xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มรภ.หมู่บ้านจอมบึงคิด “ผงบำรุงฟันจากสับปะรด”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิจัยจาก มรภ.หมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี พัฒนากระบวนการฟรีซดรายเอนไซม์โปรติเอส จากผลและเหง้าจากสับปะรด พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากเอนไซม์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสับปะรดให้วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดราชบุรี

ดร.ครองศักดา ภัคธนกนก แห่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง เปิดเผยถึงงานวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตเอนไซม์สับปะรดประสิทธิภาพสูงด้วยเทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็ง (Freeze dry) ว่าปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง freeze dry ได้ง่ายกว่าแต่ก่อน งานวิจัยได้นำผลผลิตเอนไซม์ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขภาพอย่างผงบำรุงฟัน สบู่เอนไซม์สับปะรด ผงขัดผิวและผงหมักเนื้อนุ่มได้สำเร็จ

ในกระบวนการผลิตนั้นได้ใช้เทคนิคหีบเนื้อสับปะรดแทนการคั้นหรือบด และ freeze อย่างช้าๆ ที่อุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อแยกโพลีแซคคาไรด์ออก จากนั้นทำการแห้งผสมกับสารพยุงและสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนชนิดเกรดอาหาร ที่อุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 48 ชั่วโมง จนได้ผงเอนไซม์โปรติเอสที่มีกิจกรรมเท่ากับ 3 U/mg หรือประมาณ 3 ล้าน U/kg ซึ่งเป็นปริมาณสูงมากกว่าที่จำหน่ายในตลาดสารปรุงแต่งอาหารทั่วๆ ไป ที่สำคัญก็คือในกระบวนการผลิตไม่มีการใช้สารเคมีอันตรายใดๆ และวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นสับปะรดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ SDGs-PGS-จังหวัดราชบุรี ของนายเดชไชยพัฒน์ มูลทองชุน จากไร่ DCP Farm ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา

ปัจจุบันนักวิจัยเชิงพื้นที่จาก มรภ.หมู่บ้านจอมบึง ได้ส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสับปะรด มีทักษะในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยและมีความเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) มากขึ้น โดยนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและต่อยอด ล่าสุดได้มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ผงบำรุงฟันภายใต้ชื่อ Bromedent สบู่เอนไซม์สับปะรดภายใต้ชื่อ Ainthira Soap ผงขัดผิวกายภายใต้ชื่อ Ainthira Skin Clear และผงทำเนื้อนุ่ม

ทางด้านหัวหน้าแผนงานวิจัย ผศ.ดร.ชฎาพร โพคัยสวรรค์ ได้ผลักดันและขับเคลื่อนกระบวนการทำงานจนประสบความสำเร็จภายในเวลาเพียง 6 เดือนที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือพัฒนาเชิงพื้นที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จนได้มีการทดลองตลาดและจำหน่ายจริงผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ (Online/Offline) รวมไปถึงการออกงานจัดแสดงโรดโชว์ (Road Show) ในระดับจังหวัดและระดับประเทศ สร้างรายได้ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่าเดือนละ 8,000-10,000 บาท

ที่สำคัญกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยังได้นำตัวผลิตภัณฑ์ผงบำรุงฟัน Bromedent ไปใช้ในการจัดทำแผนธุรกิจและสามารถนำแผนธุรกิจดังกล่าวไปเข้าแข่งขันในเวทีระดับชาติ ในโครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทั่งได้รับรางวัลอันดับที่ 3







ดร.ครองศักดา ภัคธนกนก


กำลังโหลดความคิดเห็น