xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สัญญา 6 ต้นกัญชาเสรีไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แม้แต่ “เนวิน” ยังเคยประกาศจะออกมาขับไล่ถ้าไม่ทำตามสัญญา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จำกันได้ไม่ลืมสำหรับป้ายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทยพิมพ์ข้อความประชาสัมพันธ์เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศเมื่อต้นปี 2562 ว่า : “กัญชาไทย ปลูกได้เสรี แก้ พ.ร.บ.ยาเสพติด พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างความร่ำรวยให้คนไทย #ทลายทุกข้อจำกัด เพื่อปากท้องประชาชน”

และหลายป้ายยังมีข้อความด้วยว่า :

“กัญชาเสรี ปลูกได้บ้านละ 6 ต้น”

ความแหลมคมของพรรคภูมิใจไทยที่อ่านขาดในเรื่องความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่มีความรู้สึกอึดอัดต่ออนาคตของนโยบายกัญชาที่คลุมเครือ จึงได้หาเสียงอย่างเป็นรูปธรรมกว่าทุกพรรคการเมืองครอบคลุม 2 เรื่องสำคัญ คือ

1. ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาได้สะดวกขึ้น พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะคำว่า “กัญชาไทยปลูกได้เสรี” และ “ประชาชนสามารถปลูกได้บ้านละ 6 ต้น”

และ 2. ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในความมั่งคั่งและร่ำรวยของกัญชาในฐานะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

และสิ่งที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อนโยบายนี้ก็เพราะสิ่งที่นำเสนอการปฏิบัติการเกิดขึ้นด้วยถ้อยคำของป้ายหาเสียงที่ว่าจะดำเนินการ “แก้ พ.ร.บ.ยาเสพติด” และ “#ทลายทุกข้อจำกัด เพื่อปากท้องประชาชน”

ขอย้ำอีกครั้งในคำที่ขีดเส้นใต้ว่า “#ทลายทุกข้อจำกัด” ด้วยถ้อยคำนี้ จึงย่อมมีความคาดหวังของประชาชนถึงการดำเนินการในทุกวิถีทางในการทลายทุกข้อจำกัดเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่หาเสียงเอาไว้ให้ได้

แต่ที่ไม่ควรลืมก็คือการประกาศตัวสนับสนุนนโยบายกัญชาเสรี ของพรรคภูมิใจไทยโดย “นายเนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผู้ที่ไม่มีตำแหน่งในพรรคหรือตำแหน่งในทางการเมืองใดๆ แต่เป็นสัญลักษณ์ของคนลงมือปฏิบัติที่มุ่งมั่นทำอะไรทำจริง จนประสบความสำเร็จในการพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ผ่านการปลุกกระแสกีฬามาแล้ว และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในจัดงานกัญชาโลกที่จังหวัดบุรีรัมย์จนประสบความสำเร็จอีกด้วย

8 มีนาคม 2562 นายเนวิน ชิดชอบ ได้ให้สัมภาษณ์ความตอนหนึ่งว่า:

“สนับสนุนแนวคิดนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย ที่ให้ปลูกได้ครอบครัวละ 6 ต้น ว่า การใช้รูปแบบแคลิฟอร์เนียโมเดล เป็นการเปิดเสรี ใครจะปลูกกัญชา ใครจะค้ากัญชา แปรรูปกัญชา ก็ไปยื่นขออนุญาตจากรัฐ โดยให้เกิดความทั่วถึง ประชาชนทุกครอบครัวขออนุญาตปลูกได้ครอบครัวละ 6 ต้น ใช้ภายในครอบครัว ที่เหลือก็เอาไปขายได้ เป็นรายได้ของครอบครัว

