"ตัวนี้มันดูแปลกตา ไม่คุ้น ตอนแรกว่ากันว่าจะใช่ Protobothrops mucrosquamatus ตัวที่เพิ่งมีรายงานการแพร่กระจายใหม่ที่จังหวัดน่านแต่ดูแล้วไม่น่าใช่ " คุณหมอสัตว์แพทย์ผู้ดูแลเล่าให้ฟังครั้นก่อนเมื่อผมไปเยี่ยมเยียนคุยธุระปะปังที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย พร้อมเปิดกล่องดูแลซึ่งทำให้ผมเกิดความสงสัยเช่นเดียวกัน พิจารณาโดยทั่วไปแล้วลำตัวเรียวยาวไม่มีรยางค์เหมือนกับงูชนิดอื่น หัวมีลักษณะเรียวยาวขนาดใหญ่สามารถแยกออกจากส่วนคอได้อย่างชัดเจน หัวสีน้ำตาลและมีลายประสีเข้มกระจายเป็นปื้น บริเวณริมฝีปากมีแถบสีเข้มข้างละสามแถบ มีแถบเข้มลากยาวจากด้านหลังดวงตาไปถึงส่วนคอ ลำตัวด้านหลังสีน้ำตาลอ่อน มีลายสีนำตาลเข้มคล้ายรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดบริเวณกลางหลังหรือบางครั้งเหลื่อมกันดูคล้ายลายซิกแซก ด้านล่างตั้งแต่ลำคอจนถึงปลายหางมีสีอ่อน มีจุดสีเข้มขนาดเล็กประปราย เกล็ดบริเวณหัวเป็นสันเล็กน้อยและเป็นสันมากขึ้นบริเวณลำตัว จากที่เห็น ถ้าไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงูมาก่อนบ้างแล้ว คงเชื่อได้ยากว่าเจ้างูที่อยู่ตรงหน้านี้ถูกจัดจำแนกอยู่ในวงศ์เดียวกับงูเขียวหางไหม้ชนิดต่าง ๆ ของประเทศไทยซึ่งพบได้ทั่วไป ไม่ผิดจากที่คาดการณ์เอาไว้ ไม่นานจากนั้น เจ้างูที่เคยเห็นเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อนก็ถูกรายงานว่าเป็นงูชนิดใหม่ของซึ่งยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน ซึ่งประเทศไทยเป็นแห่งแรกและเพียงแห่งเดียวที่มีรายงานการแพร่กระจายของงูชนิดนี้ ณ ปัจจุบัน
Omkoi lance-headed pit viper, Protobothrops kelomohy คือชื่อของเจ้างูชนิดนี้ โดยชื่อวิทยาศาสตร์ Protobothrops เป็นชื่อสกุลของงูในกลุ่มนี้ ส่วน kelomohy อ้างอิงมาจากภาษากระเหรี่ยงออกเสียงว่า "เกอะลอโม่ฮือ" มาจากคำสองคำ ได้แก่ "เกอะลอ" ที่แปลว่าไฟหรือสายฟ้า และ "โม่ฮือ" ที่แปลว่าแม่ซึ่งออกลูกเป็นไข่และอยู่ฟักไข่ จากพฤติกรรมของแม่งู ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วหมายความว่า "งูซึ่งเมื่อถูกกัดแล้วจะเจ็บปวดอย่างรุนแรงทันที มีพฤติกรรมออกลูกเป็นไข่และอยู่ฟักจนลูกงูออกจากไข่" ผู้ตั้งชื่อให้เหตุผลในการใช้ชื่อไว้ว่าเพื่อเป็นเกียรติแก่ภาษพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยงในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งชื่อไทยเองก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ "งูเกอะลออมก๋อย"
ข้อมูลทางนิเวศวิทยาที่ได้รับจากเอกสารกล่าวว่า งูชนิดนี้ถูกพบเวลากลางคืน บนพื้นดินใกล้กับบ้านพักอาศัยของชาวเขาในพื้นที่ป่าดิบแล้งบนภูเขาสูง และหากินกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กเป็นอาหาร อย่างไรก็ตามข้อมูลทางนิเวศวิทยาเชิงลึกและเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของมันยังคงไม่ชัดเจน มีเพียงรายงานการโดนกัดจากงูชนิดนี้เท่านั้นที่ตรวจสอบแล้วว่าพิษที่คนไข้ได้รับนั้นมีผลต่อระบบเลือด สร้างความเจ็บปวด แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ถึงอย่างนั้นผู้รายงานก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ารอยแผลหลังจากการรักษาหายแล้วก็ยังคงหลงเหลือออยู่
รายงานการแพร่กระจายของงูเกอะลออมก๋อย เจ้างูชนิดใหม่นี้ ณ ปัจจุบัน พบอยู่ในสองพื้นที่คือ อำเภออมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก นักวิจัยให้ข้อเสนอแนะคาดการณ์ว่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเองก็น่าจะมีการแพร่กระจายเช่นกันแต่ยังไม่ยืนยันจากการที่บังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ไม่แต่งูเพียงชนิดนี้ งูที่ค้นพบใหม่อีกหลายชนิด ทั้งที่เป็นชนิดใหม่หรือรายงานการแพร่กระจายใหม่ส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นทางภาคเหนือของประเทศ แต่จากสถานการณ์แผ้วถาง ทำลายพื้นที่ และไฟป่าจากมนุษย์ซึ่งเราท่านรู้ดีกันอยู่ว่า เผาป่า เผาต้นไม้ เผาสัตว์ป่า แผดเผาชีวิตมากมายไปนับไม่ถ้วนอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกปี แล้วอย่างนี้ชีวิตเหล่านั้นจะเหลือรอดจากไฟกิเลสอยากของมนุษย์ไปได้อีกนานแค่ไหนหรือจะอยู่จนกว่าจะถูกค้นพบหรือเปล่า
ผมหวั่นใจกับคำตอบของความคิดตัวเอง
ช่องทางการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจ:
1. https://li01.tci-thaijo.org/index.php/tnh/article/view/208081/164026?fbclid=IwAR2XMJYg5VZ4ct8KMVY-_zdhoUqU3obercBFn3rnN9ah5ocL6fZhc7O-4oY
2. http://siamensis.org/species_index?nid=49318#49318--Species%20:%20Protobothrop%20kelomohy
เกี่ยวกับผู้เขียน
"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน