xs
xsm
sm
md
lg

ไข “คดีอัญมณีละเมิดสิทธิบัตร” ด้วยเทคโนโลยีซินโครตรอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิจัยซินโครตรอน เผยความลับ “คดีอัญมณีละเมิดสิทธิบัตร” พร้อมช่วย DSI ไขคดีสำคัญ

อัญมณี หรือรัตนชาติ มาจากแร่ธาตุที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ นำมาผ่านการเจียระไน ขัดมัน แกะสลัก และนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ความสวยงาม ความคงทนถาวร และความหายาก นอกจากนี้ คุณค่าและราคาของอัญมณีแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกันออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและลักษณะจำเพาะของอัญมณี เช่น สี ความโปร่งแสง ความวาว การกระจายของแสง

ปัจจุบันมีผู้ประดิษฐ์คิดค้นวิธีสังเคราะห์อัญมณีให้เหมือนกับธรรมชาติมากที่สุด ตั้งแต่ สี ความใส องค์ประกอบทางเคมี และโครงสร้างภายใน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดเพราะอัญมณีที่เป็นแร่จากธรรมชาตินั้น มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว หาได้ยาก อีกทั้งมีราคาแพง

ดร.ณรงค์ จันทร์เล็ก นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า แสงซินโครตรอน เป็นแสงที่ใช้ในการวิเคราะห์ วิจัยด้านวัสดุ ซึ่งแสงซินโครตรอนมีความพิเศษต่างจากแสงอื่นๆ เช่น มีความสว่างและความเข้มแสงสูงมาก สามารถจะวิเคราะห์ตัวอย่างได้ลึกถึงระดับโมเลกุลหรืออะตอมของวัสดุ ด้วยเหตุนี้ สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI จึงสนใจนำตัวอย่างอัญมณีสังเคราะห์ที่มีการฟ้องร้องเรื่องของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาให้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนช่วยตรวจสอบความจริง ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาว่าไปละเมิดอนุสิทธิบัตรของบริษัทผู้ประดิษฐ์คิดค้นวัสดุอัญมณีสังเคราะห์ที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิฉับพลัน

ทีมนักวิจัยของสถาบันฯ ได้วิเคราะห์และทดสอบองค์ประกอบทางเคมีของธาตุภายในอัญมณีสังเคราะห์ดังกล่าว ด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ร่วมถึงเทคนิคแอลเอไอซีพีแมสสเปกโตรมิเตอร์ และเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา เพื่อหาลักษณะเฉพาะของอัญมณีสังเคราะห์แต่ละประเภท และจากการวิเคราะห์พบว่า อัญมณีสังเคราะห์แต่ละประเภทที่ DSI ได้รับการร้องเรียนนั้นมี องค์ประกอบทางเคมีของธาตุไม่เหมือนในอนุสิทธิบัตร ซึ่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสืบสวนความจริง และจะช่วยไขคดีที่มีความลึกซึ้งทางวิทยาศาสตร์

“คดีนี้ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการสืบคดีด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่ใช้แสงซินโคร ตรอนในการวิเคราะห์ตรวจสอบ โดยแสงซินโครตรอนสามารถแยกแยะองค์ประกอบทางเคมีของตัวอย่างได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ยังสามารถวัดสารตัวอย่างแม้จะมีอยู่ในปริมาณน้อยมากๆ ได้ อีกทั้งยังไม่ทำลายสารตัวอย่างอีกด้วย โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนคาดหวังว่าในอนาคตจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการไขความลับในคดีสำคัญๆ ต่อไป”
ดร.ณรงค์
ระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน
ห้องปฏิบัติการแสงสยาม


กำลังโหลดความคิดเห็น