ถ้าพรรคภูมิใจไทยยืนยันจะทำอย่างนี้ ผมพูดตรงๆ ผมก็ต้องเชียร์พรรคภูมิใจไทย แล้วนี่นะ..พวกสายเขียวทั้งหลายเขาก็ต้องเชียร์พรรคภูมิใจไทย เพราะแต่ละพรรคการเมืองออกมาวันนี้ “กั๊ก” ทั้งหมดเลย ไม่มีใครกล้าพูดคำว่าเสรี ไม่มีใครกล้าพูดว่าให้ประชาชนได้มีโอกาส ได้สิทธิ ไม่มีใครกล้าบอกว่าประชาชนปลูกได้ ทุกคนบอกเห็นด้วยเพื่อการแพทย์ ไอ้เห็นด้วยเพื่อการแพทย์น่ะ เม็ดละ 3 พันครับ แล้วชาวบ้านจะอยู่อย่างไร ผมคิดว่าพรรคภูมิใจไทยเขาคิดถูก แล้วก็ขอให้ทำให้จริง ขอให้ทำให้ดี

การปลดล็อกของรัฐบาล เป็นการทำแบบครึ่งๆ กลางๆ ผมทำเรื่องกัญชาไม่ได้เกี่ยวกับใคร ไม่ได้คิดจะทำธุรกิจนี้ด้วยตัวเอง แต่เชื่อว่าพืชนี้จะเป็นพืชแก้จน เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม หากยังคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม คำตอบก็ออกมาเหมือนเดิม เรายังไม่เดินออกจากทางเลือกนี้แล้วไปหาทางเลือกใหม่ ไม่มีวันที่ชีวิตของพี่น้องเกษตรกรจะดีขึ้นได้

เชื่อว่ากัญชาอย่างในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีการผสมพันธุ์ที่เรียกว่าไฮบริดจ์ ต้นหนึ่งให้ผลตอบแทนได้ประมาณ 7 หมื่นบาท ลองคิดดูว่าถ้าชาวบ้านเขาเอามาใช้ได้ วันนี้หนี้ครัวเรือน 3 แสนบาท รายได้จากกัญชา รัฐบาลส่งเสริมหาพันธุ์ดีๆ แล้วขายไปทั้งโลกให้เขาผลิตยา ต้นหนึ่งมีรายได้ 7 หมื่นบาทต่อต้น 6 ต้น คือ 4.2 แสนบาท ปีเดียวล้างหนี้ครัวเรือนหมด กำลังซื้อในประเทศเกิดขึ้นไหม เศรษฐกิจในประเทศจะดีขึ้น แล้วรัฐก็จะมีรายได้ไม่ต้องไปขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกอย่างเป็นประโยชน์”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำประกาศของนายเนวิน ชิดชอบ ในการสนับสนุนพรรคภูมิใจไทยอย่างมีเงื่อนไขว่า

“แต่ถ้าเลือกไปแล้ว แล้วไม่ทำ ผมจะพาคนมาไล่เลย ผมนี่แหละจะมาไล่คนแรก ผมต้องการเห็นกัญชานี้มันเสรี แล้วเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน ทุกคนเข้าถึงได้ มีสิทธิได้ ผมฝันจะเห็นพวก สตาร์ทอัพ เด็กจบใหม่ พ่อแม่ไม่มีมรดกให้ ใช้ภูมิปัญญาเอากัญชามาเป็นเครื่องมือทำมาหากิน”

ทั้งนี้การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 พรรคภูมิใจไทย มีฐานเสียงคะแนนอยู่ที่ 1,281,652 คะแนน แต่ในปี พ.ศ. 2562 ด้วยนโยบายกัญชาเสรีนี้เองทำให้พรรคภูมิใจไทยมีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3,732,883 คะแนน หรือมีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,451,231คะแนน หรือ คิดเป็นจำนวนเสียงของประชาชนเพิ่มขึ้นมามากถึง 191%

พรรคภูมิใจไทย ต่างจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่อื่นๆ เพราะไม่ได้มีกระแสแรงในเรื่องขั้วอำนาจทางการเมือง แต่กลายเป็นพรรคการเมืองเก่าเพียงพรรคเดียวในประเทศไทยที่มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้น และเป็นการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วย จึงปฏิเสธไปไม่ได้ว่าการเจริญเติบโตของพรรคภูมิใจไทยในครั้งนี้ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญเกิดขึ้นจาก “นโยบายกัญชาที่ใช้ในการหาเสียง” ดังนั้นหากไม่สามารถทำตามได้ก็ย่อมต้องส่งผลลบต่อพรรคภูมิใจไทยอย่างแน่นอน

