xs
xsm
sm
md
lg

จันทรุปราคา 5 นาทีทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ในช่วงดวงจันทร์เคลื่อนเข้าเงามืดของโลกในช่วงกึ่งกลางคราส ณ เวลา 19.01 น. ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ดวงจันทร์มืดมากที่สุด (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Takahashi TOA 150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3 / ISO : 5000 / Exposure : 1 sec / Mount : Takahashi EM400)
สำหรับคอลัมน์คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง “ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง” ตามกระแสเสียไม่ได้ ซึ่งหลังจากที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงไปแล้วเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ในช่วงดวงจันทร์ดับ (New Moon) และครั้งนี้ก็เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 เมษายน ซึ่งเกิดในช่วงดวงจันทร์เต็มดวง (Full Moon) โดยห่างกันเป็นระยะเวลา 15 วันพอดี และในครั้งนี้ถือได้ว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ เป็นจันทรุปราคาเต็มดวง ที่สั้นที่สุดในศตวรรษ เลยก็ว่าได้ เนื่องจากในวันดังกล่าว ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกในส่วนบริเวณขอบๆ ขอบเงามืดของโลก ซึ่งดวงจันทร์จะอยู่ในเงามืดทั้งดวงเพียง 5 นาทีเท่านั้น หรืออาจเรียกได้ว่า “จันทรุปราคา 5 นาทีทอง” ก็ว่าได้ เพราะหากเราพลาดชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้ก็ต้องรอต่อไปอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งตรงกับวันที่ 31 มกราคม 2561
ภาพแสดงตำแหน่งของดวงจันทร์ในระหว่างการเกิดจันทรุปราคา ในวันที่ 4 เมษายน 2558 โดยดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลก บริเวณขอบๆ เท่านั้น จึงทำให้ช่วงเวลาที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามืดทั้งดวง นานเพียง 5 นาทีเท่านั้น
​คงเป็นที่ทราบกันดีว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ เรียงอยู่ในแนวเดียวกันพอดี จะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันพระจันทร์เต็มดวง อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์จันทรุปราคา ไม่สามารถเกิดขึ้นทุกเดือน เนื่องจากระนาบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และระนาบที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก ไม่ใช่ระนาบเดียวกัน หากตัดกันเป็นมุม 5 องศา ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดจันทรุปราคา จึงมีเพียงประมาณปีละ 1-2 ครั้ง โดยที่สามารถมองเห็นจากประเทศไทย เพียงปีละครั้งโดยประมาณ ส่วนจะเป็นจันทรุปราคารูปแบบไหนนั้นก็ต้องว่าระนาบการโคจรจะตัดกันมากน้อยแค่ไหน

การสัมผัสของดวงจันทร์กับโลกในขณะเกิดจันทรุปราคา มี 4 สัมผัสด้วยกันคือ
​1. สัมผัสทื่ 1 (First contact) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามืดของโลกครั้งแรก เมื่อขอบตะวันออกของดวงจันทร์สัมผัสเงามืดของโลกจะเริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์จะแหว่งและลดความสว่างลง

​2. สัมผัสที่ 2 (Second Contact) ดวงจันทร์จะสัมผัสเงามืดของโลกครั้งที่ 2 เป็นจังหวะที่ขอบตะวันตกของดวงจันทร์สัมผัสเงาโลก ในตำแหน่งเช่นนี้ดวงจันทร์ทั้งดวงจะอยู่ในเงามืดของโลก จึงเป็นการเริ่มต้นเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์จะมืดลงมาก แต่ไม่ดำสนิท การสัมผัสครั้งนี้จะกินเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจึงจะเต็มดวง

​3. สัมผัสที่ 3 (Third Contact) เป็นจุดที่ดวงจันทร์สัมผัสเงามืดของโลกเป็นครั้งที่ 3 จะเป็นการสิ้นสุดการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เริ่มมองเห็นขอบตะวันออกของดวงจันทร์สว่างขึ้น กลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วน

4. สัมผัสที่ 4 (Fouth Contact) เป็นจุดสิ้นสุดของการเกิดจันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์จะผ่านพ้นเงามืดของโลกหมดดวง ดวงจันทร์จะสว่างขึ้นดังเดิม

