xs
xsm
sm
md
lg

“รูหนู” ที่เหลืออยู่ เพื่อการแบน 3 สารพิษและเสรีกัญชาทางการแพทย์ จะไม่ได้เป็นแค่ “ปาหี่” !?/ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สำหรับเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพของปี 2562 นี้ก็คือ การใช้กัญชาทางการแพทย์ และการยกเลิก 3 สารพิษ คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยเฉพาะ 2 เรื่องดังกล่าวนี้ได้ทำให้กระแสความนิยมยอมรับในผลงานโดดเด่นในไตรมาสแรกของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล แซงหน้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการสำรวจของกรุงเทพโพลเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2562

แต่ความนิยมดังกล่าวจะมีผลต่อไปหรือไม่เพราะเมื่อเวลาผ่านไปหลังจากนั้นอีกไม่นานปรากฏว่าเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย และแถลงข่าวสรุปว่าให้มีการพลิกมติการแบน 3 สารพิษเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 กลายเป็นว่า สารพิษพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส ซึ่งจะต้องยกเลิกวันที่ 1 ธันวาคม 2562 มาเป็น “เลื่อน” การยกเลิกออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และให้ใช้ไกลโฟเซตต่อไปโดยการจำกัดการใช้ ทั้งๆ ที่สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC)ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ไกลโฟเซตเป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งชนิด 2A

ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าไม่ได้เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่ไม่ได้สามารถจะทำอะไรได้มากกว่านี้ และประกาศว่าจะไม่ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพราะเป็นคนละเรื่องกัน และถือว่าในส่วนของพรรคภูมิใจไทยได้ทำจน “สุดซอย” แล้ว

ในขณะที่นโยบายเสรีกัญชาทางการแพทย์ ได้เปลี่ยนสภาพเป็น “นโยบายจำกัดการใช้กัญชาเฉพาะภาครัฐ” กลายเป็นว่ากัญชาอยู่ในมือแพทย์ของสถานพยาบาลภาครัฐที่ไม่ต้องการใช้ หรือไม่พร้อมใช้ อีกทั้งยังมีขั้นตอนและความเข้มงวดยิ่งกว่ามอร์ฟีน จนประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้จริงยากมาก ประชาชนจำนวนมากจึงเลิกเข้าไปต่อคิวการใช้กัญชาในโรงพยาบาลภาครัฐแล้วหันไปใช้น้ำมันกัญชาใต้ดินในที่สุด

ในขณะมีข่าวปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ทำการเข้าจับกุมการปลูกและผลิตภัณฑ์กัญชาจำนวนมาก ส่งผลทำให้ประชาชนที่ใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ได้รับความเดือดร้อนและทวีความไม่พอใจต่อรัฐบาลมากขึ้น

โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่ได้รับคะแนนนิยมมาก่อนหน้านี้ก็อาจจะไม่สามารถดำรงความนิยมต่อไปได้เพียงแค่การใช้เพียงคำพูดว่า “ทำสุดซอยแล้ว” โดยเฉพาะถ้าหากประชาชนเห็นว่ายังไม่ได้ทำสุดซอยจริง และเห็นว่าเป็นการแสดงละครหรือปาหี่ให้ประชาชนดูเท่านั้น

เพราะต้องไม่ลืมว่าสิ่งทีประชาชนทั่วไปได้รับรู้ก็คือการที่พรรคภูมิใจไทยมี “อำนาจต่อรอง” อยู่ในระดับสูงสุดคือ การเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล

เพราะเป็นที่ทราบดีกันว่าแม้รัฐบาลจะมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นหลักประกันที่ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีประเทศไทยจะต้องเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปอีกหลายปี แต่ด้วยจำนวนเสียงของพรรคภูมิใจไทยก็มีผลทำให้ความเป็นรัฐบาลจะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ ทั้งในการลงมติเรื่องสำคัญๆ เช่น การลงมติเรื่องงบประมาณแผ่นดิน หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ดังนั้นแม้เสียงของพรรคภูมิใจไทยอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีได้ แต่ก็เป็นจำนวนคะแนนเสียงที่สำคัญที่จะบอกได้ว่ารัฐบาลจะดำรงอยู่ต่อได้หรือไม่ และนานแค่ไหน

