xs
xsm
sm
md
lg

วัตถุท้องฟ้าน่าถ่าย ส่งท้ายเดือนแห่งความรัก

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์



ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ เรามักเห็นภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้าที่นักดาราศาสตร์โพสต์ทางโซเชียลมีเดีย โดยวัตถุท้องฟ้าที่เป็นที่นิยมกันมากที่สุดคือ เนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nenula) และเนบิวลารูปหัวใจ (Heart Nebula) ซึ่งทั้งสองวัตถุนี้ก็มีรูปร่าง ลักษณะที่สื่อความหมายเกี่ยวกับความรักได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นวัตถุทั้งสอง ยังสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ

เนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nenula)


ภาพเนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nebula) ซึ่งเป็นเนบิวลาแบบเปล่งแสงอยู่ใกล้กับบริเวณกลุ่มดาวนายพรานภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Mount : Takahashi EM-200 Temma 2 / Lens : Takahashi TOA 150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3 / ISO : 1600 / WB : 5500K / Exposure : Light (120 sec x 12 images) Dark (180 sec x 5 images) Flat (1 sec x 5 images) Bias(1/8000 sec x 5 images) เนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nebula, Caldwell 49) เป็นเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission nebula) อยู่ใกล้กับริเวณกลุ่มดาวนายพราน ห่างจากโลกออกไปประมาณ 5,200 ปีแสง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 55 ปีแสง ขนาดปรากฏบนท้องฟ้า 1.3 องศา หรือประมาณ 2 เท่าของขนาดดวงจันทร์เต็มดวง ภายในเนบิวลามีกระจุกดาวฤกษ์ NGC2244 ที่เกิดใหม่มากมาย ดาวฤกษ์เหล่านี้มีอายุประมาณ 4 ล้านปี ซึ่งสังเกตได้ง่ายกว่าแก๊สไฮโดรเจนโดยรอบตำแหน่งเนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nebula)



สำหรับเนบิวลาดอกกุหลาบนั้น มีค่าความสว่างปรากฏ Magnitude: 9.0 เท่านั้น (ยิ่งค่ามาก ยิ่งสว่างน้อย) ตาเปล่าคนปกติ มองเห็นต่ำสุดที่ Magnitude: 6.0 ในสภาพท้องฟ้ามืดสนิท ดังนั้น การหาตำแหน่งของวัตถุนี้ เราจำเป็นต้องอาศัยตำแหน่งของกลุ่มดาวและตำแหน่งของดาวฤกษ์ดวงสว่างในการอ้างอิงหาตำแหน่งวัตถุท้องฟ้า

จากภาพตัวอย่างข้างบน เราสามารถใช้กลุ่มดาวนายพรานบริเวณแขนของนายพราน เป็นจุดอ้างอิงในการหาตำแหน่ง Rosette Nebula หากสภาพท้องฟ้าใสเคลียร์มืดสนิท ด้วยตาเปล่าเราจะสามารถมองเห็นกระจุกดาวฤกษ์ ซึ่งอยู่บริเวณใจกลางเนบิวลาได้บางๆ ได้เช่นกัน

เลือกคำนวณมุมรับภาพและอุปกรณ์ถ่ายภาพให้เหมาะสม


การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพ Rosette Nebula ส่วนตัวแนะนำให้ใช้เลนส์ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสในช่วง 300 – 1200 mm. ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถเก็บภาพเนบิวลาได้ครอบคลุมทั้งวัตถุที่ไม่เล็กหรือใหญ่จนล้นเฟรมมากเกินไปครับ

โดยเราควรหาขนาดมุมรับภาพก่อนการออกไปถ่ายภาพก่อนเสมอ ดังตัวอย่างเช่นภาพข้างบน เป็นหาขนาดมุมรับภาพ สำหรับการถ่ายภาพ Rosette Nebula ด้วยกล้องถ่ายภาพดิจิตอลแบบ Full Frame กับกล้องโทรทรรศน์ขนาดทางยาวโฟกัส 1100 mm. ซึ่งเราสามารถใช้โปรแกรม Stellarium ในการคำนวณมุมรับภาพได้ รายละเอียดการคำนวณมุมรับภาพตามลิงก์ : https://mgronline.com/science/detail/9590000066353

เนบิวลารูปหัวใจ (Heart Nebula)


ภาพเนบิวลาแห่งหัวใจและจิตวิญญาณ (Heart and Soul Nebula) เป็นเนบิวลาชนิดเปล่งแสงที่มีแสงสว่างในตัวเอง เกิดจากการเรืองแสงของอะตอมของไฮโดรเจนที่อยู่ในสถานะไอออน เนบิวลาชนิดนี้ส่วนใหญ่จะมีสีแดงจากไฮโดรเจน ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Mount : Takahashi EM-200 Temma 2 / Lens : Takahashi FSQ-85ED / Focal length : 450 mm. / Aperture : f/5.3 / ISO : 2500 / WB : 5500K / Exposure : Light (180 sec x 9 images) Dark (180 sec x 9 images) Flat (1 sec x 9 images) Bias(1/8000 sec x 9 images)

เนบิวลาหัวใจ (Heart nebula) เป็นเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission nebula) อยู่ในกลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) ห่างจากโลกประมาณ 7,500 ปีแสง ประกอบด้วยกลุ่มฝุ่นและแก๊สที่เรียงตัวกันในห้วงอวกาศมองดูคล้ายหัวใจสีแดง มีขนาดแผ่ขยายออกไปถึง 200 ปีแสง ปรากฏบนท้องฟ้ากว้าง 2.5 องศา หรือประมาณ 5 เท่าของขนาดดวงจันทร์เต็มดวง บริเวณใจกลางหัวใจมีกระจุกดาวเปิด ซึ่งเป็นดาวฤกษ์เกิดใหม่จำนวนมาก กำลังปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างมหาศาลจนทำให้แก๊สที่อยู่รอบๆ ดาวแตกตัวเป็นไอออนแล้วเปล่งแสงสีแดงออกมา

ตำแหน่งเนบิวลาหัวใจ (Heart nebula)


เนบิวลาเนบิวลาหัวใจ มีค่าความสว่างปรากฏ Magnitude: 18.3 เท่านั้น ซึ่งตาเปล่ามองไม่เห็น ดังนั้นการหาตำแหน่งของวัตถุนี้ค่อนข้างยาก การหาตำแหน่งวัตถุนี้เราจึงจำเป็นต้องใช้ตำแหน่งดาวฤกษ์ในการอ้างอิงตำแหน่ง

จากภาพตัวอย่างข้างบน เราสามารถใช้ดาวสว่างในกลุ่มดาวค้างคาวกับดาวสว่างของกลุ่มดาวยีราฟ เป็นจุดอ้างอิงในการหาตำแหน่ง Heart nebula ซึ่งจะอยู่ระหว่างดาวสว่างของสองกลุ่มดาวนี้ จากนั้นเมื่อได้ตำแหน่งที่ใกล้เคียงแล้ว ให้ลองถ่ายภาพด้วยความไวแสงที่สูงที่สุดของกล้องถ่ายภาพในเวลาสั้นๆ เพื่อตรวจสอบว่าเราหั้นหน้ากล้องไปถูกตำแหน่ง

เลือกคำนวณมุมรับภาพและอุปกรณ์ถ่ายภาพให้เหมาะสม


การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพ Heart nebula แนะนำให้ใช้เลนส์ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสในช่วง 200 – 600 mm. ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถเก็บภาพเนบิวลาได้ครอบคลุมทั้งวัตถุที่ไม่เล็กหรือใหญ่จนล้นเฟรมมากเกินไป

จากภาพตัวอย่างภาพข้างบน เป็นหาขนาดมุมรับภาพ สำหรับการถ่ายภาพ Heart nebula ด้วยกล้องถ่ายภาพดิจิตอลแบบ Full Frame กับกล้องโทรทรรศน์ขนาดทางยาวโฟกัส 450 mm.

เทคนิคการถ่ายภาพ
1. สิ่งสำคัญสิ่งแรกของการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า ทั้ง 2 วัตถุนี้ ก็คือ การหาตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้าให้พบก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากทั้งสองวัตถุ มีความสว่างปรากฏการณ์น้อยมาก

2. เลือกอุปกรณ์ถ่ายภาพที่เหมาะสม ทั้งกล้องดิจิตอลที่ใช้ถ่ายภาพและเลนส์หรือกล้องโทรทรรศน์ ที่มีทางยาวโฟกัสที่เหมาะสม

3. เลือกถ่ายวัตถุที่จะตกลับขอบฟ้าก่อน คือ หากมีเวลาเพียง 1 คืน ให้เลือกถ่าย เนบิวลาหัวใจ (Heart nebula) ก่อนแล้วตามด้วย เนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nebula)

4. ศึกษาพื้นฐานการถ่ายภาพ Deep Sky Objects และกระบวนการโปรเซสภาพถ่าย โดยภาพที่จำเป็นสำหรับการโปรเซสภาพ เบื้องต้นจะต้องประกอบด้วยภาพ 1. Light Frame (ภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้า) 2. Dark Frame 3. Flat Frame 4. Bias Frame อ่านรายละเอียดการถ่ายภาพ Deep Sky Objects เพิ่มเติมตามลิงก์ : http://old.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/3534-deep-sky-objects-article
โปรแกรมที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นนิยมใช้ เช่น โปรแกรม DeepSkyStacker ซึ่งเป็นฟรีแวร์ที่สามารถทดลองดาวน์โหลดมาใช้งานได้ ตามลิงก์ : http://deepskystacker.free.fr/english/index.html

5. เรียนรู้ทักษะการตั้งกล้องบนขาตามดาวแบบแม่นยำ เพื่อให้สามารถถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าได้ในเวลานานหลายนาที ได้อย่างแม่นยำ รายละเอียดตามลิงก์ : http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/photo/413-3840-polar-alignment


เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน



กำลังโหลดความคิดเห็น