ในเดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นช่วงเริ่มต้นถ่ายภาพทางช้างเผือกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงรุ่งเช้า ตั้งแต่เวลาตี 5 เป็นต้นไป โดยในเดือนนี้เราจะสามารถถ่ายภาพแนวใจกลางทางช้างเผือกได้ตั้งแต่วันที่ 1 ไปจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ (หลังจากนั้นจะมีแสงดวงจันทร์สว่างรบกวน) ตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ขนานกับขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะมีเวลาให้เราได้ถ่ายภาพประมาณไม่เกิน 1 ชั่วโมง ช่วงเวลาดังกล่าวจะมีดาวอังคารอยู่ใกล้กับใจกลางทางช้างเผือก ถือเป็นช่วงเริ่มต้นของการออกล่าทางช้างเผือกกันแล้วครับ
โดยเหล่าบรรดานักถ่ายภาพดาราศาสตร์ ก็เริ่มออกไปล่าทางช้างเผือกกันแล้ว อย่างไรก็ตามในช่วงเริ่มต้นนี้ นอกจากใจกลางทางช้างเผือกแล้วยังมีดาวเคราะห์ถึง 3 ดวง ได้แก่ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ใกล้กับแนวทางช้างเผือกอีกด้วย
**************************
<ฺฺB>สิ่งที่ควรให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงต้นปี มีดังนี้
1. เวลา : เวลาที่สามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ เช่นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เราจะสามารถเริ่มสังเกตเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกได้ตั้งแต่ก่อนรุ่งเช้าเวลา 5.00 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
2. สถานที่ : สถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกต้องมีความมืดสนิทปราศจากแสงรบกวนหรือมลภาวะทางแสง โดยเฉพาะบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
3. ทัศนวิสัยของท้องฟ้า : โดยเทคนิคที่ใช้ในการสังเกตค่าทัศนวิสัยของท้องฟ้าดีแค่ไหนนั้น เราสามารถดูจากการกระพริบแสงของดาวฤกษ์บริเวณขอบฟ้าได้เช่นกัน หากท้องฟ้าใสเคลียร์มีทัศนวิสัยท้องฟ้าที่ดี ดาวฤกษ์มักไม่ค่อยกระพริบแสง แต่หากสังเกตเห็นว่าแสงของดาวฤกษ์มีการกระพริบแสงค่อนข้างมาก ก็แสดงให้เห็นว่าท้องฟ้ามีฝุ่นหรือเมฆอยู่พอสมควรซึ่งอาจทำให้บดบังทัศนวิสัยของท้องฟ้าได้
4. อุปกรณ์ : กล้อง เลนส์ และขาตั้งกล้อง ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ในการถ่ายภาพ ซึ่งกล้องถ่ายภาพที่ใช้ควรจะสามารถปรับค่าความไวแสง(ISO) ได้สูงๆ รวมทั้งเลนส์มุมกว้างแบบไวแสง (รูรับแสงกว้างๆ) ก็จะช่วยให้เราได้ภาพทางช้างเผือกที่สว่างชัดเจนมากขึ้น
***************************
เทคนิคในการถ่ายภาพทางช้างเผือก เพื่อให้ได้ภาพ (ในช่วงเดือนนี้)
1. ปรับโฟกัสให้คมชัดที่สุดด้วยดาวสว่าง (ปิดระบบออโต้โฟกัส) เช่นช่วงนี้สามารถใช้ดาวพฤหัสบดี หรือดาวแอนทาเรสในกลุ่มดาวแมลป่องช่วยในการปรับโฟกัสได้
2. เริ่มต้นถ่ายภาพด้วยความไวแสง (ISO) ที่สูงที่สุด และรูรับแสงที่กว้างที่สุด ด้วยเวลาการเปิดหน้ากล้องไม่นานมากนัก หลังจากที่ถ่ายติดภาพทางช้างเผือกแล้ว จึงค่อยปรับองค์ประกอบภาพ และลดค่าความไวแสงลงมาพร้อมทั้งใช้การคำนวณเวลาการถ่ายภาพจากสูตร Rule of 400/600 (https://goo.gl/zzTcsH)
3. ตำแหน่งทางช้างเผือก ยิ่งสูงยิ่งชัดเจน ดังนั้นหากต้องการให้ได้ภาพทางช้างเผือกที่สว่างชัดเจนมากที่สุด ควรถ่ายภาพในช่วงที่แนวใจกลางอยู่สูงจากขอบฟ้ามากที่สุด โดยต้องถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และหยุดถ่ายเมื่อเริ่มมีแสงดวงอาทิตย์รบกวน แล้วนำภาพทั้งหมดมาเลือกในภายหลัง เนื่องจากในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เรามีเวลาถ่ายภาพทางช้างเผือกไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นทุกอย่างต้องรวดเร็วแข่งกับเวลา
4. เปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อลดสัญญาณรบกวน พร้อมกับภารถ่ายภาพด้วย RAW file เพื่อสามารถนำมาปรับในภายหลัง
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน