xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำรับ “ยาอายุวัฒนะ ๒๐๐ ปี”/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

พระยาพิศณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสรสมัยนั้นได้เคยเขียนคำนำสำหรับการเรียบเรียงหนังสือแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ และเล่ม ๒ ความตอนหนึ่งว่า

“บุคคลซึ่งเกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีความชราพยาธิมรณะเปนธรรมดา ความชราและมรณะนั้นเปนของประจำตัวสัตวโลก ถึงผู้มีวิชาความรู้วิเศษประเสริฐเพียงไรก็ไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนพยาธิคือความเจ็บไข้นั้นมีเครื่องป้องกันอยู่ ถ้ายังไม่ถึงอุปัจเฉทะกะกรรม คือกรรมซึ่งมาตัดชีวิตินทรีย์เปนแท้แล้ว ก็อาจเยียวยาให้หายเปนปรกติได้ สิ่งที่เปนเครื่องเยียวยารักษาใหหายได้นั้นคือ “ยา” นักปราชญ์ผู้ชำนาญในวิชาแพทย์ได้เรียบเรียงร้อยกรองอาการโรคแลสรรพคุณยาที่แก้ไขให้หายได้นั้น ขึ้นไว้เปนพระคัมภีร์ มีอยู่แทบทุกประเทศ ตามส่วนที่ได้เคยทดลองเห็นคุณประโยชน์มาแล้ว ในประเทศของตนนั้น แต่พึงเข้าใจว่ามีโรคบางอย่างที่ใช้ยาประเทศอื่นไม่เหมาะดีเท่ายาในประเทศนั้นเอง เหตุด้วยดินฟ้าอากาศต่างกัน เพราะฉนั้นภูมิ์ประเทศจึงเปนข้อสำคัญในการรักษาไข้เจ็บอย่างหนึ่ง” [1]

ถึงแม้ว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถจะหนีจากสัจธรรมนี้ได้ แต่มนุษย์ก็พยายามหาหนทางในการขยายอายุขัยของมนุษย์ให้ยืนยาวขึ้น และไม่ว่าการยืดอายุขัยจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษยชาติในโลกใบนี้มีอายุยืนขึ้น อันมาจากการเปลี่ยนแปลงอันสำคัญอย่างน้อย 4 ประการ คือ มนุษย์เกิดการทำสงครามน้อยลง, มนุษย์สามารถเอาชนะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อได้มากขึ้น, มนุษย์มีสุขอนามัยที่ดีขึ้นกว่าเดิม, และมนุษย์มีการพัฒนาองค์ความรู้ในการป้องกันและเอาชนะโรคร้ายได้มากขึ้นกว่าเดิม ดังตัวอย่างที่ปรากฏในประเทศอังกฤษและเวลส์ว่ามีประชากรที่มีอายุยืนเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ [2]

ดวงจิตเปรียบดั่งกษัตริย์ แพทย์เปรียบเป็นทหาร และ ปิตตัง (น้ำดี)ในการย่อยอาหารเปรียบเหมือนวังหน้าและอาหารเปรียบเหมือนเสบียงเลี้ยงกองทัพ ดังนั้น ทั้งดวงจิต แพทย์ และอาหารจึงต้องรู้จักในการบูรณาการห้ามมิให้โรคทั้งหลายที่เปรียบเหมือนเป็นข้าศึกเข้ามาในกาย ดังปรากฏในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ ซึ่งเรียบเรียงโดยพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรี ความว่า

“อนึ่งจะกล่าวสอน กายนครมีมากหลาย
ประเทียบเปรียบในกาย ทุกหญิงชายในโลกา
ดวงจิตรคือกระษัตริย์ ผ่านสมบัติอันโอฬาร์
ข้าศึกคือโรคา เกิดเข่นฆ่าในกายเรา

เปรียบ แพทย์คือทหาร อันชำนาญรู้ลำเนา
ข้าศึกมาอย่าใจเบา ห้อมล้อมรอบทุกทิศา
ให้ดำรงกะษัตริย์ไว้ คือดวงใจให้เร่งยา
อนึ่งห้ามอย่าโกรธา ข้าศึกมาจะอันตราย

