xs
xsm
sm
md
lg

ห้องเรียนจีนท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก www.thaiquote.org
หลังจากชาวจีนเผชิญกับCOVID-19ชื่อใหม่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มาร่วม 2 เดือน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอมของบรรดานักศึกษาชาวจีน และนักศึกษาชาวต่างชาติที่เรียนในมหาวิทยาลัยในประเทศจีน โดยลูกชายของดิฉันทั้ง 2 คนอยู่ในกลุ่มนี้เพราะกำลังเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

เขาทั้งสองกลับมาบ้านก่อนเกิดเหตุไม่นานนัก

และช่วงนี้ก็ถึงเวลาใกล้เปิดเทอมแล้ว มหาวิทยาลัยบางแห่งเปิดเทอมแล้วด้วย

ก่อนหน้านี้ครอบครัวเราก็ประเมินแล้วว่าต้องเลื่อนเปิดเทอมแน่ แต่จะเลื่อนไปเมื่อไหร่ล่ะ ไม่มีใครตอบได้ และเชื่อว่าไม่มีใครกล้าเสี่ยงตอบด้วย!

แต่แล้วเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีประกาศแจ้งจากมหาวิทยาลัยผ่านทางออนไลน์ว่า จะเปิดเทอมวันที่ 2 มีนาคม 2563 โดยจะเรียนผ่านทางออนไลน์ และได้แจ้งนักศึกษาชาวต่างชาติทุกคนถึงวิธีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์

แต่ก็มีมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ได้เปิดเทอมผ่านออนไลน์แล้วตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา วันที่17 กุมภาพันธ์ 2563

โดยกระทรวงศึกษาธิการจีนได้ประกาศให้โรงเรียนหลายแห่งเลื่อนเปิดภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิ ประจำปี 2020 เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ไม่ได้กำหนดวันเปิดภาคการศึกษาที่แน่นอนสำหรับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่อยู่ใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ และได้ออกแนวปฏิบัติให้วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจัดการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์หลังมีประกาศให้เลื่อนเปิดภาคการศึกษา โดยระบุว่าวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยควรใช้ประโยชน์จากหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ทุกประเภท รวมถึงแพลตฟอร์มทรัพยากรห้องปฏิบัติการ เพื่อจัดการศึกษาออนไลน์ และควรดำเนินมาตรการเพื่อตรวจสอบว่าการเรียนออนไลน์จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการเรียนการสอนในห้องเรียน

ในขณะที่สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นักเรียนและนักศึกษาจีนจำนวนหลายล้านคนเริ่มเรียนผ่านทางออนไลน์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 ก.พ.) หลังกำหนดเปิดภาคเรียนใหม่ถูกเลื่อนออกไป สืบเนื่องจากมาตรการป้องกันและควบคุมไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด

บรรดาครูอาจารย์ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษาในกรุงปักกิ่ง ใช้ระบบออนไลน์ต่างๆ ในการบันทึกวิดีโอการสอน โดยมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้นำระบบการศึกษาออนไลน์ “คลาสอิน” (Classin) มาใช้ในการตรวจสอบการเข้าร่วมชั้นเรียนของนักศึกษา

ขณะที่ครูในเมืองอิ๋นชวน เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน บันทึกวิดีโอในสตูดิโอซึ่งพร้อมด้วยสื่อทันสมัยต่างๆ ในการถ่ายทำ เพื่อจัดทำวิดีโอคุณภาพดีให้นักเรียนเรียนได้จากที่บ้าน

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MIIT) ก็ยังได้ขยายเครือข่ายบรอดแบนด์ให้มีความครอบคลุม รวมถึงอัพเกรดอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนระดับประถมและมัธยม เพื่อยกระดับการศึกษาออนไลน์ให้กับนักเรียนในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด

ทางการจีนได้สนับสนุนให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของจีนทั้ง 3 รายอย่างบริษัท ไชน่า เทเลคอม, ไชน่า โมบายล์ และไชน่า ยูนิคอม ให้บริการศึกษาเรียนรู้แบบออนไลน์ที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น อาทิ ห้องเรียนคลาวด์และไลฟ์สตรีมมิ่งโดยไม่คิดค่าบริการ

