"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อกรณี “กัญชาทางการแพทย์” นั้น ได้กลายเป็นประเด็นในการจุดประกายที่ทำให้มีโอกาสที่จะ “บูรณาการทางการแพทย์” จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน หรือแม้กระทั่งเภสัชกรยุคใหม่กับเภสัชสมุนไพรของการแพทย์แผนไทย ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม
เพราะกรณี “กัญชาทางการแพทย์” ช่วยทำให้สังคมเห็นได้รับรู้ประโยชน์ของการแพทย์ต่างสาขาที่มีทั้งข้อจำกัดและจะเป็นทางออกให้กับสังคมได้ และกรณีกัญชาเราจะได้เห็นคุณค่าของวิวัฒนาการของการแพทย์และเภสัชปัจจุบัน และประโยชน์ของภูมิปัญญาการแพทย์ไทยที่ควรค่าแก่การบูรณาการอย่างยิ่ง
จุดแข็งของการแพทย์และเภสัชปัจจุบันคือความแม่นยำและองค์ความรู้จากงานวิจัยในเรื่องกัญชาที่มีความชัดเจน ทั้งในเรื่องความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีความรู้ใหม่ที่มนุษย์ไม่เคยทราบมาก่อน ทั้งในเรื่องสรรพคุณและประสิทธิภาพของสารสำคัญแต่ละชนิด ผลเสียที่เกิดขึ้น และองค์ความรู้บางอย่างก็อาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยมีความรู้มาก่อนด้วยอาศัยภูมิปัญญาในอดีตแต่เพียงอย่างเดียว
แต่จุดแข็งก็กลายเป็นจุดอ่อนเช่นกัน เพราะประเทศไทยไม่ได้มีการใช้วิจัยในเรื่องกัญชามาอย่างยาวนาน เนื่องด้วยถูกกฎหมายกำหนดให้เป็นยาเสพติด ทำให้ข้อบ่งใช้สารสกัดกัญชาของแพทย์แผนปัจจุบันถูกตีกรอบอย่างจำกัดเพื่อมาใช้กับทางการแพทย์ไม่กี่โรคเท่าที่เคยมีงานวิจัยอย่างชัดเจนตามที่บริษัทยาต่างชาติได้วิจัยทางเภสัชกรรมและจดสิทธิบัตรในต่างประเทศมาแล้วทั้งสิ้น
จุดแข็งของการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ คือมีภูมิปัญญาในเรื่องของพืชสมุนไพรโดยเฉพาะ โดยการใช้สรรพคุณเภสัชสมุนไพรชนิดนั้นให้สอดคล้องกับเหตุแห่งโรค อันได้แก่ ธาตุของผู้ป่วย ฤดูกาลที่เป็นเหตุทำให้เกิดโรค อายุของผู้ป่วย และเวลาและอาการต่างๆที่ดำเนินไปของโรคนั้นๆ โดยใช้กัญชาเป็นสมุนไพรแบบเต็มครบส่วนโดยที่ไม่มีการสกัดแยกสารสำคัญตัวใดตัวหนึ่งออกมาเป็นการเฉพาะซึ่งต่างจากเภสัชกรรมยุคปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการที่มีการพิจารณาจากภูมิปัญญาด้านรสยาของสมุนไพรของการแพทย์แผนไทย จึงมีการถ่วงดุลลดผลเสียในรสยากัญชาด้วยสมุนไพรหลายตัวกลายเป็นตำรับยา ทำให้ข้อบ่งใช้ในการใช้กัญชาในลักษณะเช่นนี้มีขอบเขตกว้างกว่าการสกัดสารสำคัญของเภสัชกรรมยุคใหม่ จึงไม่ต้องใช้อยู่ในขอบเขตที่มีการจดสิทธิบัตรกัญชาของบริษัทยาต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นภูมิปัญญาที่ลดผลเสียของกัญชาในสิ่งที่โลกตะวันตกไม่มีมรดกของชาติเช่นนี้อีกด้วย
แต่การใช้กัญชาในลักษณะการแพทย์แผนไทยก็มีข้อเสียตรงที่ว่าหากมีตำรับยาใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อนในลักษณะการปรุงยาเฉพาะราย ย่อมต้องถูกผู้คนในวงการแพทย์แผนปัจจุบันและเภสัชกรรมยุคใหม่ตั้งข้อสงสัยในความแม่นยำมาตรฐานลิ้นในการสัมผัสรสยาและความสามารถในการรักษาของแพทย์แผนไทยแต่ละคนว่ามีความสามารถมากน้อยเพียงใด
แต่หากจะบังคับให้นำตำรับกัญชาของการแพทย์แผนไทย ต้องใช้รูปแบบวิจัยตามขั้นตอนของเภสัชกรรมยุคใหม่เพื่ออนุมัติตำรับยาที่ปรุงยาเฉพาะราย เช่น การเรียงลำดับวิจัยในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง แล้วจึงไปวิจัยในมนุษย์ก็อาจจะไม่สอดคล้องกับวิธีการใช้ดุลพินิจเพื่อวินิจฉัยสมุฏฐานแห่งโรคในวิธีการการประกอบโรคศิลปะของวิชาชีพแพทย์แผนไทยเช่นกัน หรืออาจจะถึงขั้นถูกกล่าวหาว่ามีการก้าวล่วง แทรกแซง และกีดกั้นทางวิชาชีพจากคนในวิชาชีพอื่นที่ไม่ได้มีความรู้การแพทย์แผนไทยเสียด้วยซ้ำไป
ในความเป็นจริงแล้วไม่จะเป็นการแพทย์แผนปัจจุบัน เภสัชกรรมยุคใหม่ หรือแม้แต่แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน ต่างก็มีความรู้ในเรื่องข้อระมัดระวังในการใช้กัญชากันทั้งสิ้น โดยเฉพาะความระมัดระวังในเรื่องปริมาณการใช้กัญชาเกินพอดี ทั้งปริมาณการใช้ ระยะเวลาการใช้กัญชา อายุของคนที่ใช้กัญชา ฯลฯ
การแพทย์และเภสัชกรรมยุคปัจจุบันจะมีกำหนดปริมาณการใช้สารสำคัญที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะความเป็นพิษต่อผู้ป่วยและไม่ให้เกิดผลเสียในทางลบต่อสุขภาพจนมากเกินไปและกำหนดเป็นมาตรฐานออกมาให้สอดคล้องกับคนไข้เป็นส่วนใหญ่ โดยผลเสียของกัญชาที่มีการสำรวจและพบได้ก็คือ การไอ อาการทางจิตประสาท และอาจจะทำให้เป็นไข้ ฯลฯ [1]
ส่วนการแพทย์แผนไทยก็ต้องพิจารณาในเรื่องสมุฏฐานวินิจฉัยของโรคว่าเกิดจากเงื่อนไขใด ทั้งธาตุ ฤดู อายุ เวลา รวมถึงอาหารการกินและใช้ชีวิต แล้วจึงปรุงออกมาเป็นตำรับยาขนานต่างๆแล้ว ปรับแต่งตามสภาพคนไข้อีกครั้ง ดังนั้นจึงไม่ปรากฏว่ามีตำรับยาไทยที่ผสมกัญชาในปริมาณมากๆจนก่อให้เกิดความมึนเมาเช่นกัน
สรรพคุณกัญชาตามตำราไทยในแต่ละส่วนของกัญชานั้นระบุว่า “ใบ” ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย เจริญอาหาร กระตุ้นประสาท ทำให้นอนหลับ “เมล็ด” ชูกำลัง เจริญอาหาร ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ “ช่อดอกตัวเมีย” บำรุงประสาท แก้ปวดประสาท ทำให้เคลิ้มฝัน มีฤทธิ์เป็นยาระงับปวด แต่ถ้าบริโภคมากจะทำให้คอแห้ง มึนเมา หลอกหลอนประสาท ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หวาดกลัว หมดสติ