ปิตตังคือวังหน้า เร่งรักษาเขม้นขมาย
อาหารอยู่ในกาย คือเสบียงเลี้ยงโยธา
หนทางทั้งสามแห่ง เร่งจัดแจงอยู่รักษา
ห้ามอย่าให้ข้าศึกมา ปิดทางได้จะเสียที” [3]

ดังนั้น การแพทย์แผนไทยซึ่งได้รับอิทธิพลจากการแพทย์อายุรเวทสายหมอชีวกโกมาภัจจ์นั้น ได้ให้ความสำคัญไม่เพียง “ยา”เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญทั้งเรื่องจิต อาหาร รวมถึงอิทธิพลของฤดูกาล อายุ ธาตุ เวลา ประเทศที่อยู่อาศัย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่ออายุขัยของมนุษย์ทั้งสิ้น

นอกจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม การออกกำลังกาย ที่แปรสภาพไปตามภูมิประเทศและวัฒนธรรมแล้ว ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ถึงรหัสพันธุกรรมหรือยีนที่เป็นตัวกำหนดอายุขัยของมนุษย์หรือที่เรียกว่า “กรรมพันธุ์” นั่นเพราะมนุษย์ล้วนมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์เช่นนั้นด้วย

หลายทศวรรษที่ผ่านมามีผู้พยายามสำรวจประชาชากรอายุเกิน 100 ปี จำนวนมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก เช่น จากการสำรวจ ประชากรชาวโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น, ชาวเซเว่นเดย์ แอดเวนติส เมืองโลมา ลินดา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา, ประชากรชาวเกาะซาดีเนีย ประเทศอิตาลีว่ามีสิ่งที่เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร

สิ่งที่เหมือนกันของชุมชนอายุเกิน 100 ปี ทั้ง 3 แห่งข้างต้น คือ ชาวโอกินาวา, ชาวเกาะซาดีเนีย ในอิตาลี, และชาวเซเว่นเดย์ แอดแวนติส ประเทศสหรัฐอเมริกา คือ เป็นชุมชนที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็งเหนือกว่าสิ่งอื่น, ไม่สูบบุหรี่, กินพืชเป็นหลักโดยเฉพาะพืชที่มีไฟเบอร์สูง, กินธัญพืชในพืชตระกูลถั่วมาก, มีการออกกำลังกาย”ปานกลาง”และต่อเนื่อง, และอยู่ในสังคมเข้มแข็งที่มีกิจกรรมร่วมกัน[4]

แม้ว่าสารคดีการสำรวจดังกล่าวจะยังมีข้อโต้แย้งถึงข้อพิสูจน์การอายุยืนเพราะคนสมัยก่อนกว่า 100 ปีที่แล้วยังไม่ได้สูจิบัตรที่จะพิสูจน์อายุที่ถูกต้องแม่นยำ [5] แต่ทิศทางของนักวิจัยใหม่ๆก็พบหลักฐานและการอธิบายได้มากขึ้นเป็นลำดับว่าการใช้ชีวิตของมนุษย์ควรจะเป็นไปในทิศทางใดที่ทำให้อายุขัยด้วยสุขภาพแข็งแรงได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยยุคใหม่เริ่มให้ความสนใจนอกจากทิศทางหยาบๆของอาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก มาสนใจอาหารที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด และความจริงที่พบก็คืออาหารกลุ่มเครื่องเทศหรือเผ็ดร้อน จะให้ฤทธิ์ในการดูดซับอนุมูลอิสระออกซิเจนมากที่สุด ซึ่งมากกว่าผักผลไม้แบบชนิดเทียบกันไม่ได้เลย ในขณะเดียวกันความน่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้นยังพบว่าตำรับยาอายุรเวทซึ่งพบทั้งในอินเดียและไทยออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระยิ่งกว่าเครื่องเทศทุกชนิดทั่วโลก [6]

ความน่าสนใจที่กินเครื่องเทศและรสเผ็ดร้อนที่ออกฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผักผลไม้นั้น ยังสอดคล้องกับการแพทย์แผนไทยที่กำหนดให้ผู้ที่สูงวัยเกินกว่าอายุ 30 ปีขึ้นนั้น มักจะเป็นโรคเกี่ยวกับ “วาตะ” คือระบบการเคลื่อนไหวทั่วร่างกาย เช่น ทั้งการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนตัวของระบบโลหิต การส่งสัญญาณของสารสื่อประสาท การปวดเมื่อย การเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ และกำหนดให้บริโภค รสยามีรสประธานเป็นรสร้อนเช่นกัน

โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของผู้สูงวัยนั้นก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังเช่น โรคที่เกี่ยวกับ “ไกษย” หรือ “กระษัย” โดยตำราการแพทย์แผนไทยได้อธิบายเรื่อง “โรคไกษย”เอาไว้โดยละเอียดว่า

“ไกษย โรคที่บังเกิดขึ้นแก่มนุษย์ ทำให้มีอาการแห่งความเสื่อม ซูบผอม สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นโรคหรือไข้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำลายสุขภาพร่างกายให้เสื่อมโทรมไปที่ละน้อย เป็นเวลาต่อเนื่องกันโดยมิได้รับการบำบัดรักษา หรือรักษาแต่ไม่ถูกกับโรคหรือไข้นั้นๆโดยตรง เนื่องจากไม่มีอาการอะไรรุนแรงให้เห็นได้ชัด มีอาการผอมแห้งแรงน้อย โลหิตจาง ผิวหนังซีดเหลือง ปวดเมื่อยตามร่างกายและกล้ามเนื้อ บางครั้งไอ บางทีไอเป็นโลหิต ทำให้รู้สึกแน่นและหนักตัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ ปัสสาวะเหลือง และปัสสาวะกะปริบกะปรอย ไม่มีกำลัง ทำให้ชาปลายมือปลายเท้า มีเหงื่อออกตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และเหงื่อออกตอนกลางคืน ยอกเสียวตามหัวอกและชายโครง บางคนผิวหนังตกกระตามร่างกาย กล้ามเนื้อชักหดและลีบมีอาการสะท้านร้อนสะท้านหนาวเป็นคราวๆ และท้องผูกเป็นประจำ ลักษณะกษัยโรค ซึ่งพระอาจารย์ประมวลไว้มี ๒๖ จำพวก”[7]

แต่งานวิจัยพบว่าตำรับยาอายุรเวทหลายขนานซึ่งพบว่าออกฤทธิ์ในการดูดซับอนุมูลอิสระออกซิเจนเหนือกว่าเครื่องเทศทุกชนิด [6] ชนิดที่เรียกว่าต้องทำให้โลกตะวันตกหันมาสนใจตำรับยาของโลกตะวันออกมากขึ้น

สำหรับโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อม ดังเช่น โรคไกษยลมทั้งปวงนั้น ได้ถูกระบุเอาไว้ในแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ดังตำรับยาชื่อ อัมฤตย์โอสถความว่า

“ขนานหนึ่งชื่อ อัมฤตย์โอสถ แก้ ลมไกสยทั้งปวง เอาสหัสคุณ ๑ แก่นแสมทเล ๑ รากส้มกุ้ง ๑ ลูกมะตูม ๑ ลูกมะแหน ๑ ลูกพิลังกาสา ๑ สมอเทศ ๑ สมอไทย ๑ โกฏเขมา ๑ เทียนดำ ๑ เทียนขาว ๑ ลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ดีปลี ๑ ยาทั้งนี้เอาเสมอภาคเอาเปลือกหอยโข่ง ๑ เปลือกหอยขม ๑ เปลือกหอยแครง ๑ เบี้ยผู้เขา ๑ เอาสิ่งละ ๓ ส่วน เอากันชา ๑๐ ส่วน เอาพริกไทย ๒ เท่ายาทั้งหลาย ตำผงกระสายยักย้ายใช้ให้ชอบโรคทั้งหลายเถิด”[8]

สำหรับตำรับยาอายุวัฒนะที่น่าสนใจนั้น ได้ปรากฏเป็น “ตำรับยาสุดท้าย” ของคัมภีร์ไกษย ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เพราะได้ระบุถึงสรรพคุณยาที่ถูกอธิบายเอาไว้น่าอัศจรรย์ แต่จะได้ผลมากแค่ไหนก็อาจจะไม่มีใครรองานวิจัยถึง ๒๐๐ ปีได้ แต่ก็น่าจะมีโอกาสไปวิจัยในตำรับยานี้ เพราะเป็นยา “แก้ลม ๓๐๐ จำพวก” ซึ่งในการแพทย์แผนไทยเชื่อว่าหากแก้เรื่องปัญหาธาตุลมได้โดยเฉพาะในผู้สูงวัยก็น่าจะมีโอกาสต้านอนุมูลอิสระและเป็นยาอายุวัฒนะได้ จึงควรค่าแก่การวิจัยอย่างยิ่งว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ดังนี้