และถ้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงเลือกตั้งในภาวะที่รัฐบาลมีคะแนนนิยมลดลง อำนาจต่อรองของพรรคพลังประชาชารัฐในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินก็ย่อมต้องลดลงตามผลผลการเลือกตั้งหลังจากยุบสภาเช่นกัน ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยถอนตัวมาล้มกระดานแล้วรณรงค์ต่อต้านสารพิษฆ่าประชาชนก็อาจจะได้รับเสียงกลับมาเป็นจำนวนมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคาดการณ์ว่าฝ่ายรัฐบาลจะสามารถดูดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านแยกออกมาเป็น “งูเห่า” เข้าร่วมรัฐบาลมากขึ้น เช่น การเตรียมการ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่เพิ่มจำนวน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลมากขึ้น ดึง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ออกมาในพรรคอื่นๆแล้วให้โควตารัฐมนตรีเพิ่มขึ้นแทนโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ทีมีการลงคะแนนแตกแถวมาเป็นระยะๆ รวมถึงกระแสข่าวการเจรจารับฝากส.ส.จากพรรคเพื่อไทยบางส่วนในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าการเพิ่ม ส.ส.จำนวนดังกล่าวอาจทำให้พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจต่อรองอาจจะน้อยลง

แต่การรุกหนักของพรรครัฐบาลในการตอบโต้ ส.ส.แตกแถวของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลงมติให้ไม่เป็นที่พอใจต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยการแยก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มากให้โควตารัฐมนตรีมากขึ้น แต่พรรคภูมิใจไทยก็ยังถือว่า มีจำนวน ส.ส. ที่สำคัญมากพอ ดังนั้นหากพรรคภูมิใจไทยเห็นว่าประเด็นใดที่จะทำให้พรรคเสียหายในทางการเมือง หรือเป็นผลทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ก็ควรจะมีหนทางอื่นมากกว่าจะใช้คำพูดเพียงแค่ว่า “ทำสุดซอยแล้ว” จริงหรือไม่?

เพราะหากพรรคภูมิใจไทยเห็นว่าตัดสินใจลาออกเพื่อให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งใหม่ ก็เชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยก็มีโอกาสเป็นฮีโร่ในระดับชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีการเลือกตั้งครั้งต่อไปในทันที แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล จะไม่เลือกทำเช่นนั้น ก็อาจเป็นเพราะว่าเกิดความไม่แน่ใจว่างูเห่าที่รัฐบาลดูด ส.ส. ฝ่ายค้านมาได้นั้น จะมีจำนวนเท่าไหร่ และมากพอที่จะไม่ต้องการพรรคภูมิใจไทยหรือไม่? จึงเลือกที่จะทำตัวเป็นเด็กดีในรัฐบาลชุดนี้ต่อไป

บางคนจึงคิดว่า หากพรรคภูมิใจไทยต้องการจะใช้ประโยชน์ในฐานะเด็กดีของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีความมุ่งมั่นว่าต้องการจะแก้ไขปัญหาสารพิษให้ประชาชนได้จริง ก็ควรจะต่อรองขอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมาเป็นโควตาของพรรคภูมิใจไทยเพิ่มเติม เพื่ออาศัยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมาเป็นประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วนำการประชุมเพื่อแบนสารพิษด้วยตัวเอง จริงหรือไม่?

แต่เมื่อพิจารณาในประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้วก็อาจเป็นไปได้ยากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดึง ส.ส. จากฝ่ายค้านมาร่วมรัฐบาลมากขึ้น ดังนั้นอย่าว่าแต่จะขอตำแหน่งโควตารัฐมนตรีเพิ่มเติมเลย เพราะแม้แต่โควตารัฐมนตรีเดิมของพรรคภูมิใจไทยก็ยังไม่แน่ว่าจะสามารถรักษาเก้าอี้ได้เหมือนเดิมต่อไปได้หรือไม่?

