ในคอลัมน์นี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องการหามุมรับภาพของอุปกรณ์ถ่ายภาพของเรา ก่อนที่จะออกไปถ่ายภาพ ซึ่งถือเป็นเทคนิคของการวางแผนถ่ายภาพที่สำคัญอันหนึ่งเลยทีเดียวของนักถ่ายภาพสายดาราศาสตร์ ดังเช่น ภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาของ คุณธนกฤต สันติคุณาภรต์ ข้างต้น ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลการประกวดภาพถ่าย The 7th Earth & Sky Photo Contest ซึ่งผู้ถ่ายก็ใช้เทคนิคการหามุมรับภาพก่อนการออกไปถ่ายภาพเช่นกัน
การหามุมรับภาพก่อนการออกไปถ่ายภาพนั้น จะช่วยให้เราสามารถจัดองค์ประกอบภาพได้ดีขึ้นแบบมืออาชีพ หากเราทราบมุมรับภาพก่อน ก็จะช่วยให้เราสามารถเลือกอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพได้อย่างเหมาะสม และไม่ทำให้เสียเวลาในการเปลี่ยนอุปกรณ์อีกด้วย ซึ่งการถ่ายภาพในบางปรากฏการณ์นั้นเราไม่สามารถย้อนกลับมาถ่ายซ้ำได้อีก เรียกว่าพลาดแล้วพลาดเลย ดังนั้นการวางแผนที่ดีก่อนการถ่ายภาพถือเป็นหัวใจสำคัญของช่างภาพสายดาราศาสตร์ เช่น การถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาหรือจันทรุปราคาแบบซีรีย์ การถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือการถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึก เช่น เนบิวลา กาแล็กซี ฯลฯ
เทคนิคและวิธีการ
สำหรับวิธีการนั้น เริ่มต้นด้วยการดาวน์โหลดโปรแกรม Stellarium เวอร์ชั่น 0.13 ขึ้นไป หรือให้ดีก็เวอร์ชั่นล่าสุดมาก่อน โดยเป็นฟรีแวร์ที่สามารถใช้ได้ทั้ง Mac. และ Windows. ดาวน์โหลดตามลิงค์ http://www.stellarium.org/th/
โดยโปรแกรม Stellarium สามารถใช้ในการจำลองดูดาว ได้ทั้งเวลาและสถานที่ของผู้สังเกต และนอกจากนั้นยังสามารถช่วยในการหามุมรับภาพของอุปกรณ์ถ่ายภาพหรืออุปกรณ์สังเกตการณ์อีกด้วย
(http://www.stellarium.org/th/)">
เอาล่ะครับ หลังจากดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมเสร็จแล้ว ทีนี้เรามาดูวิธีการ ว่าการหามุมรับภาพของอุปกรณ์ถ่ายภาพของเรานั้น ทำอย่างไรกันบ้าง
1. เปิดโปรแกรม Stellarium ขึ้นมา จากนั้นคลิกที่ “รูปเครื่องมือ” การตั้งค่ามุมรับภาพดังภาพด้านล่าง จะปรากฏฟังก์ชั่นการตั้งค่าขึ้นมา
2. คลิกที่ “Sensor” และคลิก “Add” เพื่อใส่รายละเอียดค่าต่างๆ ของ Sensor อุปกรณ์ถ่ายภาพของเรา
โดยเราสามารถค้นหาค่าขนาด Sensor ขนาด Pixel Size และขนาด Pixel ของกล้องถ่ายภาพได้จากเว็บไซต์ของกล้องดิจิตอลที่เราซื้อได้ทั่วไป เช่น สำหรับใครที่ใช้กล้องดิจิตอลของแคนนอน ก็สามารถลองเข้าไปเช็คดูรายละเอียดกล้องของเราได้ที่ http://www.the-digital-picture.com/Reviews/Canon-EOS-1D-X-Digital-SLR-Camera-Review.aspx
ตัวอย่างรายละเอียดค่าต่างของ Sensor กล้องถ่ายภาพที่สามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์กล้องทั่วไป
3. ใส่ชื่อกล้องที่เราใช้ ตามด้วยขนาด Sensor ขนาด Pixel Size และขนาด Pixel ของกล้องถ่ายภาพ ดังตัวอย่างด้านล่าง
4. หลังจากใส่ค่า Sensor ของกล้องถ่ายภาพเสร็จแล้ว ก็มาตั้งค่าเลนส์ถ่ายภาพของเรา ซึ่งชื่อที่ใส่อาจจะดูขัดกันสักนิดนะครับ โดยเริ่มจาก คลิก “Add” จากนั้นใส่ชื่อเลนส์ ทางยาวโฟกัส และขนาดหน้ากล้อง ตามลำดับดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
5. เมื่อตั้งค่าอุปกรณ์ถ่ายภาพเสร็จแล้ว จากนั้นก็สามารถหาขนาดมุมรับภาพได้แล้วครับ โดยค้นหาชื่อวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพ แล้วคลิกเครื่องหมาย “การหามุมรับภาพ” ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
6. เมื่อคลิกฟังก์ชั่นการหามุมรับภาพแล้ว สามารถเลือกอุปกรณ์ถ่ายภาพ เช่น กล้อง เลนส์ ตามที่เราตั้งค่าไว้เบื้องต้น โดยการเลื่อนลูกศรตามภาพด้านล่าง ก็จะปรากฏกรอบภาพสีแดงขึ้นมา ซึ่งแสดงมุมรับภาพของอุปกรณ์ที่เราเลือกไว้
จากที่แนะนำข้างต้น จะเห็นว่าเป็นเทคนิคง่ายๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวคุณเอง ซึ่งก็เป็นวิธีการที่นักดาราศาสตร์ ใช้ในการคำนวณหามุมรับภาพ เพื่อใช้ในการถ่ายภาพแบบมืออาชีพกันแล้วครับ โดยเทคนิคนี้ เราสามารถนำไปใช้ในการหามุมรับภาพ กับการถ่ายภาพปรากฏการณ์และวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ดังตัวอย่างด้านล่างครับ
ตัวอย่างการคำนวณหามุมรับภาพ การถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
ตัวอย่างการหามุมรับภาพ โดยใช้กล้อง Canon 7D mark ll ถ่ายกับกล้องโทรทรรศน์ Takahashi TOA150 ที่ต่อ Extender 1.5X
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน