หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
มีคนตั้งคำถามกับผมนะครับว่า เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะหาเสียงอย่างไร เพราะครั้งที่แล้วพรรคประชาธิปัตย์หาเสียงชูอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี และบอกว่าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ก็พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ
พูดกันว่าเป็นความผิดพลาดของอภิสิทธิ์ เพราะการพูดของอภิสิทธิ์ทำให้คนซึ่งมีฐานเดียวกันหันมาเลือกพรรคพลังประชารัฐเพราะต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผมถามกลับว่า แล้วพรรคที่ประกาศสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ประสบความสำเร็จไหม คำตอบก็คือ ไม่เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ฉะนั้นจะบอกว่าอภิสิทธิ์ผิดพลาดก็พูดยาก เพราะถ้าประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์คนก็หันไปเลือกพรรคพลังประชารัฐซึ่งเสนอ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรงไม่ดีกว่าหรือ
ความจริงพรรคประชาธิปัตย์เองก็น่าจะรู้อยู่แล้วนะครับว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร นายกรัฐมนตรีก็ไม่มีทางหลีกพ้นจาก พล.อ.ประยุทธ์ไปได้ เพราะยังไงเสีย ส.ว.250 คนที่ คสช.ตั้งมาก็ต้องยกมือให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว และแค่พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่งมาสัก 126 เสียงก็เพียงพอตั้งรัฐบาลอยู่แล้ว แม้จะต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ตาม แต่พรรคการเมืองเก่าแก่แบบประชาธิปัตย์จะทำแบบพรรคของกำนันสุเทพและนายไพบูลย์ก็ดูจะทำลายศักดิ์ศรีของพรรคตัวเองไปหน่อย ดังนั้นผมคิดว่าไม่มีทางเลือกหรอกครับที่พรรคจะต้องเสนออภิสิทธิ์เข้ามาแข่งขัน
ดังนั้นก็เกิดคำถามว่า ถ้ายุบสภาหรือต้องเลือกตั้งกันใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จะหาเสียงอย่างไร จะชูให้พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ หรือชูหัวหน้าพรรคตัวเอง ซึ่งจะเห็นว่าไม่ว่าทางไหนก็ไม่มีผลดีต่อพรรคเลย และดูจะมองไม่เห็นทางออกที่จะฟื้นวิกฤตของพรรคเก่าแก่พรรคนี้กลับมาได้เลย
พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งโดย นายควงอภัยวงศ์เมื่อ 5 เมษายนพ.ศ. 2489 โดยการประชุมรวมตัวกันของนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่บริษัทของนายควงที่ย่านเยาวราชแต่ทางพรรคถือเอาวันที่ 6 เมษายนเป็นวันก่อตั้งพรรคเพื่อให้ตรงกับวันจักรีมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฝ่ายค้านคานอำนาจของนายปรีดีพนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎร
พรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว 8 คน มี 4 คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี คือนายควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายชวนหลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนล่าสุด
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับการเลือกตั้งในกทม.แม้แต่ที่นั่งเดียว และเป็นครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียที่นั่งในภาคใต้จำนวนมากโดยได้เพียง 22 ที่นั่ง จากจำนวน 50 ที่นั่ง โดยเสียท่าให้พรรคพลังประชารัฐ 13 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 8 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 6 ที่นั่ง และพรรครวมพลังประชาชาติไทยของกำนันสุเทพ 1 ที่นั่ง
โดยสูญเสียพื้นที่สำคัญในหลายเขตโดยเฉพาะจังหวัดตรัง เขต 1 ฐานที่มั่นของนายชวน หลีกภัย ที่พลาดท่าแพ้พรรคพลังประชารัฐ และพื้นที่จังหวัดอื่น เช่น กระบี่ ระนอง สตูล สงขลาบางเขต
การพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ด้านหนึ่งมาจากกระแสและอำนาจรัฐของพรรคพลังประชารัฐ และการมีนโยบายที่ชัดเจนของพรรคภูมิใจไทย ในอดีตคนใต้จะนิยมชมชอบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเข้ากับวัฒนธรรมของคนใต้ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์การเมือง โดยเน้นการใช้โวหารที่คารมคมคายซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนใต้ที่ชอบฟังการปราศรัยหาเสียง และอาจมาจากวัฒนธรรมหนังตะลุงที่นายหนังได้รับความนิยมมักจะมีความโดดเด่นในการเสียดสีล้อเลียนการเมืองจนการเมืองอยู่ในสายเลือดของคนใต้ ทั้งยังถือว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในดีเอ็นเอของคนใต้ในอดีตก็ว่าได้
ที่ผ่านมาภาคใต้นั้นถือเป็นของตายของพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของวาทะที่บอกว่า ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลงก็เลือกคือนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ซึ่งครั้งนี้สอบตก
การเห็นคนใต้เป็นของตายของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างจะดูแคลนประชาชนและประมาทในการหาเสียงลงพื้นที่ และนำความเจริญลงมาสู่จังหวัดภาคใต้ เส้นทางคมนาคมในภาคใต้ถือว่าแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น
ส่วนการพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ใน กทม.ครั้งนี้นั้น เกิดจากกระแสแบ่งข้างของคนกรุงเทพฯ ระหว่าง ฝั่งที่เอาทักษิณและไม่เอาทักษิณ รวมถึงกระแสเบื่อพรรคประชาธิปัตย์ของคนกรุงเทพฯ คนเขาเลือกพรรคพลังประชารัฐและทิ้งพรรคประชาธิปัตย์เพราะกลัวว่า ฝั่งของพรรคเพื่อไทยจะชนะและเห็นว่า พรรคพลังประชารัฐที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีมีโอกาสมากกว่าเพราะมีเสียง 250 ส.ว.อยู่ในมือ รวมถึงปรากฏการณ์ในคืนก่อนการเลือกตั้ง
นอกจากนั้นฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่คนทำงานออฟฟิศคนมีการศึกษาจำนวนไม่น้อยหันไปเลือกพรรคอนาคตใหม่ ทำให้พรรคอนาคตใหม่ชนะเลือกตั้งกทม.ในหลายเขต แต่คนมักไม่คิดว่าจริงๆ แล้วที่พรรคอนาคตใหม่ชนะในกทม.นั้น หลายเขตมาจากเขตเหล่านั้นพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งสมัคร แต่ส่งพรรคไทยรักษาชาติลง เมื่อพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ คะแนนเสียงฟีเวอร์ธนาธรกับคะแนนเดิมของเพื่อไทยมาบวกกันจนพรรคอนาคตใหม่ชนะพรรคพลังประชารัฐในหลายเขต ส่วนพรรคเพื่อไทยก็สามารถรักษาพื้นที่เดิมในเขตรอบนอกกทม.เอาไว้ได้
แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จำเป็นเข้าร่วมรัฐบาลโดยละทิ้งอุดมการณ์ของพรรคไปกินน้ำใต้ศอกจากพรรคพลังประชารัฐ แต่เราเห็นเลยว่า การกล้าตัดสินใจ และการทำงานที่เห็นรูปธรรมนั้น แตกต่างแบบคนละเรื่องกับการทำงานของพรรคภูมิใจไทยที่มีรูปแบบการทำงานที่ทันสมัยกว่า และกล้าตัดสินใจ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังทำงานแบบเดิมใช้ระบบราชการเป็นตัวขับเคลื่อน ขาดการตัดสินใจที่ฉับไว ทันสมัย ทุกครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลจะเป็นการทำงานที่ขับเคลื่อนโดยระบบราชการเป็นกลไกโดยตัวเองทำหน้าที่เป็นเสมือนปลัดประเทศเท่านั้นเอง
ปัญหาสำคัญของประชาธิปัตย์ก็คือความแตกแยกในพรรค การชิงการนำในพรรค หลายคนในพรรคฝักใฝ่คนที่ออกจากพรรคไปแล้ว แม้สุดท้ายอภิสิทธิ์ลาออก และเกิดภาวะจำยอมให้พรรคต้องเข้าร่วมรัฐบาล แต่หลายคนเมื่อพ่ายแพ้การแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกลับไม่มีใจให้พรรคแล้ว ผมจึงคิดว่า การลาออกจากพรรคของนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคนั้นเป็นเรื่องที่ดีกับพรรคมากกว่าจะเกิดผลเสีย และผมคิดว่าคนที่ไม่มีใจกับพรรคก็ควรเดินออกไปสร้างทางสายใหม่ให้กับตัวเองเหมือนกับหลายคนในอดีต เช่น สมัคร สุนทรเวช เฉลิม อยู่บำรุง วีระ มุสิกพงศ์เป็นต้น