เช่นเดียวกับเรื่อง 9 รสยาไทยนั้น ได้ระบุรสเมาเบื่อของสมุนไพรว่า แก้พิษ พิษดี พิษเสมหะ พิษโลหิต พิษไข้ พิษสัตว์กัดต่อย แก้โรคธาตุน้ำ แก้พยาธิผื่นคัน ฯลฯ ซึ่งรสยาที่เป็น “ยาเมา”นั้น ในการแพทย์แผนไทยใช้สำหรับเรียกยาที่ใช้ระงับความเจ็บปวด แต่รสยาดังกล่าวก็แสลงกับการ “ไอ” และ “หัวใจพิการ” ด้วยเหตุผลดังกล่าวรสยาเมาเบื่อจึงใช้การปรุงเป็นตำรับอันแสดงถึงความระมัดระวังของการแพทย์แผนไทยเช่นเดียวกัน
ในพระคัมภีร์สรรพคุณเภสัชของแพทย์แผนไทยนั้น ได้ระบุถึง “กัญชา” เป็นการเฉพาะครั้งแรก ปรากฏในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ ประมาณ 150 ปีที่แล้วว่า
“กันชาแก้ไขผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่นเสียงสั่นเป็นด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ เอาตรีกะฏุก จันทร์ทั้ง ๒ ใบสะเดา ใบคนทีเขมา พริกล่อนเสมอภาค ใบกันชาเท่ายาทั้งนั้น ทำผง เอาน้ำมะพร้าว น้ำผึ้ง น้ำส้มซ่า น้ำตาลทราย กระทือสด น้ำเบญจทับทิม ต้มละลายกินหายแล”[2]
จึงย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า แม้แต่การแพทย์แผนไทยก็ไม่ได้ใช้กัญชากับทุกกรณี แต่จะใช้เฉพาะกรณีที่เป็นธาตุลมกำเริบ หรือวาโยธาตุกำเริบ ไม่ใช่ธาตุลมหย่อน หรือธาตุลมพิการ ดังนั้นหากใช้ผิดก็ย่อมส่งผลเสียให้เลวร้ายกว่าเดิมได้ เช่น ถ้าเป็นปัญหาธาตุด้วยธาตุลมหย่อน แล้วยังบริโภคกัญชาเข้าไปอีกก็จะส่งผลทำให้กัญชาทำให้ธาตุลมหย่อนเสียยิ่งกว่าเดิมก็ได้เช่นกัน จริงหรือไม่?
เช่นเดียวกับกรณีที่มีผู้ป่วยซึ่งป่วยด้วยโรคธาตุลมกำเริบ แล้วใช้กัญชาในการรักษาจนธาตุลมเป็นปกติแล้ว แต่ยังคงใช้ต่อไปจนนานเกินไป โดยหลักการแล้วย่อมส่งผลเสียทำให้ธาตุลมจากปกติกลายเป็นหย่อนได้ด้วยเช่นกัน จริงหรือไม่?
ด้วยเหตุผลนี้งานวิจัยในเรื่องกัญชาจึงดูขัดแย้งกันหลายชิ้นถึงข้อดีและเสีย เช่น กรณีกัญชาแก้ไขพิษทางโลหิตแต่กลับสร้างปัญหาระบบทางเดินอาหารไม่เคลื่อนตัว [3] ทั้งในเรื่องที่ว่ากัญชาช่วยลดการอักเสบแต่บางงานวิจัยก็ระบุถึงผลกระทบต่อการกดระบบภูมิคุ้มกันหรือไม่ [4], [5] แม้แต่ในเรื่องสมรรถภาพทางเพศชายที่พบว่าผู้ที่ใช้กัญชาในวัยหนุ่มสาวให้ผลดีด้านหนึ่ง แต่กลับส่งผลเสียต่อสมรรถภาพทางเพศของชายสูงวัยที่ใช้กัญชาเป็นประจำทุกวัน [6] ฯลฯ
ความสับสนดังที่กล่าวข้างต้น หากมีการนำแนวทางของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมาช่วยหาทิศทางหรือจัดระเบียบในการใช้กัญชาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และใช้ตำรับยาอื่นๆที่รักษาที่เหตุแห่งโรค โดยไม่ใช่การระงับปลายอาการของธาตุลมกำเริบโดยใช้กัญชาแต่เพียงอย่างเดียว ไม่เว้นแม้แต่ฤดูกาลและเวลาที่ใช้กัญชา ด้วย ดังตัวอย่างปรากฏที่เกี่ยวกับวาโยธาตุกำเริบ ดังปรากฏตัวอย่างในพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ความตอนหนึ่งว่า