ด้านไชน่า เทเลคอม ได้นำเสนอคลาสเรียนออนไลน์ให้กับโรงเรียนประถมและมัธยมทั่วประเทศ โดยมีจำนวนนักเรียนที่เข้าชมมากกว่า 10 ล้านคนต่อวัน ซึ่งทางบริษัทได้ส่งความช่วยเหลือไปยังมณฑลหูเป่ย ซึ่งมีนักเรียนราว 240,000 รายที่ใช้งานห้องเรียนคลาวด์

ทั้งนี้ ทางการจีนได้เลื่อนภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิออกไป เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้วกว่า 70,000 รายทั่วโลก โดยนักเรียนนับล้านคนที่อาศัยอยู่บ้านได้หันมาเรียนทางออนไลน์แทน

มาตรการต่างๆ เหล่านี้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาของทางการจีน ที่แก้ปัญหาได้ฉับไว ทันท่วงที และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์

แน่นอนล่ะ ไม่เพียงครอบครัวของเราจะสบายใจที่ลูกชายทั้งสองไม่ต้องกลับไปเซี่ยงไฮ้ แต่ทำให้ได้เห็นมุมสะท้อนของการแก้ปัญหาที่จริงจังของประเทศจีน ที่มีวิธีการจัดการปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เหมาะสมกับจังหวะและโอกาส

ทีแรกลูกชายดิฉันก็เป็นห่วงบางรายวิชาที่มีความจำเป็นต้องเรียนระดับใกล้ชิด แต่ดูเหมือนมหาวิทยาลัยก็รู้ปัญหา จึงได้มีการสลับรายวิชาที่สามารถเรียนผ่านออนไลน์ได้ทันที ส่วนวิชาที่ต้องมีการตอบโต้เฉพาะ หรือมีความจำเป็นที่ต้องประกบตัว ก็ขยับไปเรียนเทอมหน้าหรือปีหน้า

เรียกว่ามีการคำนึงถึง และมีระบบการจัดการในสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ฉับไว

ความจริงก่อนหน้านี้ เพจอ้ายจงก็ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนในกรณีเชื้อไวรัสโคโรน่า และสถานการณ์ในเมืองอู่ฮั่นของจีนว่า ทางการอู่ฮั่นออกประกาศ “วันเปิดเทอม” สำหรับโรงเรียนประถมและมัธยม (รวมการอาชีพ ประมาณระดับ ปวช.) แต่เปิดเทอมแบบ “เรียนออนไลน์” แทนการไปโรงเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

และวิธีแก้ปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะ....

ย้อนกลับไปตอนที่จีนมีปัญหามลพิษทางอากาศหนักๆ การเรียนการสอนออนไลน์ก็เป็นหนึ่งในทางออกบนพื้นฐานของการเอาสุขภาพนักเรียนเป็นที่ตั้ง โดย “ครู-นักเรียนจีน ใช้ Live สด, Video หรือแชท เพื่อการเรียนการสอน แม้โรงเรียนจะหยุดเนื่องจากปัญหาหมอกควันในหลายเมืองของจีน” ซึ่งถ้าย้อนไปช่วงปี 2016-2017 เมืองต่างๆ ในจีนประสบปัญหาหมอกควันอย่างหนักมาก ทำให้มีการสั่งหยุดการเรียนการสอนระดับอนุบาลและประถมในหลายเมืองของจีน เช่น ปักกิ่ง ซีอาน โดยบางแห่งจะสั่งหยุดในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยด้วย

แม้จะสั่งหยุดการเรียนการสอน แต่ก็หยุดเฉพาะที่โรงเรียน เพราะนักเรียนและคุณครูในโรงเรียนต่างๆ พร้อมใจกันจัดการเรียนการสอนผ่านทางไกล ซึ่งในปัจจุบันคนจีนไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ต่างสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้โดยเฉพาะโลกออนไลน์

ทำให้ดิฉันนึกถึงเหตุการณ์ฝุ่นพิษ 2.5 ในบ้านเราที่เกินค่ามาตรฐานจนเกินอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพของเด็ก และดิฉันเคยนำเสนอเมื่อปีที่แล้วว่า อยากให้รัฐบาลไทยได้คำนึงถึงวิธีการเรียนการสอนของเด็กที่เหมาะกับสถานการณ์ด้วย และสามารถสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชนได้จะไม่ดีกว่าหรือ