“ให้เอามหาหิงคุ์ ๑ บาท ว่านน้ำ ๑ สลึง เจตมูลเพลิง ๒ สลึง เกลือสินเธาว์ ๖ สลึง การะบูร ๒ สลึง กานพลู ๑ สลึง แห้วหมู ๒ สลึง โกฐพุงปลา ๑ เฟื้อง โกฐสอ ๑ เฟื้อง ยาดำ ๑ บาท รากดองแตก ๑ บาท ดีปลี ๑ สลึง รากช้าพลู ๑ สลึง ผลกระดอม ๖ สลึง บอระเพ็ด ๒ สลึง ลูกกระวาน ๒ สลึง กระเทียม ๒ สลึง ขมิ้นอ้อย ๒ สลึง หัศดำเทศ ๑ บาท ใบสะเดา ๑ ตำลึง ตำเป็นผงละลายน้ำร้อนหรือน้ำส้มก็ได้ หรือส้มซ่าก็ได้ น้ำผึ้งก็ได้หรือน้ำร้อนก็ได้ แก้ลมอันเกิดแต่เท้าให้เท้าตายมือตาย และแก้ลมริศดวงก็หายสิ้นแล ให้รับประทานเท่าผลสมอแก้ลม ๓๐๐ จำพวกก็หายแล

ถ้ารับประทานได้ ๗ วัน เสียงดังจักกระจั่นเรไร ถ้ารับประทาน ๑๕ วัน เสียงนกการะเวก ถ้ารับประทานได้นานๆ เสียงดังหงษ์ทองอยู่ในถ้ำคูหาสวรรค์ ถ้ารับประทานถึงเดือน เรียนพระไตรปิฎก ๘๔๐๐๐ จบ คาถาปัญญาสว่าง ปราศจากพยาธิ ๕๐๐ จำพวกก็หายสิ้นแล รับประทานถึง ๖ เดือน จักษุสว่างทั้ง ๒ ข้าง รับประทานถึง ๗ เดือน รู้กำเนิดเทวดาในชั้นฟ้า รับประทานถึง ๘ เดือน พระเวสสุวรรณลงมาสู่เราแล รับประทานถึง ๙ เดือน อายุยืนได้ถึง ๒๐๐ ปี ให้ทำยานี้กินเถิด ถ้าผู้ใดได้ตำรานี้แล้วไม่ทำกินเหมือนเหยียบแผ่นดินผิดทีเดียวแล ตำรานี้ท่านคิดปฤษณาได้อย่าสนเท่ห์เลย ถ้าได้พบให้ทำกินจำเริญอาหารด้วยแล” [9]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๑๕ , องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3

[2] UK Office for National Statistics. Chapter 4: Mortality, 2010-based NPP reference volume. (chap 4; 1-28)in: National Population Projections. United Kingdom Statistics Authority, London, UK; 2012

[3] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๓๓ , องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3

[4] Buettner, Dan (2012). The Blue Zones, Second Edition: 9 Lessons for Living Longer From the People Who've Lived the Longest. Washington, D.C.: National Geographic. ISBN 978-1426209482. OCLC 777659970.

[5] Newman, Saul Justin (2019-07-16), Supercenternarians and the oldest-old are concentrated into regions with no birth certificates and short lifespans, bioRxiv: 704080. doi:10.1101/704080.

[6] Carlsen MH, Halvorsen BL, Holte K, et al., The total antioxidant content of more than 3100 foods, beverages, spices, herbs and supplements used worldwide, Nutr J.2010; 9:3 Published 2010 Jan 22. doi:10.1186/1474-2891-9-3

[7] รศ.ประทีป ชุมพล (เรียบเรียง), คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ,หน้า ๗๑๓-๗๑๔, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3

[8] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๗๔๘-๗๔๙, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3

[9] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๗๕๐-๗๕๑, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3
กำลังโหลดความคิดเห็น