แต่ถึงกระนั้นในบทบาทของพรรคภูมิใจไทย ที่ดูแลทั้งกระทรวงสาธารณสุข และบางส่วนในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย่อมสามารถออกมาตรการในการติดฉลากของผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ 3 สารพิษ หรือสารพิษอื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ถึงอันตรายองสารพิษดังกล่าว อย่างน้อยก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าระหว่างการเลื่อนเวลาการแบน พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส หรือในระหว่างกระบวนการที่จะพยายามยกเลิกไกลโฟเซตนั้น ฝ่ายพรรคภูมิใจไทยได้ทำอย่างสุดความสามารถในอำนาจหน้าที่ของตัวเองเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว จริงหรือไม่?

ในขณะที่เรื่องกัญชานั้นจะต้องแก้ปัญหาจากยอมรับปัญหาที่แท้จริงว่าอยู่ที่ใด เพราะเนื้อแท้ของปัญหานั้นอยู่ที่ความพยายามในการจำกัดการปลูกและการใช้ให้ผูกขาดเฉพาะหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ซึ่งความเป็นภาครัฐนี้เองกลายเป็นอุปสรรคอันสำคัญ เพราะการที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยในความเป็นข้าราชการและสภาวิชาชีพอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังไม่มีใครต้องการเสี่ยงในการใช้กัญชาด้วยความยุ่งยากโดยไม่จำเป็นอีกด้วย และแพทย์แผนไทยก็ไม่ได้เคยมีบทบาทมากนักในสถานพยาบาลภาครัฐ และส่วนใหญ่อาจไม่ได้อยู่ฐานะเป็นหมอยาที่มากประสบการณ์มาก่อนด้วยเช่นกัน

ปัญหาหลักของกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยมี 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง คือ ความพยายามให้แทบทุกกิจกรรมของกัญชาผูกขาดอยู่กับเฉพาะภาครัฐเท่านั้น ทั้งๆ ที่อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ไม่เคยมีข้อกำหนดว่าต้องผูกขาดอยู่กับภาครัฐเหมือนที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่

ประการที่สอง คือ ความพยายามให้มาตรฐานยา มาตรฐานพืช เป็นยาสำหรับเภสัชกรรมและยาแผนปัจจุบันในรูปแบบผลิตภัณฑ์ยากัญชาสมัยใหม่เท่านั้น ทั้งๆ ที่ยาสมัยใหม่ที่เน้นการใช้ “สารสำคัญ” ที่สกัดเชิงเดี่ยวออกมานั้นจะต้องผ่านการวิจัยจนหลักฐานแน่นหนาเพียงพอแล้วเท่านั้น ซึ่งก็ย่อมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการจดสิทธิบัตรของบริษัทยาต่างชาติมาแล้วทั้งนั้น

แต่นับเป็นความโชคดีของประเทศ ที่ประเทศไทยมีผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ที่มีการปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะรายแบบการใช้กัญชาโดยรวมที่ไม่ต้องแยกสารสำคัญเชิงเดี่ยวออกมา เพราะการแพทย์แผนไทยเป็นการแพทย์ที่อยู่กับทุกส่วนของต้นไม้ทุกชนิด แล้วใช้วิธีชิมรสยาและฤทธิ์ยาเพื่อกำหนดธาตุของสมุนไพรนั้น แล้วปรับให้สอดคล้องกับสภาพธาตุ ไฟ ดิน ลม น้ำของผู้ป่วย และที่สำคัญคือการแพทย์แผนไทยมีการระบุสรรพคุณเภสัชของกัญชาเป็นการเฉพาะตั้งแต่ 150 ปีที่แล้ว การแพทย์แผนไทยจึงมีความชอบธรรมที่จะสามารถใช้กัญชาได้ตามวิชาชีพของตัวเองได้ (ถ้าไม่ถูกก้าวล่วงทางวิชาชีพให้เปลี่ยนรูปแบบมาใช้กรอบของการแพทย์และเภสัชกรรมแผนปัจจุบัน)