จะว่าไปก็สอดคล้องกับงานวิจัยของตัวเองในหัวข้อ “การบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย” ซึ่งเป็นงานวิจัยอนาคตภาพด้วยเทคนิค Ethnographic Delphi Future Research (EDFR) ก็พบว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า รูปแบบของห้องเรียนเด็กปฐมวัยจะไม่เหมือนเดิม

...อาจไม่จำเป็นต้องมีห้องเรียน

...อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียน

...วิธีการเรียนรู้เปลี่ยนไปแน่นอน เด็กสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่

…น่าจะเป็นห้องโล่ง ๆ แต่มีเครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ประเด็นที่สนใจ

และทิศทางของห้องเรียนในทุกระดับก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่เอื้อให้เรียนผ่านออนไลน์มากขึ้น

เอาเป็นว่าในเรื่องเทคโนโลยีเราอาจยังไม่พร้อมเท่าประเทศเขาที่รุดหน้าไปมาก แต่ควรจะต้องเริ่มมีวิธีคิด “นอกกรอบ” และพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และวางแนวทางในระยะยาวด้วย เพราะนับจากนี้ไป โอกาสที่ผู้คนจะเผชิญกับภัยธรรมชาติ ภัยจากน้ำมือมนุษย์ ภัยจากสิ่งที่คาดไม่ถึง หรือสถานการณ์วิกฤติ ก็ควรจะมีการเตรียมรับมือกับสิ่งเหล่านี้ด้วย

อาจเริ่มได้ทันทีด้วยการคิดนอกกรอบ สร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจร่วมกันทุกภาคส่วน มีการทำความเข้าใจ และสร้างเครือข่าย จากนั้นก็ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยเคยมีข้อเสนอครั้งนั้นว่า…

ประการแรก - สร้างความร่วมมือระหว่างพ่อแม่ เพราะนี่เป็นปัญหาร่วมของสังคม มิใช่เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง การแก้ปัญหาต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนหาทางออกร่วมกัน บ้านไหนมีผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมก็อาจต้องเป็นแกนกลางให้ครอบครัวอื่น ประเด็นคือ เพราะเราคุ้นชินกับสังคมตัวใครตัวมัน จนไม่ได้มองถึงการรวมกลุ่มเฉพาะกิจขึ้นมา ซึ่งโรงเรียนอาจมีส่วนต่อความร่วมมือครั้งนี้ด้วย เพราะครูจะรู้จักเด็กและผู้ปกครองแต่ละคน

ประการที่สอง - เชื่อมโยงกับโรงเรียน โรงเรียนควรต้องถือวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยงกับพ่อแม่ผู้ปกครองสำหรับเด็กเล็ก ส่วนเด็กโตก็ให้คุณครูเป็นผู้เชื่อมโยงผ่านช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม เพื่อมอบหมายงานหรือใช้เป็นช่องทางการสื่อสารที่ต้องการ

ประการที่สาม -ใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อการเรียนรู้ ถือโอกาสนี้ในการบริหารจัดการการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวิกฤติ อาจออกแบบการเรียนรู้ให้เข้ากับสถานการณ์จริงก็ได้ หรือให้เด็กทำงานหรือทบทวนบทเรียนที่บ้านหรือวางแผนใช้วิธีเรียนรู้ผ่านออนไลน์ไปเลย

สังคมยุคดิจิทัล อย่าใช้วิธีคิด “แบบเดิม ๆ” การเรียนรู้ของมนุษย์มีหลายมิติ

ในสถานการณ์ปกติ ก็เรียนรู้แบบปกติ แต่ในสถานการณ์วิกฤติ เราก็ต้องมีวิธีการให้เด็กได้เรียนรู้ในสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเพิ่มทักษะชีวิตให้กับตัวเด็กด้วย

เพิ่งจะประมูล 5G ไปหมาดๆ แต่ดูเหมือนระบบวิธีคิดของผู้บริหารในบ้านเมืองเรายังวนเวียนอยู่ในกรอบคิดเดิมๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น