​โดยบริเวณจุดสังเกตการณ์ที่ผมตั้งจุดถ่ายทอดสด และจัดกิจกรรมนั้น ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี นั้น เราสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่ก่อนช่วงสัมผัสที่ 2 เป็นต้นไป ซึ่งครั้งนี้ ผมวางแผนการถ่ายภาพไว้ล่วงหน้า โดยคาดว่าคงจะมีโอกาสได้ถ่ายภาพเพียงช่วงหลังสิ้นสุดสัมผัสที่ 3 (Third Contact) ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ไปแล้ว แต่คงต้องบอกว่า “มันเกินคาด” เพราะผมสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 18.45 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดปรากฏการณ์เต็มดวง (ช่วงเวลาดวงจันทร์อยู่ในเงามืดทั้งดวง เริ่มตั้งแต่เวลา 18.58 – 19.03 น.)
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Takahashi TOA 150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3 / ISO : 2000 / Exposure : 0.4 sec / Mount : Takahashi EM400) ภาพปรากฏการร์จันทรุปราคา ภาพแรกที่เริ่มสังเกตเห็นทางขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่ช่วงเวลา 18.45 น. โดยดวงจันทร์ยังคงอยู่ในแสงทไวไลท์
​สำหรับภาพนี้ผมถือว่าเป็นภาพสุดประทับใจของผม กับปรากฏการณ์จันทรุปราคาส่งท้ายของปี 2558 เพราะมันเป็นภาพที่เราจะมีโอกาสได้ถ่ายภาพปรากฏการณ์เช่น ซึ่งต้องรอไปอีกถึง 3 ปี เนื่องจากเป็นภาพที่ผมลองถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลตัวใหม่ที่ทางบริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) ส่งมาให้ทดลองใช้งานในช่วงนี้ ซึ่งผมได้ไฟล์ภาพที่ใหญ่ซะใจม๊วกๆๆ เป็นภาพดวงจันทร์แบบเต็มเฟรมมาก เพราะเป็นกล้องที่มีขนาดเซ็นเซอร์ แบบ APS-C ตัวล่าสุดของแคนนอน ส่วนภาพอื่นๆที่ผมถ่ายด้วยกล้องนี้ จะมาเล่าให้ฟังคอลัมน์ต่อๆไปนะครับ
ภาพถ่ายปรากฏการณ์จันทรุปราคา แบบเต็มเฟรมผ่านกล้องโทรทรรศน์แบบตามดาว โดยไม่มีการครอปภาพแต่อย่างใด (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 7D Mark ll / Lens : Takahashi TOA 150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3 / ISO : 3200 / Exposure : 1 sec / Mount : Takahashi EM400)
เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ
​และคำถามที่ผมถูกถามมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทางช่องโทรทัศน์ เพจ เฟสบุ๊ค และสื่อสัมภาษณืต่างๆ ก็คือ จะมีเทคนนิคและวิธีการถ่ายภาพปรากฏการณ์อย่างไรบ้างนั้น คงต้องบอกว่า มีอยู่ 2 วิธีหลักๆ ก็คือ

1. การถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาบนขาตั้งกล้องทั่วไป
​ในการถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบทั่วไป ที่ไม่มีการเคลื่อนที่ตามวัตถุท้องฟ้านั้น ก็คงจะหนีไม่พ้น การใช้สูตรการถ่ายภาพ Rule of 400/600 (รายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/gVBxZW) เพื่อไม่ให้ดวงจันทร์ยืด โดยการถ่ายดวงจันทร์ขณะเกิดปรากฏการณ์นั้น จากสูตรดังกล่าว ควรลดเวลาให้เหลือครึ่งหนึ่งจากที่คำนวณได้ เพื่อให้ดวงจันทร์คมชัดไม่ยืดเบลอ และถ้าให้ผมแนะนำ ส่วนตัวผมคิดว่าการถ่ายภาพปรากฏการณ์แบบซีรีย์ ด้วยเลนส์มุมกว้าง ในรูปแบบภาพ Time-lapse แล้วนำภาพทั้งหมดของปรากฏการณ์มารวมกัน ก็น่าจะได้ภาพที่สวยมากเลยทีเดียว
ตัวอย่างภาพถ่ายปรากฏการณ์จันทรุปราคา แบบซีรีย์ ในวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา บนขาตั้งกล้องแบบอยู่กับที่ ทั่วไป (ภาพโดย : ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ / Camera : Nikon D800 / Lens : Nikon 70-200 mm. / Focal length : 70 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 400)
​แต่สำหรับคนที่ที่มีกล้องที่มความยาวโฟกัสสูงๆ นั้น หากต้องการถ่ายดวงจันทร์ขณะเกิดปรากฏการณ์แบบเต็มดวงนั้น ก็อาจต้องเพิ่มค่าความไวแสงสูงๆ เพื่อให้ได้ค่าการเปิดหน้ากล้องที่ไม่นานจนเห็นดวงจันทร์เคลื่อนหรือเบลอได้ครับ ทั้งนี้ผมคิดว่าหากจะถ่ายด้วยทางยาวโฟกัสสูงนั้น ผมขอแนะนำเป็นวิธีที่ 2 ดีกว่าครับ

2. การถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาบนขาตั้งกล้องแบบตามดาว
​สำหรับวิธีนี้ จะเหมาะกับการถ่ายภาพด้วยกล้องหรือเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ ซึ่งเราจำเป็นต้องถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบติดตามวัตถุท้องฟ้า โดยปรากฏการณ์นี้ผมก็เลือกใช้วิธีการนี้ เนื่องจากจำเป็นต้องถ่ายภาพปรากฏการณ์ให้ได้ภาพที่ใหญ่และคมชัดมากที่สุด ขณะดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง
​ซึ่งวิธีนี้ทำให้เราสามารถถ่ายภาพบนขาตามดาว ด้วยค่าการเปิดหน้ากล้องที่นานขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าภาพดวงจันทร์จะเคลื่อนหรือทำให้ภาพเบลอ (หากทำการ Polar Alignment แม่นยำ) และในการถ่ายทอดสดปรากฏการณ์จันทรุปราคาผ่านทางเว็บไซต์สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ครั้งนี้เราก็ใช้วิธีการนี้เช่นกัน ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เราติดตามภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงได้ตลอดทั้งปรากฏการณ์ และสิ่งที่เป็นของแถมก็คือ ในช่วระหว่างเกิดปรากฏการณ์นั้น ก็มีเครื่องบิน บินผ่านหน้าดวงจันทร์พอดีเราจึงสามารถบันทึกภาพประทับใจอีกรูปแบบหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ไว้เป็นการส่งท้ายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ได้อย่างสวยงามครับ
ภาพนี้เป็นภาพที่ Captuer จากVDO ที่ใช้ถ่ายทอดสดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อวาน ซึ่งขณะนั้นมีเครื่องบินผ่านหน้าดวงจันทร์ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ Eclipse Transit โดยมีทั้งเงาของโลกบังดวงจันทร์ และเครื่องบินที่บินผ่านดวงจันทร์กันเลยทีเดียว

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน














กำลังโหลดความคิดเห็น