“เดือนแปดถึงเดือนสิบ วะสันต์หยิบขึ้นแสดง วาโยกำเริบแรง เพราะอาหารอันชุ่มมัน ให้เกิดโรคผอมเหลือง มักครั่นตัวหายใจสั้น ในท้องให้ร้องลั่น อยู่โครกๆแดกขึ้นลง หนึ่งเล่าให้หาวเรอ ทั้งหน้าตาวิงเวียนวง อาหารอันบันจง ที่จะกินบรู้รส หูหนักปากเหม็นหวาน บังเกิดกาฬเลือดไหลหยด โสตฆานโอฐออกหมด โทษวาโยเข้าย่ำยี ผิแพทย์จะแก้ลม ในวสันต์ฤดูสี่ แฝกหอมพริกไทยมี ทั้งเปราะหอมแลแห้วหมู ว่านน้ำและดีปลี เสมอภาคด้วยตราชู รากกะเทียมอันขาวฟู หนักเท่ายาสิ้นทั้งหลาย ผึ่งแดดกระทำผง เอาน้ำร้อนเป็นกระสาย กินแก้วาโยหาย ชื่อฤทธิเจริญดี”[7]
แต่ถ้า ธาตุลมพิการ นั้น ก็จะปรากฏในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ในช่วงเวลาเดียวกันว่า
“เดือน ๘, ๙, ๑๐ ทั้ง ๓ เดือนนี้ ว่าด้วยวาโยธาตุชื่อ “ชรัค์คิ”พิการ ให้ผอมเหลือง ให้เมื่อยทุกข้อทุกลำทั่วสรรพางค์กาย ให้แดกขึ้นแดกลง ให้ลั่นโครกๆ ให้หาวเรอวิงเวียน หน้าตา หูหนัก มักให้ร้อน ในอก ในใจ ให้ระทด ระทวย ย่อมให้หายใจสั้น ย่อมให้เหม็นปากแลให้หวานปาก มักให้โลหิตออกทางจมูกปาก กินอาหารไม่รู้จักรส คือวาโยธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยาชื่อฤทธิจร เอาดีปลี ๑ แฝกหอม ๑ เปราะหอม ๑ พริกไทย ๑ แห้วหมู ๑ หว้านน้ำ ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน รากกระเทียมเท่ายาทั้งหลาย ตำเปนผงละลายน้ำร้อนหรือน้ำผึ้งก็ได้ กินแก้วาโยธาตุพิการหายแล” [8]
ทั้งนี้ วาตะสมุฏฐาน นั้นหมายถึงลมในร่างกายกำเริบ ผิดปติ ทำให้เกิดโรคอาการต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยวาโยธาตุ และอากาศธาตุ โดยวาโยธาตุนี้หมายถึงลมอันมีอยู่ในร่างกาย 6 ชนิดคือ 1. ลมสำหรับพัดตั้งแต่ศีรษะตลอดปลายเท้า บางตำราว่าตั้งแต่กระเพาะอาหารถึงลำคอ ได้ แก่เราเป็นต้น 2. ลมสำหรับพันดตั้งแต่ปลายเท้าตลอดถึงศีรษะ บางตำราว่าตั้งแต่ลำไส้น้อยถึงทวานหนัก ได้แก่ ผายลมเป็นต้น 3. ลมสำหรับพัด อยู่ในท้องนอกลำไส้ 4.ลมสำหรับพัดอยู่ในลำไส้และกระเพาะอาหาร 5. ลมสำหรับพัดร่างกาย ลมในที่นี้แพทย์แผนโบราณหมายถึง โลหิต และ 6. ลมสำหรับหายใจเข้าออก [9]
แต่ธาตุลมทั้ง 6 ประการข้างต้น ซึ่งเรียกว่า ฉกาลวาโยนั้น ถูกกำหนดแปรสภาพไปจากการเกิดขึ้น เคลื่อนไป และแตกดับไป ก็ต้องอาศัยลม 3 ชนิดคือ หทัยวาต หรือ ลมที่เกิดขึ้นในน้ำเลี้ยงหัวใจ เป็นสัญญาณแห่งมรณกรรม, สัตถะกะวาต คือลมที่บังคับหัวใจ, และลมสุมะนา คือลมที่ออกจากขั้วหัวใจ ปรากฏในพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย ความว่า
