คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพิจารณาให้คนต่างชาติลงทุนในไทยประจำเดือนพ.ย.62 จำนวน 22 ราย เผยส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ นำเงินเข้ามาลงทุน 238 ล้านบาท จ้างแรงงานคนไทย 391 คน และยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาที่คนไทยยังไม่มีความเชี่ยวชาญให้ด้วย
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า เดือนพ.ย.2562 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 22 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 238 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 391 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมหลุมเจาะและความปลอดภัยนอกชายฝั่ง องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องกังหันก๊าซและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง องค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบการทำงานของกล้องถ่ายรูปและกล้องส่องทางไกล องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตรถยนต์และการตรวจสอบคุณภาพการผลิตขั้นสูง องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น
สำหรับรายละเอียดของธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ ในกลุ่ม จำนวน 11 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ มีเงินลงทุนจำนวน 71 ล้านบาท อาทิ บริการรับจ้างผลิตและประกอบรถยนต์ รวมทั้งชิ้นส่วนและส่วนประกอบของรถยนต์ บริการทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ บริการให้คำปรึกษาแนะนำ ทดสอบ และวิเคราะห์คุณสมบัติสารเคมีที่ใช้ในการผลิตโพลิเมอร์ และผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ บริการทางบัญชี และบริการให้กู้ยืมเงิน
2.ธุรกิจนายหน้า ค้าปลีก ค้าส่ง จำนวน 4 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่นและไต้หวัน มีเงินลงทุนจำนวน 41 ล้านบาท ได้แก่ การทำกิจการตัวแทนเพื่อจัดหาตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศสำหรับการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชประเภทผัก การค้าส่งสินค้าประเภทกล้องถ่ายรูป กล้องส่องทางไกล และเลนส์ การค้าปลีกสินค้าประเภทคอมเพรสเซอร์ อุปกรณ์และอะไหล่ และการค้าปลีกอุปกรณ์จับยึดที่ใช้ในการตรวจสอบแผ่นวงจรพิมพ์
3.คู่สัญญาเอกชน จำนวน 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้มีเงินลงทุนจำนวน 94 ล้านบาท ได้แก่ บริการซ่อมบำรุงรักษา รวมทั้งบริหารจัดการและประสานงานเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรและการจัดส่งชิ้นส่วนและอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงเครื่องกังหันก๊าซ บริการซ่อมบำรุง แก้ไขข้อขัดข้อง การตรวจสอบพื้นที่หลักและการสนับสนุนทางเทคนิคในพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน และบริการขุดเจาะปิโตรเลียม
4.คู่สัญญาช่วงรัฐวิสาหกิจ จำนวน 1 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ มีเงินลงทุนจำนวน 14 ล้านบาท ได้แก่ บริการบำรุงรักษา จัดซื้อ จัดหา วัสดุชิ้นส่วน “ระบบประตูกั้นชานชาลา ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติสำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วง”
5.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศลิกเทนสไตน์ เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ มีเงินลงทุนจำนวน 18 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้ใช้ช่วงสิทธิโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการออกแบบในงานก่อสร้าง บริการติดตั้ง ซ่อมแซม บำรุงรักษา ให้คำปรึกษาแนะนำและฝึกอบรมเกี่ยวกับสินค้าเครื่องสูบน้ำ และบริการให้เช่าพื้นที่อาคารบางส่วนพร้อมสาธารณูปโภค
ตั้งแต่ม.ค.-พ.ย.2562 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 193 ราย ลดลง 23% มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 22,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106% เนื่องจากในปี 2562 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น บริการงานวิศวกรรม การจัดหา ติดตั้ง และทดสอบการใช้งานของระบบเครื่องบดดินหรือหินกึ่งเคลื่อนที่โครงการโรงไฟฟ้า บริการออกแบบ จัดซื้อจัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ รวมทั้งการแก้ไขความชำรุดบกพร่องและบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน บริการออกแบบทางวิศวกรรม และบริหารจัดการโครงการปลดประจำการเรือผลิตและเก็บปิโตรเลียม บริการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบระบบและให้การสนับสนุนทางเทคนิคดาวเทียมสำรวจทรัพยากร เป็นต้น