MGR online - กระทรวงยุติธรรม จับมือสาธารณสุข ลงนามร่วมกันผลักดันยกเลิกใบกระท่อม เป็นยาเสพติด พร้อมพิจารณาปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด
วันนี้ (27 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษและบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพิจารณายกเลิกพืชกัญชาจากยาเสพติดให้โทษ เพื่อวิเคราะห์แนวทางและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน ให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมและพืชกัญชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายอนุทิน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน "พืชกระท่อมและกัญชา" ยังคงถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแม้ว่ากฎหมายจะมีการผ่อนปรนให้สามารถนำพืชกระท่อมและกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือศึกษาวิจัยได้ แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมของสังคมไทย
ทั้งนี้ ในหลายประเทศไม่ได้มีการควบคุม "พืชกระท่อม" เป็นยาเสพติด ซึ่งกระทรวงยุติธรรมพร้อมสนับสนุนให้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน 2 กระทรวงศึกษาผลดีและผลเสียของการใช้พืชกระท่อมเพื่อเสนอยกเลิกออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายยาเสพติด อันส่งผลต่อประเทศชาติและประชาชนได้นำพืชกระท่อมไปใช้ทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อพัฒนา ต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้กระทบต่อสังคม
นายอนุทิน เผยอีกว่า ส่วนพืชกัญชาเป็นพืชสมุนไพรซึ่งถูกตีตราเป็นยาเสพติด ถ้านำมาใช้ถูกวิธีจะมีประโยชน์อย่างมหาศาลนำไปรักษาโรคต่างๆได้กับแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน รวมทั้ง มีการศึกษาวิจัยติดตามจากผู้ป่วยไปพัฒนาต่อยอดและส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ยังมีข้อจำกัดเพียงโรงพยาบาลบางแห่ง อีกทั้ง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเปิดบริการผู้ป่วยเพิ่มอีก 1 แห่ง ในวันที่ 6 ม.ค.63 อย่างไรก็ตาม พืชกัญชายังอยู่ระหว่างพิจารณายกเลิกและแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถปลูกได้แต่ต้องมีการกำหนดควบคุมการผลิต เนื่องจากประเทศไทยร่วมภาคีเครือข่ายอนุสัญญายาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ร่วมกับ 196 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะสามารถใช้กัญชาได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า "พืชกระท่อม" เป็นพืชท้องถิ่นที่มีในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภูมิปัญญาชาวบ้านโดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ภาคใต้จะเคี้ยวใบสดเพื่อให้มีแรงทำงานและสามารถทนแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย แม้อาจว่ามีสารเสพติดบ้างแต่ก็ถือว่าน้อยมากและเป็นยาสมุนไพรใช้แก้อาการท้องร่วง ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้ควบคุมการใช้พืชกระท่อมเหมือนอย่างประเทศไทย เมื่อดูถึงผลกระทบจากการยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ทางด้านเศรษฐกิจจะส่งผลดีเนื่องจากพืชกระท่อมมีสรรพคุณสามารถนำมาศึกษาวิจัยและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศได้ ในด้านสังคมชาวบ้านที่ใช้พืชกระท่อมในวิถีดั้งเดิมสามารถใช้พืชกระท่อมในทางที่เป็นประโยชน์ตามภูมิปัญญาชาวบ้านได้
ส่วนทางวิชาการก็จะส่งผลให้เกิดการสร้างองค์ความรู้และงานวิจัยสามารถทำการศึกษาวิจัยได้โดยไม่มีอุปสรรคด้านกฎหมาย ทางด้านกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายในสิ่งที่ไม่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรงลดปริมาณและภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ อัยการและศาล อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังไม่สามารถครอบครองหรือปลูกพืชกระท่อมและพืชกัญชาได้เพราะยังถือว่าผิดกฎหมาย เพียงอยู่ในช่วงดำเนินการศึกษาเพื่อยกเลิกเท่านั้น