“อันว่าสมุฏฐานวาโยธาตุพิการนั้น เปนที่ตั้งแห่งฉกาลวาโย ซึ่งจะวิปริตเปนชาติ จะละนะ ภินนะ ก็อาไศรยแห่ง หทัยวาต, สัตถะกะวาต, สุมะนา, ทั้ง ๓ เป็นอาทิ ให้เปนเหตุในกองวาโยธาตุพิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง” [10]
นอกจาก ธาตุสมุฏฐานและอุตุสมุฏฐาน (ฤดูกาล)แล้ว ยังมีการพิจารณาในเรื่อง อายุสมุฏฐาน ด้วย โดยกำหนดว่าอายุที่มีวาโยธาตุ หรือธาตุลมเป็นหลักนั้นคือปัจฉิมวัย ที่นับตั้งแต่อายุพ้น 32 ปี ไปจนถึง 64 ปี โดยสมุฏฐานวาโยเมื่ออายุพ้น 64 ปีไปแล้ว สมุฏฐานวาโยเป็นเจ้าเรือน อาโป (ธาตุน้ำ)เข้าแทรก พิกัดเสมหะกับเหงื่อ [11]
นอกจากนั้นยังมีการกำหนดกาลสมุฏฐาน คือการกำหนดเวลา เป็นที่ตั้งแห่งสมุฏฐานโดย แบ่งช่วงเวลาเป็นระยะ โดยธาตุลมจะถูกกำหนดในการแบ่งเวลาเป็น 4 ระยะว่า ตั้งแต่บ่าย 3 โมงถึงย่ำค่ำ และเวลา 3 ทุ่มถึงย่ำรุ่ง เป็น สมุฏฐานวาโย แต่หากแบ่งกาลสมุฏฐานเป็น 6 ระยะจะพบว่าสมุฏฐานเกิดจากวาตะมี 2 ช่วงคือ เวลาบ่าย 2 โมงถึงย่ำค่ำเวลาหนึ่ง และเวลา 8 ทุ่ม หรือ ตี 2 ถึง ย่ำรุ่งเป็นอีกเวลาหนึ่ง [11]
นอกจากการพิจารณาฤดูกาลของธาตุลมกำเริบและพิการข้างต้นแล้ว เมื่อพิจารณาในห้องจักราศี ยังพบว่าช่วงเวลากำเริบของธาตุลมที่บังคับหัวใจ ในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมถุน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 6 ไปจนถึงเพ็ญเดือน 7 ในพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยความว่า
“ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๖ ไปจนถึงเพ็ญเดือน ๗ เปนกาลกำหนดแห่งพระอาทิตย์อยู่ในราษีเมถุน วาโยเจ้าสมุฏฐานกำเริบหทัยวาตะระคนเป็นเหตุ”[12]
และในกรณีวาโยธาตุกำเริบนั้น ในพระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) ก็ได้มีการกำหนดให้ใช้มหาพิกัดเบญจกูล โดยพริกไทยแทรก ร่วมกับ ตรีผลา และตรีกฏุก ความว่า :
“ถ้าวาโยธาตุกำเริบ เอาช้าพลู ๑ เจตมูล ๒ ดีปลี ๓ พริกไทย ๔ สะค้าน ๘ สมอไทย ๑๖ ขิงแห้ง ระคนประจำวาตะสมุฏฐานกำเริบ”[13]
สิ่งที่คนในยุคปัจจุบันจำเป็นจะต้องพิจารณาผนวกองค์ความรู้จากภูมิปัญญาในอดีตและองค์ความรู้ปัจจุบันมีดังต่อไปนี้ คือ
ประการแรก องค์ความรู้ในยุคปัจจุบัน เรามีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการทำงานของสารสำคัญในกัญชามากขึ้น และมีข้อมูลมากขึ้นลงในรายละเอียดลึกลงไปกว่าเดิมด้วยว่า จะสกัดมันอย่างไรด้วยความร้อนอุณหภูมิเท่าไหร่เวลาเท่าไหร่ และสกัดแม้จะเต็มส่วนด้วยสารละลายต่างกันอย่างไร ให้ผลทางสรรพคุณยาที่เปลี่ยนไปอย่างไร เราจะสามารถนำมาบูรณาการพัฒนาการสกัดกัญชาโดยรวมของการแพทย์แผนไทยได้หรือไม่?
