xs
xsm
sm
md
lg

ใช้เครื่องเร่งอนุภาคร่นเวลาพัฒนาวัคซีนโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิทยาศาสตร์ที่ออสเตรเลียใช้เครื่องเร่งอนุภาคหรือเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนช่วยพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 (PETER PARKS / AFP)

นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียใช้เครื่องเร่งอนุภาคขนาดมหึมาที่อยู่ทางซีกโลกใต้ เป็นทางลัดช่วยการวิจัยคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยใช้รังซีเอกซ์จากเครื่องซินโครตรอนเพื่อตรวจสอบโปรตีนที่สำคัญของไวรัส


แอนดรูว พีเล (Andrew Peele) ผู้อำนวยการโครงการจากสถาบันแสงซินโครตรอนออสเตรเลีย (Australian Synchrotron) ในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ระบุว่า ทางสถาบันได้ใช้รังสีเอกซ์ที่มีความเข้มสูงจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เพื่อใช้ตรวจสอบโปรตีนที่จำเป็นของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งเป็นตัวช่วยและทางลัดสำหรับค้นหาวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดนี้


รายงานข่าวระบุว่า เครื่องเร่งอนุภาคทำหน้าที่เสมือนกล้องจุลทรรศน์ ที่ช่วยให้นักวิจัยทำแผนที่โครงสร้าง 3 มิติระดับอะตอมของโปรตีน ซึ่งจะทำให้นักวิจัยสามารถพัฒนายาที่เข้าไปจับไวรัส เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ


“เราฉายแสงใส่โปรตีนไวรัส และแสงที่กระเจิงออกมาจากโปรตีน จะบอกว่าอะตอมของโมเลกุลโปรตีนไวรัสโควิด-19 นั้นอยู่ตรงไหนบ้าง เราจำเป็นต้องรู้ให้ได้ว่า โปรตีนนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เราจึงจะออกยาที่ไปจับมันได้ เหมือนการออกแบบลูกกุญแจ เราจำเป็นต้องรู้จักรูของแม่กุญแจ” พีเลกล่าว


ทั้งนี้ ทีมวิจัยเมลเบิร์นได้รับตัวอย่างโปรตีนหลายสิบตัวอย่างจากทั่วโลก ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าโปรตีนเหล่านั้นอาจจะลดความรุนแรงหรือป้องกันโรคจากไวรัสได้ โดยพีเลกล่าวว่า เทคโนโลยีของพวกเขาบอกได้ว่า ยาที่ออกแบบนั้นจะจับโปรตีนของไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ โดยใช้เวลาแค่ 5 นาที โดยโครงการวิจัยวัคซีนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียนี้ คาดหวังว่าเทคโนโลยีที่ช่วยข้ามขั้นตอนนี้จะร่นเวลาในการพัฒนาวัคซีนให้เร็วขึ้น


ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกกำลังแข่งขันกันพัฒนาวัคซีนและการรักษาโรคจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งกำลังระบาดไปทั่วโลก และคร่าชีวิตคนไปหลายหมื่นคน อีกทั้งมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเกินล้านคนแล้ว


ลูกเรือกาตาร์แอร์เวย์ ขณะเดินผ่านในสนามบินที่ออสเตรเลีย พร้อมสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโควิด-19 (PETER PARKS / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น