xs
xsm
sm
md
lg

กระทั่ง...กระท่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ



โดยส่วนตัว เมื่อมีความสนใจในสัตว์กลุ่มไหนแล้วก็เป็นเรื่องปกติที่จะอยากพบเจอชนิดของสัตว์ซึ่งถูกจัดจำแนกตามหลักอนุกรมวิธานในกลุ่มนั้น ครั้นสมัยเมื่อเริ่มต้นดูนกก็พยายามตามหานกชนิดต่าง ๆ ให้ได้มากเท่าที่จะทำได้ ยิ่งเป็นชนิดที่มีรายงานการพบเจอน้อยหรือยากเท่าไหร่ความอิ่มเอมใจยิ่งพอกพูนมากเท่านั้น เมื่อปี พ.ศ. 2545 ครั้งเดินทางเพื่อไปสำรวจความหลากหลายของนก ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กล้องส่องทางไกลแบบสองตาซึ่งถูกหยิบใช้งานส่องเข้าไปกลางท้องน้ำ ภาพที่ปรากฏสร้างความลุ้นระทึกตื่นเต้นประหลาดใจให้แก่สมาชิกในกลุ่มได้อย่างล้นเหลือ

""เป็ดผีใหญ่ นั่นใช่เป็ดผีใหญ่หรือเปล่าวะ?" ผมละสายตาจากนกเบื้องหน้าหันถามเพื่อนรุ่นเดียวกันซึ่งกำลังใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูสิ่งเดียวกันอยู่ "ใช่ว่ะ สองตัว" เพื่อนตอบกลับพร้อมกันกับผมยกกล้องส่องทางไกลอีกครั้งเพื่อมองหานกที่เพิ่มขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง

"โอ้วววววววว" ผมส่งเสียงออกมาไม่เป็นคำศัพท์อีกครั้ง หลังจากนั้นเวลากว่าชั่วโมงก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยไม่มีใครเขยื้อนละสายตาไปจากบริเวณนั้น ถ้าจำไม่ผิดสมัยนั้นการพบเจอนกชนิดนี้เป็นเรื่องยากมากจนแทบไม่มีรายงานการพบเห็นเลยเสียด้วยซ้ำ แน่นอนว่าความปีติเอมอิ่มในใจอย่างล้นเหลือสามารถสังเกตได้โดยง่ายจากสีหน้าของสมาชิกคณะสำรวจแต่ละคน เวลาผ่านไปชีวิตวัยเรียนในมหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้รับรู้ข้อมูลและเรื่องราวใหม่ๆ ให้แก่ชีวิตจากเดิมที่ไม่เคยสนใจใคร่รู้กับเรื่องราวของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยซึ่งคืบคลานอยู่ตามพื้นผืนป่าและท้องน้ำ ก็พลันรู้สึกถึงความน่าสนใจและความน่าทึ่งในชีวชีวิตของพวกมัน

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่พบการแพร่กระจายในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น 3 จำพวกตามอันดับทางอนุกรมวิธาน อันดับเขียดงู อันดับกบ และอันดับซาลาแมนเดอร์ ถ้าจะให้พูดถึงสัตว์ในทุกอันดับก็คงจะกลายเป็นเอกสารทางวิชาการเรื่องยาว ผมจึงอยากกล่าวถึงสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกลุ่มหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของผม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในอันดับซาลาแมนเดอร์ เมื่อไม่นานมานี้มีเพียงซาลาแมนเดอร์เพียงชนิดเดียวที่สามารถพบได้ในประเทศไทย นั่นคือ กระท่าง หรือ จักกิ้มน้ำ แต่จากการศึกษาด้วยวิธีการทางชีววิทยาโมเลกุล นักอนุกรมวิธานได้แบ่งแยกชนิดจากเดิมเพียงหนึ่งชนิดเพิ่มมาเป็นกว่า 4 ชนิดแล้วในปัจจุบัน อันโดยส่วนตัวผมคิดว่าจะมีชนิดใหม่เพิ่มขึ้นด้วยวิธีการศึกษานี้อีกแน่นอน อีกทั้งชีววิทยาของพวกมันก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันตั้งแต่ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะถูกวางไว้บนพื้นท้องน้ำ ตัวอ่อนที่ฟักออกมามีลักษณะคล้ายลูกอ๊อกแต่มีเหงือกเพื่อการแลกเปลี่ยนก๊าซโผล่ออกมาให้เห็นได้ภายนอกลำตัว เมื่อผ่านไประยะหนึ่งเหงือกเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดรูปหายไปในขณะที่ระยางค์ขาคู่หน้าและหลังงอกเจริญขึ้นมาจนกระทั่งลักษณะร่างกายคล้ายตัวเต็มวัยแต่มีขนาดเล็ก พวกมันจึงสามารถขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่บนบกได้แต่ก็ยังคงอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำนักเนื่องจากถึงแม้จะมีการเจริญของปอดแล้วแต่การแลกเปลี่ยนก๊าซส่วนใหญ่ยังคงเกิดขึ้นที่ผิวหนังอันชุ่มชื้นของพวกมัน ข้อมูลของกระท่างในปัจจุบันนั้นมีมากมายทั้งข้อมูลทั่วไปและข้อมูลเชิงลึกจากการศึกษาอย่างเข้มข้นจริงจังของสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ จนทำให้เราทราบถึงข้อมูลของพวกมันได้ดีมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการอนุรักษ์ให้ชนิดของพวกมันยังคงอยู่ทำหน้าที่ในระบบโซ่อาหารต่อไป

แต่การพบเจอตัวของพวกมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับข้อมูลที่มีการเผยแพร่ทั่วไป กว่าสิบปีที่รู้จักไม่เคยเลยซักครั้งที่จะได้พบตัวนอกจากตัวอย่างซึ่งถูกเก็บรักษาไว้เพื่อการศึกษาตามพิพิธภัณฑ์หรือห้องเรียน อย่างน้อยก็สำหรับผม คงเป็นความอับโชคส่วนตัวในขณะที่มีคนมากมายพบเจอมันโดยง่ายอาจตามริมท่อน้ำข้างบ้านพักในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าหลายแห่งทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่งครั้งแรกในชีวิตที่มีโอกาสได้พบเห็นกระท่างด้วยตาตัวเอง อนิจจาเป็นเพียงแค่ซากกระท่างป่นปี้บี้แบนสิ้นสภาพไม่สมบูรณ์เหมือนในภาพประกอบนี้ และในภาพคือกระท่างตัวที่สองที่ผมพบในธรรมชาติด้วยตาของตัวเอง

Road kill เป็นปัญหาหลักอย่างหนึ่งในการตายของสัตว์ป่าทั่วประเทศไทย เกิดขึ้นกับได้กับสัตว์เกือบทุกชนิดทุกประเภททุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แมลง นก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่เช่น ช้าง สัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

"น่าอดสู" ผมอุทานกับตัวเอง แม้กระทั่งกระท่างหนึ่งในชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทยก็ไม่แตกต่างกับสัตว์ป่าชนิดอื่น แล้วในช่วงวัยหยุดยาวเทศกาลนี้สัตว์ป่าสิ้นลมอีกเท่าไหร่ จินตนาการถึงสถานการณ์อันไม่น่าพิศมัยนี้ทำให้ผมรู้สึกไม่ดีเอาเสียเลย


เกี่ยวกับผู้เขียน

"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
งหวัดจันทบุรี ที่มีความมุ่งมันตั้งใจศึกษาต่อ ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากความสนใจส่วนตัวและการชักชวนจึงเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ จึงได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าหลากหลายประเภทในพื้นที่อนุรักษ์หลากหลายแห่งทั่วประเทศไทย หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กระนั้นก็ยังโหยหาและพยายามนำพาตัวเองเข้าป่าทุกครั้งที่โอกาสอำนวย"


พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น