และคนที่น่าจะ “เคย” ตระหนักในเรื่องนี้ ก็คือ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้เคยประกาศ เมื่อครั้งเป็นประธานเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “กัญชาเสรีเพื่อการแพทย์” ของพรรคภูมิใจไทย ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ความว่า

“ขอขอบคุณทุกภาคส่วนสนับสนุนและดูแลผลักดัน วันนี้ถือเป็นการบีบบังคับว่า ถ้าเราทำนโยบายนี้ไม่ได้ เราสูญพันธุ์อย่างแน่นอน”

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล จะไม่มีความพยายามในเรื่องดังกล่าว เพราะสามารถสังเกตได้จากความพยายามปลดล็อกกัญชงแยกออกมาให้เป็นพืชเศรษฐกิจก็ดี หรือ การเสนอร่าง พ.ร.บ.สถาบันพืชเสพติดแห่งประเทศไทยเพื่อให้เกิดกัญชา 6 ต้นก็ดี แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แต่ประชาชนก็ยังมีความสงสัยเพราะสุดท้ายแล้ว ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนหรือใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยหาเสียงไว้ได้จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะเมื่อเวลาผ่านมาพอสมควร อย่าว่าเรื่องที่ประชาชนจะปลูกได้ 6 ต้นเลย แม้แต่คำว่า “เสรีกัญชาทางการแพทย์” ยังกลายเป็นเพียง “จำกัดการใช้กัญชาทางการแพทย์เฉพาะภาครัฐ” โดยภาครัฐมีกัญชามากมายมหาศาลแต่จ่ายยากัญชาให้กับคนไข้ได้น้อยมาก

การที่ภาครัฐซึ่งผูกขาดผลิตภัณฑ์กัญชา และมีกัญชาแล้วจำนวนมาก แต่กลับคัดกรองจนจ่ายยากัญชาให้คนไข้ได้น้อยมาก ซึ่งมีหลายสาเหตุ ได้แก่ แพทย์บางคนไม่กล้าใช้กัญชาเพราะขาดประสบการณ์จึงไม่อยากเสี่ยงในฐานะตัวเองเป็นข้าราชการ แพทย์บางคนเห็นว่าการใช้กัญชามีขั้นตอนทางเอกสารยุ่งยากและเสียเวลามาก ไม่สะดวกแก่การใช้งาน (โดยเฉพาะในสถานพยาบาลที่มีผู้ป่วยแออัด) แพทย์บางคนจ่ายกัญชาตามข้อบ่งใช้เฉพาะตามที่มีการจดสิทธิบัตรของบริษัทยาต่างชาติเพียงไม่กี่โรคเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง แพทย์บางคนไม่อยากจ่ายยากัญชาเพราะการวิ่งเต้นของบริษัทยาที่ขายยาที่ไม่ต้องการให้กัญชามาทดแทนยาเดิม และแพทย์บางคนถูกกดดันจากองค์การวิชาชีพของตัวเอง ฯลฯ

ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้กัญชาจริง และต้องการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน หรือแม้แต่ปราชญ์ชาวบ้าน คนเหล่านี้ไม่มีผลิตภัณฑ์กัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในมือ จึงต้องรักษาคนไข้ในตลาดมืดอย่างเงียบ ๆ ต่อไป

ในขณะที่วัตถุดิบกัญชากับแพทย์ผู้ใช้ “ผิดฝาผิดตัว” ไม่อยู่บนความเป็นจริง คือ แพทย์ที่เป็นเอกชนมีประสบการณ์ในการใช้จริง และพร้อมใช้ กลับไม่มีวัตถุดิบให้ใช้ แต่กัญชาที่อยู่กับแพทย์ในภาครัฐกลับใช้ได้น้อยมาก

และกลายเป็นปัญหาตามมาเมื่อ ยากัญชาขององค์การเภสัชกรรมที่ค้างสต๊อกอยู่ที่โรงพยาบาลภาครัฐจำนวนมากกำลังจะหมดอายุในเดือนกรกฎาคม 2563 คำถามมีอยู่ว่าถ้ายังดำเนินโยบายเช่นนี้ต่อไป งบประมาณของรัฐที่ดำเนินการไปเช่นนั้น กำลังจะสูญเปล่าหรือไม่?

การจำหน่ายกัญชาในส่วนของโรงพยาบาลภาครัฐนั้นมีจำนวนน้อยมาก โดยจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่ได้รับยาจากสถานบริการภาครัฐไม่เกิน 2,600 คนเท่านั้น ทั้งๆที่มีคนลงทะเบียนว่ามีความต้องการจะใช้ยากัญชากับ อ.เดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน เพียงคนเดียวสูงถึง 45,900 คน และมีความเชื่อว่ามีผู้แอบใช้กัญชาใต้ดินเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อีกไม่ต่ำกว่า 8 แสนคน

เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเพราะประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกัญชาของโรงพยาบาลภาครัฐได้ ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้และเข็ดแล้วที่ต้องไปรอคิวนานๆแต่กลับไม่ได้รับยากัญชาจากสถานพยาบาลภาครัฐ ส่งผลทำให้ในช่วงหลังๆมานี้คลินิกกัญชามีคนเข้าไปติดต่อน้อยลงมากอย่างชัดเจน

สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นบีบให้ประชาชนยังคงใช้กัญชาใต้ดินต่อไป แต่ปัญหากลับรุมเร้ามากขึ้นเมื่อเกิดการจับกุมผู้ครอบครองกัญชาเพราะหมดช่วงเวลานิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ไปนานานแล้ว

ปัญหา “หลักคิด” ของกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยมี 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง คือ ความพยายามให้แทบทุกกิจกรรมของกัญชาผูกขาดอยู่กับเฉพาะภาครัฐเท่านั้น ทั้งๆที่อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ไม่เคยมีข้อกำหนดว่าต้องผูกขาดอยู่กับภาครัฐ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ก็ไม่ได้จำกัดให้สถานพยาบาลภาครัฐเท่านั้น และเปิดโอกาสให้คลินิกและโรงพยาบาลภาคเอกชนมีสิทธิจ่ายกัญชาได้ แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับผูกขาดเอาไว้กับภาครัฐทั้งหมด

กรณีล่าสุดที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการเปิดคลินิกกัญชาในกระทรวงสาธารณสุข โดยจะเปิดบริการ 7 วัน แต่ก็ยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงประเด็นอยู่ดี เพราะต่อให้เชิญหมอที่มาจ่ายกัญชามาร่วมงานได้ พอมีผู้ป่วยมาใช้บริการมากในที่เดียวกันก็รองรับไม่ได้อยู่ดี และจะเชิญหมอพื้นบ้านเอกชนอื่นๆมาร่วมงาน ก็ทำไปไม่ได้ตลอด เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เพราะยังคงติดกับดักอยู่เฉพาะการผูกขาดอยู่กับภาครัฐอยู่เหมือนเดิม

ประการที่สอง คือ ความพยายามให้มาตรฐานยา มาตรฐานพืช เป็นยาสำหรับเภสัชกรรมและยาแผนปัจจุบันในรูปแบบผลิตภัณฑ์ยากัญชาสมัยใหม่เท่านั้น ทั้งๆที่ยาสมัยใหม่ที่เน้นการใช้ “สารสำคัญ” ที่สกัดเชิงเดี่ยวออกมานั้นจะต้องผ่านการวิจัยจนหลักฐานแน่นหนาเพียงพอแล้วเท่านั้น ซึ่งก็ย่อมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการจดสิทธิบัตรของบริษัทยาต่างชาติมาแล้วทั้งสิ้น ในขณะที่การสกัดโดยรวมที่ไม่ได้แยกสารสำคัญออกมาแบบหมอพื้นบ้านหรือแพทย์แผนไทย หรือที่เรียกว่าการทำการเตรียมยาแบบบ้านๆ เช่น การบีบเย็น ตำรับยาของแพทย์แผนไทยและ แพทย์พื้นบ้าน ฯลฯ ก็มีประโยชน์ทางการแพทย์เช่นเดียวกัน

แต่นับเป็นความโชคดีของประเทศ ที่ประเทศไทยมีผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ที่มีการปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะรายแบบการใช้กัญชาโดยรวมที่ไม่ต้องแยกสารสำคัญเชิงเดี่ยวออกมา เพราะการแพทย์แผนไทยเป็นการแพทย์ที่อยู่กับทุกส่วนของต้นไม้ทุกชนิด แล้วใช้วิธีชิมรสยาและฤทธิ์ยาเพื่อกำหนดธาตุของสมุนไพรนั้น แล้วปรับให้สอดคล้องกับสภาพธาตุ ไฟ ดิน ลม น้ำของผู้ป่วย

และที่สำคัญคือการแพทย์แผนไทยมีการระบุสรรพคุณเภสัชของกัญชาเป็นการเฉพาะตั้งแต่ 150 ปีที่แล้ว การแพทย์แผนไทยจึงมีความชอบธรรมที่จะสามารถใช้กัญชาได้ตามวิชาชีพของตัวเองได้ (ถ้าไม่ถูกก้าวล่วงทางวิชาชีพให้เปลี่ยนรูปแบบมาใช้กรอบของการแพทย์และเภสัชกรรมแผนปัจจุบัน)

การปรุงยาเฉพาะรายนั้น ย่อมไม่ได้หมายถึงการทำตำรับยาขายให้กับคนทั่วไป แต่เป็นการปรุงเพื่อใช้กับคนไข้ที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการปรุงยาเฉพาะรายจึงย่อมไม่ใช่เป็นการใช้ตำรับเพียงแค่มีการบันทึกต่อๆกันมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรุงยาโดยพิเคราะห์จากสมุฏฐานวินิจฉัยของคนไข้เป็นการเฉพาะรายด้วย

ดังนั้น การแพทย์แผนไทยจึงย่อมทางออกของประเทศไทยสำหรับกัญชาแบบพึ่งพาภูมิปัญญาของประเทศไทยเอง โดยไม่ต้องใช้ยาราคาแพงในรูปแบบยาสมัยใหม่ที่มีค่าสิทธิบัตรจากบริษัทยาต่างชาติอีกด้วย

พระราชบัญญัติวิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 แล้ว ยังถูกกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 55 เอาไว้ในวรรคแรกอย่างชัดเจนด้วยว่า:

“มาตรา ๕๕ รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

และถ้าแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ที่ผ่านการฝึกอบรมกัญชาสามารถปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะรายได้แล้ว ก็จะสามารถแก้ปัญหาตั้งแต่การปลูก การผลิต และการจำหน่ายยากัญชา เพื่อทางการแพทย์ซึ่งมีความคล่องตัวกว่า “สารสกัดเชิงเดี่ยวของกัญชาในกรอบของการแพทย์แผนปัจจุบัน” และในขณะเดียวกันก็จะสามารถหลุดออกจากข้อจำกัดจำนวนมากในการผูกขาดเฉพาะภาครัฐด้วย

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ก็ได้เปิดช่องให้กับการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน เป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นสำหรับการ “ผลิตเพื่อปรุงยาเฉพาะราย” โดยไม่ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่ต้องร่วมกับรัฐตามบทเฉพาะกาลภายใน 5 ปี นับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ได้ใช้บังคับ ในมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า:

“มาตรา ๒๑ ในวาระเริ่มแรกภายในระยะเวลาห้าปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การขอรับใบอนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา ๒๖/๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้อนุญาตได้เฉพาะกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๒๖/๕ (๑) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นผู้ขออนุญาตตามมาตรา ๒๖/๕ (๒) (๓) (๔) หรือ (๗) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งดำเนินการร่วมกับผู้ขออนุญาตที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐตามมาตรา ๒๖/๕ (๓) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับ แก่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) การขอรับใบอนุญาต ผลิต ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา ๒๖/๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามมาตรา ๒๖/๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเป็นการปรุงยาสำหรับคนไข้เฉพาะรายซึ่งตนเองเป็นผู้ให้การรักษา”

และในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 บัญญัตินิยามของคำว่า “ผลิต” เอาไว้ว่า:

“มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้...

“ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุงแปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย”

ดังนั้นเมื่อนำนิยามคำว่า “ผลิต” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาใส่แทนคำว่าผลิตในมาตรา 21 วรรค 2 (1) อันข้อยกเว้นสำหรับแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านที่ไม่ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐหรือต้องร่วมงานกับหน่วยงานของรัฐในระยะเวลา 5 ปี ก็จะมีความหมายว่า:

“ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับ แก่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) การขอรับใบอนุญาตเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุงแปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา ๒๖/๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีผู้ขออนุญาตเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามมาตรา ๒๖/๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเป็นการปรุงยาสำหรับคนไข้เฉพาะรายซึ่งตนเองเป็นผู้ให้การรักษา”

นั่นหมายความว่า แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน สามารถขอรับใบอนุญาตเพาะปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะรายได้แน่นอน

โดยเฉพาะการปรุงยาเฉพาะรายนั้น มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขถึง 2 ฉบับ เตรียมรองรับเอาไว้แล้ว ทั้ง “ตำรับยา” และ “แนวทางการปรุงยา ของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน” ที่อยู่นอกเหนือจากตำรับยาที่เคยมีอยู่แต่เดิม กล่าวคือ

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาหรือการศึกษาให้วิจัยได้ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 11 เมษายน 2562 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 สิงหาคม 2562 ข้อ 5 กำหนดเอาไว้ให้หมายรวมถึง

“ข้อ ๕ ตำรับยาที่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยปรุงขึ้นจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน และได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก”

ดังนั้นจะต้องมีการเสนอตำรับยาที่ปรุงขึ้นจาก “องค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน” เสนอเพื่อให้กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกรับรอง

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ที่จะสามารถปรุง หรือสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมได้ ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ระบุเอาไว้ว่า:

“ข้อ ๒ ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ต้อง ผ่านการอบรม หลักสูตรการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่จากกระทรวงสาธารณสุข หรือหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขหรือสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ให้การรับรอง และในการปรุงหรือจ่ายต้องดำเนินการภายใต้สถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

ข้อ ๓ หมอพื้นบ้านที่จะสามารถปรุง หรือสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่จากกระทรวงสาธารณสุข หรือหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขหรือสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยให้การรับรอง

ข้อ ๔ แนวทางการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยของต ของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ต้องมีการระบุองค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจนและได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก”

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “การบ้าน” ที่กระทรวงสาธารสุขจะต้องดำเนินการฝ่าด่านต่อไป จึงอยู่ที่ “กฎกระทรวงสาธารณสุข” ในการให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน สามารถปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะรายได้ตามข้อยกเว้นที่ปรากฏให้ในมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7)และการให้กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกเร่งดำเนินการเปิดโอกาสให้การ รับรองตำรับยาและแนวทางการปรุงยาเฉพาะรายในสถานพยาบาลเอกชน ก็จะเป็นการเปิดช่องให้ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านที่เป็นเอกชนและผ่านการฝึกอบรมแล้ว กลายเป็นช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาได้สะดวกขึ้นได้โดยทันที และกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกก็ควรจะเร่งอบรมให้แพทย์แผนไทยในการใช้กัญชาให้มากยิ่งขึ้นกว่านี้ด้วย

ข้อเสนอด้วย “กัลยาณมิตร” ข้างต้นเป็นหนทางที่สามารถทำได้โดยทันที โดยไม่ต้องไปแก้ไขกฎหมายอะไรทั้งสิ้นแล้ว เพราะแม้ในความเป็นจริงอาจจะไม่มีใครออกมาขับไล่พรรคภูมิใจไทยก็ตาม แต่เห็นด้วยประการหนึ่งกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่เคยได้ประกาศอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ถ้าพรรคภูมิใจไทยทำนโยบายนี้ไม่ได้ พรรคภูมิใจไทยสูญพันธุ์อย่างแน่นอน”

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น