การปรุงยาเฉพาะรายนั้น ย่อมไม่ได้หมายถึงการทำตำรับยาขายให้กับคนทั่วไป แต่เป็นการปรุงเพื่อใช้กับคนไข้ที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการปรุงยาเฉพาะรายจึงย่อมไม่ใช่เป็นการใช้ตำรับเพียงแค่มีการบันทึกต่อๆ กันมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรุงยาโดยพิเคราะห์จากสมุฏฐานวินิจฉัยของคนไข้เป็นการเฉพาะรายด้วย ดังนั้นการแพทย์แผนไทยจึงย่อมทางออกของประเทศไทยสำหรับกัญชาแบบพึ่งพาภูมิปัญญาของประเทศไทยเอง โดยไม่ต้องใช้ยาราคาแพงในรูปแบบยาสมัยใหม่ที่มีค่าสิทธิบัตรจากบริษัทยาต่างชาติอีกด้วย

และในโลกแห่งความเป็นจริง แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์ในการใช้กัญชานั้นอยู่ภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ภาครัฐ โดยเฉพาะแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์นั้น นอกจากจะมีแนวทางการประกอบโรคศิลปะภายใต้การดูแลของ สภาวิชาชีพแพทย์แผนไทยตาม พระราชบัญญัติวิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 แล้ว ยังถูกกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 55 เอาไว้ในวรรคแรกอย่างชัดเจนด้วยว่า:

“มาตรา ๕๕ รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

และถ้าแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ที่ผ่านการฝึกอบรมกัญชาสามารถปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะรายได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาตั้งแต่การปลูก การผลิต และการจำหน่ายยากัญชา เพื่อทางการแพทย์ที่มีความคล่องตัวกว่า และในขณะเดียวกันก็จะสามารถหลุดออกจากข้อจำกัดจำนวนมากในการผูกขาดเฉพาะภาครัฐด้วย

และในความเป็นจริงแล้วแทบไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายใดๆเลย เพราะแม้แต่ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ก็ได้เปิดช่องให้กับการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน เป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นสำหรับการ “ผลิตเพื่อปรุงยาเฉพาะราย” โดยไม่ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่ต้องร่วมกับรัฐตามบทเฉพาะกาลภายใน 5 ปี นับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ได้ใช้บังคับ ในมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า:

“มาตรา ๒๑ ในวาระเริ่มแรกภายในระยะเวลาห้าปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การขอรับใบอนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา ๒๖/๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้อนุญาตได้เฉพาะกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๒๖/๕ (๑) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นผู้ขออนุญาตตามมาตรา ๒๖/๕ (๒) (๓) (๔) หรือ (๗) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งดำเนินการร่วมกับผู้ขออนุญาตที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐตามมาตรา ๒๖/๕ (๓) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับ แก่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) การขอรับใบอนุญาต ลิต ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา ๒๖/๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามมาตรา ๒๖/๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเป็นการปรุงยาสำหรับคนไข้เฉพาะรายซึ่งตนเองเป็นผู้ให้การรักษา”

และในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 บัญญัตินิยามของคำว่า “ผลิต” เอาไว้ว่า:

“มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้...

“ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุงแปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย”

ดังนั้นเมื่อนำนิยามคำว่า “ผลิต” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาใส่แทนคำว่าผลิตในมาตรา 21 วรรค 2 (1) อันข้อยกเว้นสำหรับแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านที่ไม่ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐหรือต้องร่วมงานกับหน่วยงานของรัฐในระยะเวลา 5 ปี ก็จะมีความหมายว่า:

ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับ แก่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) การขอรับใบอนุญาต เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุงแปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา ๒๖/๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามมาตรา ๒๖/๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเป็นการปรุงยาสำหรับคนไข้เฉพาะรายซึ่งตนเองเป็นผู้ให้การรักษา”

นั่นหมายความว่าแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน สามารถขอรับใบอนุญาตเพาะปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะรายได้แน่นอน

อยู่ที่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะออกกฎกระทรวงให้ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน สามารถเป็นผู้ขอใบอนุญาตปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะรายหรือไม่ หรือจะออกกฎกระทรวงให้กีดกันคนกลุ่มนี้ไม่ให้ปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะรายได้

ดังนั้นแม้จะพูดว่า “สุดซอยแล้ว” แต่ในความเป็นจริงก็ยังมี “รู” ให้ออกอยู่ เวลาจึงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า “หนู” อย่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะเลือกแสดงความกล้าหาญทางออกรูนี้ หรือจะเลือกอยู่แต่ในรูแล้วส่งเสียงว่าสุดซอยแล้วกันแน่?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น