xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกในไทยจัดถ่ายภาพดาราศาสตร์ ณ อช.ห้วยน้ำดัง พื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สดร. จับมือ อช.ห้วยน้ำดัง จัด “ถ่ายภาพดาราศาสตร์พื้นที่ท้องฟ้ามืดครั้งแรกในไทย” ร่วมสร้างความตระหนัก “ลดมลภาวะทางแสง” สู่คนไทยผ่านภาพถ่าย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดอบรมถ่ายภาพดาราศาสตร์เขตพื้นที่ท้องฟ้ามืดครั้งแรกในไทย (Dark Sky Astrophotography 2020) ณ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2563 ร่วมเก็บบันทึกภาพถ่ายดาราศาสตร์ในสภาพท้องฟ้าไร้แสงรบกวนถ่ายทอดสู่ประชาชน หวังสร้างความตระหนักด้านมลภาวะทางแสง อันมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ พลังงานไฟฟ้าและการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ นำทีมนักดาราศาสตร์สมัครเล่นและช่างภาพกว่าครึ่งร้อย ร่วมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดผ่านกิจกรรมถ่ายภาพ เรียนรู้วิธีสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ พร้อมล้วงลึก เคล็ด (ไม่) ลับ เทคนิคถ่ายภาพดาราศาสตร์จากวิทยากรมืออาชีพ ร่วมเก็บภาพทางช้างเผือกและ เส้นแสงดาว ท่ามกลางดวงดาวนับพัน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,700 เมตร อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อันมืดสนิทไร้แสงไฟรบกวน

นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2563 โดยในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นการบรรยายเทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ พร้อมฝึกปฏิบัติภายในท้องฟ้าจำลองที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร รวมถึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืด หรือ Dark Sky Reserve Area ที่เป็นที่มาของชื่อกิจกรรมในครั้งนี้

จากนั้นช่วงบ่ายจึงเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อีกสถานที่หนึ่งของไทยที่มีฟ้าใส ไม่มีแสงเมืองรบกวนมากนัก เพื่อฝึกปฏิบัติถ่ายรูปกับท้องฟ้าจริง เริ่มจากแสงสนธยาและแสงจักรราศีในช่วงค่ำ จากนั้นเรียนรู้ วิธีถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึกช่วงกลางดึก ซึ่งการถ่ายภาพดังกล่าวต้องเชื่อมต่อกล้องถ่ายภาพกับ กล้องโทรทรรศน์ที่ทีม NARIT นำมาติดตั้งกว่า 10 ตัวเพื่อบริการพร้อมแนะนำวิธีการหาวัตถุท้องฟ้า ต่อด้วยการถ่ายภาพเส้นแสงดาวและปิดท้ายด้วยทางช้างเผือกในช่วงเช้ามืด

"เรียกได้ว่าถ่ายกันตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกจนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าข้ามวันข้ามคืนกันเลยทีเดียว"

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไฮไลท์ของกิจกรรมนี้ คือช่วงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมบันทึกภาพ "ใจกลางทางช้างเผือก" ที่ขนานตัวกับเส้นขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วยดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ซึ่งบริเวณที่มืดสนิทไร้แสงไฟรบกวนเท่านั้นจึงจะได้ภาพใจกลางทางช้างเผือกสวยงามแบบนี้

"ขอขอบคุณนักดาราศาสตร์สมัครเล่น รวมถึงนักถ่ายภาพทุกท่าน ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมถ่ายภาพดาราศาสตร์ในพื้นที่ฟ้ามืดในครั้งนี้ หวังว่าทุกท่านจะได้รับประสบการณ์ เทคนิคการถ่ายภาพสวยๆ และ (ความทรงจำดีๆ จากการดูดาวในพื้นที่ฟ้ามืดกลับบ้านไปกันอย่างเต็มที่ และยังได้ร่วมกันเก็บภาพท้องฟ้าที่ เต็มไปด้วยดวงดาว ไร้แสงรบกวน เพื่อถ่ายทอดให้กับประชาชนได้ตระหนักถึงมลภาวะทางแสง ให้ความสำคัญ ในการควบคุมแสงไฟที่มีผลต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะพืชและสัตว์ รวมถึงเพื่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ทำให้มองเห็นความสวยงามของท้องฟ้าในแบบที่ไม่เคยเห็น ซึ่งห้วยน้ำดังเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ที่มีการบริหารจัดการกับแสงสว่างที่ดีมาก ตามที่ทุกท่านได้ไปสัมผัสมา" นายศุภฤกษ์ กล่าว

ปัจจุบัน สดร. ดำเนินโครงการลดมลภาวะทางแสงในเขตชุมชนและอุทยานแห่งชาติ (Dark Sky Campaign) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงพื้นที่ทำวิจัยที่แรก คือ บริเวณบ้านขุนกลาง อุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ตั้งเป้าหมายลดมลภาวะทางแสงที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศในเขตพื้นที่ดอยอินทนนท์ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานและใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่างในชุมชนและเส้นทางสาธารณะอย่างเหมาะสมกับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ และเพื่อรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ผลการวิจัยพบว่า ค่าคุณภาพท้องฟ้าบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มืดลง และสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้าที่มีความสว่างน้อยได้ดีขึ้น นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังสามารถ ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้กว่า 50% อีกด้วย

นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้ายว่า อนาคต สดร. มีแผนผลักดันให้เกิดพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืดเพิ่มมากขึ้น เป้าหมายต่อไปได้แก่ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด แสงสว่างโดยรอบไม่มากนัก ขณะนี้ได้วางแผนจัดการแสงสว่างให้เป็นไปตามข้อกำหนด เพื่อให้อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก ได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ตามมาตรฐานสมาคมอนุรักษ์ฟ้ามืดสากล (International Dark Sky Association - IDA) ในอนาคต














กำลังโหลดความคิดเห็น