ประการที่สอง “น้ำมันกัญชา” ซึ่งมาจาก “ยางกัญชา”นั้นเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับคนไข้ได้จำนวนมาก เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน ฯลฯ องค์ความรู้ดังกล่าวนี้ไม่พบว่าแพทย์แผนไทยจะเคยมีการสกัดเข้มข้นเท่านี้มาก่อน และสารสำคัญเหล่านั้นนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ด้วยข้อมูลใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าเดิม เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการผนวกองค์ความรู้ของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นตำรับยาใหม่เข้ากับ “รสยาใหม่” ของน้ำมันกัญชายุคปัจจุบัน เพื่อลดผลเสียอันไม่พึงประสงค์ให้เหลือน้อยลงที่สุด
ประการที่สาม ปัจจุบันสายพันธุ์กัญชาพัฒนาไปมากกว่าเดิมมาก มีทั้งเมามาก เมาน้อย หรือไม่เมาเลย เราจะสามารถปรับปรุงตำรับยาที่มีรสยาใหม่ด้วยการแพทย์แผนไทยได้อย่างไร
ประการที่สี่ ปัจจุบันสิ่งแวดล้อม ฤดูกาล ตลอดจนวิถีชีวิตมนุษย์เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น อุณหภูมิในท้องทะเล และผิวดินร้อนกว่าเดิม แม้แต่ในฤดูหนาว อากาศในประเทศไทยก็ร้อนขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก [14] และคนไทยก็รับสารพิษจากอาหารและสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าเดิม ในขณะที่คนไทยในยุคปัจจุบันจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ในห้องปรับอากาศ ในขณะที่คนที่ยากจนอาศัยอยู่ในอากาศที่ร้อนขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น สมควรแก่เวลาที่จะวินิจฉัยปรับตำรับยาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงอย่างไร
คำถาม 4 ประการข้างต้น จะสามารถหาคำตอบเพื่อพัฒนาได้ด้วยการลดอัตตา ยอมรับและเคารพในข้อดีของแต่ละวิชาชีพ ทั้งการแพทย์และเภสัชในการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยแล้วทำให้เกิดการบูรณาการกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ถ้าถึงเวลานั้นการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งถูกแบ่งให้แตกแยกกันมานานแสนนาน อาจมีโอกาสทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนด้วยการใช้ กัญชา เป็นทูตระหว่างวิชชาชีพทางการแพทย์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยสำเร็จก็ได้
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] Elad Yom-Tov1, Phd, et al., Adverse Reaction Associated With Cannabis Consumption as Evident from Search Engin Queries, JMIR Public Health and Surveillance, Published on 26.10.17 Vol 3 No 4 (2017): Oct-Dec.
[2] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๓๙๕, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3
[3] ปานเทพ พัวงพงษ์พันธ์, บทเรียนกรณีศึกษาน้ำมันกัญชง (Hemp Oil)ในผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว "มะเร็งหายแต่สุดท้ายกลับเสียชีวิต" !?, MGR Online, เผยแพร่: 17 พ.ย. 2560 17:18
[4] Toby K. Eisenstein, Effects of Cannabinoids on T-Cell Function and Resistance to Infection., J Neuroimmune Pharmacol., 2015 Jun; 10(2): 204-216.
Published online 2015 Apr 16. doi: 10.1007/s11481-015-9603-3
[5] Klein TW, et al., Inhibition of natural killer cenn function by marijuana components., J Toxicol Environ Health. 1987;20(4):321-32. DOI: 10.1080/15287398709530986
[6] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ความลับของ “กัญชา” กับผลกระทบต่อ “ฮอร์โมนเพศชาย” และ “ต่อมลูกหมาก”, ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 16 ส.ค. 2562 17:21 ปรับปรุง: 16 ส.ค. 2562 20:14
[7] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๖๑๐, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3
[8] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๓๑๙, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3
[9] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๘๖๔, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3
[10] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๔๖๒, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3
[11] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๘๖๘, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3
[12] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๔๔๔, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3
[13] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๔๐๑, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3
[14] Rayner N, Parker D, Horton E, Folland C, Alexander L, Rowell D, Kent E, Kaplan A. J Geophys Res. 2003 Jul 17;108 doi: 10.1029/2002JD002670. [CrossRef] [Google Scholar]