แม้วันนี้พรรคประชาธิปัตย์พยายามจะเปลี่ยนแปลงโดยมีการรับคนรุ่นใหม่เข้าไปมากขึ้น มีการมอบหมายให้ทำงานสำคัญโดยเฉพาะคนหนุ่มอย่างนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ลูกชายของดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ซึ่งเป็นคนเก่งได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านเศรษฐกิจแทนนายกรณ์ และจัดตั้งทีมที่เรียกว่าทีมอเวนเจอร์ของพรรคเพื่อมาขับเคลื่อนโดยดึงคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังเกิดยากเพราะหัวหน้าพรรคก็ยังเป็นคนรุ่นเก่านายจุรินทร์นั้นเป็นเพียงภาพแทนของนายชวน ยังมองไม่เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในพรรค เพราะภาพเก่าวัฒนธรรมเก่าของพรรคยังคงบดบังสิ่งที่พรรคพยายามจะเปลี่ยนแปลงไปหมด
การเกิดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคจากนายอภิสิทธิ์ เป็นนายจุรินทร์ ต่อให้เป็นนายกรณ์ นายพีระพันธุ์ ก็มีผลที่ไม่แตกต่างกัน เพราะยังเป็นภาพเก่าที่มันไม่สามารถจูงใจคนให้หันขับมาสนับสนุนได้ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงได้คนต้องรอให้คนรุ่นนี้ผลัดใบไปหมดก่อนและสามารถสร้างคนที่สังคมยอมรับได้ แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าก็ต้องกินน้ำใต้ศอกพรรคพลังประชารัฐต่อไป ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญยังไม่เปลี่ยน ส.ว.ยังโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ยังไงเสียงพรรคพลังประชารัฐก็ยังถือแต้มต่อนั่นเท่ากับว่า พรรคพลังประชารัฐจะครองอำนาจไปอย่างน้อย 2 สมัย 8 ปี
แต่ 8 ปีนี้นี่แหละที่พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเปลี่ยนแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาสคือใช้เวลานี้ในการสร้างพรรคและสร้างคนรุ่นใหม่ เปลี่ยนวัฒนธรรมและจารีตเก่าของพรรคให้เป็นคนที่ทันสมัย
ในอดีตคนกรุงเทพฯกับพรรคประชาธิปัตย์นั้นตัดกันไม่ขาด เวลาเขาจะลงโทษพรรคประชาธิปัตย์ก็จะลงโทษรุนแรงแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว มีอย่างน้อย 2 ในการเลือกตั้งที่เหลือที่นั่งเดียว แต่เวลาไม่มีตัวเลือกเขาก็จะกลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์อีก แต่นี่ไม่ใช่สมการคณิตศาสตร์แบบ ซ.ต.พ.ถึงวันนี้ความคิดแบบนั้นของคนกรุงเทพฯก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และทิ้งความผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ตลอดไปก็ได้
พรรคประชาธิปัตย์จะไปคาดหวังแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะคนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้ผูกพันมากับประวัติศาสตร์ความทรงจำที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นเกิดขึ้นมาเพราะอะไร ดังนั้นความพยายามที่จะกลับมารื้อฟื้น “ยุวประชาธิปัตย์” จึงเป็นทางออกที่ถูกต้อง ไม่ต้องไปหวัง 8 ปีที่จะอยู่ใต้อำนาจของคสช.แต่ต้องมองให้ไกลไปกว่านั้น
การแสดงบทบาทของส.ส.พรรค 5-6 คนในการสะท้อนอุดมการณ์ของพรรคออกมาในการสนับสนุนการตั้งกรรมาธิการศึกษาคำสั่ง คสช.นั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะพรรคไม่มีทางเลือกอื่นที่จะสะท้อนจุดยืนของพรรคได้เลย แม้สุดท้าย เมื่อผ่านอภิปรายไม่ไว้วางใจและผ่านงบประมาณแล้ว พรรคประชาธิปัตย์อาจจะถูกปรับออกแล้วพล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปอีกเกือบปีก่อนยุบสภา และอาจต้องยอมรับผลที่ตามมาว่า ถ้ายังเลือกตั้งใต้เงา ส.ว.พรรคประชาธิปัตย์อาจมีส.ส.น้อยลงอีกในครั้งหน้า แต่ต้องมุ่งหวังผลในอนาคตที่ไกลกว่านั้น
แม้จะดูเป็นทางออกที่หวังน้ำบ่อหน้า แต่อย่างน้อยถ้าเขายุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ก็พอจะมีจุดขายได้บ้าง เพราะถ้าเป็นอยู่อย่างวันนี้มองไม่เห็นเลยว่าจะขายอะไร
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan