศึกษาและวิจัยอย่างยิ่ง

อย่ามัวล่าช้าปล่อยให้บริษัทยาต่างชาติทยอยจดสิทธิบัตรกระท่อมและกัญชาไปมากกว่านี้เลย

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น